ให้หัวละ5หมื่น ดึงแรงงานไทย ยิวยังถล่มหนัก

รัฐบาลลุยมาตรการเชิงรุกจูงใจแรงงานในอิสราเอลกลับไทย ปล่อยกู้รายละ 1.5 แสนบาท ผ่อนยาว 20  ปี ขณะที่ ก.แรงงานชง ครม.สัปดาห์หน้า เพิ่มเยียวยาอีกหัวละ 5 หมื่น แถมพักหนี้ทั้งต้น-ดอก "ปานปรีย์" บินด่วนหารือ กาตาร์ อียิปต์ เจรจาปล่อยตัวประกัน ขณะที่ กต.สรุปยอดคนไทย ดับแล้ว 32 ถูกจับ 22 ราย

เมื่อวันอังคาร เวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม ครม.ได้มีการพูดคุยกันถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล โดยมีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงและสถานทูตไทยประจำอิสราเอล ทราบว่าการต่อสู้ไม่ได้เบาบางลงไป แต่กลับทวีความเข้มข้นขึ้น และมีการปฏิบัติภาคพื้นดินอย่างต่อเนื่อง ความอันตรายยังมีอยู่มาก เรายืนยันต่อไปอยากให้พี่น้องคนไทยกลับมา ซึ่งต้องมีการปฏิบัติการเชิงรุก เพราะรู้ว่าการที่พี่น้องไม่กลับมาเพราะอะไร เพราะเป็นเรื่องการเงิน 

ซึ่งตนเคยเรียนไปแล้วคร่าวๆ โดยจะให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แถลงรายละเอียดว่าเรามีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร โดยหลักๆ มี 2 เรื่องคือ แรงงานที่กลับมาแล้ว ที่กำลังจะกลับมา และที่จะกลับมาในอนาคต จะได้เงินชดเชยคนละ 50,000 บาท ตรงนี้ได้แน่ๆ และจะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว คนละไม่เกิน 150,000 บาท เผื่อใครที่ไปกู้มาและต้องทำงานผ่อนใช้  

นายกฯ กล่าวว่า นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ได้ลาการประชุม ครม.เพื่อเดินทางไปรัฐกาตาร์และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ โดยรับทราบข้อมูลจากทุกฝ่ายที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเจรจากับกลุ่มชนที่จับคนไทยเป็นตัวประกัน ไม่ว่าจะเป็นการประสานจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือหน่วยงานอื่นๆ ตนคิดว่าเพื่อเป็นการลดความสับสน ตรงนี้นายปานปรีย์ได้บินไปเจรจาที่หน้างานด้วยตัวเอง ก็จะช่วยเหลือได้มาก  

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีเที่ยวบินกลับมาจากอิสราเอลอีกหรือไม่วันนี้ นายกฯ กล่าวว่า ตนจำเที่ยวบินไม่ได้จริงๆ แต่ทุกวันนี้พยายามนำกลับมาให้ได้เยอะที่สุด ช่วยเหลือกันได้ก็พยายามช่วยเผยแพร่ข่าวด้วย เพื่อให้พี่น้องคนไทยกลับมา

​ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทยจากอิสราเอล โดย ครม.อนุมัติเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แบ่งกันดูแลแห่งละ 1,000 ล้านบาท 

โดยปล่อยกู้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลรายละ 1.5 แสนบาท ดอกเบี้ย 3% รัฐบาลช่วย 2% ผู้กู้จ่ายเอง 1% ให้ผ่อนชำระ 20 ปี ใน 20 ปีนี้ดอกเบี้ยแค่ 1% คำนวณออกมาแล้วผ่อนเดือนละ 689.84 บาท โดยให้มายื่นระหว่างวันที่ 3 พ.ย.66-30 มิ.ย.67 ถือเป็นมาตรการที่จะดูแลรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในอิสราเอล  

​พร้อมกันนั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้เสนอในที่ประชุมเป็นกรณีพิเศษว่า เงินเยียวยาที่รัฐบาลดูแลแรงงานที่กลับมาแล้วคนละ 15,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอ จึงเสนอว่าอยากขออนุมัติงบกลางจ่ายให้เพิ่มอีกคนละ 50,000 บาท ซึ่งนายกฯ รับปากในที่ประชุมว่าให้ และให้มีผลย้อนหลังให้กับแรงงานที่กลับมาก่อนแล้ว 5,000-6,000 คน โดยต้องได้ทุกคน 

     ทั้งนี้ ตั้งงบประมาณสูงสุดไว้ 1,500 ล้านบาท ครอบคลุมแรงงานไทยที่อิสราเอลทั้ง 30,000 คน ขณะที่เลขาธิการ ครม. จึงระบุว่าเพื่อให้กระบวนการถูกต้อง ครม. ครั้งหน้าให้กระทรวงแรงงานเสนอเรื่องเข้ามาที่ ครม. จะได้อนุมัติอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ รมว.แรงงานยังเสนออีกว่า จะขอให้มีการพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกแก่แรงงานไทยที่เป็นหนี้สถาบันการเงินอยู่ วงเงิน 1.5 แสนบาท โดยทั้งสองเรื่องจะเข้า ครม.รอบหน้าเช่นกัน 

​นายปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือตัวประกันไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับกุมตัวว่า มีภารกิจต้องเดินทางเช้าวันนี้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยจะเดินทางเยือนรัฐกาตาร์และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2566 เพื่อพบกับผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ 

รวมทั้งหารือเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันจากสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์และพัฒนาการในภูมิภาค หารือถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน

ทั้งนี้ ตนมีกำหนดพบหารือกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่กรุงโดฮา และพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่กรุงไคโร

     นายปานปรีย์กล่าวว่า ความตั้งใจของไทยคืออยากให้มีการปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี ขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าตัวประกันทั้งหมดอยู่ที่บริเวณไหน อยู่ในประเทศใด และอยู่ในหรือนอกฉนวนกาซาหรือไม่ แต่ในส่วนของรัฐบาลไทยเราเปิดการเจรจาทุกช่องทางที่มีอยู่ที่จะสามารถประสานกับฮามาสได้เพื่อขอให้เขาทำการปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศแจ้งให้คนไทยรีบเดินทางกลับบ้านโดยเร็วที่สุด มีผู้มาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า เราได้ขอร้อง เพราะอยากให้ทุกคนปลอดภัยมากที่สุด ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว เพราะไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ทั้งในอิสราเอลและกาซาจะรุนแรงมากขึ้นขนาดไหน จึงไม่อยากให้คนไทยได้รับผลกระทบ ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จึงอยากจะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าขอให้คนไทยกลับประเทศโดยเร็วที่สุด

     นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงการช่วยเหลือตัวประกันคนไทยในอิสราเอลว่า เรายังมีความหวัง และพยายามประสานงานในหลายหลายช่องทาง ส่วนที่กลุ่มฮามาสต่อรองขอแลกตัวประกันชาวปาเลสไตน์ที่ถูกจับกุมตัวนั้น  นายสุทินกล่าวว่า ก็ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งบางอย่างก็พูดไม่ได้ ยังมีความหวังอยู่เพราะคนของเราและประเทศของเราไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย จึงมีโอกาสที่จะปล่อยคนของเรา

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับเที่ยวบินจากอิสราเอล โดย สอท. ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ประสานการนำส่งร่างผู้เสียชีวิตครั้งที่ 3 จำนวน 10 ร่าง จะมาถึงสุวรรณภูมิในวันที่ 1 พ.ย.66 โดย LY083 เวลา 12.40 น.โดยประมาณ  

มีรายชื่อผู้เสียชีวิตที่จะนำกลับมาในเที่ยวบินดังกล่าว ดังนี้ 1.นายจักรพงษ์ จันทรเสนา 2.นายศตวรรษ เพียเอีย 3. นายพิทักษ์ โทแหล่ง 4.นายวุฒิภัทร วิเศษดอนหวาย 5.นายจรูญ ชาติดำดี 6.นายสมควร พันธ์สะอาด 7.นายปริญญา แต้มกลาง 8.นายนันทวัฒน์ ปิ่นใจ 9.นายตุ๊ แซ่ลี 10.นายบัญชา ดัชถุยาวัตร

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ (สถานะวันที่ 31 ต.ค.66) ดังนี้ เสียชีวิต  32 ราย (คงเดิม), บาดเจ็บ 19 ราย (คงเดิม), รักษาตัวอยู่ใน รพ. 6 ราย, ถูกควบคุมตัว 22 ราย (คงเดิม) เที่ยวบินอพยพที่จะเดินทางถึงไทยในวันที่ 1 พ.ย.66 คือ TG 8953 ถึงสุวรรณภูมิประมาณ 01.30 น. (คืนวันที่ 31 ต.ค.) จำนวนผู้ลงทะเบียน 278 คน

วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การสู้รบในฉนวนกาซาดุเดือดต่อเนื่องเป็นวันที่ 25 หลังจากที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,400 ราย และการตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดอย่างไม่หยุดยั้งของอิสราเอลทำให้ชาวปาเลสไตน์ 8,525 รายถูกสังหาร ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 3,457 ราย ในขณะที่ฉนวนกาซายังคงถูกปิดล้อมและกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

 อิสราเอลได้ส่งกองกำลังภาคพื้นดินและรถถังเข้าไปในกาซา เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทำลายล้างกลุ่มฮามาส และได้ทำลายบ้านในเขตเวสต์แบงก์ของซาเลห์ อัล-อารูรี ผู้นำหมายเลข 2 ของกลุ่มฮามาสด้วยระเบิด

 โดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล แถลงข่าวว่า การหยุดยิงในสงครามฉนวนกาซาจะไม่มีวันเกิดขึ้น เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นจะถือเป็นการยอมจำนนต่อกลุ่มฮามาส

 ในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ เนทันยาฮูกล่าวว่า กองทัพได้ขยายปฏิบัติการเข้าสู่ฉนวนกาซาแล้ว โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้าทีละขั้นอย่างเป็นระบบ

 สหรัฐอเมริกาเองก็คัดค้านการเรียกร้องหยุดยิง โดยให้เหตุผลว่า การหยุดยิงยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในเวลานี้

 ขณะที่หน่วยงานสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์เตือนว่า  ขบวนรถช่วยเหลือที่เดินทางเข้าฉนวนกาซามีจำนวนไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรมในดินแดนดังกล่าว และเสริมว่าระบบที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในฉนวนกาซานั้นกำลังจะล้มเหลว เว้นแต่จะมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะทำให้การหลั่งไหลของเสบียงมีความหมายและตรงกับความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 กองทัพอิสราเอลเผยว่า มีทหารหญิง 1  นายได้รับการปล่อยตัวระหว่างปฏิบัติการภาคพื้นดิน หลังจากถูกกลุ่มฮามาสลักพาตัวไปตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.

 ล่าสุด กลุ่มฮามาสเผยแพร่วิดีโอเพิ่มเติมของผู้หญิงอีก 3 คนจากกลุ่มตัวประกันซึ่งอิสราเอลระบุว่ามีจำนวนประมาณ 239 คน และผู้หญิงคนหนึ่งในนั้นเรียกร้องต่อผู้นำอิสราเอลให้ยอมตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง