อัปยศ!มุ่งทำสภาล่ม ชลน่านรับสั่งสอนรัฐบาล/ชวนย้ำเป็นหน้าที่ส.ส.

สภาผู้แทนราษฎรล่มซ้ำซากต่อเนื่อง “ชวน” ย้ำเป็นหน้าที่ของสมาชิกไม่แบ่งฝักฝ่าย ผงะ! เปิดรายชื่อผู้ไม่แสดงตนส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรี ชทพ.ครึ่งพรรคหายตัว “ไพบูลย์” กางตัวเลขประจาน พร้อมเสนอจ่ายเงินเดือนตามการทำงาน ชี้การศึกษาของ กมธ.เป็นของส่วนรวม “ชลน่าน” ยอมรับเป็นการเล่นการเมืองแบบจงใจ เพื่อสั่งสอนรัฐบาลให้สำนึก ลั่นจะทำต่อทุกวันพุธ-พฤหัสบดี ส่วนวันศุกร์ปล่อยผีให้

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2564 มีระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ โดยมีวาระการปรึกษาหารือตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 24 และพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยเมื่อเวลา 10.40 น. หลังจากสมาชิกหารือเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่แล้ว นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สองทำหน้าที่ประธาน ได้เข้าสู่ระเบียบวาระ โดยได้ขอมติเรื่องรายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน กมธ. ซึ่งพิจารณาเสร็จแล้ว และสมาชิกได้อภิปรายไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเวลา 10.49 น. ได้กดออดเรียกสมาชิกเข้ามาเสียบบัตรแสดงตน เพื่อตรวจสอบองค์ประชุม แต่เวลาผ่านไป 2 นาที ปรากฏว่าสมาชิกทยอยเข้าห้องประชุมอย่างบางตา ประธานจึงสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที

ระหว่างรอสมาชิก นายศุภชัยกดออดเรียกสมาชิกอยู่หลายครั้ง และขอให้รีบเข้าห้องประชุม เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยนายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ลุกขึ้นมากล่าวตำหนิ ส.ส. ว่าเวลาที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็อยากจะแย่งกันเป็น แต่พอมาเป็น ส.ส.ก็ขี้เกียจไม่มาประชุม อ้างเหตุลาประชุม ประธานอย่าอนุญาต ถ้าลาครบ 4 ครั้งก็ให้พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ไปเลย อยากเป็น ส.ส.แต่ไม่มาประชุม ขอตำหนิ ส.ส.พวกนี้ ประชาชนอย่าไปเลือก เข้ามากินเงินเดือนแต่ไม่ยอมทำหน้าที่

ขณะที่นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรค พปชร. ในฐานะเลขาฯ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ขอเวลาเพื่อให้สมาชิกได้เข้าห้องประชุม ทำให้นายศุภชัยกล่าวขึ้นว่า “หากองค์ประชุมไม่ครบ ก็ล่มอีก อายชาวบ้าน จากการเช็กชื่อประชุมมีทั้งหมด 260 คน หาก ส.ส.ที่อยู่ในห้องประชุมช่วยกดบัตรตรวจสอบองค์ประชุมช่วยๆ กัน ครบแน่ๆ ทั้งนี้ ส.ส.มาประชุมครบองค์ประชุม แต่บางครั้ง ส.ส.แสดงความจำนงไม่เช็กองค์ประชุมให้ ถือเป็นสิทธิของ ส.ส.”

จากนั้น นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ฝ่ายค้านอยู่ในห้องประชุม ส่วนองค์ประชุมเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.รัฐบาล ทำให้นายศุภชัยตอบกลับว่า ข้อบังคับการประชุมไม่ระบุว่าองค์ประชุมเป็นของฝ่ายใด ดังนั้นถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของ ส.ส.ทุกคน จากนั้นนายศุภชัยได้สั่งพักการประชุม

ต่อมาเวลา 11.25 น. เปิดประชุมอีกครั้ง และกดออดเรียกสมาชิก น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอให้เช็กองค์ประชุมแบบขานชื่อ ซึ่งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท.สนับสนุน พร้อมย้ำว่าการรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล จากนั้น น.ส.รังสิมาลุกขึ้นอภิปรายอีกครั้งว่า รู้สึกไม่สบายใจที่นายจุลพันธ์เห็นว่าองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส.รัฐบาลเท่านั้น ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะความจริงการรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคน ทุกฝ่าย

ย้อนเกล็ดยุค ปชป.

ต่อมา นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรค พท. ตอบโต้ว่า อยากให้ น.ส.รังสิมานึกถึงตอนที่เป็นฝ่ายค้าน และพรรค พท.เป็นฝ่ายรัฐบาล ในเวลานั้นพรรค พท.โดนฝ่ายค้านขอนับองค์ประชุมวันละ 5 ครั้ง เรื่องวอล์กเอาต์กลายเป็นเรื่องปกติ

จากนั้นเวลา 11.39 น. ได้ให้สมาชิกแสดงตน แต่ผ่านไป 11 นาที นายศุภชัยแจ้งผลการนับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีเพียง 235 คน จากสมาชิกทั้งหมด 476 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ นายศุภชัยจึงสั่งปิดประชุมในเวลา 11.50 น.

สำหรับภาพรวมการกดบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุมนั้น ส.ส.ที่ไม่ร่วมกดบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุม ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยมี ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนน้อยที่กดบัตรแสดงตน อาทิ พรรคเพื่อไทย มี 5 คน คือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่, นายนพคุณ รัฐผไท ส.ส.เชียงใหม่, นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ส.ส.ลำปาง, นายภณณัฏฐ์ ศรีอินทร์สุทธิ์ ส.ส.นนทบุรี และนายสิรินทร รามสูต ส.ส.น่าน ส่วน ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่กดบัตรแสดงตน มี 6 คนคือ นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี, นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย, นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย และนายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม.

ขณะที่ ส.ส.รัฐบาลพร้อมใจกันกดบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุม ยกเว้น ส.ส.พรรค พปชร. 19 คน อาทิ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส, น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา, น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ ส.ส.สมุทรปราการ, น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนพรรค ปชป.ไม่กดบัตรแสดงตน 9 คน อาทิ น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ขณะที่ ส.ส.พรรค ภท.ไม่กดบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุมมี 6 คน อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แต่ที่น่าสนใจคือในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มี ส.ส.ไม่กดบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุมเกินครึ่งพรรค คือ 8 คน จาก ส.ส.ที่มี 12 คน

ย้ำเป็นหน้าที่ของสภา

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาสภาล่มว่า โดยทั่วไปที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสมาชิกด้วยดีมาตลอด แต่สัปดาห์ที่ผ่านมามีปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. มีสมาชิกแสดงไม่ทัน และวันที่ 17 ธ.ค. เกิดปัญหาองค์ประชุมขาด โดยมีผู้ไม่แสดงตนแต่อยู่ในห้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบสมาชิกกดบัตรไม่ครบ แต่คนครบ ฝ่ายค้านกดบัตรไม่กี่คน ทำให้องค์ประชุมขาด ส่วนตัวไม่ขอวิจารณ์ แต่รัฐบาลต้องเตรียมคนให้พร้อม แต่ก็ไม่เป็นไร หากไม่เกิดบ่อย

นายชวนกล่าวย้ำว่า องค์ประชุมเป็นหน้าที่ของสภาทั้งหมด ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่ระบบรัฐสภา รัฐบาลมาจากเสียงข้างมาก ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบในเบื้องต้น ต้องพยายามทำให้องค์ประชุมให้ครบ แต่ฝ่ายค้านก็มีหน้าที่ร่วมกัน ส่วนการขอตรวจสอบองค์ประชุมสามารถทำได้ในบางเรื่อง แต่ถ้าตรวจสอบองค์ประชุมทุกเรื่องจะทำให้มีปัญหา ถือว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นบางครั้ง แต่ภาพรวมการทำงานของสภายังผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งงานที่ช้าคือมีสมาชิกอภิปรายเป็นจำนวนมาก ใช้เวลามากขึ้น ซึ่งเคยหารือกันว่าจะจัดสัดส่วนในการอภิปรายตามเสียงของ ส.ส.ในสภา

นายชวนยอมรับว่าภารกิจสภามีมากและมีข้อจำกัดในการบริหารเวลาให้สอดคล้องกัน เช่น เรื่องกระทู้ถาม กระทู้ถามแยก ที่รัฐมนตรีต้องไปตอบ แต่ขอขอบคุณรัฐบาลที่ไม่เคยมาทำอะไรให้เสียหายกับกระบวนการของนิติบัญญัติ โดยให้บริหารตามกลไกของรัฐธรรมนูญ การทำงานของสภายังเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ขัดข้อง ไม่มีตัน ไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรเป็นข้อห้ามสามารถดำเนินการได้ แต่บางวาระที่เป็นเรื่อง กมธ. ซึ่งเป็นเรื่องของสมาชิกทุกพรรคไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาล ฝ่ายค้าน ไม่ควรมีปัญหาประท้วงจนทำให้ไม่ครบองค์ประชุม เพราะจะเป็นการเสียโอกาสทั้ง 2 ฝ่าย

“ยอมรับว่ามี ส.ส.บ่น หลังเพิ่มวันประชุมเป็นวันศุกร์ เพราะต้องการไปต่างจังหวัด แต่การนัดประชุมเป็นความเห็นชอบร่วมกัน โดยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมสภาวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี และเพิ่มศุกร์ โดยจะไปหยุดวันที่ 29-30 ธ.ค.เพื่อให้ ส.ส.กลับต่างจังหวัด ซึ่งการตกลงเพิ่มวันประชุมเป็นภาระทุกฝ่าย เป็นงานส่วนรวม” นายชวนย้ำ
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ระบุว่า สภาไม่ได้ล่ม แต่เนื่องจากว่าประธานที่ประชุมให้เวลานับองค์ประชุมน้อยแค่ 2.10 นาที มันน้อยเกินไป ส.ส.เขาอยู่ในสภากันทั้งหมด แต่อยู่ที่ห้องของเขาและเดินมาไกล กำลังจะเข้าห้องประชุม ซึ่งขาดไปเพียง 10 คนเท่านั้น

ชงจ่ายเงินเดือนตามการทำงาน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ระบุว่า การพิจารณาเรื่องศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ เป็นของ กมธ. ซึ่งมี ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่ได้เป็นกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำงาน แต่เมื่อตรวจสอบองค์ประชุมกลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยมี ส.ส. 131 มาออกเสียงเพียง 5 คน พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. 117 คน ออกเสียง 98 คน พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. 59 คน ออกเสียง 52 คน พรรคก้าวไกลมี ส.ส. 52 คน ออกเสียง 6 คน ซึ่ง ส.ส.ก้าวไกลบางคนก่อนโหวตยืนอภิปราย แต่กลับไม่ออกเสียง เข้าใจว่า ส.ส.ฝ่ายค้านที่มา แต่ไม่ออกเสียง มีความเข้าใจผิดอะไรหรือไม่ในเรื่องหน้าที่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. 49 คน ออก 40 คน พรรคชาติไทยพัฒนา ส.ส. 12 คน ออกเสียง 4 คน ถือว่าน้อยมากในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

“รัฐบาลมี ส.ส. 268 คน ออกเสียง 219 คน แต่ ส.ส.ฝ่ายค้าน มี 208 คน มาออกเสียงเพียง 14 คน ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 6.73% เราจ่ายเงินเดือนตามเปอร์เซ็นต์ดีหรือไม่ เรื่องนี้จะอ้างว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องศึกษาของ กมธ. ของ ส.ส.ทั้งสภา จึงอยากฝากไปถึงประชาชนผู้เสียภาษีมาเป็นเงินเดือนให้ ส.ส. แต่ปรากฏว่าการทำหน้าที่ออกมาเป็นเช่นนี้ จึงขออนุญาตฟ้องประชาชนให้ตรวจสอบ” นายไพบูลย์กล่าว

ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะประธานวิปพรรค ปชป. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก เพราะนำสู่การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานสภาของฝ่ายนิติบัญญัติ จากการตรวจสอบในส่วนของพรรคมี ส.ส.เข้าประชุม 40 คน ลาประชุม 3 คน ไม่แสดงตน 6 คน ถือเป็น 81% ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลมาแสดงตนทั้งหมด 235 คน แต่เรื่ององค์ประชุมถือเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจน

“ที่ผ่านมาการที่ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ หรือขอนับองค์ประชุม กระทำก็ต่อเมื่อต้องการตอบโต้รัฐบาล แต่วันนี้มีการพิจารณาเรื่องญัตติที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเกือบทุกพรรคเสนอเข้ามา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งของฝ่ายค้านและรัฐบาล หรือไม่ใช่เรื่องขัดแย้งในข้อกฎหมายของคณะรัฐมนตรีและเสียงข้างน้อยในสภา” นายชินวรณ์กล่าว และว่า ขอเรียกร้องให้ใช้กลไกวิปสองฝ่ายเพื่อพูดคุยกัน และถ้าฝ่ายค้านจะไม่แสดงตนหรือวอล์กเอาต์ ให้ดำเนินการในกรณีที่รัฐบาลและฝ่ายค้านขัดแย้ง หรือรัฐบาลเสนอกฎหมายโดยไม่เคารพเสียงข้างน้อย เพราะประชาชนอาจมองว่าเป็นเกมการเมือง

ด้านพรรคฝ่ายค้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า สถานการณ์ในสภาวันนี้บ่งบอกถึงความไม่พร้อมของรัฐบาล ที่ผ่านมาเราช่วยเป็นองค์ประชุมตลอด แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ ส.ส.ซีกรัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบกฎหมายของตัวเอง หากลองตรวจสอบจะพบว่า ส.ส.ซีกรัฐบาล ที่ไม่เข้าร่วมประชุมเป็นใคร และจะทราบว่าอะไรเกิดขึ้น ยืนยันว่า ฝ่ายค้านไม่ได้เล่นเกม แต่ฝ่ายค้านคือตัวนั่งประชุม แต่เราไม่อยากให้รัฐบาลเอาเปรียบตลอดเวลา

เพื่อไทยรับจงใจทำสภาล่ม

นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรค พท. กล่าวว่า ส.ส.ฝ่ายค้านให้ความสำคัญในการอภิปรายจะมาอ้างว่ากฎหมายไม่ได้บอกว่าองค์ประชุมเป็นของรัฐบาลหรือฝ่ายค้านไม่ได้ สมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล น.ส.รังสิมาเคยทำลายความเชื่อมั่นของระบบรัฐสภา ลุกขึ้นไปลากเก้าอี้ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาบนบัลลังก์ และวอล์กเอาต์ เขวี้ยงเก้าอี้ เขวี้ยงหนังสือ แต่วันนี้พอเป็นรัฐบาลกลับบอกว่าฝ่ายค้านไม่อยู่เพื่อเป็นองค์ประชุม ไม่ช่วยกันพิจารณากฎหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า หากมีการมองว่าเป็นเกมการเมือง ก็ไม่เถียง เพราะเราเล่นเกมการเมืองแบบโปร่งใสให้เห็นกันไม่ใช่แอบเล่น ถ้าแอบเล่นคงอยู่เป็นองค์ประชุมเพื่อเข้าสู่วาระแล้วไปออกตอนลงมติ ก็จะทำให้กฎหมายที่เสนอมาถูกตีตกไปด้วย ฝ่ายค้านจำเป็นต้องตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น และประกาศชัดมาก่อน เสียงรัฐบาล 266 เสียงเสถียรภาพถือว่าง่อนแง่น สุ่มเสี่ยงผิดพลาด ฝ่ายค้านมี 209 เสียง หากฝ่ายค้านไม่เข้มข้นจะเกิดผลเสียทั้งระบบ เพื่อประโยชน์โดยรวม หากฝ่ายค้านปล่อย ไม่ขันนอตในสภา จะทำให้ประชาชนยากลำบากมากขึ้น สภาล่ม 4 ครั้งในสมัยประชุมนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา ในการพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาล จะมาโทษฝ่ายค้านคงไม่ได้ รัฐบาลมีหน้าที่เป็นฝ่ายรักษาองค์ประชุม

“ฝ่ายค้านจะให้บทเรียนรัฐบาลแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปรับตัวเอง หรือจนกว่าจะยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน เพราะฝ่ายค้านไม่อยากเห็นสภาที่เป็นเป็ดง่อยทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ พ.ร.ก.เงินกู้ รัฐบาลยังไม่กล้าเอาเข้าสภา แล้วจะบริหารประเทศไปได้อย่างไร ยืนยันว่าฝ่ายค้านไม่กลั่นแกล้ง แต่เราต้องการประสิทธิภาพและความรับผิดชอบของฝ่ายเสียงข้างมาก” นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามถึงทางออกเรื่องนี้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ได้หารือเบื้องต้นกับนายชวนแล้ว ซึ่งนายชวนเห็นว่าขอให้เว้นวันศุกร์ไว้ เพราะเป็นการพิจารณารายงานศึกษาที่สภาทำงานร่วมกัน และเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เบื้องต้นในสัปดาห์ต่อไปฝ่ายค้านพร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มที่เฉพาะเรื่องนี้ ส่วนเรื่องที่เป็นผลงานของสภาวันพุธ พฤหัสบดี ยังเข้มข้นเหมือนเดิม ส่วนวันศุกร์ฝ่ายค้านยินดีร่วมมือไม่ตรวจสอบองค์ประชุม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป