อย่าซ้ำรอยจำนำข้าว ปปช.เตือนสติหากลุยแจกดิจิทัล/สว.ยํ้ารัฐบาลกระเป๋าฉีก!

"เศรษฐา" ขออย่าด้อยค่า  "จุลพันธ์" หลังถูกจวกเละมือไม่ถึงทำโครงการดิจิทัล ลั่นไม่เปลี่ยนคนทำ เลขาฯ   ป.ป.ช.แจงไม่ได้ขวาง รัฐบาลมีอำนาจทำได้ แต่ให้ระมัดระวังนิดนึง เชื่อ นายกฯ-รบ.ไม่มีใครอยากเดินซ้ำรอยจำนำข้าว ระบุตั้ง “สุภา” เป็น ปธ.กรรมการศึกษา เหตุมีองค์ความรู้

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายเศรษฐา​ ทวี​สิน​ นายกรัฐมนตรีและ​ รมว.การคลัง ​ปฏิเสธการตอบคำถามถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต​ 1 หมื่นบาท ​  ก่อนที่จะเดินออกจากวงสัมภาษณ์​ผู้สื่อข่าว อย่างไรก็ดี ระหว่างเดินผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีมีหลายฝ่ายมองว่าการที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์​ รมช.การคลัง​  ออกมาให้สัมภาษ​ณ์รายวันอาจทำให้เกิดความสับสน แต่นายเศรษฐาเพียงแต่หันมายิ้ม

กระทั่งนายเศรษฐาได้ขึ้นไปบนรถยนต์ จึง​ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ​“เรื่องคุณจุลพันธ์นั้น ท่านเป็น รมช.คลังที่มีความรู้มีความสามารถ และมีการพูดคุยกันตลอด อย่าไปพูด อย่าไปด้อยค่า อย่าไปอะไร ไม่ต้องห่วง ทีมเดียวกันตลอดเวลา และมีความมั่นใจในตัวท่านตลอดเวลา”

นอกจากนี้ นายเศรษฐายังได้ไปตอบคอมเมนต์ใน X กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานและการให้สัมภาษณ์ในเรื่องเงินดิจิทัลฯ ว่านายจุลพันธ์มือไม่ถึงและไม่เข้าใจจุดประสงค์ของโครงการด้วยว่า "เป็นคนดีและเก่งครับ"

ขณะที่บางคนคอมเมนต์ระบุว่า "ไม่ควรเรียกไปด่าแล้ว เปลี่ยนคนเลย คะแนนนิยมรัฐบาลและนายกฯ เพิ่งจะเพิ่มขึ้น ก็เจอระเบิดจุลพันธ์เข้าไปหลายครั้ง ครั้งนี้คือบอมบ์สุด ความเชื่อมั่นและคะแนนนิยมดับวูบ" โดยความเห็นดังกล่าวนายเศรษฐาเข้าไปตอบว่า "ไม่เปลี่ยนครับ"

วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อทวงถามกรณีการพิจารณาอนุมัติให้พรรคการเมืองสามารถนำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น รวมถึงเงินสวัสดิการผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท เพื่อไปหาเสียงได้ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยนายสนธิญาระบุว่า มาร้องต่อกกต.ใน 2 ประเด็นคือ 1.ให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัยตัวท่านเอง เพราะหลายเรื่องที่ตนยื่นมาก่อนหน้านี้ถูกตีตกหมด และที่ผ่านมา กกต.ปล่อยปละละเลยเกี่ยวกับนโยบายเหล่านี้หรือไม่ และ 2.การที่พรรคการเมืองประกาศนโยบายแล้วทำไม่ได้นั้น แต่ กกต.อนุมัติให้สามารถนำไปใช้หาเสียงได้ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 258 หรือไม่ รวมถึงขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 57 หรือไม่ โดยเรื่องดังกล่าวตนจะนำไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการที่พรรคการเมืองมายื่นนโยบายหาเสียง และ กกต.พิจารณาอนุญาตนั้น จะต้องผ่านกระบวนการของ กกต.ในการพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งเมื่อ กกต.วินิจฉัยแล้ว กกต.จะต้องรับผิดชอบในการวินิจฉัย ส่วนพรรคการเมืองจะต้องรับผิดชอบในการดูแลประชาชน และการเลือกตั้งครั้งต่อไป

"เมื่อเป็นเรื่องที่ กกต.รับรองแล้วว่าได้มีการศึกษาทบทวนว่าสามารถทำได้ แต่มาวันนี้ทำไมทำไม่ได้ เป็นการละเว้นปล่อยปละละเลยหรือไม่ กระบวนการนโยบายของพรรคการเมืองที่ กกต.อนุมัตินั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่จบแค่ตรงนี้ แต่จะไปยื่นต่อ ป.ป.ช. หรือยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำที่ กกต.นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไป" นายสนธิญากล่าว

 ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า ขณะนี้ทางประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ศึกษา ให้ข้อเสนอแนะ ไม่ได้ไประงับยับยั้งโครงการ เพราะเป็นนโยบายที่ทางรัฐบาลหาเสียงไว้ และรัฐบาลมีอำนาจที่จะบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ แต่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันอาจจะมีการส่อไปทางทุจริต จึงตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาเพื่อวางแนวทางป้องกันไว้ก่อน ซึ่งอาจจะไม่มีการทุจริตก็ได้ โดยในการขับเคลื่อนนั้น หากไม่มีการทุจริตก็แล้วไป แต่หากมีก็ต้องมาดูว่าเกิดจากช่องทางไหน

เชื่อไม่อยากซ้ำรอยจำนำข้าว

นายนิวัติไชยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม วันนี้เท่าที่ทราบคือตัวนโยบาย แต่ในการขับเคลื่อนนโยบายทราบว่าเขายังไม่ตกผลึกว่าจะแจกให้แก่ใครบ้าง เม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเท่าไหร่ จะนำงบประมาณมาจากไหนก็ยังไม่ทราบ ทั้งนี้ อาจจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อวางกรอบการดำเนินการแค่นั้นเอง เพราะยังไม่มีรายละเอียดให้พิจารณาศึกษา คงจะต้องขอเอกสารและรายละเอียดเข้ามาดูก่อน                          

เลขาธิการ ป.ป.ช.ยังกล่าวด้วยว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ศึกษาเฉพาะเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาได้ศึกษาโครงการของรัฐบาลมาหลายโครงการแล้ว และมีข้อเสนอแนะไปให้รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็รับทราบและปฏิบัติตาม มีแค่ไม่กี่โครงการที่รัฐบาลรับทราบแต่ยังมีการขับเคลื่อนไป แต่ในการขับเคลื่อนมันมีช่องโหว่ช่องว่างที่ไปเอื้อประโยชน์ให้ภาคธุรกิจหรือเอกชนบางราย เลยกลายเป็นประเด็นย้อนกลับมาว่า ป.ป.ช.ได้ให้ข้อเสนอแนะไปให้ระมัดระวัง แต่กลับยังไม่มีการระมัดระวังเท่าที่ควร ท่านจะเกี่ยวข้องหรือไม่ อันนี้ไม่มีพยานหลักฐาน แต่การที่ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. มันก่อให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ 

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะซ้ำรอยกับโครงการรับจำนำข้าว นายนิวัติไชย กล่าวว่า ป.ป.ช.จะศึกษามาตรการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ และตนคิดว่าในส่วนของรัฐบาลคงไม่มีใครอยากจะเดินซ้ำรอย เพราะรู้อยู่แล้ว และยิ่งมีคนจับจ้องอย่างนี้ ถ้าตนเป็นนายกฯ ก็คงไม่อยากจะเข้าไป โดยเฉพาะนายกฯ เป็นนักธุรกิจ มีตัวอย่างเยอะแยะไปหมดแล้ว ตนว่าเจตนานายกฯ ต้องการจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เคยประกาศหาเสียงไว้มากกว่า ซึ่งถ้าดีก็สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพียงแต่ช่วยระมัดระวังนิดหนึ่ง มันอาจจะมีรอยรั่วหรืออะไรต่างๆ รับฟังกระแสและเสียงวิพากษ์วิจารณ์นิดหนึ่ง แต่การตัดสินใจเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ โดยตรง

เมื่อถามย้ำว่า คือรัฐบาลทำได้ แต่อย่าให้พลาด นายนิวัติไชยกล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าไปคิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า ป.ป.ช.ไปจับจ้อง แต่ถ้าเราช่วยกันและเสนอแนะไป ถ้าท่านปฏิบัติตามก็โอเค แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วมีความเห็นที่ดีกว่าและเกิดประโยชน์ดีกว่าก็ไม่จำเป็นต้องรับฟังข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. หรือสามารถรับฟังแล้วเอาไปพิจารณาอีกที ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามก็ได้ แต่ต้องมีเหตุผลว่าการไม่ปฏิบัติตามมีเหตุผลอะไร มีอะไรที่ดีกว่า ทำได้หมดทุกประตูของท่าน เพราะมันเป็นอำนาจการบริหารของท่าน ประชาชนเลือกท่านมาแล้ว ป.ป.ช.ไม่ได้ไประงับยับยั้ง หรือจะไปจับจ้อง หรือจะไปเล่นงาน ยืนยันได้

เมื่อถามว่า พอ ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ ก็มีประชาชนบางส่วนมองว่า ป.ป.ช.จะออกมาขวางนโยบายนี้ ทำให้รัฐบาลกังวล ไม่กล้าขยับอะไรมาก นายนิวัติไชยกล่าวว่า มันเป็นหน้าที่โดยตรงตามที่กฎหมายกำหนด ที่หากมีโครงการหรือนโยบายอะไรที่อาจจะส่อไปในทางทุจริต หรือจะก่อให้เกิดอะไร กฎหมายให้ ป.ป.ช.เข้าไป จะให้ ป.ป.ช.อยู่เฉยมันก็ไม่ได้ ฉะนั้นเราใช้อำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. แต่ไม่ได้เข้าไปจ้องจับผิด

เมื่อถามถึงหลักในการเลือกกรรมการศึกษาฯ และกรณีมีชื่อ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน นายนิวัติไชยกล่าวว่า เนื่องจากเห็น น.ส.สุภาเคยมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ที่ผ่านมา เคยทำสำนวนในเรื่องพวกนี้ อาจจะมีมุมมองที่ดีกว่า จึงให้มาเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ 

ต่อข้อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า น.ส.สุภาใกล้จะหมดวาระดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว แต่กลับจงใจให้เป็น น.ส.สุภาเป็นประธาน นายนิวัติไชย กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเรายังไม่รู้ว่าการศึกษาจะเสร็จเมื่อไหร่ แต่วันนี้เมื่อ น.ส.สุภายังอยู่ก็ต้องทำงาน ไม่เช่นนั้นคราวหน้าจะตั้งคนที่ใกล้จะหมดวาระไม่ได้ และคนที่ขับเคลื่อนจริงๆ คือคณะกรรมการศึกษาฯ ถ้า น.ส.สุภาหมดวาระ ก็ให้นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช.ขึ้นมาเป็นประธานแทน เมื่อถามย้ำว่า สังคมมองว่า น.ส.สุภาเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล นายนิวัติไชยกล่าวว่า เราห้ามไม่ได้ว่าใครจะมีมุมมองอย่างไร

ตอกย้ำ รบ.ไม่มีเงิน 

เมื่อวันศุกร์ ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน  วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการด้านวิชาการและเสริมสร้างการให้ความรู้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จัดสัมมนาหัวข้อ ปักหมุดประชานิยมอย่างไร ให้การเมืองไทยพัฒนา

ด้านนายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเสวนา ถึงความเป็นไปได้ในการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า การทุ่มเม็ดเงินขนาดใหญ่ 5.6 แสนล้าน ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นการสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่หากไม่ได้ผลก็อาจจะเป็นหายนะในอนาคต ทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้ออกมาเพราะเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง แต่ออกมาติงเพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่ในกรอบ เงิน 5.6 แสนล้านบาท ถ้าเทียบกับงบประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท เท่ากับเงินลงทุนใหญ่ของประเทศ หมายความว่าถ้าเอาเงินทั้งก้อนลงทุนใหม่แล้วเดินหน้าต่อ แต่ก้อนนี้ไปทำเรื่องโทเคน เหรียญดิจิทัลจนทุ่มหมดหน้าตัก มีหลายคนคำนวณว่าน่าจะได้จีดีพีเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 1 คุ้มหรือไม่

นายสมชายระบุว่า เม็ดเงินต้องมาจากงบประมาณแผ่นดิน หากนำงบ 5.6 แสนล้านบาทนี้มาใช้ แล้วงบ 5.6 แสนล้านในส่วนอื่นที่ต้องใช้พอหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเบียดโครงการอื่นให้เลื่อนการดำเนินโครงการออกไป ตนได้พูดคุยกับนายจุลพันธ์ บอกว่าจะใช้เงินใช้งบประมาณในเดือนเม.ย. ทำไมถึงต้องเป็นงบเดือนเม.ย. เพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณจะออกวันที่ 20 เม.ย.67 แสดงว่ารัฐบาลไม่มีเงิน

ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่ปัญหาคือ ควรทำหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ท้องถิ่น’ ผวา! พรรคครอบงำ

กกต.จับ "หมูเด้ง" เป็นพรีเซนเตอร์ช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.อบจ.-นายก อบจ. ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นเผยน่ากลัวมาก!

‘อิ๊งค์’ คุยคำโต รับมือ ‘PM2.5’ ตั้งแต่พ.ย.ปี67

"แพทองธาร" ยันเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ไม่ใช่บ่อนเสรี แต่เป็นการสร้างรายได้ท่องเที่ยว วอนประชาชนช่วยกันอธิบาย เผยไม่เกินปลายปีนี้ลงนาม "FTA" เผย

‘ทักษิณ’โรคจิต! เผยเกิดปีวัวกลางวันชอบเสือกที่ไหนเลือกจะกลับไปซํ้า

"ทักษิณ" สีสันไม่ตก! ลั่นเป็นคนโรคจิต งานง่ายๆ ไม่ชอบทำ ชอบทำงานยาก เพราะเกิดปีวัวกลางวัน วัวตอนเที่ยงกว่าจะได้กินฟางต้องไถนาก่อน ยันเสือกเพื่อความเจริญของประเทศชาติ