ลุ้นปล่อยตัวคนไทย พ้นมือฮามาส/นายกฯวอนญาติกล่อมกลับบ้าน

"เศรษฐา" ยกหูคุยทูตอิสราเอล โอ่! พูดแรงติงนายจ้างเพิ่มเงินจูงใจทำแรงงานไทยอยู่ต่อ ขอ สส.เพื่อไทยในพื้นที่หารือครอบครัวช่วยกล่อมกลับบ้าน หวั่นเกิดอันตรายหากเหตุสู้รบขยายวงรุนแรง สั่ง ก.เกษตรฯ-แรงงานหางานรองรับ "บัวแก้ว" ลุ้นข่าวดีฮามาสปล่อย 50 ตัวประกันมีคนไทยรวมอยู่ด้วย หลังมีคนประสานเจรจาให้ "ผู้นำฝรั่งเศส" ถึงอิสราเอลโชว์ความสัมพันธ์ หวังมีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมช่วยเหลือ ปชช.ในฉนวนกาซา

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 24 ต.ค. เวลา 09.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยช่วงเช้าที่นายกฯ มาทำเนียบฯ ได้เปลี่ยนมาใช้รถ RANGE ROVER ทะเบียน 4 ขถ 8832 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถยนต์ส่วนตัว เคยใช้มาแล้วช่วงก่อนเป็นนายกฯ  ส่วนรถยนต์เลกซัส ทะเบียน 3 ขส 30 กรุงเทพมหานคร ที่ใช้ประจำอยู่ระหว่างนำไปซ่อมบำรุง

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ครม.ถึงกรณีแรงงานไทยในอิสราเอลว่า ก็ยังเป็นห่วงอยู่เหมือนเดิมเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ได้โทรศัพท์พูดคุยกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยไปแล้ว จากปัญหาที่มีการเพิ่มเงินเป็นแรงจูงใจให้แรงงานไทยอยู่ทำงานต่อ

"เราก็พูดแรงในเชิงบอกว่าแบบนี้ไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ได้ เอาเงินมาล่อ เรื่องแบบนี้ไม่ได้ ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง เขาบอกว่าไม่ทราบเรื่องเลย แต่เขาจะไปสืบทราบและจะแจ้งให้รับทราบโดยเร็ว เพราะเขาก็เป็นห่วงเหมือนกัน และอีกเรื่องการเลื่อนจ่ายเงินเดือนแรงงานไปวันที่ 10 พ.ย. เขาบอกว่าไม่ทราบเรื่อง แต่ผมก็ยืนยันไปและพูดเสียงหนักแน่นว่าต้องดูให้เรา" นายเศรษฐากล่าว

ถามว่า มีรายงานจะมีการปล่อยตัวประกัน 50 คน ในส่วนนี้มีคนไทยด้วยหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่อง ขอไปติดตามเรื่องนี้ก่อน

ภายหลังการประชุม ครม. เวลา 10.50 น. นายเศรษฐากล่าวว่า การประชุม ครม.เร็วและมีประสิทธิภาพ วันนี้เรื่องใหญ่ที่แจ้งในที่ประชุม ครม.มี 2 เรื่องหลักใหญ่คือ เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายการท่องเที่ยว และอีกหลายๆ นโยบาย แต่เหนือสิ่งอื่นใดตนคิดว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเหตุการณ์ที่อิสราเอล โดยปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในเรื่องของแรงงานไทย จริงๆ แล้วต้องบอกตรงๆ เป็นเรื่องที่ทำให้ตนสะเทือนใจอย่างมาก เป็นเหตุว่าทำไมรัฐบาลเราถึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวเร็วที่สุดเพื่อซ่อมและสร้างอนาคตให้กับประชาชน ขอให้ลองคิดดูแรงงาน 20,000-30,000 คน ที่อยู่ต่างแดนต้องเสี่ยงชีวิต พอมีคนเอาเงินเข้ามาล่อก็จะอยู่ต่อเพื่อเงินหลักหมื่นหลักแสน ถ้าเกิดเขาถามกลับมาว่า นายกฯ ไม่เข้าใจหรอก ว่าการที่มีคนเอาเงินมาให้ 50,000 หรือ 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ต่อและต้องเสี่ยงชีวิต มันมีความสำคัญกับพวกเขาขนาดไหน

 “เรื่องนี้ผมตระหนักดี ฉะนั้นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสุดที่จะทำให้ประชาชนนับหมื่นคนที่ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ เพื่อที่จะนำเงินมาช่วยคนหลักแสนหรืออาจจะถึงหลักล้านได้ ซึ่งเป็นห่วงโซ่ที่ต้องพึ่งการดูแลของพวกเขา ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก จริงๆ แล้วนโยบายการเงินการคลังที่ดีไม่ใช่แค่รักษาวินัยการเงินอย่างเดียว แต่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดี ไม่ใช่ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงเพื่อให้ได้ซึ่งเงิน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด” นายเศรษฐากล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ได้พูดคุยและสั่งการ รมว.แรงงานให้ช่วยดูแล และกระทรวงอื่นๆ ด้วย หากเขากลับมาแล้วต้องช่วยดูแลตรงนี้ให้ดี และเป็นเรื่องที่ตนเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านตระหนักดี

ขอให้ญาติกล่อมแรงงานกลับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการอะไรที่จะกระตุ้นแรงงานไทยที่กลับมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ได้ให้รัฐมนตรีไปดู ซึ่งได้สั่งการไปแล้ว เดี๋ยวคอยฟังเขากลับมาก่อน ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ช่วยดูแรงงานที่เดินทางกลับมา เพราะแรงงานภาคการเกษตรที่กลับมาจากอิสราเอลเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องดูเรื่องผลตอบแทนให้ดีขึ้น

ถามถึงความคืบหน้าเรื่องตัวประกัน นายกฯ กล่าวว่า ตัวประกันผู้บาดเจ็บและคนเสียชีวิตยังเท่าเดิมอยู่ การที่เราเอาคนกลับเข้ามาได้วันหนึ่ง 600-800 คน ยังเป็นไปได้อยู่ และมีผู้แสดงเจตจำนงจะกลับมาก็มีมากขึ้น ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยกันเสนอข่าวให้กับแรงงานและญาติพี่น้องทั้งหลายบอกให้กลับมาเถอะ มันไม่คุ้มที่จะเสี่ยงชีวิตอยู่

ซักว่าข่าวปล่อยตัวประกันได้รับรายงานจากฝ่ายความมั่นคงเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยัง เดี๋ยวบ่ายๆ จะมีการโทร.คุยกัน หวังว่าคงจะได้รายละเอียดบ้าง เพราะเรายังไม่ทราบชะตากรรม 19 ชีวิตนี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องเรียนอย่างนี้ตรงๆ แต่ได้มีการคุยกันอย่างต่อเนื่อง

ช่วงเย็น นายเศรษฐากล่าวระหว่างร่วมประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทย ตอนหนึ่งระบุว่า ขอฝาก สส.ที่มีแรงงานไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่ให้ไปบอกญาติพี่น้องพวกเขาด้วยว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนนับหมื่นคนต้องเสี่ยงชีวิตดูแลคนเป็นแสนเป็นล้านคน ปัญหาดังกล่าวเป็นภาพที่สะท้อนกลับมาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทุกคนพยายามหาเงิน พยายามอยู่ต่อเพื่อให้ได้เงินอีก 5 หมื่นบาท ขณะที่นายจ้างอิสราเอลก็เอาเปรียบจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของเรา ถือเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ

"เมื่อดูจากสถานการณ์สำนักข่าวกรองหรือฝ่ายความมั่นคง ชัดเจนว่าสถานการณ์สู้รบจะรุนแรงมากขึ้น แล้วอาจจะลุกลามไปประเทศข้างเคียงด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ แต่ผมพูดเพื่อให้เกิดการพาดหัว เชื้อเชิญให้คนไทยกลับมาเถอะ เงินจำนวนไหนก็ไม่สามารถทดแทนชีวิตได้” นายเศรษฐากล่าว

ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในที่ประชุม ครม.นายกฯ ได้สั่งการว่า นอกเหนือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เตรียมแผนจัดหางานให้แรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งกลับมาจากอิสราเอลแล้ว แต่เนื่องจากแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอลล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตร จึงขอให้กระทรวงต่างๆ ช่วยกันคิดแผนงานว่าจะสร้างสรรค์ตำแหน่งงานเพื่อรองรับแรงงานที่กลับมาอย่างไร

"นายกฯ ยังอยากให้กระทรวงแรงงานสื่อสารไปยังแรงงานไทยในอิสราเอลว่า  ถ้านายจ้างเอาค่าแรงมาชักชวนไม่ให้กลับ ขอให้เร่งสื่อสารไปว่าช่วงนี้ขอให้แรงงานกลับมาตั้งหลักที่เมืองไทยก่อน อย่าเสี่ยงอยู่ที่เดิม อย่าเปลี่ยนใจ และอย่าเพิ่งใจอ่อน ขอให้เอาความปลอดภัยเป็นตัวตั้งอันดับหนึ่ง" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ด้านนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงการช่วยเหลือตัวประกันแรงงานไทยว่า ได้ประสานงานตลอดเวลา และได้รับแจ้งมาว่ามีคนเข้าไปพูดคุยกับสายที่สามารถพูดคุยได้กับกลุ่มฮามาส ซึ่งอยู่ในช่วงการเจรจา โดยมีคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันประมาณ 200 คน มีคนไทย 19 คน เรามีความคาดหวังว่าเขาน่าจะปล่อยตัวคนไทยในเร็ววันนี้

"จากสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นในอิสราเอล เราไม่แน่ใจว่าขณะนี้ตัวประกันคนไทยนั้นอยู่ที่ไหน ก็มีความเป็นห่วงและพยายามพูดคุยกับผู้ที่จะประสานงานให้เร่งดำเนินการในการปล่อยตัวคนไทยให้เร็วที่สุด" นายปานปรีย์กล่าว 

ลุ้นฮามาสปล่อยตัวคนไทย

ถามว่าข่าวที่ระบุว่าฮามาสจะปล่อยตัวประกัน 50 คน มีคนไทยในนั้นด้วยหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยมาน่าจะมี ซึ่งที่จริงคนไทยไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกับทั้ง 2 ฝ่าย เพราะคนไทยเข้าไปเพื่อที่จะทำงานทำมาหากินในอิสราเอล ไม่ได้มีความขัดแย้งกับทั้ง 2 ประเทศ เขาก็ไม่น่าจะคิดว่าคนไทยจะเป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นอันตรายต่อทางฮามาส ตนมีความหวังสูงสุดที่จะให้เขาปล่อยตัวคนไทยทั้งหมดในเร็ววัน

ซักว่า การที่ฮามาสปล่อยตัวประกัน มีข้อแลกเปลี่ยนอะไรหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า เรายังไม่ได้พูดคุยถึงข้อแลกเปลี่ยน เป็นการคุยกันในระดับหนึ่งว่าอยากให้ปล่อยตัว และเขายังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องการอะไรจากเรา แต่เราได้คุยกับทั้ง 2 ฝ่ายตั้งแต่เริ่มเกิดสถานการณ์ให้ดูแลคนไทยให้ดีที่สุด

"เราได้ประสานกับทางฝั่งฮามาสให้ดูแลตัวประกันไทยให้ได้รับความปลอดภัย และอยู่ในที่ปลอดภัย อย่าให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบกัน เพราะเราเป็นห่วงว่าคนไทยจะได้รับอันตรายด้วย" นายปานปรีย์กล่าว

รมว.การต่างประเทศกล่าวถึงการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานไทยที่เสียชีวิตเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตบางส่วนที่ส่งกลับมาการพิสูจน์อัตลักษณ์เป็นไปได้ยาก เนื่องจากศพเริ่มเปลี่ยนสภาพ เราจึงต้องพิสูจน์ด้วยการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝั่งไทยกำลังดำเนินการขอดีเอ็นเอจากญาติผู้เสียชีวิต เพื่อไปพิสูจน์อัตลักษณ์กับทางอิสราเอลด้วย

"ในเรื่องการส่งคนกลับนั้น นายกฯ อยากให้กลับมาให้มากและโดยเร็วที่สุด แต่บางคนยังไม่อยากกลับด้วยหลายเหตุผลที่อยากอยู่ต่อ จากเดิมมีการเตรียมรับคนกลับ 500-600 คน แต่มีคนเปลี่ยนใจไม่กลับเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งเราก็แปลกใจ เราบอกไปว่าไม่ได้และควรที่จะรีบกลับมา หากเป็นอันตรายแล้วใครจะรับผิดชอบ"

วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ 24 ต.ค. ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เดินทางถึงอิสราเอลแล้ว ในภารกิจสมัครสมานสามัคคี หลังเกิดเหตุโจมตีของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์

การเยือนของเขาเกิดขึ้นภายหลัง 2 สัปดาห์แห่งการนองเลือดระหว่างการสู้รบของกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่บุกจากฉนวนกาซาเข้าไปสังหารผู้คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนไปกว่า 1,400 ราย และในจำนวนนี้เป็นพลเมืองฝรั่งเศส 30 ราย

มาครงมีกำหนดเข้าพบนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู เพื่อแสดงจุดยืนในฐานะพันธมิตรเหนียวแน่นระหว่างฝรั่งเศสและอิสราเอล นอกจากนี้ เขายังหวังจะเรียกร้องให้มีการละเว้นและช่วยเหลือประชากรพลเรือนในฉนวนกาซา ท่ามกลางการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งของอิสราเอล ในขณะที่อิสราเอลเตรียมการบุกรุกภาคพื้นดินอย่างเต็มตัวในอีกไม่ช้า

ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 5,000 รายในกาซาระหว่างการโจมตีของอิสราเอล โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ตามตัวเลขที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาส

คาดว่ามาครงจะเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม เพื่อให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างยิ่งในฉนวนกาซา ซึ่งประชาชน 2.4 ล้านคน ขาดแคลนน้ำ, อาหาร, ไฟฟ้า และสิ่งของพื้นฐานอื่นๆ หลังถูกปิดล้อมโดยกองทัพอิสราเอล

ประมุขแห่งรัฐของฝรั่งเศสมีกำหนดเข้าพบประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซ็อก ของอิสราเอล เช่นเดียวกับผู้นำฝ่ายค้าน เบนนี แกนต์ซ และยาอีร์ ลาปิด ในกรุงเยรูซาเล็ม และในกรุงเทลอาวีฟ เขามีกำหนดพบกับครอบครัวของชาวฝรั่งเศสที่ถูกสังหารในการโจมตีของกลุ่มฮามาส หรือถูกจับเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา ซึ่งชาวฝรั่งเศส 7 คนยังคงสูญหาย โดยหนึ่งในนั้นเป็นหญิงชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นหนึ่งในผู้คนมากกว่า 200 คนที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มฮามาส

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังตั้งเป้าที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการสู้รบไม่ให้บานปลายจนกลายเป็นอันตรายในภูมิภาค ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับแนวรบด้านใหม่ที่อิสราเอลตอบโต้ข้ามพรมแดนกับกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน

มาครงอาจเสนอให้มีการฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพที่แท้จริงอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรัฐปาเลสไตน์อย่างถาวร แลกกับการรับประกันจากมหาอำนาจในภูมิภาคที่มีต่อความมั่นคงของอิสราเอล

มาครงเป็นผู้นำจากชาติมหาอำนาจคนล่าสุดที่เดินทางเยือนอิสราเอลในช่วงนี้ ต่อจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ, นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี, นายกรัฐมนตรีริชิ ซูนัค ของอังกฤษ และนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง