ปัดยุบ‘กอ.รมน.’แบ่งที่แจกปชช.

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม กอ.รมน.ครั้งแรก ยืนยันไม่มียุบ-ไม่อยู่ในนโยบายรัฐบาล ชื่นชมกองทัพเดินหน้า  "หนองวัวซอโมเดล" แบ่งที่ดินทหารให้  ปชช.ทำกินมอบเป็นของขวัญปีใหม่ ลั่นไม่มีคุยเรื่องการเมือง ตอก "ก้าวไกล" อย่าพูดเรื่องวาทกรรม "สุทิน" แจง กอ.รมน.มีประโยชน์ อยู่ที่ผู้นำเลือกใช้งาน ย้ำจุดยืน "สส.เพื่อไทย" ขอแค่ปรับภารกิจ ลดซ้ำซ้อน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือการเมือง ไฟเขียวทหารทำ "ไอโอ" แต่ต้องสร้างสรรค์ ห้ามทำร้าย-ด้อยค่ากัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 31 ตุลาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ  รมว.การคลัง ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร  (วิปรัฐบาล) สนับสนุนยุบ กอ.รมน. โดยเห็นว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐที่ทำให้ทหารมีอำนาจเหนือประชาชนว่า ใครเป็นคนพูด   คงเป็นความเห็นส่วนตัว ตนไม่เคยพูดเลย และบ่ายวันนี้ตนจะไปประชุมชี้แจงมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานที่ กอ.รมน. และวันนี้มีข่าวใหญ่ที่จะแถลงที่ กอ.รมน.และเป็นเรื่องที่ดี ตนไม่เห็นว่าต้องไปยุบอะไรเลย

ที่ กอ.รมน. นายเศรษฐาแถลงภายหลังการประชุมชี้แจงมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของ กอ.รมน.ว่า เป็นการประชุมร่วมกับ กอ.รมน.ครั้งแรก ซึ่งหลังจากได้พูดคุยกับกองทัพแล้วอยากเพิ่มบทบาทในหลายมิติ วางรากฐาน สร้างความพร้อมให้กับประเทศไทย เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับประชาชน   หมายถึงความมั่นคงที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน โดยประเด็นแรก ต้องช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดภัยพิบัติ ระดมสรรพกำลัง รวมถึงทรัพยากรและเครื่องมือของกองทัพ ร่วมกับส่วนราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า อีกเรื่องคือการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยนำที่ดินของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชน พร้อมขอชื่นชมกองทัพ ได้นำนโยบายการนำที่ดินที่ดูแลภายใต้กองทัพมาดำเนินการผ่านโครงการ "หนองวัวซอโมเดล" มีเนื้อที่ 9,276 ไร่ มีกำหนดส่งมอบให้กับประชาชนในวันที่ 25 ธันวาคม 66 นี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนจากกองทัพไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนที่ดีที่กองทัพไทยจะได้ร่วมมือในการพัฒนาประเทศและขยายไปในพื้นที่ต่างๆ ส่วนตัวมีความชื่นชมในเรื่องนี้ และเป็นเรื่องที่เราพูดคุยกันมา ภายในเวลาไม่กี่เดือนก็ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า ได้มีการหารือเรื่องปัญหา PM 2.5 เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่ปัญหานี้แล้ว จึงเห็นว่า กอ.รมน. ซึ่งมีทีมงานร่วมกับนักวิชาการการเกษตร ในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้มีมูลค่า แทนที่จะถูกเผาก่อให้เกิดฝุ่นพิษ จึงอยากขอให้ขยายผลอย่างจริงจัง และขอให้ส่วนราชการต่างๆ สนับสนุน

นายกฯ ยืนยันด้วยว่า การหารือกันวันนี้ไม่มีเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับการยุบ กอ.รมน.เลย ซึ่งตนได้พูดคุยกับผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่าที่มาที่ไปเรื่องนี้คืออะไร วันนี้บริบทการทำงานของ กอ.รมน.ก็เริ่มเปลี่ยนไป การคุยกันเป็นเรื่องการพัฒนาและการลดช่องว่างระหว่างกองทัพกับประชาชนให้ลดน้อยลง เช่น โครงการมอบที่ดินให้กับประชาชนที่หนองวัวซอก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นด้วย

"ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการยุบ กอ.รมน. ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจ และไม่ได้อยู่ในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้แม้แต่น้อย"  นายเศรษฐากล่าว

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลเดินเกมล่ารายชื่อประชาชนเสนอร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. นายกฯ กล่าวว่า หากฟังที่ตนแถลงวันนี้ หน่วยงานรัฐที่ทำงานรวดเร็ว พูดกันอย่างผู้ใหญ่ๆ ทานข้าวกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ขอไปเรื่องเดียว ขอไปแป๊บเดียว เดือนครึ่งก็ออกมาแล้ว เราพูดด้วยผลงานดีกว่า อย่าไปพูดเรื่องวาทกรรม เรื่องอื่นก็ให้เป็นเรื่องของพรรคนั้นๆ  ไป ให้เขาเข้าไปเข็นเข้าสู่สภาเองก็แล้วกัน  ทางฝ่ายกองทัพ ฝ่ายหน่วยงานรัฐและการเมืองที่เกี่ยวข้องเราทำงานอย่างเดียว ให้ประชาชนตัดสินใจ

เมื่อถามว่า แสดงว่านายกฯ ไม่ได้มองว่า กอ.รมน.เป็นเครื่องมือการเมืองของรัฐบาลแต่ละสมัยใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า การพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่มีเรื่องการเมือง ที่คุยบ่อยที่สุดคือผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับผู้บัญชาการทหารบก เรื่องช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่และถูกจับกุมโดยกลุ่มฮามาส

จากนั้น พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ในฐานะรอง ผอ.รมน. ได้นำนายกรัฐมนตรีขึ้นไปดูห้องทำงานบริเวณ ประมาณ 10 นาที ก่อนเดินทางกลับ

ด้าน พล.อ.เจริญชัยกล่าวว่า ในวันนี้นายกฯ ได้ชมอาคารต่างๆ ใน กอ.รมน.  ซึ่งนายกฯ ระบุว่าเป็นอาคารเก่าที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เช่นเดียวกับอาคารเพชรรัตน์ และนายกฯ ได้ชมห้องนอนที่ทาง กอ.รมน.จัดเตรียมไว้ให้แล้ว

ทั้งนี้ นายกฯ ได้มอบให้ กอ.รมน.หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินของทหาร ซึ่งหมายรวมถึงหน่วยที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมทั้งหมด โดยนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้กำชับมาให้เร่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว พร้อมมอบให้กองทัพบกเป็นเจ้าภาพ จึงได้เรียนเชิญนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ที่มาหารือกับผู้นำเหล่าทัพที่กองทัพบก

 “กองทัพบกเคยทำเรื่องที่จะส่งคืนพื้นที่เมื่อประมาณ 50,000 ไร่ ในปี 2552 แต่ด้วยระเบียบทำให้ไม่พร้อมในการที่เราจะส่งคืนปีนั้นได้ ในปัจจุบันแนวทางที่นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไว้ภายใต้ชื่อหนองวัวซอโมเดล อยู่ในขั้นตอนกรมธนารักษ์สอบสวนสิทธิการครอบครองใช้ประโยชน์ และรับคำร้องขอเช่าจากประชาชน โดยกำหนดว่ากระบวนการทั้งหมดนี้จะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 ธ.ค. ตามที่นายกฯ ระบุว่าจะมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน โดยในวันนั้นจะกลับเรียนเชิญนายกมนตรีเป็นประธานในพิธี”  พล.อ.เจริญชัยกล่าว

ด้านนายสุทินกล่าวว่า เราทำงานร่วมกันกับ กอ.รมน. โดยมีกระทรวงกลาโหมเป็นแกนสำคัญ ซึ่งนายกฯ อาจจะถ่อมตัว แต่ความเป็นจริงแล้วสามารถจัดสรรที่ดินทหารได้เยอะกว่านั้น หลังจากที่เราเห็นตัวเลขการคืนที่ดินของกองทัพ ก็จะเป็นโมเดลสำคัญในการแก้ไขปัญหาพื้นที่อื่นๆ  ดังนั้นก็จะมีความคืบหน้าที่เร็วขึ้น

ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลล่ารายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน.ต่อสภา  นายสุทินกล่าวว่า ต้องยอมรับว่า กอ.รมน.ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งในการบูรณาการกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ หากสั่งผ่าน กอ.รมน.จะเวิร์ก

เมื่อถามว่า กอ.รมน.ไม่ใช่หน่วยงานซ้ำซ้อนตามที่โดนโจมตีใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า อยู่ที่ผู้บริหารประเทศจะใช้งาน ถ้าเลือกใช้ไม่เป็นจะซ้ำซ้อน แต่ถ้าเลือกเป็นคือการสนธิกำลังและบูรณาการอำนาจและทรัพยากร

"ถ้าผู้นำประเทศใช้ กอ.รมน.เป็น อยู่ที่คนใช้งาน ไม่ใช่ตัวองค์กร ที่ผู้นำประเทศที่จะสั่งการเป็นหรือไม่ ยืนยันว่ารัฐบาลเพื่อไทยยังไม่มีนโยบายลดบทบาท กอ.รมน. เพียงแต่ว่ามีการขับเคลื่อนนักการเมืองหลายส่วน ซึ่งในกลุ่ม สส.เพื่อไทย อยากให้ปรับภารกิจ แต่ สส.บางพรรคอยากให้ยุบ กอ.รมน. สิ่งที่ สส.เพื่อไทยอยากให้ปรับภารกิจคือสิ่งที่ซ้ำซ้อนให้ลดลง เน้นสนับสนุนความมั่นคงต่างๆ ของประเทศ เช่น เศรษฐกิจ วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต เพราะที่ผ่านไปเป็นหนักความมั่นคงทางทหาร ที่เน้นแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพียงอย่างเดียว” นายสุทินกล่าว

เมื่อถามว่า กอ.รมน.ถูกโจมตีว่าใช้มวลชนไปหาเสียงเลือกตั้งหรือการทำประชามติ นายสุทินกล่าวว่า อาจจะมีคนคิด และบางยุคอาจจะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นหากผู้นำใช้เป็น ก็จะเป็นประโยชน์ ผู้นำบางยุคอาจนำ กอ.รมน.ไปใช้ในทางการเมือง เพราะฉะนั้นจากนี้ผู้นำที่ดีจะไม่ใช้ กอ.รมน.เป็นเครื่องมือการเมือง ก็จะทำให้คนมองภาพลักษณ์ กอ.รมน.ดีขึ้น ส่วนอำนาจในการตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง เช่น การชุมนุม การเกิดภัยพิบัติ ก็อยากให้ลด เพราะภารกิจที่ผ่านมาไปทำให้เกิดความหวาดระแวง

"ได้บอกว่าไอโอสามารถทำได้ แต่ต้องสร้างสรรค์ เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อประเทศและกองทัพ แต่ถ้าเป็นไอโอที่ไปทำร้ายกันหรือด้อยค่า ขยายความขัดแย้ง ได้กำชับว่าอย่าทำ แต่ก็ยอมรับว่ากองทัพก็ถูกไอโอทางอื่นมาด้อยค่า ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกองทัพด้วย ซึ่งผมได้กำชับว่ากองทัพก็ต้องตั้งหลักให้ดี" นายสุทินกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง