แรงงานไทยดับเพิ่ม1 ให้กู้ดอกถูกคืนเจ้าหนี้

แรงงานไทยในอิสราเอลได้เฮ “นายกฯ” แย้มสัญญาณดีหลังฮามาสเล็งปล่อย 50 ตัวประกัน พร้อมหาช่องช่วยคนที่ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ต่อ เคาะแนวทางดึง ธ.ก.ส.-ออมสิน ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ใช้หนี้นายหน้าแรงงานได้กลับบ้าน ขณะที่ กต.แจ้งคนไทยตายเพิ่ม 1 ราย พร้อมแจ้งรายชื่อ 7 ศพลำเลียงกลับไทย

เมื่อวันพุธเวลา 10.30 น. ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปล่อยตัวประกัน 50 คน จากเหตุการณ์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ในจำนวนนี้มีคนไทยด้วยหรือไม่ว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่ได้คุยกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ แต่เห็นนายปานปรีย์บอกว่าจะมีข่าวดีเร็วๆ นี้ ซึ่งท่านเองก็พยายามอย่างเต็มที่ 

เมื่อถามว่า ฝ่ายความมั่นคงของเราสามารถเจาะข้อมูลเชิงลึกได้มากน้อยแค่ไหน นายเศรษฐากล่าวว่า ได้มาก ยืนยันว่าด้านความมั่นคงเราไม่มีจุดบอด ทางฝ่ายความมั่นคง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ทำงานอย่างเต็มที่ และมีรายงานมาโดยตลอด เมื่อถามต่อว่าจำเป็นต้องตั้งรองนายกฯ มาดูแลด้านความมั่นคงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่จำเป็นเพราะมีสายตรงถึงตนเองตลอด 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากที่นายกฯ ขอความร่วมมือให้แรงงานไทยเดินทางกลับ มีตัวเลขเพิ่มเติมเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ดีขึ้น มีแนวทางที่ดีขึ้น เราเองก็พยายาม และเที่ยงวันนี้จะมีการพูดคุยกับ รมช.การคลังทั้ง 2 ท่าน และทีมงานกระทรวงการคลังว่าจะมีมาตรการไหนพอช่วยเหลือเขาได้หรือเปล่า เพราะเราเองก็ดูในเชิงลึกเหมือนกันว่าแรงงานไทยหลายคนที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศและอิสราเอลก็ต้องมีการกู้เงินมา ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่บางท่านยังตัดสินใจไม่กลับ และยอมเสี่ยงชีวิต เพราะเป็นเรื่องของเงินกู้ เราก็ต้องกลับมาดูว่าจะช่วยเหลือตรงไหนได้บ้างอย่างไร ยืนยันว่าเราพยายามอย่างเต็มที่ ทั้งกดดันว่าอย่าให้นายจ้างเอาเงินมาล่อทั้งทำในส่วนที่เราทำได้เอง ทำทั้ง 2 ส่วนทำทุกทาง 

ต่อมาในช่วงเย็น ที่โรงแรม The Athenee นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลว่า ในเร็วๆ นี้นายจ้างเองยังใช้กุศโลบายที่ให้เงินเพิ่มและจ่ายค่าแรงในวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและยังคอยคำตอบจากเอกอัครราชทูตอิสราเอลว่าจะทำอย่างไรต่อไปในเรื่องนี้ ตนเองมานั่งคุยเพราะตระหนักดีว่าแรงงานที่ไปทำงานตรงนี้บางคนกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 100,000-150,000 บาท ถ้าเขากลับมาแล้วไม่ได้เงินก็มีปัญหาต้องกลับมาใช้หนี้ต่อ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทางกระทรวงการคลังโดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะแรงงานหลายคนที่เดินทางไปทำงานเกี่ยวกับภาคการเกษตร น่าจะให้เงินกู้ยืมได้ 150,000 บาท เพื่อนำไปใช้ให้กับบริษัทนายหน้าหรือคนที่ติดเงินอยู่ โดยจะเป็นการให้เงินกู้ซึ่งจะเป็นการผ่อนระยะยาว 20 ปี ดอกเบี้ย 0.1% 20 ปีในวงเงิน 150,000 บาท จะออกมาเดือนละ 600 กว่าบาท ตนจึงบอกไม่อยากจะพูดเพราะต้องไปทำเรื่องของดอกเบี้ยและระยะเวลาอีก หาก 30 ปีออกมาก็ยิ่งต่ำลงไปอีก ตรงนี้เป็นวิธีหนึ่ง แต่ก็มีคำถามอีกว่าถ้าเขาไม่ได้ไปทำงานด้านการเกษตร ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ได้หรือไม่ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เลยพูดว่าจะให้ธนาคารออมสิน ช่วยดูแล

"ที่เหลือยืนยันว่าเราทำงานกันตลอด ถ้ายังไม่มีคำตอบที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ผมก็ไม่อยากจะพูด แต่ก็เข้าใจเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ อยากจะให้แรงงานที่ทำงานอิสราเอลถ้าฟังวันนี้อยู่แล้ว ขอให้สบายใจว่าเราจะไม่ทอดทิ้งท่าน และญาติพี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดก็อยากจะช่วยกันให้พูดให้กลับมาเถอะ สถานการณ์มันจะเลวร้ายลงไปอีกเยอะ หากมีเรื่องการปฏิบัติการภาคพื้นดินเมื่อไหร่ ถนนถูกตัดขาดสนามบินไม่สามารถใช้ได้ จะกลับมาได้อย่างไร อันนี้ขอให้คิดแล้วกัน ซึ่งเป็นนโยบายคร่าวๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีก อย่ายึดถือในตรงนี้ ทางทีมงานทำงานกันตลอด และจะหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็ว" นายกฯ ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่แรงงานเป็นจำนวนมากจะต้องใช้เงินเยอะ ตรงนี้ได้มีการประเมินอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า 30,000 คนก็ต้องใช้เงินเยอะและยังไม่ทราบว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ นี่คือเหตุผลถึงยังไม่บอก

ด้าน น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ จะรองรับแรงงานที่กลับจากอิสราเอล ที่ส่วนใหญ่มีทักษะเรื่องน้ำและเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะรับแรงงานทั้งหมดมาทำงานก่อน โดยอาจให้เป็นผู้ให้ความรู้เกษตรกรและนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบน้ำหยด ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต และจะนำมาเป็นแนวทางแก้ปัญหาให้กับแรงงานที่กลับจากอิสราเอล โดยเรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯ จะทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานด้วย

ที่ จ.สมุทราปราการ มีแรงงานจำนวน 320 คน โดยสายการบิน Spicejet SG 9014 เป็นเที่ยวบินตรงจากเทลอาวีฟ ขณะที่ปัจจุบันเมื่อรวมเที่ยวบินนี้ พบว่ามีแรงงานกลับมาถึงไทยแล้ว 26 เที่ยวบิน ยอดรวมทั้งสิ้น 4,296 คน และในช่วงค่ำเวลา 19.50 น.จะมีคนไทยอพยพกลับมาจากอิสราเอล อีกจำนวน 235 คน เดินทางโดยสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY081  

สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ซึ่งจากรายงานของฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ พบว่า มีผู้ขอเดินทางกลับจำนวน 8,478 คน ไม่ขอเดินทางกลับ 123 คน ถูกจับตัว 19 ราย บาดเจ็บ 18 ราย (ไม่สามารถระบุชื่อได้ 1 ราย) เสียชีวิต 30 ราย (ยืนยันจากทางการอิสราเอล 15 ราย) และส่งร่างกลับไทยแล้ว 8 ราย และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จะส่งร่างแรงงานไทยที่เสียชีวิตกลับมาอีก 7 ราย โดยสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบิน LY083 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 26 ตุลาคม 2566 เวลา 10.35 น.

ขณะที่แรงงานไทยเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต คอยตรวจคัดกรองสภาพร่างกาย และสภาพจิตใจของแรงงาน อยู่บริเวณด้านใน และหน่วยงานราชการต่างๆ ร่วมอำนวยความสะดวกและแนะนำสิทธิในการช่วยเหลือเยียวยา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลกรณีแรงงานไม่มีเงินค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา กระทรวงยุติธรรม ให้คำแนะนำการพักชำระหนี้ การไกล่เกลี่ยหนี้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานนั้น กรมการจัดหางานได้ตั้งโต๊ะให้คำแนะนำการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยทันทีที่มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ

 ด้านนายวีระพันธ์ จับแสงจันทร์ อายุ 39 ปี ชาวพิษณุโลก หนึ่งในแรงงานไทยที่อพยพกลับไทย กล่าวว่า สถานการณ์การสงครามบริเวณชายแดนอิสราเอล ตึงเครียดและอันตรายมาก โดยเฉพาะที่แคมป์ที่พักที่ตนเองไปทำงานสวนเกษตร ตั้งอยู่พื้นที่ติดชายแดนเลบานอนและซีเรีย มักจะมีจรวดและกระสุนปืนโจมตีกันระหว่างทหารอิสราเอลและกองกำลังติดอาวุธในเลบานอนบ่อยครั้ง จึงขอนายจ้างกลับไทย หลังจาการทำงานอยู่ที่นั่นมา 8-9ปี และไม่คิดจะกลับไปอีก มันอันตรายจริงๆ หลังจากนี้ จะกลับบ้านเกิดที่พิษณุโลก และหางานทำใหม่ในประเทศไทย

ที่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอล ณ คืนวันที่ 24 ต.ค. ดังนี้ ผู้เสียชีวิต  เพิ่มขึ้น 1 ราย รวม 31 ราย ผู้บาดเจ็บ 18 ราย และผู้ที่คาดว่าถูกควบคุมตัว จํานวน 19 ราย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งรายชื่อผู้เสียชีวิตจำนวน 7 ราย ที่จะนำกลับประเทศไทยโดยสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY083 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 26 ต.ค. 66 เวลา 10.35 น. ดังนี้ 1.นายธีรพงษ์ กลางสุวรรณ 2.นายศักดา สุระคาย 3.นายนิติกร แซ่ว่าง 4.นายอภิชาติ กุสะรัมย์ 5. นายศักดิ์สิทธิ์ โคตมี 6.นายศรีทัศน์ กาเหว่า 7.นายพิรุฬห์ ทานนพิมพ์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอมิ้ง' แจงยังไม่นำรายชื่อ 'ครม.อิ๊งค์ 1' ขึ้นทูลเกล้าฯ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบประวัติ คุณสมบัติ ในลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

สุดสับสน! ปรากฏการณ์การเมืองไทย ยุครัฐบาล 'อิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเฉพาะกลุ่ม สส. แต่หัวหน้าพรรคกลับถูกไล่ออกไม่ให้ร่วมด้วย

'เรืองไกร' ท้า 'นายกฯอิ๊งค์' โชว์ใบลาออก พ้นกรรมการ 20 บริษัท

ายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้แสดงหลักฐานต่อสาธารณะเกี่ยวกับการลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ รวม 20 บริษัท

'นายกฯอิ๊งค์' อยู่ได้เกิน 6 เดือนไหม! ขึ้นอยู่กับ 2 ทางรอด

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อุ๊งอิ๊งจะอยู่เกิน 6 เดือนไหม