ยกฟ้องกลุ่มพธม. ปิดล้อมสภาปี51 ฎีกาต้องยื่นอสส.

ศาลอุทธรณ์พิพากษายื่นยกฟ้องกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดล้อมสภาปี 51 ขับไล่นายกฯ สมัคร ขวางการประชุมสภา แถลงนโยบายของนายกฯ  สมชาย ชี้เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามหลักอหิงสา ตามสิทธิ รธน.50 รวมทั้งคำวินิจฉัยศาลปกครอง-กสม. "ประพันธ์" ระบุคดีควรต้องถึงที่สุดแล้ว หากยื่นฎีกาต้องร้อง  อสส.

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ห้องพิจารณา 806 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีดำ อ.4924/55 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ร่วมกันชุมนุมที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็น โจทก์ ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และอดีตแนวร่วมคนอื่นๆ รวม 21 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-7 ต.ค.51 จำเลยซึ่งเป็นแกนนำได้ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดัน ก่อความวุ่นวายให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และปิดล้อมสภาสถานที่ราชการ เพื่อมิให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและคณะร่วมแถลงนโยบาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216, 309, 310 จำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้เมื่อวันที่ 4 มี.ค.62 ศาลอาญา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมของพวกจำเลยเป็นการเเสดงสัญลักษณ์ ปราศรัยที่สมเหตุผล ห้ามปรามไม่ให้ก่อความรุนเเรง ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 63 ได้รองรับไว้ เเละเเม้จะมีการกีดขวางกระทบการจราจรไปบ้าง เเต่ก็เป็นปกติของการชุมนุมเเสดงออกตามสิทธิ การชุมนุมตั้งเเต่วันที่ 5-7 ต.ค.51 ไม่ปรากฏว่ามีความรุนเเรงหรือมีผู้ใดฝ่าฝืนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า พวกจำเลย ร่วมกันชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ  ต่อสู้ตามหลักอหิงสา อีกทั้งศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม โดยใช้แก๊สน้ำตา เป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มีความเห็นเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

โดยในวันนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวกเดินทางมาฟังคำพิพากษาโดยพร้อมเพรียงกัน และมีกลุ่มที่สนับสนุนเดินทางมามอบช่อดอกไม้เป็นกำลังใจด้วย

สำหรับรายชื่อจำเลย ประกอบด้วย 1.นายสนธิ ลิ้มทองกุล 2.นายพิภพ ธงไชย 3.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (เสียชีวิต) 4.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 5.นายประพันธ์ คูณมี 6.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 7.นายสุริยะใส กตะศิลา 8.นายอมร อมรรัตนานนท์ 9.นายสำราญ รอดเพชร 10.นายศิริชัย ไม้งาม 11.นายสาวิทย์ แก้วหวาน 12.นายพิชิต ไชยมงคล 13.นายอำนาจ พละมี 14.นายกิตติชัย ใสสะอาด 15.นายประยุทธ วีระกิตติ 16. นายสุชาติ ศรีสังข์ 17.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 18.นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี 19. น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 20.นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ 21.นายวีระ สมความคิด

นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา หนึ่งในจำเลยในคดีนี้ เปิดเผยหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในวันที่ 7 ตุลาคมปี 2551 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการที่ตำรวจใช้กำลังและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม  โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ทันตั้งตัวและไม่ได้เตรียมการมาเพื่อก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งก่อนเกิดเหตุนั้นการชุมนุมก็เป็นไปด้วยความสงบ ไม่ได้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน คือไม่ได้มีการประกาศเตือน เจรจา หรือใช้รถน้ำ

ส่วนทางโจทก์จะมีการยื่นฎีกาต่อหรือไม่นั้น นายประพันธ์เห็นว่า สองศาลยกฟ้องแล้วคดีควรจะต้องถึงที่สุดแล้ว แต่มีหนึ่งในผู้พิพากษาที่อยู่ในองค์คณะทำความเห็นแย้ง ก็อาจเป็นข้ออ้างให้พนักงานอัยการยื่นฎีกาได้ ซึ่งจะต้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอให้พนักงานอัยการไม่ยื่นฎีกา

นายประพันธ์กล่าวถึงจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มจากนี้ว่า ปัจจุบันแกนนำก็ได้สลายตัวกันไปหมดแล้ว การชุมนุมทางการเมืองที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น เป็นเรื่องของกลุ่มอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรฯ แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองมามากพอแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง