โวยลั่นมีคนป้ายสี‘ช่วยคลัง’

กรุงเทพฯ ๐ รัฐบาลโวยลั่น เสียงด่านโยบายแจกเงินดิจิทัล ทั้งที่ยังไม่เคาะ คุยฟุ้งในทางตรงกันข้าม ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยก 30 บาทรักษาทุกโรคทำสำเร็จมาแล้ว ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เอาเงินมาจากไหน

     เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสโจมตีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อันเนื่องมาจากนายจุลพันธ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้นำข้อสรุปจากการประชุมครั้งล่าสุดของคณะอนุกรรมการดังกล่าวออกมาเปิดเผย ว่า ที่ประชุมมีมติออกมาว่าให้เสนอทางเลือกอื่นๆ อีก 3 ทางเลือกในการแจกเงิน 10,000 บาท จากทางเลือกเดิมที่กำหนดให้แจกแบบถ้วนหน้าทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวนราวๆ 56 ล้านคน เป็นเงินที่ต้องใช้รวม 560,000 ล้านบาทนั้น  ขอชี้แจงว่า ทางเลือกที่เสนอมาใหม่ทั้ง 3 ข้อนั้น ไม่ใช่เป็นความเห็นหรือข้อเสนอส่วนตัวของนายจุลพันธ์แต่อย่างใด นายจุลพันธ์เพียงเป็นผู้รวบรวมมติจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำไปเสนอต่อบอร์ดใหญ่ คือคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เท่านั้น

     "เหตุไฉนจึงมีคนจับประเด็นคลาดเคลื่อน แล้วพยายามปั่นกระแสเป็นทำนองว่าท่านจุลพันธ์พยายามจะหาทางบิดพลิ้วไปจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทแบบถ้วนหน้าตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป   ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด"

     โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวต่อไปว่า เมื่อทางเลือกทั้ง 3 ข้อถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่แล้ว ก็ยังไม่แน่ว่าที่ประชุมใหญ่จะเห็นด้วยกับทางเลือกข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ หรืออาจจะยังคงยืนยันในทางเลือกเดิม คือแจกแบบถ้วนหน้าตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาทก็เป็นได้ ดังนั้น จะต้องรอข้อสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก่อน

     “ในทางตรงกันข้าม ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยการเปิดรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เห็นต่างอย่างรอบด้าน และพร้อมพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างรอบคอบด้วยกลไกการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ได้มติสุดท้ายออกมาจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก็ควรจะถือว่าเป็นข้อยุติ โดยรัฐบาลจะเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ออกมา” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

     ทั้งนี้  3 ทางเลือกที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอนั้น มีดังนี้

     1) ให้เฉพาะกลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณราว 150,000-160,000 ล้านบาท

     2) กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน จำนวน 43 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณราว 430,000 ล้านบาท

     3) กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จำนวน 49 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณราว 490,000 ล้านบาท

     ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคมั่นใจเกี่ยวกับโครงการนี้ เพราะไม่ใช่นโยบายแรกที่เราเสนอแล้วมีความแตกต่างจากพรรคอื่น ถ้าจำกันได้ตอนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์โครงการว่าจะทำได้อย่างไร เอาเงินจากไหน ไม่ปฏิเสธว่าการออกนโยบายที่ไม่เหมือนคนอื่นต้องมีคนเห็นต่าง แต่ถ้าเขาคิดกันได้ประเทศก็ไม่เป็นแบบนี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรที่แตกต่างให้บ้านเมืองมันคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม

กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศ

     ดังนั้น การที่นโยบายนี้ออกมา อยากให้คนไทยหันกลับมามองคนที่เขาต้องการ  นโยบายนี้ไม่ใช่นโยบายช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย แต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกไม่ต้องกระตุ้น เศรษฐกิจไทยไปในทางที่ดีแล้ว ไม่ทราบว่าดูตัวเลขจากไหน พวกตนเป็น สส.บ้านนอก อยู่กับประชาชนทุกวัน  ไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเลย เราย่ำอยู่กับที่ บางคนพูดว่าเราถอยหลังไปแล้ว ก็อยากให้ดูภาพรวม จริงๆ แล้วเราเสียงบประมาณที่ผูกพันอยู่แล้วมากกว่าวงเงินที่ใช้ตรงนี้ แต่นี่เป็นนโยบายครั้งเดียวที่จะกระชากเศรษฐกิจขึ้นมาให้คนในประเทศมีเงินทองหมุนเวียน ดึงดูดนักลงทุนในไทย

     เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งกรรมการมาศึกษาและรับฟังความเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว นายสรวงศ์ตอบว่า ถ้า ป.ป.ช.ทักท้วงมาแล้วมีเหตุผลรัฐบาลก็รับฟัง นายกฯ เปิดฟังทุกความเห็น แต่ถ้าเขาคิดกันได้ก็ไม่เป็นแบบนี้ ถ้าย้อนไปยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โครงการ 2 ล้านล้าน ที่ต้องหยุดไป ตอนนี้ใช้เงิน 4 ล้านล้าน ไม่รู้จะทำได้หรือไม่ ประเทศเสียอะไรไปบ้าง  เสียโอกาสมากกว่าเงินที่ลงทุนไปเท่าไหร่  บางอย่างตีมูลค่าไม่ได้ แต่พอเวลาผ่านไปแล้วเป็นมูลค่ามหาศาลมาก ถ้ามีการทักท้วงจากองค์กรอิสระหรืออะไร นายกฯ รับฟัง แต่การบริหารต้องเดินหน้า ต้องกล้าตัดสินใจ ถ้าเราไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ก็อยู่กับที่เหมือนเดิม

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลยินดีรับฟังทุกการวิพากษ์วิจารณ์จากทุกภาคส่วน นอกจากการวิเคราะห์ถึงผลกระทบทางด้านงบประมาณแล้ว ในมิติตัวเลขการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหยิบยกมาพิจารณาด้วย หากยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เสียงประชาชนที่สะท้อนออกมาตั้งแต่เลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน ก็ยืนยันชัดมาโดยตลอดว่า ต้องการให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตขึ้นมาเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างรอบคอบ ยึดการรักษากรอบวินัยการเงินการคลัง การเห็นต่าง วิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิ แต่ควรรอรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ครบถ้วนก่อน แล้วค่อยออกมาให้ความเห็นน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ไม่อยากให้ตั้งธงสมมติฐานเองแล้วก็มองแต่ว่าจะเกิดผลกระทบด้านลบต่างๆ การไปเปิดประเด็นปลีกย่อยแตกใหม่ออกไปเรื่อยๆอาจจะทำให้ประชาชนสับสน

     “การเฝ้าติดตาม ตรวจสอบ ประเมินการดำเนินการในนโยบายรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่สร้างความสับสน หรือทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการเข้าถึงนโยบายของรัฐบาล” นายอนุสรณ์กล่าว

คำถามเดิม เอาเงินมาจากไหน

     ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้ความเห็นกรณี 3 ทางเลือกของกระทรวงการคลัง กรณีดิจิทัลวอลเล็ต ว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันว่าเป็นสิทธิของรัฐบาลในการกำหนดนโยบาย แต่ปัญหาทั้งหมดตนเห็นว่าเกิดจากการหาเสียงแบบประชานิยม ทำได้หรือไม่ได้ค่อยไปตายเอาดาบหน้า มาถึงวันนี้จึงมีสภาพเหมือนลิงแก้แห เพราะนอกจากจะมีปัญหาเดิมที่ต้องแก้แล้ว ยังมีปัญหา 2 ข้อใหม่เพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งทุกข้อยังไม่มีคำตอบ

     "ปัญหาสองข้อเดิมที่ผมเคยพูดไว้คือ จะทำอย่างไร และจะนำเงินมาจากส่วนใด เพราะติดทั้งแหล่งเงินและข้อกฎหมาย โดยเฉพาะที่ลั่นวาจาไว้ว่าจะไม่ใช้งบและจะไม่กู้ จึงยิ่งมัดพันตัวเอง และปัญหาใหม่สองข้อที่เพิ่มเข้ามา คือจะทำได้เมื่อไหร่ เพราะเลื่อนเวลามาครั้งสองครั้งแล้ว และจะเปลี่ยนเป้าหมายจากกระตุ้นเศรษฐกิจที่โฆษณาไว้มาเป็นสงเคราะห์คนจนหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดกลายเป็น 4 ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องมีคำตอบ เพราะประชานิยมที่ไปหาเสียงไว้" รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว

     พรรคไทยสร้างไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยสรุป ส่วนใหญ่มองว่าโครงการนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่มีความชัดเจนเพียงพอซึ่งแหล่งที่มาของเงิน สภาพการณ์ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวน 560,000 ล้านบาท มาแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะการบริโภค แต่ควรนำไปทำนโยบายที่ยั่งยืนและเกิดผลระยะยาวมากกว่า นักวิชาการบางท่านตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของโครงการ นักกฎหมายการคลังบางท่านเห็นว่าขัดต่อพระราชบัญญัติเงินตรา  เพราะหากสถานะของเงินดิจิทัลนี้ไม่สิ้นสุดไปภายหลังจบโครงการ ก็จะทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นการสร้างเงินตราสกุลใหม่ขึ้นมาหรือไม่ ดังนั้น หากต้องการให้เงินดิจิทัลนี้เป็นสิทธิการใช้เงินแบบชั่วคราว ซึ่งในที่สุดต้องสิ้นสภาพไป ก็ควรแถลงให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะเกิดความสับสนและนำไปสู่ปัญหาอีกมากที่จะตามมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช่วยนักโทษติดคุกหมด เสรีพิศุทธ์ถอนตัวงัดหลักฐานมัดแก๊งชั้น14/ปชป.มีมติร่วมรบ.

"นายกฯ อิ๊งค์" อารมณ์ดีนัดสื่อให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง 30 ส.ค. "ภูมิธรรม" มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลังดึง