เคาะลดเบนซิน3เดือน ‘น้ำตาล’สินค้าควบคุม

ครม.ไฟเขียวลดภาษีสรรพมิตน้ำมันเบนซิน 1 บาท/ลิตร พร้อมใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดอีก 1.50 บาท ดึงราคาแก๊สโชฮอล์ 91 ลงรวม 2.50 บาท เริ่ม 7 พ.ย. ยาว 3 เดือน รัฐบาลดึงน้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุม ตรึงราคาลดรายจ่ายประชาชน "วราวุธ" แจ้งข่าวดีเพิ่มค่าอาหาร 4-16 บาท เด็ก-เยาวชนในความดูแล พม.

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ  รมว.การคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีการพิจารณาลดราคาน้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ในส่วนการควบคุมราคาสินค้า  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของหลายๆ สินค้าบริโภค  ซึ่งจะนำกลับเข้ามาเป็นสินค้าควบคุมใหม่ เพื่อที่จะคุมราคาสินค้าไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อน

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแนวทางการลดค่าครองชีพประชาชนเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน โดยแนวทางดำเนินการ ประกอบไปด้วย 1.การปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับกลุ่มเบนซิน 1 บาทต่อลิตร จากอัตราปัจจุบัน 6.50 บาทต่อเลิตร ส่งผลให้น้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ทุกประเภทลดลงโดยลดหลั่นไปตามอัตราส่วนผสมของน้ำมันเบนซิน เช่น อี 10 (แก๊สโซฮอล์ 91, 95) ภาษีจัดเก็บลดลง 90 สตางค์ต่อลิตร, อี 20 ลดลง 80 สตางค์ต่อลิตร, อี 85 ลดลง 15 สตางค์ต่อลิตร และ 2.การลดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะลดลงอัตราเท่าใดนั้น ทางกองทุนฯ จะพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมันโดยรวม วันที่ 6 พ.ย. แล้วประกาศใหม่ มีผล 7 พ.ย.66 เมื่อรวมกับการลดภาษีก็จะทำให้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร 

"ครม.เห็นชอบปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินลง 1 บาทต่อลิตร ดังนั้นในส่วนแก๊สโซฮอล์ 91 ภาษีลดลง 90 สตางค์ เราเคยคุยจะลดลง 2.50 บาท ที่ขาดไป 1.60 บาท ทางกระทรวงการคลังเสนอว่า ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปบริหารจัดการเพิ่มเติม ผมพยายามทำให้เพิ่มให้ได้ ให้ทันวันที่ 7 พ.ย.นี้ ส่วนเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเพียงพอต่อการบริหารจัดการหรือไม่นั้น ต้องยืนยันว่าเมื่อ ครม.มอบให้ไปบริหารจัดการ ผมก็ต้องบริหารจัดการ ก็จะพยายามทำให้ได้ เพื่อให้สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด" นายพีระพันธุ์ระบุ

 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินลงในครั้งนี้ เบื้องต้นจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ครม. เห็นชอบลดราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2 บาทต่อลิตร เหลือลิตรละ 29.94 บาท มีผล 20 ก.ย.2566 ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มต้นแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค.2566 โดยไทยใช้ดีเซลประมาณ 70 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ราว 15,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 66 ยังติดลบกว่า 74,292 ล้านบาท โดยแยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ กว่า 28,938  ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 45,354 ล้านบาท ดังนั้น กรณีการไปอุดหนุนเพิ่มเติมต่อน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ก็จะทำให้ มีผลต่อภาระกองทุนเพิ่มเติม โดยตามแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 ให้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท ซึ่งกองทุนได้ทยอยกู้ตามแผน เพื่ออุดหนุนทั้งราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซหุงต้มตามนโยบายรัฐบาล โดยในส่วนของราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินอื่นๆ จะมีการลดตามอัตราภาษีที่ลดลงหรือไม่นั้น จะดูถึงภาระกองทุนและราคาน้ำมันตลาดโลกด้วย

ขณะที่ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม และกำกับดูแลสินค้าน้ำตาลทรายให้มีราคาที่เป็นธรรมและมีปริมาณที่เพียงพอ นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม  สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตอ้อยในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่ส่งผลต่อผู้บริโภค และอีก 2 สัปดาห์ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอ ครม.พิจารณาจ่ายเงินชดเชยค่าตัดอ้อยสดเพื่อลด PM 2.5 ที่คงค้างอยู่ 8,000 ล้านบาทกับชาวไร่อ้อยด้วย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับเสียงร้องขอหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่องเกี่ยวกับการขึ้นราคาน้ำตาลทรายทีเดียว 4 บาท ซึ่งผู้บริโภคภายในประเทศได้รับผลกระทบโดยตรง และกระทบไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายตัว ซึ่งนโยบายรัฐบาลตอนนี้ต้องการจะตรึงราคา เพื่อเป็นการลดรายจ่ายให้กับประชาชน โดยการตรึงราคาต้องนำเข้ามาเป็นสินค้าควบคุม อย่างไรก็ตาม ได้คำนึงถึงชาวไร่อ้อยที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปหามาตรการหรือหาทางออก โดยรัฐยินดีสนับสนุนช่วยเหลือ

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จะกลับไปหามาตรการที่จะมาช่วยเหลือกลุ่มชาวไร่อ้อย​ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นใจชาวไร่อ้อยที่ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น​ และการที่กระทรวงพาณิชย์ดึงเป็นสินค้าควบคุม ไม่ได้เป็นการหักหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องช่วยกันดูแลราคาสินค้าให้กับประชาชน​

นายนราธิป อนันต์สุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ​ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังหารือกันในสมาคม เพื่อเข้าพบนายภูมิธรรม​ เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงสาเหตุของการไม่ให้ปรับขึ้นราคาและดึงราคาน้ำตาลมาเป็นสินค้าควบคุม หลังจากที่ได้ลอยตัวราคาน้ำตาลตามข้อตกลงการค้าเสรี​ ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงกลไกการตลาดกระทบชาวไร่อ้อย​ หากยังยืนยันที่จะไม่ให้ขึ้นราคาน้ำตาล กลุ่มชาวไร่อ้อยพร้อมเดินหน้าปิดโรงงานน้ำตาล ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายน้ำตาลออกจากโรงงาน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมตามที่ พม.เสนอให้เพิ่มค่าอาหารให้กับเด็กตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต และเด็กที่ศึกษา ในสถานสงเคราะห์ นอกสถานสงเคราะห์ โดยเพิ่มเงินตั้งแต่ 4 บาทกว่าถึงเกือบ 16 บาท หรือ 7-30% นอกจากนี้ พม.กำลังดำเนินการของบประมาณเพิ่มในส่วนของนมให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงเป็นเงินอีกประมาณ 11 บาท ซึ่งคาดว่าภายในต้นปี 67 จะสามารถทำรายงานได้แล้วเสร็จ แล้วจะได้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง