ก.ก.ชง3ทางออก เปลี่ยนเรือดำน้ำ สุทินย้ำคิดทุกมิติ

นายกฯ ยันไทยไม่เสียเปรียบเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต เชื่อจะมีข่าวดี "สุทิน" พร้อมแจงสภาฯ ยันคิดรอบคอบทุกมิติ รับหากเดินหน้าต่อจะเจอคำถามมากกว่านี้ ย้ำไม่เสียเปรียบจ่ายเงินเพิ่ม "วิโรจน์" แนะ 3 ทางออก ดีที่สุดขอเงิน 7 พันล้านคืน หรือขอเปลี่ยนเป็นปุ๋ย แลกยุทโธปกรณ์อื่นที่จำเป็น ไม่ต้องควักเงินเพิ่ม

เมื่อวันจันทร์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงความชัดเจนกรณีจะเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตว่า ขอให้นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหมเป็นผู้ให้ข้อมูล หากมีข้อมูลครบแล้วค่อยดำเนินการเจรจา แต่เชื่อว่าจะมีข่าวดีและมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี ฉะนั้นขอให้เกียรติกระทรวงกลาโหมทำงานก่อน หลังไปเจรจามาแล้ว และยืนยันว่าการพูดคุยเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี

เมื่อถามย้ำว่า ประเทศไทยจะไม่เสียเปรียบในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวสั้นๆ ว่า “ไม่ครับ” 

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเรียกไปชี้แจงการเปลี่ยนมาเป็นเรือฟริเกตแทนเรือดำน้ำ ว่า ก็ไปได้และพร้อมชี้แจงทุกที่ ทราบว่า กมธ.ความมั่นคงก็จะมาพบตนด้วย ตนยินดีเพราะจะได้ทำความเข้าใจกัน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตจะทำให้เสียงบประมาณที่ดำเนินโครงการไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ทั้งการส่งบุคลากรไปอบรม และการเตรียมสถานที่จอดเรือดำน้ำ นายสุทินกล่าวว่า มันต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการเดินหน้าต่อเอาเครื่องยนต์จากจีน กับการต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ก็มีได้มีเสียเหมือนกัน ยืนยันว่าเราคิดรอบคอบในทุกมิติแล้ว ทั้งมิติกฎหมายและทุกมิติ คิดว่านี่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และหากเดินหน้าต่อคิดว่าจะต้องเจอคำถามมากกว่านี้ 

เมื่อถามว่า เสียงผู้ใต้บังคับบัญชาของเหล่าทัพว่าอย่างไรบ้าง นายสุทินกล่าวว่า ทุกคนเข้าใจดี เพราะก่อนจะตัดสินใจเรื่องนี้ก็ได้หารือกันอย่างละเอียด ไม่ได้ตัดสินใจโดยพลการ ไม่ได้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีหรือรัฐบาลไปชี้เลย แต่ประชุมหารือในทุกแง่ทุกมุม 

ถามว่า ไทยจะเสียเปรียบหรือไม่ที่ต้องเสียเงินเพิ่มอีกพันล้านบาท นายสุทินกล่าวว่า ไม่เสียเปรียบ เพราะต้องดูมูลค่าของแต่ละอย่างด้วย เพราะหากเรือถูกแล้วเขามาบวกแพงอันนั้นเสียเปรียบ ซึ่งทุกอย่างเป็นราคาที่รับรู้กันทั่วโลก และเป็นราคามาตรฐาน อย่างไรก็ตามตนไม่ได้มองว่าจีนผิดสัญญา แต่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงมากกว่า เพราะเป็นเรื่องของจีทูจี ประเทศไทยมีมิติของความเป็นมิตรประเทศ ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ที่จะต้องมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ใช่ดำเนินการซื้อขายอย่างเดียว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้กลไกของรัฐบาลในการเจรจาหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ขณะนี้ใช้กลไกของกระทรวงก่อน ซึ่งที่ผ่านมาคือกลไกของรัฐบาล ส่วนรายละเอียดต่อจากนี้เป็นกลไกของกระทรวงที่จะต้องไปคุย ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์คิดว่าอธิบายได้ เพราะมองว่ากระแสก็คงมี  เนื่องจากออกทางไหนคนไทยก็วิพากษ์วิจารณ์ แต่เชื่อว่าเราอธิบายได้

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวเรื่อง "ทางออกของเรือดำน้ำ ประเทศไทยต้องไม่เสียเปรียบ" สรุปว่าสถานการณ์ในตอนนี้ก็คือ บริษัท China Shipping & Offshore International Co. (CSOC) ผิดสัญญากับกองทัพเรือ และประเทศไทยได้รับความเสียหาย อย่างน้อยก็ค่าเสียโอกาสจากระยะเวลา 8 ปีที่สูญเปล่า คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือ การหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ที่สามารถอธิบายกับประชาชนได้ ซึ่งคิดว่าการใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD620 ของจีน ไม่ใช่ทางออกที่ควรเลือกแน่ๆ

ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การขอเงินที่ไทยจ่ายไปแล้ว 7,000 ล้านบาทคืน และอาจจะต้องพิจารณาในรายละเอียดสัญญาในส่วนค่าปรับ เพื่อเจรจาเรียกร้องการชดเชยความเสียหายที่สมเหตุสมผลด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็สามารถพิจารณาที่จะงดเว้นค่าปรับตามสัญญา หรือค่าชดเชยความเสียหายได้

ทางออกที่ 2 ก็คือ ไม่ขอเงิน 7,000 ล้านบาทคืน แต่ขอแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าอย่างอื่น ในมูลค่า 7,000 ล้านบาทแทน เช่น ปุ๋ย แม่ปุ๋ย สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง หรือสารป้องกันหรือกำจัดโรคพืช เป็นต้น

ทางออกที่ 3 ที่พอจะเป็นไปได้ ก็คือการขอแลกเป็นยุทโธปกรณ์ประเภทอื่นที่กองทัพเรือมีความจำเป็น เช่น เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (เรือ OPV - Offshore  Patrol Vessel) หรือเรือรบอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ หรือเรือฟริเกต ที่สามารถต่อสู้ได้ทั้งทางอากาศ ผิวน้ำ และใต้น้ำ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเจรจาต่อรองโดยตระหนักว่า “จีนเป็นผู้ผิดสัญญา และไทยเป็นผู้เสียหาย”  ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตแล้วต้องไปเพิ่มเงินอีก 1,000-3,500 ล้านบาท โดยอ้างสั้นๆ ว่าเรือฟริเกตราคาลำละ 17,000 ล้านบาท เรือดำน้ำลำละ 13,500 ล้านบาท เราก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่ม แบบนี้ไม่ยุติธรรมและไม่สมเหตุสมผลเลย

นายวิโรจน์ระบุว่า การเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตหรือเรือ OPV เชื่อว่าเป็นทางออกที่สามารถพิจารณาได้ แต่ควรต้องพิจารณาราคา ความยุ่งยากในการสำรองอะไหล่ในการบำรุงรักษา และเงื่อนไขต่างๆ ที่สมเหตุสมผลร่วมด้วย เช่น การเจรจาให้มาต่อเรือที่ประเทศไทย แทนการซื้อแบบทั้งลำ เพื่อสร้างการจ้างงาน และการพัฒนาซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศในประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่ากรมอู่ทหารเรือและอู่ต่อเรือในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะต่อเรือฟริเกตได้ (อย่างบริษัท มาร์ซัน เป็นต้น)

ประธาน กมธ.การทหารฯ ระบุด้วยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ต.ค.นี้ เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม N402  สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการทหารฯ ได้เชิญผู้แทนจากองทัพเรือมาชี้แจงในประเด็นเรือดำน้ำ เพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้รับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้องตรงกัน และจะพยายามเสนอแนะแนวทางที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติให้มากที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง