"เศรษฐา" กอดเงินหมื่นดิจิทัลลุยไฟ ลั่นเดินหน้าแจกแน่แค่ขอเวลาปรับนโยบาย ขณะที่ "ศิริกัญญา" ฟันเปรี้ยงสู่ทางตัน ติดเงื่อนล็อก กม.มาตรา 7 พ.ร.บ.ออมสิน เตือน "เพื่อไทย" โผล่พรวดช่อง พ.ร.ก.เหมือนฆ่าตัวตายทางการเมือง "องอาจ" ชี้่เงินดีหรือเงินเลวก็เงินภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินนายกฯ “รสนา” สับเละผุดประเพณีการเมืองใหม่ที่อันตราย บี้ กกต.สอบที่มาแหล่งเงิน พรรค ประกาศดำเนินนโยบายก่อน-หลังเลือกตั้งส่อหนังคนละม้วน
เมื่อวันจันทร์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ถูกมองว่ายังไม่ชัดเจนว่า ยังคงยืนยันในนโยบายดังกล่าว ซึ่งเรามีการปรับแต่งนโยบายนี้อยู่ ทั้งเรื่องที่มาที่ไปของเงินและวิธีการใช้ต่างๆ ดังนั้นขอให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการก่อนจึงจะแถลงให้ทราบ
เมื่อถามย้ำว่า ยังยืนยันว่าวันที่ 1 ก.พ. 67 ประชาชนจะได้รับข่าวดีตามที่บอกหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า เดี๋ยวจะมีการแถลง
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีเลื่อนการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ประชาชนสงสัยว่าจะได้รับเงินจากนโยบายนี้ในเดือน ก.พ. 67 แน่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป้าหมายยังคงอยู่ที่เดือน ก.พ.67 และหากมีการประชุมคณะอนุกรรมการในสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ถ้าไม่ทันจริงๆ อาจจะต้องมีการรายงานนายเศรษฐาเพื่อขอปรับกรอบเวลาของโครงการ เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า หากมีการเลื่อนโครงการจริงจะมีการกำหนดใหม่ว่าสามารถแจกเงินได้เมื่อไหร่
“ขอย้ำว่าตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าจะเลื่อนแจกเงินหรือไม่ และยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องเงินกู้กับธนาคารออมสิน ตอนนี้จึงต้องรอรายงานเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ถือว่ามีความจำเป็นตามกฎหมาย ไม่สามารถลัดขั้นตอนได้ และไม่สามารถดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงการโดยที่ยังไม่มีมติจากคณะกรรมการได้” นายจุลพันธ์ระบุ
ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว หัวเรื่อง “หรือว่า digital wallet จะถึงทางตัน…?” ระบุว่า ธ.ออมสินที่ยืนหนึ่งเป็นแหล่งที่มาของงบที่จะใช้สำหรับดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้าน อาจจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว ไม่ใช่แค่ว่าออมสินมีสภาพคล่องไม่พอ แต่เป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ออมสินปล่อยกู้ให้รัฐบาลได้
น.ส.ศิริกัญญาระบุว่า ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ออมสิน กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้ว่าให้ทำกิจการใดบ้าง ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารพาณิชย์รับฝากเงิน ปล่อยกู้ ซื้อขายพันธบัตร ลงทุน ไม่มีข้อไหนที่ให้รัฐบาลกู้เงินได้ แต่หากจะทำกิจการอื่นต้องตราเป็น พ.ร.ฎ. ซึ่งเมื่อไปดูใน พ.ร.ฎ. กำหนดกิจการพึงเป็นงานธนาคาร ระบุกิจการไว้ 13 ข้อ ลงรายละเอียด ไปจนถึงธุรกิจเงินตราต่างประเทศ การออกบัตรเครดิต ที่ปรึกษาการเงิน แต่ก็ไม่มีข้อไหนเลยที่เข้าข่ายจะตีความว่านำเงินมาให้รัฐบาลกู้ยืมได้ ถ้าไม่เชื่อลองถามกฤษฎีกาดูก็ได้
“ความหวังที่จะใช้เงินออมสินมาเป็นแหล่งเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คงต้องจบลงแค่นี้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีการแก้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรทำ เราก็ต้องมาวัดใจกันดูว่าจะถึงขั้นแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐสามารถกู้เงินออมสินได้หรือไม่ ถ้าไม่แก้กฎหมาย เหลือทางเลือกอะไรอยู่บ้าง เหลือแค่ใช้เงินงบประมาณกับออก พ.ร.ก.กู้เงินเหมือนช่วงโควิด” น.ส.ศิริกัญญาระบุ
น.ส.ศิริกัญญาระบุด้วยว่า อัปเดตข้อมูลงบ 67 ที่ปรับปรุงใหม่ ถึงจะขยายงบเป็น 3.48 ล้านล้าน แต่ก็ต้องจ่ายหนี้เพิ่ม ลงทุนเพิ่มตามไปด้วย เมื่อหักรายจ่ายที่ยังไงก็ต้องจ่าย ทั้งเงินเดือนสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ งบใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เงินชดใช้เงินคงคลัง งบท้องถิ่น และสวัสดิการตามกฎหมายงบที่เหลือมาจัดสรรใหม่ได้จริงเพิ่มมาเป็น 476,000 ล้านก็จริง แต่ขอย้ำว่านี่คือรายจ่ายประจำที่ต้องแชร์กับพรรคร่วมรัฐบาล 20 กระทรวง ถ้าใช้หมดนี่ก็หมายความว่าแต่ละกระทรวงได้เงินแค่พอจ่ายเงินเดือน
“งบลงทุนโครงการอื่นๆ ไม่ต้องทำกันแล้ว จะตั้งกองทุน soft power ก็ไม่ได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มงบไม่ได้ งบอุดหนุนบรรเทาภัยแล้งก็ไม่ได้ งบอุดหนุนดับไฟป่าแก้ PM 2.5 ก็ไม่ได้ โครงการฝึกอบรม upskill-reskill อะไรก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ไม่ต้องพูดถึงค่าตอบแทน อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็หายหมดเช่นเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่าทางเลือกนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิม ทางเลือกสุดท้าย คือออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้แบบที่ทำช่วงโควิด ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองชัดๆ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนตาม รธน. น่าคิดนะคะว่าอาจจะถึงทางตันจริงๆ” น.ส.ศิริกัญญาระบุ
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เป็นสิทธิ์ของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้ง จะพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่อย่างไร แต่รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่จะนำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไปทุจริตเชิงนโยบาย และหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือพวกพ้อง ส่วนที่ถูกด้อยค่าว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเงินเลวนั้น ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ในความเป็นจริงไม่ว่าใครจะมองเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเงินเลวหรือเงินดี แต่ก็เป็นเงินของประชาชนจากภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกมธ.วันที่ 24 ต.ค. โดยมีวาระพิจารณาเรื่องการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ว่าล่าสุดองค์กรที่มีหน้าที่ซึ่ง กมธ.เชิญมาประชุมตอบรับเพียง 2 หน่วยงาน จากที่เชิญไป 3 หน่วยงาน คือ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้ตอบรับส่งบุคคลใดเข้าร่วม ทั้งนี้ตนมองว่าหากการดำเนินนโยบายดังกล่าวไม่ชัดเจน ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย วินัยการเงินการคลัง ผิดหลักการของรัฐธรรมนูญได้
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ทำจดหมายเปิดผนึกถึง กกต.อีกฉบับ เตือนให้ระวังรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อทำโครงการแจกเงินดิจิทัลภายในไตรมาสแรกของปี 2567 เป็นการหลีกเลี่ยงการกำกับโดยรัฐสภาหรือไม่ เข้าข่ายเป็นการใช้นโยบายการคลังเพื่อสร้างความนิยมให้แก่พรรคการเมืองหรือไม่ โดยระบุใจความช่วงหนึ่งว่า "ขอเรียนว่าคณะกรรมการ ก.ก.ต.จะเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะโครงการดังกล่าวกำลังจะเปิดประเพณีการแข่งขันทางการเมืองใหม่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น โครงการทำนองนี้จึงเป็นโครงการประชานิยมที่ไร้สถานการณ์ ซึ่งถ้าคณะกรรมการ ก.ก.ต.อนุญาตให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นการสร้างประเพณีทางการเมืองใหม่ที่อันตราย"
น.ส.รสนาระบุด้วยว่า มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะใช้วิธีออกพระราชกำหนดเพื่อกู้หนี้สาธารณะ เพื่อให้สามารถแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งนอกจากจะเป็นการหลีกเลี่ยงการกำกับโดยรัฐสภา ทั้งที่เป็นโครงการใหญ่อันดับหนึ่งของรัฐบาลแล้ว ยังจะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 62 โดยไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง และการเปิดประเพณีโครงการประชานิยมที่ไร้สถานการณ์ ก็จะยิ่งทำลายหลักการวินัยการเงินการคลังของชาติโดยสิ้นเชิงอีกด้วย
“ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนให้ท่านสั่งให้สำนักงาน ก.ก.ต. พิจารณาว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่ปรากฏรายละเอียดมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏชัดเจนว่า แหล่งเงินที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงต่อสำนักงาน ก.ก.ต. ว่าส่วนใหญ่จะมาจากงบประมาณ แต่บัดนี้มีแนวโน้มจะใช้วิธีกู้หนี้สาธารณะโดยออกเป็นพระราชกำหนด อันแตกต่างจากที่ชี้แจงไว้นั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือไม่ โดยขอให้พิจารณากฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง มิใช่เฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และขอให้พิจารณารัฐธรรมนูญประกอบด้วย" น.ส.รสนาระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
ทักษิณจ่อพบอันวาร์ในไทย
"ทักษิณ" ยันเตรียมพบ "อันวาร์" กำลังรอคอนเฟิร์ม
สมัครอบจ.คึกคักพท.เกทับปชน.
เปิดรับสมัครนายกและสมาชิก อบจ.วันแรกทั่วไทยสุดคึกคัก
รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง สื่อทำเนียบฯตั้งฉายา‘แพทองโพย’อิ๊งค์มองมุมดีส่งเสริมกัน
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” นายกฯ "แพทองโพย" วาทะแห่งปี
สภาสูง ยั๊วะ รัฐบาล ข้ามหัว เทตอบ 5 กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯนินจา’ หนีสภา
‘สภาสูง’ ยั๊วะ รบ.ข้ามหัว เทตอบ 5กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯ นินจา’ หนีสภา ‘หมอเปรม’ อาลัย ‘แพทองโพย’ ไร้รับผิดชอบ แขวะใส่ชุดนอนตรวจทหาร หิ้วผัวใต้ออกงาน