นายกฯยิวเร่งช่วยไทย โทรคุยเศรษฐาดูแลเต็มที่ต่อรองปล่อยตัวประกัน

"เศรษฐา" ยกหูคุยนายกฯ  อิสราเอล รับปากอำนวยความสะดวกคนไทยกลับประเทศ กลุ่มไม่กลับพร้อมดูแล  ยันเดินหน้าต่อรองปล่อยตัวประกัน “ปานปรีย์” ขอบคุณกาตาร์ช่วยเกลี้ยกล่อมปล่อยแรงงานไทย รบ.แจงเลิกเที่ยวบินเหมาลำ เหตุผู้ประสงค์ขอกลับมีน้อย ระบุซื้อตั๋วบินกลับเองเบิกได้ "ทีมวันนอร์" เจรจาตัวแทนฮามาส มั่นใจตัวประกันไทยปลอดภัยได้ปล่อยตัวทุกคน "ชาวต่างชาติ" กลุ่มแรกได้ออกจากฉนวนกาซาผ่านชายแดนราฟาห์ไปยังอียิปต์แล้ว

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.การคลัง) กล่าวถึงกรณีสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ระบุให้แรงงานไทยในอิสราเอลที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยมารวมตัวกันที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เทลอาวีฟ ในเย็นวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งถือเป็นเที่ยวบินเที่ยวสุดท้าย และต่อจากนี้การอพยพจะไม่ใช้เที่ยวบินเช่าเหมาลำว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เมื่อมีประชาชนแสดงเจตจำนงที่จะเดินทางกลับ เราจึงต้องจัดการเรื่องเที่ยวบินให้เหมาะสม ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และบ่ายวันเดียวกันนี้ ตนมีนัดที่จะพูดคุยทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ซึ่งท่านจะโทรศัพท์เข้ามาหาตน จะได้มีการคุยกัน ถือเป็นการยกระดับการเจรจาขึ้นไปอีกรอบ  

"ตรงนี้คงต้องขออ้อนวอนวิงวอนกันอีกครั้ง ขอให้พี่น้องคนไทยกลับมาเถอะ เพราะตอนนี้เราบริหารจัดการได้ตามที่พูดไว้ว่าเราจะเอาแรงงานไทยกลับมาให้หมด แต่จำนวนคนที่แสดงเจตจำนงที่จะกลับมาก็ยังน้อยอยู่ ซึ่งหวังว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตรงนี้" นายเศรษฐากล่าว

ถามถึงเรื่องการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอลจะมีเรื่องใดบ้าง นายกฯกล่าวว่า มีหลายวาระและหลายเรื่องที่ต้องคุย ทั้งเรื่องผลประโยชน์ เรื่องการจ่ายเงินชดเชย เรื่องที่นายจ้างไม่ให้ความเป็นธรรม เรื่องการอำนวยความสะดวกคนไทยที่ต้องกลับจะเดินทางกลับ ถือเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น 

เมื่อถามถึงความคืบหน้าภายหลังนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะทำงานในส่วนของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ไปเจรจาและพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มฮามาสในประเทศอิหร่านเพื่อช่วยเหลือตัวประกันไทย ซึ่งมีรายงานว่าจะมีข่าวดีเรื่องการปล่อยตัว นายกฯ กล่าวว่า ก็หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น

"อย่างที่บอกไว้ ทุกฝ่ายก็พยายามเดินหน้าตลอดเวลา อีกทั้งนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศก็รายงานเข้ามาแล้วว่าเป็นไปในเชิงบวก แต่ไม่อยากให้เรื่องความเคลื่อนไหวตอนนี้มีมากเกินไป อยากดูผลงานมากกว่า" นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า ในส่วนของเที่ยวบินหลังจากนี้ที่จะนำคนไทยกลับจากอิสราเอล จะเป็นลักษณะเหมาลำหรือซื้อตั๋วโดยสารเองแล้วมาขอรับเงินภายหลัง นายเศรษฐากล่าวว่า ก็แล้วแต่จำนวนของผู้ที่ต้องเดินทางกลับ ถ้ามีแค่หลักสิบหรือไม่กี่คนก็คงไปซื้อตั๋วโดยสารเอาเอง และกลับมาจัดการให้

ย้ำว่าหลายคนกังวลหลังจากสถานทูตไทยในอิสราเอลระบุเที่ยวบินในวันเดียวกันนี้ จะเป็นเที่ยวบินสุดท้ายในการเช่าเหมาลำเพื่ออพยพคนไทยกลับ นายเศรษฐากล่าวว่า ความต้องการคืออยากให้กลับมาเร็วๆ ซึ่งถ้าเช่าเหมาลำได้ก็สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วกว่า แต่ถ้ามาวันละ 2-3 คน 5-6 คน ก็คงลำบาก กว่าจะเต็มลำก็ต้องใช้เวลาเป็นอีกสิบวัน เรื่องนี้ตนไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าวิธีไหนจะเหมาะสม แต่ถ้าแสดงเจตจำนงมาให้เยอะ เราก็บริหารจัดการได้ดีกว่า ตรงนี้จึงอยากจะขอร้องให้แสดงเจตจำนงเข้ามา  

นายกฯ ยิวช่วยดูแลคนไทย

ต่อมาเวลา 17.30 น. นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังการพูดคุยทางโทรศัพท์กับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลว่า ได้นัดหมายกับนายกฯ อิสราเอลเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 31 ต.ค. ผ่านทางนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศมาว่าอยากจะขอโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งเมื่อสักครู่เพิ่งได้พูดคุยกันเสร็จ นายกฯ อิสราเอลบอกว่าเสียใจกับการที่มีคนไทยเสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย

"ท่านยืนยันจะพยายามทำอย่างเต็มความสามารถที่จะช่วยเหลือตัวประกันของไทยให้ออกมาได้ด้วยความปลอดภัยและเร็วที่สุด และยังบอกอีกว่าหากมีอะไรให้ช่วยเหลือขอให้บอกได้อีก ซึ่งผมได้บอกไป 2-3 เรื่อง โดยเรื่องแรก คนไทยที่แจ้งเจตจำนงต้องการกลับเดินทางกลับใกล้จะหมดแล้ว แต่ถ้ามีคนไทยแสดงเจตจำนงจะเดินทางกลับมาอีก ก็ขอให้ทางอิสราเอลอำนวยความสะดวกให้ เพราะหากเขาจะเดินทางกลับมาอีกก็แสดงว่าสภาพสงครามมันต้องรุนแรงขึ้นอีก ตรงนี้อาจจะต้องมีการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในการที่จะนำคนไทยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย" นายเศรษฐากล่าว  

 นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ตนยังได้ถามไปในเรื่องของตัวประกันมีเดดไลน์หรือไม่ พอจะมีระยะเวลาหรือไม่ เมื่อไหร่ ซึ่งนายกฯ อิสราเอลยืนยันจะพยายามอย่างเต็มที่ ตอนนี้ยังไม่มี แต่ยังเจรจาอยู่ และเรื่องขอให้ดูแลคนไทยที่อิสราเอลให้ดีที่สุดที่ได้ฝากไปด้วย เพราะคนไทยกว่า 3 หมื่นคนไม่ได้ไปมีส่วนกับความขัดแย้ง เราไปช่วยพัฒนาประเทศเขา ช่วยทำเรื่องของการเกษตร ทางนายกฯ อิสราเอลก็บอกว่าเข้าใจหมด ไม่ได้มีความสงสัยเลยว่าคนไทยไปทำเรื่องอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร และนายกฯ อิสราเอลยังบอกมาว่าหากจะให้กลับมาที่ไทยก็จะอำนวยความสะดวกให้กลับมา และถ้ากลับมาแล้วก็หวังว่าเขาอยากจะกลับไปอิสราเอลอีกเมื่อทุกอย่างมันเรียบร้อยลงตัว และช่วยอำนวยความสะดวกให้กลับมา ก็พูดกันแค่นี้  

  “หากมีข่าวความคืบหน้าท่านก็จะโทรศัพท์มาบอกโดยตรง และถ้ามีเรื่องของการต่อรองที่อาจจะต้องมีเรื่องการแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างท่านก็จะบอกมา ผมบอกเราเปิดหมดทุกอย่าง ยังไงก็ได้ ขอให้นำคนไทยกลับบ้านโดยเร็วที่สุด เดี๋ยวค่ำๆ วันเดียวกันนี้ผมจะโทรศัพท์หานายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและ รมว.การต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง  โดยตอนนี้นายปานปรีย์อยู่ที่กาตาร์และอียิปต์ ว่ามีความคืบหน้าอะไรหรือไม่” นายกฯ กล่าว 

 ถามว่า มีการพูดคุยกันกรณีที่นายจ้างอิสราเอลจ่ายเงินเดือนล่าช้าให้กับแรงงานไทยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้ย้ำกับทางเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ซึ่งได้บริหารจัดการไปแล้ว และตนได้ขอบคุณไป 

ขณะที่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ทวีตข้อความระบุว่า ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Sheikh Mohammed bin Abdulrahman bin Jassim Al Thani ของรัฐกาตาร์ สำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นเมื่อวานนี้ครับ ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านอย่างตรงไปตรงมา ทั้งประเด็นความสัมพันธ์ไทย-กาตาร์ และประเด็นพัฒนาการของสถานการณ์ความรุนแรงในภูมิภาค โดยเฉพาะในฉนวนกาซา ซึ่งผมได้แสดงความขอบคุณในนามของประชาชนไทยสำหรับบทบาทสำคัญยิ่งของท่านและกาตาร์ที่กำลังช่วยไกล่เกลี่ยให้มีการปล่อยตัวประกัน ซึ่งรวมถึงคนไทย ท่ามกลางบริบทอันซับซ้อนของสถานการณ์สู้รบในขณะนี้

"ท่านยังได้แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของพี่น้องชาวไทย พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการสนับสนุนการบรรเทาทุกข์และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซาอีกด้วย" นายปานปรีย์กล่าว

แรงงานกลับน้อยเลิกเหมาลำ

ส่วนนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า เที่ยวบินอพยพคนไทยหลังจากนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่อาจไม่ใช่การเช่าเหมาลำ ซึ่งต้องพิจารณาจากจำนวนคนอพยพ หากมีน้อยก็ไม่สามารถอพยพแบบเหมาลำได้ ส่วนแรงงานไทยที่พร้อมจะเดินทางกลับเองยังสามารถเบิกจ่ายค่าเครื่องบินตามนโยบายรัฐบาล

นายชัยอธิบายถึงสิทธิประโยชน์ตามมาตรการเยียวยาสำหรับคนที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอลของกระทรวงแรงงานว่า ในกลุ่มคนที่ซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินเดินทางกลับมาเอง จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการเยียวยาเช่นกัน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เปิดให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล บริเวณชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค สามารถยื่นได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ มติ ครม.ที่เห็นชอบโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) และอนุมัติวงเงินงบฯ วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท จากงบฯ รายจ่ายประจำปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับไทยมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพ หรือแบ่งเบาภาระหนี้สิน เป็นโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อชำระหนี้กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่อิสราเอลและหรือเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ

 “นายกฯ เข้าใจสถานการณ์ของแรงงานคนไทยทุกคน มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก และประสงค์ให้แรงงานไทยในอิสราเอลพิจารณาให้ถี่ถ้วน จึงได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีแนวทางในการทำงานออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานไทย ซึ่งอีกประเด็นที่นายกรัฐมนตรีห่วงใย คือต้องเร่งหางานให้ผู้ที่เดินทางกลับไทยมาแล้วมีงานทำในสายงานที่ตนเองถนัดและพัฒนาเป็นประโยชน์ได้”โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ที่รัฐสภา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาฯ แถลงข่าวเกี่ยวกับการเจรจาช่วยเหลือตัวประกันคนไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลว่า จากการเดินทางไปประเทศอิหร่านเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ตนพบตัวแทนกลุ่มฮามาสที่เป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของอเมริกา เขาฝากบอกกับพี่น้องของตัวประกันไทยว่า ตัวประกันของไทยได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่เขาเกรงระเบิดที่เป็นอันตรายจากคู่ต่อสู้ และรอจังหวะใดเหมาะสมจะปล่อยตัวทันที เพราะเขาต้องการให้คนไทยที่อยู่กับฮามาสออกมาสื่อสารว่าฮามาสโหดร้ายจริงหรือไม่ เขาพยายามทำให้ตัวประกันไทยกลับมาอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข

นายอารีเพ็ญกล่าวว่า วันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้พบกับที่ปรึกษาประธานาธิบดีและประธานสมัชชาองค์กรปาเลสไตน์แห่งสำนักประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งมีบทบาทเป็นที่เกรงใจของคนอิหร่านและที่อาศัยอยู่ที่อิหร่าน รวมทั้งยังพบเลขาธิการใหญ่องค์กรช่วยเหลือประชาชาติปาเลสไตน์แห่งชาติ และประธานสมาพันธ์พิทักษ์เยาวชนปาเลสไตน์ต่อต้านอิสราเอลแห่งชาติด้วย ซึ่งที่ปรึกษาประธานาธิบดีรับปากจะดำเนินการให้การช่วยเหลือ เพราะเข้าใจว่าไทยมีคุณอนันต์ต่อมุสลิมในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ทางรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านไปที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เพื่อไปพบกับหัวหน้าใหญ่ของกลุ่มฮามาส ดังนั้นตนขอบอกว่า ทุกคนที่คุยกับตนอยากให้คนไทยเข้าใจว่าพวกปาเลสไตน์เขาต่อสู้มาเป็นเวลาช้านาน เดือดร้อนมากโดยที่โลกไม่ให้ความสนใจ แต่พออิสราเอลโดนกระทำ โลกให้ความสนใจ

"ที่มีข่าวมีการทารุณกรรมคนไทย เขาบอกว่าทางฮามาสไม่เคยทำอย่างนี้ แต่เขาบอกว่าตอนที่มีกำแพงถล่ม แล้วมีการบุกเข้าไป ไม่รู้ว่าใครเป็นใครก็อาจจะมีการยิงกัน นี่คือสิ่งที่เขาตอบ และบอกว่าไม่ใช่การกระทำของฮามาสแน่นอน ดังนั้นการที่อิสราเอลและสหประชาชาติเอาภาพมาออก ก็ชัดเจนว่าเป็นใครทำอะไรที่ไหน วิธีการกระทำ หรือโดนทุบ รวมถึงการพูดต่างๆ ก็ไม่ใช่ของฮามาส และยังไม่ยืนยันว่าเป็นคนไทยหรือไม่ อาจจะเป็นคนที่มีความแค้นเป็นการส่วนตัว” นายอารีเพ็ญกล่าว

มั่นใจตัวประกันไทยรอดแน่

ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าวว่า จากการที่ไปสัมผัสด้วยตัวเอง ตัวแทนของเขาให้เกียรติเรา และเขาจะดูแลคนไทยที่อยู่เป็นอย่างดี จะไม่ให้เสียชีวิต เพราะคนเหล่านี้จะเป็นกระบอกเสียง เมื่อออกมาแล้วจะบอกว่าเขาอยู่ในการกักกันของฮามาสได้รับผลกระทบและเดือดร้อนอะไรบ้าง

ถามว่า จากการพูดคุยกับตัวแทนฮามาส ได้ให้พูดคุยหรือวิดีโอคอลกับแรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกันหรือไม่ เพื่อยืนยันว่ายังมีชีวิตอยู่ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าวว่า การใช้โทรศัพท์ที่นั่นถือเป็นอันตราย เพราะเมื่อมีการจับคลื่นได้ที่ใดระเบิดจะจับทันที เขาจึงไม่ให้พูดคุย แต่เขาบอกว่าหากตนจะเดินทางไป เขายินดีพาไป แต่ตนไม่ไป เพราะหากไปก็จะเสี่ยงอันตราย

ซักว่าอะไรที่ทำให้เรามั่นใจว่าตัวประกันยังปลอดภัยอยู่ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าวว่า เขามายืนยันกับตนและให้บอกกับญาติพี่น้องที่อยู่ในประเทศไทยให้สบายใจ ซึ่งตนก็จะบอกกับ สส.ในพื้นที่ให้ไปบอกแทน

เมื่อถามว่า กลุ่มฮามาสได้บอกกรอบกว้างๆ หรือไม่ว่าจะปล่อยตัวประกันเมื่อไหร่ นายอารีเพ็ญกล่าวว่า เขาจะปล่อยตัวให้เร็วที่สุด เพราะความปลอดภัยของตัวประกันสำคัญ แต่ถ้าบอกว่าปล่อยเมื่อไหร่ ระเบิดไปทันที เพราะฉะนั้นจะไม่บอกเวลา เมื่อปล่อยออกมาแล้วเขาถึงบอก แต่คิดว่าคงไม่นานเกินรอ และคนที่ประสานงานที่ไปกับตนแล้วยังไม่กลับเราให้อยู่ประสานงานแล้วมารายงานตลอดว่าจะปล่อยตัวเมื่อไหร่ และถ้าจะปล่อยตัวก็อยากให้ปล่อยทางอิหร่านเพราะสะดวก โดยนายวันมูหะมัดนอร์จะเดินทางไปรับเอง และจะขอบคุณผู้ใหญ่ที่อิหร่านด้วย 

"เขายืนยันว่าถ้ามีความปลอดภัย พรุ่งนี้ก็ปล่อยตัวได้เลย และการที่เราเลือกไปอิหร่าน เพราะอิหร่านสนับสนุนฮิซบุลเลาะห์และฮามาส เพราะฉะนั้นเมื่อคนที่มีบุญคุณใหญ่หลวงขออะไร ตนคิดว่าทางฮามาสไม่น่าจะปฏิเสธ จึงทำให้ตนเดินทางกลับประเทศไทยด้วยความสบายใจว่าตัวประกันอาจมีชีวิตรอดกลับมาได้" นายอารีเพ็ญกล่าว

ที่กองทัพอากาศ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. กล่าวว่า ทอ.มีภารกิจรับแรงงานไทยในอิสราเอลที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และไม่ได้รับบาดเจ็บกลับมา ซึ่งปัจจุบันเราได้ไปรับแรงงานไทยมาแล้วทั้งหมด 5 เที่ยวบิน รวมประมาณกว่า 1,000 คน อย่างไรก็ตาม ทอ.มีความพร้อมในการสนับสนุนในทุกภารกิจ เราเตรียมเครื่องบินแอร์บัส A340-500 1 ลำ และ C130 อีก 5 ลำ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือการรวบรวมคนไทยในอิสราเอลว่าจะพร้อมกลับประเทศไทยได้จำนวนกี่คนต่อเที่ยวบิน

วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผู้ถือหนังสือเดินทางต่างประเทศหลายร้อยคนและผู้บาดเจ็บที่ติดอยู่ในฉนวนกาซาเริ่มออกจากดินแดนที่มีการสู้รบอย่างต่อเนื่องแล้ว จากการเปิดจุดผ่านแดนราฟาห์ไปยังอียิปต์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม

ก่อนหน้านี้ จุดผ่านแดนราฟาห์อนุญาตให้เฉพาะขบวนรถช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ผ่านเข้าไปในฉนวนกาซาเท่านั้น และไม่เคยเปิดให้บุคคลผ่านเข้า-ออกนับตั้งแต่มีการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

มีการเข้าแถวต่อคิวตั้งแต่เช้าวันพุธหน้าอาคารผู้โดยสาร และคาดว่าจะมีชาวต่างชาติประมาณ 545 คน, คนสองสัญชาติ พร้อมด้วยผู้ป่วยและบาดเจ็บประมาณ 90 คน ได้ออกจากดินแดนกาซา

หลังจากได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณอาคารผู้โดยสาร ก็มีการต่อคิวจำนวนมากบริเวณด่านตรวจหนังสือเดินทางและเอกสาร ขณะที่รถพยาบาลจำนวนมากรออยู่ที่ฝั่งอียิปต์เพื่อนำผู้บาดเจ็บและคนป่วยไปรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ พื้นที่รอบอาคารผู้โดยสารได้รับความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซา หลังการโจมตีของกลุ่มฮามาสที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,400 รายในอิสราเอล และมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันอีก 240 คน

ในกาซา มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 15,000 คน จากการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอล รวมทั้งผู้เสียชีวิตอีกราว 8,500 ราย โดยสองในสามของจำนวนนี้เป็นผู้หญิงและเด็ก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง