จับคนไทยเพิ่มอีก1 ตายทะลุหมื่นราย!

“เศรษฐา” ถกฝ่ายความมั่นคง เตรียมพร้อมอพยพคนไทย หลังสู้รบอิสราเอล-ฮามาสส่อขยายวงกว้างในระดับภูมิภาค เล็งหาช่องทางแจ้งตรงคนไทยทุกประเทศเสี่ยง พร้อมเฝ้าระวังผลกระทบทางเศรษฐกิจ ย้ำอยากให้แรงงานไทยทั้งไปถูก-ผิดกฎหมายกลับทั้งหมด ขณะที่ยอดเสียชีวิตสองฝ่ายในสงครามอิสราเอล-ฮามาสทะลุ 1 หมื่นราย

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติครั้งแรกว่า   ปัญหาที่อิสราเอล เรื่องนี้ถกกันนาน มีการแจ้งสถานการณ์เชิงลึก อะไรที่พูดได้ก็จะพูด แต่คงมีหลายเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง เพราะเป็นความละเอียดอ่อน เรื่องตัวประกันเป็นเรื่องสำคัญ แต่สาระสำคัญคือสงครามมีแนวโน้มจะขยายวงกว้าง ไม่ใช่ระหว่างผู้ขัดแย้งสองฝ่าย แต่ขยายวงกว้างไประดับภูมิภาค ซึ่งมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จอร์แดนและเลบานอน ซึ่งมีประมาณ 10 ประเทศ
"ตอนนี้เขาได้เข้าไปคุยกับประชาชนของเขาที่อยู่ใน 2 ประเทศนี้เรื่องการให้พิจารณาเรื่องการอพยพ เดี๋ยวทางเราจะไปประเมินกันอีกทีว่าจะต้องมีการแจ้งให้ทราบถึงประเด็นปัญหาที่จะลุกลามไปในระดับภูมิภาคที่มีความเป็นไปได้" 

นายกฯ เผยว่า ยังมีเรื่องเหตุผลที่พอจะทราบข้อมูลมาว่าที่จะขยายวงไปเพราะเริ่มมีการทำสงครามทางไซเบอร์กับการใช้โดรนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรื่องนี้จึงทำให้เรามีความเป็นห่วง อาจมีการขยายวงกว้างไปสู่ประเทศที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

สำหรับแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ส่วนที่อิสราเอล ตอนนี้แรงงานไทยที่แจ้งเจตจำนงกลับมาก็จะหมดแล้ว ไฟลต์วันนี้ก็ว่างประมาณกว่า 100 ที่นั่ง ฉะนั้นไม่อยากใช้คำว่าหมดภารกิจของทางรัฐบาล แต่เราต้องพูดคุยต่อเนื่องกับคนที่ยังอยู่ว่ามีความรุนแรงของสงครามที่จะขยายวงกว้างไปได้ ก็ต้องบอกมาหากอยากจะแจ้งเจตจำนงจะเดินทางกลับ

"ตรงนี้ก็มีความซับซ้อนอีกด้วยว่ามีแรงงานที่เราไม่ทราบจำนวน โดยฝ่ายความมั่นคงแจ้งมาว่าน่าจะมีอีกจำนวนพอประมาณ ซึ่งไม่ได้แจ้งตอนที่ออกไป สรุปแล้วเป็นแรงงานที่ไปโดยไม่ถูกต้อง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ซึ่งเรื่องใหญ่กว่าคือเราต้องพยายามเสาะหาให้ได้ว่าคนเหล่านี้อยู่ที่ไหน และแจ้งตรงไปให้ทราบถึงความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อให้เขาตัดสินใจที่จะกลับมาได้ แม้จะไปอย่างถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เรายินดีรับกลับมาได้"

นายเศรษฐากล่าวว่า แรงงานที่ยังไม่ตัดสินใจจะกลับ เราต้องการให้แน่ใจว่าการสื่อสารที่ได้สื่อสารออกไปไม่ผ่านบุคคลที่สอง ซึ่งรัฐบาลจะสื่อสารตรงไปเองว่าความรุนแรงของสถานการณ์เป็นอย่างไร อย่างน้อยพี่น้องประชาชนที่อยู่ที่นั่นจะได้ทราบถึงความรุนแรงของสถานการณ์เองจากรัฐบาล ดังนั้นเดี๋ยวจะมีการคุยกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานเพื่อหารายชื่อ หากมีช่องทางที่จะติดต่อได้ทางโทรศัพท์ก็จะติดต่อไป และส่งข้อความไปแจ้งว่าสถานการณ์รุนแรงขนาดไหน อย่างไร 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากสถานการณ์การสู้รบที่ส่อจะขยายวงกว้างไปในระดับภูมิภาค รัฐบาลได้เตรียมรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดอย่างไร นายเศรษฐาตอบว่า อันนี้ได้มีการพูดคุยกันในวงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน ได้มีการพูดคุยกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน และในเร็วๆ วันนี้ท่านจะมีการเสนอมาตรการด้านความมั่นคงทางพลังงานมา หากมีปัญหาเกิดขึ้นจริง อย่างที่เรียนว่าหากสงครามขยายวงกว้างก็จะมีผลกระทบต่อไป ซึ่งข้อดีของแนวโน้มของประเทศที่สงครามจะขยายวงกว้างไปคือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเรามีน้อย แต่ก็ต้องระมัดระวัง เหนือสิ่งอื่นใด ที่สำคัญคือความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในประเทศที่มีแนวโน้มว่าความรุนแรงจะขยายตัวไปจุดนั้น

เมื่อถามถึงกรณีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะบินไปรับตัวประกัน ได้รับรายงานหรือไม่  นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขออนุญาตไม่พูดในทีนี้ดีกว่า เข้าใจว่าทุกท่านมีความหวังดีและปรารถนาดี

ถามว่า จากการที่ได้คุยกับนายกฯอิสราเอล ซึ่งระบุว่าพร้อมรับทุกเงื่อนไขเพื่อให้ปล่อยตัวประกัน มีสัญญาณอะไรมาหรือไม่ นายเศรษฐาชี้แจงว่า ได้บอกไปว่าหากต้องการความช่วยเหลืออะไร ตรงนี้เราเต็มที่ เอาชีวิตของพี่น้องประชาชนกลับมาให้ได้ก่อนแล้วกัน

นอกจากนี้ นายเศรษฐายังทวีตผ่าน X ว่า นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ได้โทร.มาแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การจับตัวประกันไทยในประเทศอิสราเอล ซึ่งทางการมาเลเซียพร้อมให้การช่วยเหลือรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนไทยเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัยโดยเร็วครับ

ในเดือนนี้ผมยังได้นัดหมายพบกับท่านนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทั้งในประเด็นเรื่องด่านชายแดนระหว่าง 2 ประเทศ และการก่อสร้างสะพานสุไหงโก-ลกแห่งที่ 2 ด้วยครับ

ด้านนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการของกองทัพในการไปรับคนไทยกลับจากอิสราเอลให้เพียงพอกับยอดความต้องการว่า เรามีแผนไปรับกลับอยู่แล้ว เราไม่หนักใจ แต่ที่หนักใจคือการนำคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงมายังสนามบิน

เมื่อถามว่า ทางสถานทูตที่กรุงเทลอาวีฟแจ้งให้แรงงานไทยลงทะเบียนทำเอกสารเดินทางกลับ การข่าวทางความมั่นคงคิดว่าจะกลับมาได้หมดหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า มาได้เกือบหมด แต่ยังพบปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง ก็พยายามทำทุกวิถีทาง การค้นหาคนไทยยังค้นหาได้ไม่หมด อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลสื่อสารให้คนไทยเดินทางกลับ และบอกถึงการประเมินสถานการณ์วันข้างหน้า มีแนวโน้มว่าคนไทยอยากกลับเพิ่มขึ้น แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังลังเล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศแจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในประเทศอิสราเอล (สถานะวันที่ 2 พ.ย.2566) ว่า ยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 32 ราย ผู้บาดเจ็บยังมี 19 ราย  ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4 ราย ส่วนผู้ที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันเพิ่ม 1 ราย จึงทำให้มียอดรวมขึ้นมาเป็น 23 ราย

สำหรับเที่ยวบินที่จะนำคนไทยอพยพจากอิสราเอลกลับประเทศอีกนั้น คือ สายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY085 จะนำคนไทย 91 คน ออกจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในวันที่ 2 พ.ย. และจะถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิวันที่ 3 พ.ย.นี้ เวลา 04.00 น.

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ว่า ความขัดแย้งในฉนวนกาซาโหมกระหน่ำต่อเนื่องเป็นวันที่ 27 หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสสังหารผู้คนไป 1,400 รายในอิสราเอล และลักพาตัวไปมากกว่า 230 คน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อิสราเอลได้ทิ้งระเบิดโจมตีดินแดนปาเลสไตน์อย่างไม่ลดละ และส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้ามาเพื่อทำลายล้างกลุ่มฮามาสจนมีผู้เสียชีวิตแล้ว 8,796 ราย

หนึ่งวันหลังจากผู้ได้รับบาดเจ็บชาวปาเลสไตน์หลายสิบคนและผู้ถือหนังสือเดินทางต่างประเทศหลายร้อยคนข้ามจากฉนวนกาซาไปยังอียิปต์ คาดว่าในวันที่สองของการเปิดด่านพรมแดนราฟาห์จะมีผู้ถือหนังสือเดินทางต่างประเทศ 400 คนข้ามสู่อียิปต์ พร้อมผู้บาดเจ็บอีกราว 60-100 คน

รัฐบาลไคโรกล่าวว่า จะช่วยอพยพชาวต่างชาติและบุคคลสองสัญชาติให้ออกจากกาซาได้ประมาณ 7,000 คน

หน่วยงานแพทย์ในกาซาระบุว่า ยังมีจำนวนผู้บาดเจ็บอีกมากกว่า 20,000 คนติดอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างจำกัดเนื่องจากการถูกปิดล้อม แม้ว่าจะมีบางส่วนได้รับการส่งตัวออกไปยังอียิปต์แล้วก็ตาม

รัฐบาลฮามาสในฉนวนกาซาระบุเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในช่วงสองวันของการโจมตีโดยอิสราเอลที่ค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลียซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนปาเลสไตน์

มีรายงานผู้เสียชีวิตในค่ายดังกล่าว 195 ราย, สูญหาย 120 คน ใต้ซากปรักหักพังของอาคาร และบาดเจ็บอีก 777 คน โดยกองทัพอิสราเอลกล่าวว่าได้สังหารอิบราฮิม บิอารี ผู้บัญชาการกองพันของกลุ่มฮามาส และทำลายอุโมงค์ใต้ดินแห่งหนึ่ง

สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า การโจมตีดังกล่าวถือเป็นปฏิบัติการที่ไม่สมเหตุสมผลและอาจเทียบเท่ากับอาชญากรรมสงคราม

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความคิดเห็นว่า สหรัฐต้องการให้มีการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อมนุษยธรรมซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งความช่วยเหลือไปยังฉนวนกาซาหรือดำเนินการอพยพ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาในการหารือเกี่ยวกับการหยุดยิง เพราะเชื่อว่าอาจจะเป็นการเข้าทางกลุ่มฮามาส

ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเปิดตัวแคมเปญระดมทุนสำหรับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา โดยมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศโดยพฤตินัย ทรงบริจาคเงินเริ่มต้นสำหรับแคมเปญดังกล่าวประมาณ 190 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอมิ้ง' แจงยังไม่นำรายชื่อ 'ครม.อิ๊งค์ 1' ขึ้นทูลเกล้าฯ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบประวัติ คุณสมบัติ ในลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

สุดสับสน! ปรากฏการณ์การเมืองไทย ยุครัฐบาล 'อิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเฉพาะกลุ่ม สส. แต่หัวหน้าพรรคกลับถูกไล่ออกไม่ให้ร่วมด้วย

'เรืองไกร' ท้า 'นายกฯอิ๊งค์' โชว์ใบลาออก พ้นกรรมการ 20 บริษัท

ายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้แสดงหลักฐานต่อสาธารณะเกี่ยวกับการลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ รวม 20 บริษัท

'นายกฯอิ๊งค์' อยู่ได้เกิน 6 เดือนไหม! ขึ้นอยู่กับ 2 ทางรอด

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อุ๊งอิ๊งจะอยู่เกิน 6 เดือนไหม