เศรษฐายันตัวประกัน18คน

ยูเอ็นห่วงยอดผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาพุ่ง หลังอิสราเอลถล่มหนักทำอาหาร-น้ำขาดแคลน สหรัฐเตือนอิหร่านไม่ให้ผสมโรงกลุ่มฮามาส  "เศรษฐา" แจงเช็กแล้วยอดตัวประกันไทยยัง 18 คนเท่าเดิม เผย ครม. 31 ต.ค. คลังชงจัดงบปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยแรงงานจ่ายหนี้ วอนรีบกลับไทย  "บัวแก้ว" การันตีหากสถานการณ์สงบอิสราเอลยินดีรับกลับเข้าทำงานอีกครั้ง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมว่า สหประชาชาติออกโรงเตือนทุกฝ่ายว่า ยังมีอีกหลายคนที่ต้องเสียชีวิตในฉนวนกาซาจากการขาดแคลนทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพ หลังอิสราเอลทิ้งระเบิดโจมตีต่อเนื่องเกือบสามสัปดาห์เพื่อไล่ล่าทำลายกลุ่มฮามาส

กองทัพอิสราเอลกล่าวว่า ทหารได้ใช้เครื่องบินรบและโดรนเป็นหลักในการบุกโจมตีฉนวนกาซา และกำลังเตรียมการโจมตีภาคพื้นดิน

ความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบในภูมิภาคจากความขัดแย้งดังกล่าว ล่าสุดวอชิงตันเตือนอิหร่านไม่ให้ผสมโรงกับกลุ่มฮามาสจนทำให้การสู้รบขยายวงบานปลาย และยังได้สั่งการกองทัพสหรัฐให้โจมตีฐานปฏิบัติการในซีเรียที่ต้องสงสัยว่าอำนวยความสะดวกให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน

สถานการณ์ความสูญเสียล่าสุด ตัวเลขผู้เสียชีวิตฝั่งอิสราเอลยังคงอยู่ที่ระดับ 1,400 ราย และพลเรือนถูกลักพาตัว 229 คน ขณะที่ฉนวนกาซามีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและเด็กจำนวนมาก อันนำไปสู่การเรียกร้องในวงกว้างให้คุ้มครองผู้บริสุทธิ์ที่ติดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง

หัวหน้าหน่วยงานสหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงเยรูซาเล็มว่า ผู้คนในฉนวนกาซากำลังจะตาย พวกเขาไม่เพียงแต่ตายจากระเบิดและการโจมตีเท่านั้น แต่อีกไม่นานจะมีคนตายอีกจำนวนมากจากผลของการถูกปิดล้อม

หน่วยงานท้องถิ่นในกาซาให้ข้อมูลว่า บ้านเรือนประมาณ 45% ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง,  บริการขั้นพื้นฐานกำลังพังทลาย, ยารักษาโรคกำลังจะหมด เช่นเดียวกับอาหารและน้ำ ขณะที่ถนนในฉนวนกาซาเริ่มล้นไปด้วยสิ่งปฏิกูล

อิสราเอลยังคงตัดเสบียงอาหาร, น้ำ และไฟฟ้าไปยังฉนวนกาซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดกั้นการส่งเชื้อเพลิงทั้งหมด โดยกังวลว่ากลุ่มฮามาสจะนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตอาวุธและวัตถุระเบิด แม้จะยอมตกลงเปิดเส้นทางให้กับรถบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากสหประชาชาติแล้วก็ตาม แต่ยังคงไม่เพียงพอ

ความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างยิ่งชุดแรกได้รับอนุญาตในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ตั้งแต่นั้นมา มีรถบรรทุกเพียง 74 คันเท่านั้นที่ข้ามผ่านชายแดนราฟาห์ที่ติดกับอียิปต์ ไปยังพื้นที่ขาดแคลนที่มีมากหลายจุด

นานาชาติต้องการให้กระแสความช่วยเหลือดำเนินต่อไปโดยไม่ชะงัก และร้องขอการหยุดยิงด้านมนุษยธรรมเพื่อให้แน่ใจว่าความช่วยเหลือนี้ไปถึงผู้ที่ต้องการ

เมื่อเย็นวันพฤหัสบดี บรรดาผู้นำสหภาพยุโรปเรียกร้องการเข้าถึงและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง, รวดเร็ว, ปลอดภัย และไม่มีข้อจำกัด เพื่อเข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านมาตรการที่จำเป็นทั้งหมด รวมถึงช่องทางด้านมนุษยธรรมและการหยุดยิงชั่วคราว

ปัจจุบันกองทหารอิสราเอลหลายหมื่นนายรวมพลตามแนวชายแดนฉนวนกาซา ก่อนที่จะมีการโจมตีภาคพื้นดินตามที่คาดกันไว้ โดยกองทัพกล่าวว่าจะเริ่มต้นโจมตีภาคพื้นดินในพื้นที่ตอนกลางของฉนวนกาซา      ทั้งนี้ รถถังและทหารราบได้เริ่มโจมตีภาคพื้นดินแบบจำกัดพื้นที่ไปแล้วเมื่อคืนก่อน โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มอิสลามิสต์ฮามาสทางตอนเหนือของฉนวนกาซา

อิสราเอลได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากพันธมิตร รวมถึงสหรัฐ สำหรับการปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา โดยเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวตัวประกันทั้งหมด ที่มีทั้งชาวอิสราเอล, ชาวต่างชาติ และบุคคลสองสัญชาติ ซึ่งชะตากรรมของบรรดาตัวประกันนี่เองที่ยังคงเป็นปัจจัยยับยั้งปฏิบัติการภาคพื้นดินเต็มรูปแบบตามแผนของอิสราเอล

อิสราเอลเคยเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้พลเรือนทางตอนเหนือของฉนวนกาซาอพยพลงใต้เพื่อความปลอดภัย แต่ตนเองกลับโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้และเส้นทางอพยพ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้พลัดถิ่นที่หลบหนีแบบไม่รู้ทิศทางที่ปลอดภัยจริง

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการตรวจสอบกระแสข่าวสื่อต่างประเทศระบุแรงงานไทยในอิสราเอลถูกจับเป็นตัวประกันจำนวน 54 รายว่า เราได้เช็กกับสถานทูตไทยในอิสราเอลแล้ว และเช็กสถานทูตที่นี่แล้ว  โดยฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศเป็นคนประสาน และมีการประสานข้อมูลกับทางด้านฝ่ายความมั่นคง โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดยืนยันตัวเลขยังเท่าเดิมอยู่ อาจจะมีการรวมผู้เสียชีวิตไปด้วยหรือผู้ที่สูญหาย

ยอดตัวประกันไทยยัง 18 คน

"ที่สำนักข่าวรอยเตอร์เสนอตัวเลข 54 คนที่ถูกจับเป็นตัวประกันนั้นคงไม่ใช่  ณ จุดนี้ยังยืนยันว่าตัวประกันยังตัวเลขเท่าเดิมอยู่" นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวถึงความคืบหน้าหลังได้หารือกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กรณีแรงงานไทยถูกนายจ้างล่อด้วยเงินและการเลื่อนจ่ายเงินเป็นวันที่ 10 พ.ย. เพื่อให้อยู่ทำงานต่อว่า เข้าใจว่าปัญหานี้ได้ถูกแก้ไขหมดแล้ว คือมีการจ่ายเงินเมื่อแรงงานไทยที่เป็นลูกจ้างอยากกลับก็ต้องจ่ายเงินทันที ตรงนี้ขอให้สบายใจ จึงขอให้แรงงานไทยตัดสินใจกลับบ้านมาโดยเร็ว ในขณะที่การปฏิบัติการภาคพื้นดินยังไม่เกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี

"หากเกิดลักษณะนี้อีกสามารถบอกมาได้เลย ซึ่งจะจัดการต่อให้ เพราะเมื่อสักครู่ได้พูดคุยกับทางเอกอัครราชทูตไทยประจำที่กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว และยืนยันจะมีการจ่ายเงินเมื่อแรงงานไทยต้องการที่จะเดินทางกลับทันที ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันที่ 10 พ.ย. ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี" นายกฯ กล่าว

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและการช่วยเหลือคนไทย โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และนายเศรษฐา รวมถึง น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์ด้วย

นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมว่า คนไทยที่กู้ยืมเงินเพื่อจ่ายค่านายหน้าในการหางานทำในต่างประเทศนั้น กระทรวงการคลังจะให้ความช่วยเหลือ โดยจะจัดสรรงบประมาณสำหรับการปล่อยกู้เงินดอกเบี้ยต่ำแก่แรงงานไทย เพื่อให้นำจ่ายหนี้คืนนายหน้า สำหรับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำดังกล่าวมีระยะเวลาการผ่อนชำระ 20 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเฉลี่ยแล้วเป็นการชำระคืนไม่กี่ร้อยบาทต่อเดือน โดยเราจะพยายามผลักดันเรื่องนี้สู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ได้ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ตนก็หวังว่าจะมีข่าวดี

"ขอให้คนไทยทุกคนรีบกลับประเทศ เพราะสถานการณ์ที่นั่นไม่ค่อยดี รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางในการเร่งจัดการเรื่องการเงิน เพื่อให้ทุกคนเกิดความสบายใจ และมีการดูแลอย่างเต็มที่ตลอดเวลา รวมถึงการจัดหางานใหม่ให้กับแรงงานไทย หากมีสัญญาณแจ้งว่าจะมีคนไทยต้องการกลับประเทศไทยมากขึ้น ขอให้รีบแจ้งมา เพื่อที่เราจะเตรียมเครื่องบินไปรับ"

ด้านนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและภารกิจอพยพคนไทยกลับประเทศว่า สถานการณ์การสู้รบขณะนี้มีความเป็นห่วงในพื้นที่ เลบานอน เวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพยายามพูดคุยกับอิสราเอลให้ชะลอการบุกแบบเต็มรูปแบบไปก่อน ด้วยความคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวประกัน ซึ่งตัวประกันที่เราติดตามได้รับการปล่อยตัวออกมา 2 ระลอกแล้ว จำนวน  4 คน โดยเป็นคนอิสราเอลทั้งหมด ทุกฝ่ายเรียกร้องให้ดูแลความปลอดภัยตัวประกันและปล่อยตัวประกันออกมาให้เร็วที่สุด

นางกาญจนากล่าวว่า ในส่วนแรงงานชาวไทยในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 33 ราย บาดเจ็บ 18 ราย โดยที่มี 5 รายอยู่ในระหว่างการรักษาพยาบาล และที่ถูกควบคุมตัวเป็นตัวประกันอยู่ที่ 18 ราย สำหรับนักศึกษาไทยในสถาบัน AICAT ที่เดินทางกลับประเทศนั้น ขณะนี้มีอยู่ทั้งสิน 40 ราย และที่ไม่ประสงค์เดินทางกลับมีจำนวน 75 ราย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

"ข่าวลือเรื่องตัวประกันชาวไทยที่มีรายงานว่าถูกจับถึง 54 คนนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข่าวดังกล่าว    ผลคือไม่ทราบแหล่งที่มา ตัวเลขที่ได้รับการยืนยันยังอยู่ที่ 18 รายเท่าเดิม จากนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศจะติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีข้อมูลเพิ่มเติมเราจะเปิดเผยให้พี่น้องสื่อมวลชนได้รับทราบ”นางกาญจนากล่าว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สำหรับการอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลนั้น ไทยเป็นชาติที่อพยพมากที่สุด มีเที่ยวบินทุกวัน เนื่องจากมีคนไทยอยู่ที่อิสราเอลเป็นจำนวนมาก ส่วนแรงงานไทยที่รอค่าแรง รัฐบาลพยายามส่งข้อความถึง โดยขอให้แน่ใจว่าปลอดภัย และขอให้กลับมาตั้งหลักที่ไทยก่อน เพราะการกลับไปทำงานทางการอิสราเอลยินดีตอบรับอยู่แล้ว

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในอิสราเอลว่า คนที่กลับมาในช่วงนี้ทางกรมการจัดหางานจะไม่ส่งกลับไปเด็ดขาดจนกว่าสงครามจะยุติ ขณะเดียวกันได้ประสานกับนายกฯ ว่าเป็นไปได้หรือไม่จะช่วยแรงงานใน 2 กรณี คือ คนที่กู้หนี้ยืมสินไปทำงานในอิสราเอลและยังทำงานไม่ครบ 5 ปี 3 เดือน ยังมีที่หนี้สินค้างอยู่ ทางกระทรวงจะขออนุมัติให้นายกฯ ช่วยให้ธนาคารของรัฐมาค้ำประกันต่อหรือปล่อยเงินกู้ให้แรงงาน และขอเพิ่มเงินเยียวยาที่ได้อยู่ 15,000 บาท ถ้านายกฯ อนุมัติ กระทรวงแรงงานจะทำเรื่องเสนอของบกลางให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง