โยก‘รอย’นั่งเลขาฯสมช. โพลสภาค้านยุบกอ.รมน.

“เศรษฐา” อุบชื่อเลขาฯ สมช.คนใหม่ คนนอก-คนใน แต่บอกลงตัวแล้ว สะพัดหวยออกที่ "รอย อิงคไพโรจน์" นายกฯ ปัดเอาใจเอาทหาร ไม่ยุบ กอ.รมน. ขณะที่ก้าวไกลย้ำจุดยืนต้องยุบทิ้ง อ้างมองประชาชนเป็นศัตรู ย้ำจุดยืนรัฐบาลพลเรือน ควรอยู่เหนือกองทัพ เปิดรัฐสภาโพลคว่ำร่างกฎหมายก้าวไกล

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่นายกฯ จะเป็นประธานการประชุม สมช. ในวันที่ 2 พ.ย.ว่า ตำแหน่งเลขาธิการ สมช.น่าจะลงตัวแล้ว แต่ขอให้คอยขั้นตอนสักนิดหนึ่ง หวังว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ในวันที่ 7 พ.ย. จะสามารถเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งนั้น  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสายวันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ได้ทวีตข้อความผ่าน X ตอบผู้แสดงความคิดเห็นรายหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า “ขอไม่เห็นด้วยกับที่ประกาศเอาใจทหาร ไม่มีแนวคิดยุบหน่วยงาน มิหนำซ้ำยังไปเพิ่มบทบาทที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่นๆ” โดยนายเศรษฐาระบุว่า “ไม่ได้เอาใจทหารครับเอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมก็พูดไปแล้วว่าการทำงานของหน่วยงานนี้จะต้อง เน้นเรื่องการพัฒนา ไม่ใช่แค่ป้องกันอย่างเดียวตามที่ได้เสนอข่าวไป”

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จะมีการเสนอชื่อ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.กมค. ที่เคยรับผิดชอบดูแลงานด้านความมั่นคง ให้โอนย้ายมาดำรงตำแหน่ง ขยับเป็นเลขาฯ สมช. ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงขึ้น เทียบเท่าระดับซี 11 โดยคาดว่าจะมีการเสนอชื่อ พล.ต.อ.รอย เข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบโอนย้ายมาดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช. วันที่ 7 พ.ย.นี้

สำหรับ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เกิดวันที่ 6 ส.ค.2507 จบมัธยมต้น โรงเรียนเซนต์คาเบรียล มัธยมปลาย เตรียมอุดม ปริญญาตรี จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 40 นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 ปริญญาตรี นิติศาสตร์ รามคำแหง MPA สหรัฐอเมริกา หลักสูตรหลัก FBI หลักสูตรสืบสวนที่สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

ประวติรับราชการที่สำคัญ รอง สว.ป.2 กก.7 ป., รอง สว.งานนโยบายและแผน ฝ่ายอำนวยการกองตำรวจสันติบาล, นว.ผบก.ประจำ ตร. (ทนท.หน.อำนวนการ) สำนักงานวิทยาการตำรวจ, สว.งาน 1 ฝอ.1 ส.1, สว.งาน 4 กก.3 บก.อก.ส., สว.งาน 2 กก.5 ส.1, นว.ผู้ช่วย อ.ตร., นว. (สบ4) รอง ผบ.ตร., ผกก.7 ทล., ผกก.2 บล.ทล., รอง ผบก.ทล., รอง ผบก.สบพ., ผบก.ตม.3, ผบก.ประจำ สตม., ผบก.ทท., รอง ผบช.ก., ผบช.ส., ผบช.ศ., ผู้ช่วย ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร.

ที่รัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณียื่นร่างยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารการการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พ.ศ.2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน.ว่า การพยายามจะเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ และระบบงานความมั่นคงของประเทศนี้ หัวใจคือการพูดถึงประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย เราต้องการสร้างและสถาปนาหลักการประชาธิปไตย ที่รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่เหนือกองทัพ และพยายามทำให้กองทัพอยู่ห่าง หรือออกจากการเมืองมากที่สุด

"การยกเลิก พ.ร.บ. กอ.รมน. มีเหตุจำเป็นอยู่หลายประการ ประกอบด้วย การพยายามทำให้ความมั่นคงเป็นเรื่องของประชาชน เป็นเรื่องของพลเรือน ไม่ใช่ผูกขาดอยู่เพียงแค่บทบาทและหน้าที่ของกองทัพเท่านั้น หลักการพลเรือนเป็นใหญ่ ควรเป็นหมุดหมายสำคัญที่อยู่ในระบบประชาธิปไตยของเรา และทำให้เรื่องความมั่นคงที่เคยผูกขาดอยู่กับเพียงกองทัพ มาอยู่ในมือของประชาชน ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลพลเรือน ในการบริหารราชการที่มีความโปร่งใสและมีความชอบธรรม"

ที่ผ่านมาตัวองค์กร กอ.รมน.เองก็มีข้อถกเถียงและมีข้อกล่าวหามากในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่มากเกินจริง มีความไม่โปร่งใสในการบริหารกำลังพล ซึ่งข้อสงสัยเหล่านี้เกิดขึ้นมาตลอดหลายปี ยังไม่รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภายใต้ ที่เราต้องการสร้างหลักการประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในประเทศนี้

อีกด้านหนึ่ง คือการเปิดโอกาสสำหรับการสร้างสันติภาพ กว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งโดยการทหาร ซึ่งได้นำวิธีคิดแบบทหารมาลดทอนโอกาสและทางเลือกของสังคมไทย ในการที่จะแสวงหาข้อตกลง แสวงหาจุดบรรจบที่ลงตัวทางการเมือง เพื่ออยู่ร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน ที่มีกรอบความคิดในเรื่องการพินิจพิเคราะห์ว่า ประชาชนเป็นภัยคุกคาม ถ้าเรามีมุมมองแบบนี้ เราจะทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นไปได้ยากลำบาก จึงเป็นเหตุผลให้เราเสนอยกเลิก กอ.รมน. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปงานความมั่นคงทั้งหมด

"มุมมองที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงถูกผูกขาดโดย กอ.รมน. ที่พยายามจัดวางให้ประชาชนผู้ที่อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างเป็นศัตรูกับรัฐได้ หากปล่อยให้หน่วยงาน กอ.รมน. ทำงานภายใต้กรอบคิดแบบนี้อยู่ ก็จะตัดโอกาสของสังคมไทยในการที่จะแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และทำให้โอกาสในการอยู่ร่วมกันอย่างสันตินี้เป็นไปได้ยาก" นายรอมฎอนกล่าว

ด้านนายเชตวันกล่าวด้วยความผิดหวังว่า จากการที่รับฟังคำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี และนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ตนคิดว่าจะเป็นการขยายบทบาทของกองทัพ กับการเข้าไปยุ่มย่ามในงานสาธารณะ ทั้งที่นายสุทินเคยออกมายอมรับเองว่ากองทัพก็มีการใช้ไอโอ ดังนั้นหากมองว่าเพื่อนร่วมชาติเป็นข้าศึก เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งครั้งนี้ก็ไม่มีคอมมิวนิสต์แล้ว ทำไมกลับยังมีข้อกล่าวหาเรื่องชังชาติหรือล้มสถาบันอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วง 16.00 น. ของวันที่ 1 พ.ย. พบว่า ในช่องแบบสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.กอ.รมน. โดยมีคำถามสำคัญคือคำถามสุดท้ายที่ว่า “ท่านเห็นสมควรให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่” โดยมีช่องให้กรอกสามคำตอบคือ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย-งดออกเสียง ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปแสดงความเห็นจะต้องกรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักด้วย ความเห็นดังกล่าวจึงจะได้รับการบันทึกไว้

ซึ่งพบว่า ข้อมูลจนถึงช่วง 17.00 น.วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีข้อมูลปรากฏในเว็บไซต์ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=285 พบว่า ผู้แสดงความคิดเห็น 46,583 คน เห็นด้วย 27.97%, ไม่เห็นด้วย 71.46%,  งดออกเสียง 0.57%

นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. เนื่องจาก กอ.รมน.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องรักษาความมั่นคงภายในประเทศจากภัยคุกคามต่างๆ  เช่น การก่อความไม่สงบ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นต้น หากยุบ กอ.รมน.ไป อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ได้

 “หากยุบ กอ.รมน.ไปอาจทำให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานแยกส่วนกัน ประสิทธิภาพการบูรณาการ การประสานงานด้านต่างๆ ลดลง ผมเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ที่ไม่มีแนวคิดจะยุบ กอ.รมน. แต่จะปรับแนวทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพให้มีการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อช่วยพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอมิ้ง' แจงยังไม่นำรายชื่อ 'ครม.อิ๊งค์ 1' ขึ้นทูลเกล้าฯ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบประวัติ คุณสมบัติ ในลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

สุดสับสน! ปรากฏการณ์การเมืองไทย ยุครัฐบาล 'อิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเฉพาะกลุ่ม สส. แต่หัวหน้าพรรคกลับถูกไล่ออกไม่ให้ร่วมด้วย

'เรืองไกร' ท้า 'นายกฯอิ๊งค์' โชว์ใบลาออก พ้นกรรมการ 20 บริษัท

ายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้แสดงหลักฐานต่อสาธารณะเกี่ยวกับการลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ รวม 20 บริษัท

'นายกฯอิ๊งค์' อยู่ได้เกิน 6 เดือนไหม! ขึ้นอยู่กับ 2 ทางรอด

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อุ๊งอิ๊งจะอยู่เกิน 6 เดือนไหม