สภาสูงจัดสัมมนาดิจิทัลวอลเล็ต ที่ปรึกษานายกฯ รับไม่แจกคนรวย ที่สำคัญเลื่อนยาวไป ก.ย.แทน บอกกุมภาพันธ์ไม่ทันแน่ สุดท้ายต้องใช้แอปเป๋าตังของลุงตู่ เพราะของใหม่ยังเป็นวุ้นและยุ่งยาก “ปชป.” ซัดสภาพเป็นวัวพันหลัก เพราะขายฝันแบบมุ่งหาเสียงอย่างเดียว “ออมสิน” ออกประกาศชัดไม่มีหน้าที่ และกฎหมายกำหนดขอบเขตธนาคารไว้ชัดเจนห้ามจุ้นโทเคน
เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา (สว.) เป็นประธานเปิดการเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “นานาทัศนะกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท : เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้ความท้าทายและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ร่วมกับ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และ กมธ.วิชาการ ของวุฒิสภา
โดยนายศุภชัยกล่าวว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภา มีเป้าหมายแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยใช้ระบบบล็อกเชนเพื่อเอื้อต่อการจ่ายเงินรูปแบบใหม่ ภายใต้งบประมาณกว่า 500,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีหลายฝ่าย เช่น คณาจารย์และนักวิชาการออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก เนื่องจากมองว่าได้ประโยชน์น้อยไม่คุ้มกับต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานการจ่ายเงินระยะสั้น ไม่คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ดังนั้น สว.ในฐานะสถาบันการเมืองที่มีความเป็นกลาง จึงได้เชิญทุกฝ่ายมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อระดมข้อเสนอจัดทำเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป
นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้มีหลายอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยน เช่นการให้สิทธิประชาชน 56 ล้านคน หลายฝ่ายเห็นว่าไม่ควรแจกคนรวย เพราะการให้เงินคนรวยไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากคนรวยจะเอาเงินส่วนนี้ทดแทนค่าใช้จ่าย และเก็บเงินตัวเองไว้แทน แต่ถ้าให้คนที่พอมีจะสามารถนำไปใช้หนี้ ดังนั้นตัวเลขประชาชนที่ได้สิทธิจะเหลือกว่า 40 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมผู้ที่ไม่มาลงทะเบียนอีก จึงเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เงินจากงบประมาณ แต่คงไม่ถึง 500,000 ล้านบาท โดยผ่านการอนุมัติจากสภาฯ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะล่าช้าไม่น่าทันในเดือน ก.พ. 2567 แต่จะใช้ได้ในช่วงเดือน ก.ย.แทน ขณะเดียวกันน่าจะเร่งดำเนินการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ไปด้วย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนเงื่อนไขที่จะใช้เงินได้ในระยะ 4 กม. นั้นคงไม่มีแล้ว แต่จะให้อยู่ในอำเภอหรือเขตเดียวกัน เพื่อให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึง
“วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งข้างบน ข้างล่าง ตรงกลาง กรอบหมดแล้ว ไม่สามารถจะกู้เพิ่ม รายได้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงจำเป็น ช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่น ความคึกคัก แต่โครงการนี้ก็ต้องควบคู่ไปกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงการทางเศรษฐกิจที่ต้องทำให้มองเห็น ซึ่งเป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลต้องทำให้สอดคล้องกันให้ได้” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวต่อว่า รัฐบาลจำเป็นต้องแจกเงินเป็นเงินดิจิทัลเพื่อบังคับให้มีการใช้จ่าย ส่วนคนที่จะมาขึ้นเงินก็ต้องลงทะเบียนและเสียภาษีด้วย ทั้งนี้การแจกเงินอาจได้ไม่พร้อมกัน และอาจได้ใช้เงินในช่วงที่มีวันหยุด เช่นปีใหม่ หรือสงกรานต์เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และเชื่อว่า 90% น่าจะกลับไปใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง เนื่องจากการพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลานานและยุ่งยาก
ขณะที่นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจต้องมีการกระตุ้นและแก้ไข แต่ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะต่อให้เป็นการใช้จ่ายในระดับหมู่บ้านก็เป็นไปได้ยากที่โครงการนี้จะยั่งยืน แต่สิ่งที่อยากเห็นคือนำเงินส่วนนี้ไปช่วยในกำลังผลิต เช่นแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ทุกหมู่บ้าน อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลกำลังทำผิดกฎหมายหลายอย่าง จึงขอให้ฟังสำนักงบประมาณในการของบ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการขาดดุล และผิดวินัยการเงินการคลัง
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีแต่การถกเถียงเรื่องแหล่งเงิน แทนที่จะให้หน่วยงานราชการช่วยกันนำไปคิด แต่เชื่อว่าประชาชนน่าจะบริหารจัดการการใช้จ่ายภายในครอบครัวตัวเองได้ หากนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลทั้งเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และการท่องเที่ยวเอื้อไปด้วยกัน ก็จะทำให้ภาคประชาชนเกิดความมั่นใจว่าที่รัฐบาลทำเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่เคยคำนึงถึงเรื่องดังกล่าว
ปชป.ซัดดิจิทัลวัวพันหลัก
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องนี้ว่า ปรากฏการณ์นโยบายดิจิทัล วอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาทให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนที่พรรค พท.จัดอีเวนต์ปราศรัยหาเสียงไว้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 6-7 เดือนก่อน จนถึงขณะนี้เป็นแกนนำรัฐบาลมาแล้วกว่า 2 เดือน ก็ยังไม่สามารถเริ่มลงมือทำตามที่หาเสียงไว้ได้ เพราะติดขัดตรงที่ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาแจก ทั้งๆ ที่ทันทีที่ประกาศหาเสียง ควรจะรู้แล้วว่าถ้าทำนโยบายนี้จะเอาเงินจากแหล่งไหนมาแจก แสดงว่าคิดนโยบายนี้ออกมาเพื่อให้ได้คะแนนเสียงแล้วไปเสี่ยงเอาข้างหน้า เป็นการทำนโยบายที่ไม่ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพียงพอ มาถึงขณะนี้จึงคิดจะไปเอาเงินจากธนาคารออมสินก็ติดขัดข้อกฎหมายทำไม่ได้ จะกู้เงินมาแจก หรือออกพระราชกำหนดกู้เงิน ช่วงปิดสมัยประชุมสภา ก็ไม่มีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเพียงพอที่จะทำได้
"ตอนนี้ก็เลยคิดจะใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ปี 2567 ก็มีเงินตัดจากโครงการอื่นๆ มาได้แค่ 1 แสนล้านบาทก็ยังไม่พอ อาจต้องทำงบผูกพันอีกหลายปี สุดท้ายก็คิดจะลดจำนวนคนได้รับแจก 10,000 บาทลงมา นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจึงอยู่ในสภาพวัวพันหลัก ชักเข้าชักออก แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเอาเงินมาจากแหล่งใด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง จึงควรเร่งทำความจริงให้ปรากฏว่าจะเอาเงินที่ไหนมาแจก ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายจนยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้" นายองอาจระบุ
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวว่า สำนักวิจัยซูเปอร์โพลได้ศึกษาเงินดิจิทัลในความปลอดภัยของประชาชนบนโลกไซเบอร์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 2,123 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วประเทศ จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล พบว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนสูงถึง 71% ไม่เชื่อมั่น 29% แต่เมื่อสอบถามถึงการสนับสนุนให้รัฐบาลลงทุนระหว่างความมั่นคงของชาติกับการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล พบว่า ใกล้เคียงกันใน 3 กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม คือ 35.5% สนับสนุนการลงทุนด้านความมั่นคงของชาติ 31.2% สนับสนุนด้านการแจกเงินดิจิทัล และ 33.3% ไม่มีความเห็น
เมื่อสอบถามถึงประสบการณ์ถูกคุกคามไม่ปลอดภัยทางออนไลน์ พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือ 55.9% เคยเจอภัยคุกคามทางออนไลน์ค่อนข้างมาก 35.2% ระบุปานกลาง และ 8.9% ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่เคยเลย อย่างไรก็ตาม ประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 50.6% หวาดกลัวค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่ออาชญากรรมทางออนไลน์ 35.3% ปานกลาง และ 14.1% ค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย
ผศ.ดร.นพดลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะมีค่าความเชื่อมั่นสูงเกินกว่า 70 ขึ้นไป แต่ในบริบทของความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ที่กำลังคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมากในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องออกแบบวางระบบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างรอบด้านทุกมิติของนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้
“การใช้ระบบเทคโนโลยีแจกเงินดิจิทัลที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ถือเป็นการตัดสินใจมีข้อดีอย่างน้อย 3 มิติคือ ความปลอดภัย ความโปร่งใส และความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพราะบล็อกเชนมีการลงรหัสแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ยากต่อการโจรกรรม และมีความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล เห็นหมดใครทำอะไรในระบบนั้น และจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคม ตรงที่การต่อยอดกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และข้อมูลภายในระบบเทคโนโลยีแจกเงินดิจิทัลที่ได้จะนำมาออกแบบวางแผนสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ การเกาะติดพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ข้อมูลด้านวินัยการเงินของประชาชน ที่จะให้ความแม่นยำแบบกึ่งใกล้เรียลไทม์ และสามารถพยากรณ์วางแผนทางเศรษฐกิจให้รัฐบาลได้มีประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์สูง” ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลกล่าว
ออมสินย้ำไม่มีเอี่ยวดิจิทัล
ผศ.ดร.นพดลกล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ความไม่ปลอดภัยนอกระบบบล็อกเชน เพราะประชาชนทำธุรกรรมอื่นๆ นอกระบบเทคโนโลยีเงินดิจิทัลจำนวนมากเป็นธุรกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบบล็อกเชน และข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอยู่ในมือถือของประชาชนที่ง่ายต่อการถูกโจรกรรม ทั้งข้อมูลส่วนตัว เลขบัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร และข้อมูลละเอียดอ่อนอื่นๆ ของประชาชน ดังนั้นทางออกมีอยู่อย่างน้อย 3 แนวทาง ได้แก่ 1.รัฐบาลควรโอนความเสี่ยงอันตรายทางไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไปอยู่กับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงินการธนาคาร และภาคเอกชน 2.รัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานกลางของรัฐ ไว้บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบทางไกลให้ประชาชน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ราคาถูกหรือบริการฟรีแต่ปลอดภัย ให้ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนต่างๆ และ 3.รัฐบาลควรใช้งบประมาณส่วนหนึ่งในด้านการศึกษาและการสื่อสารความปลอดภัยทางไซเบอร์ ในการเสริมสร้างความรู้เท่าทัน ความตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เพราะวันนี้ประชาชนชาวบ้านมีความกังวลและหวาดกลัวอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกายและทรัพย์สินของพวกเขา
ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสินได้ออกประกาศธนาคารออมสิน ระบุว่า ตามที่มีกระแสข่าวเรื่องโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยระบุว่ารัฐบาลจะสั่งการโดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 ให้ธนาคารออมสินเป็นแหล่งจ่ายเงินของโครงการไปก่อน และรัฐบาลจะชำระคืนให้ภายหลังนั้น ธนาคารขอเรียนให้พนักงานทุกท่านทราบว่า ข่าวดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยรัฐบาลยังไม่เคยมีคำสั่งการดังกล่าว อีกทั้งธนาคารออมสินไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ รวมทั้งขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ซึ่งกำหนดตาม พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน ที่จะสามารถดำเนินการโครงการนี้ด้วยมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังแต่อย่างใด อนึ่ง ธนาคารออมสินเป็นหน่วยงานรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง จึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะสนับสนุนภารกิจและดำเนินการตามคำสั่งการของรัฐบาล ภายใต้ขอบเขตตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล
ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"
‘อิ๊งค์’ โชว์30บ. เวทีผู้นำเอเปก
นายกฯ อิ๊งค์โชว์ผลงาน 30 บาทรักษาทุกที่ บนเวทีผู้นำภาคเอกชนเอเปก พร้อมชวนลงทุนด้านธุรกิจดูแลสุขภาพในไทย มั่นใจหลังให้นโยบาย “บีโอไอ”
‘ทอน’ดีดปาก‘แม้ว’ ซัดพูดคลุมเครือไม่มีปม112ตั้งรบ./พิธารับคำท้าพ่อนายกฯ
“ธนาธร” ซัด “ทักษิณ” พูดคลุมเครือ บอกปมตั้งรัฐบาลไม่ได้ไม่เกี่ยวกับ 112
พท.มั่นใจกระแสกวาด200สส.
"พท." ดี๊ด๊า! "ทักษิณ" ปราศรัยอุดรธานีปลุกคะแนนนิยม เชื่อชาวอีสานยังรักเพื่อไทย
นายกฯชี้FTAเปรูจบปี2568
นายกฯ อิ๊งค์ถก "ประธานาธิบดีเปรู" ผลักดันการเจรจา FTA ให้เสร็จภายในปี 68
‘บิ๊กอ้วน’ยืนยัน ผุดJTCเมื่อไหร่ ถกผลประโยชน์
“ภูมิธรรม” บอกพร้อมเรียกถกแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาทันที