รบ.ซื้อ‘ฟริเกต’แทนเรือดำนํ้า

อาถรรพ์กองทัพเรือ ระงับเรือดำน้ำถอยเรือฟริเกตทดแทน หวั่นถูกฟ้อง อ้างกระแสสังคม รอให้พร้อมค่อยจัดหา   ปากหวานอาจอยู่ในช่วง 4 ปีก็ได้ เผยจีนรับหลักการแล้วแต่ยังไม่ 100%

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังมาตรวจเยี่ยมกองทัพเรือ (ทร.) ถึงปัญหาเรื่องเรือดำน้ำว่า ได้มีการทบทวนแนวทางใหม่ โดยยึดหลักว่า 1.ทร.ต้องไม่สูญเสียโอกาส คือความเข้มแข็งที่ ทร.อยากได้เรือดำน้ำ 2.สังคมต้องพึงพอใจกับกองทัพและรัฐบาล เม็ดเงินก็ต้องคุ้มค่า และ 3.ผู้บริหารทั้งฝ่ายการเมืองและระดับกองทัพ ต้องอธิบายได้ และไม่เป็นที่ครหานินทาจากสังคม เราทบทวนกันมาก็ได้ 2 แนวทาง

นายสุทินกล่าวต่อว่า ทร.ขอให้รัฐบาลพยายามให้ได้เครื่องยนต์นั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับปากไปเจรจากับจีน แต่ไม่เป็นผล ก็มาสู่แนวทางว่าถ้าไม่สามารถได้เครื่องยนต์ตามสเปกนั้นแล้ว ทร.ขอ 2 แนวทางหนึ่ง 1.ขอเปลี่ยนรายการไม่เอาเรือดำน้ำก็ได้ แต่ขอเป็นเรือฟริเกต 3 ระบบ ซึ่งสามารถต่อสู้ทางอากาศ ผิวน้ำ ใต้น้ำ ส่วนราคาก็ประมาณเรือดำน้ำ และ  2.ถ้าไม่ได้เรือฟริเกต ขอเป็นเรือ OPV เรือตรวจการณ์ระยะไกลทดแทน ซึ่ง ทร.ยินดีสนองนโยบายรัฐบาล โดยรัฐบาลเลือกแนวทางที่ 1 คือเรือฟริเกต ซึ่งราคาสูงกว่าเรือดำน้ำ 1,000 ล้านบาท โดยนำเงินการสร้างอู่เรือดำน้ำ ระยะที่ 3 ที่ยังไม่ทำสัญญามาใช้ ซึ่งไม่กระทบงบประมาณ

“ในระหว่างเดินทางไปจีนร่วมกับนายกฯ ก็ไปคุยกับรัฐบาลจีน แต่ยังไม่จบ 100% เพราะมีรายละเอียดต้องพูดคุย โดยได้ข้อสรุปว่าทางการจีนก็เข้าใจ ว่าเรื่องนี้เป็นความลำบากใจของไทย แต่จีนขอความเห็นใจเช่นกันว่าปัญหาเขาถูกเบี้ยวเรื่องเครื่องยนต์เช่นกัน ดังนั้นต่างคนต่างเห็นใจกัน และยินดีที่จะหาทางออกให้ ซึ่งจีนรับแนวทางที่เราเสนอไปพิจารณา”นายสุทินกล่าว และว่า ส่วนอีกแนวทางเป็นกำลังคิดกันอยู่ แต่ต้องไปคุยในรายละเอียดอีกครั้ง แต่หลักการยอมรับคือการเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต โดยต้องคุยรายละเอียด เช่น เงินจ่ายไปทำอย่างไร หรือเทคโนโลยีอื่นๆ มีเงื่อนไขอะไร จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมา รวมทั้งข้อกฎหมายต้องคุยกันต่อไป

เมื่อถามย้ำว่า สรุปเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตจีนใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า เราเสนอไปว่าขอเป็นเรือฟริเกตจริง โครงการเรือดำน้ำไม่ยกเลิก ไม่พับ ไม่ระงับ โดยให้ชะลอระยะหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานี้ให้เสร็จ เมื่อได้เรือฟริเกตแล้ว บวกกับเรือฟริเกตเดิมที่มีโครงการจัดหา ก็มาบวกเข้าไป ส่วนเรือดำน้ำก็เดินหน้าต่อไป วันใดที่มีความพร้อมก็ทำก็เรื่องนี้ต่อ

“ไม่ใช่ยกเลิกสัญญา แต่ปรับปรุงหรือเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ คือภายใต้สัญญาจีทูจีเดิม คือให้ระงับเรือดำน้ำแล้วมาเขียนข้อตกลงขึ้นใหม่ว่าจะเอาเรือฟริเกต ส่วนเงินที่ไทยจ่ายไปแล้ว ไทยเสนอว่าขอให้เป็นเคลมเป็นค่าเรือฟริเกตราว 7,000 ล้านบาท เมื่อหักลบกับที่ยังไม่ได้จ่าย อีก 6,000 ล้านบาท อาจต้องเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ส่วนราคารวมของเรือฟริเกตลำใหม่นี้ จีนยังไม่ได้พูดเรื่องราคา แต่จากการศึกษา อยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้าน ก็ใกล้เคียงกัน จากนี้ต้องไปพูดในรายละเอียด ประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยจะส่งคณะทำงานไปเจรจา”

นายสุทินยอมรับว่า ประธานาธิบดีจีนและนายกฯ จีนเห็นชอบในหลักการนี้ ว่าจะหาทางออกร่วมกัน ส่วนโอกาสที่กองทัพเรือจะมีเรือดำน้ำนั้น ยังมี แต่เป็นระยะต่อไป เพราะเรายังไม่ได้ระงับ แต่สำหรับลำนี้น่าจะเป็นไปได้ยาก ส่วนเรือดำน้ำลำใหม่จะเป็นของจีนเหมือนเดิม หรือเป็นของประเทศอื่นนั้น ยังไม่มีความชัดเจน และการจัดหาใหม่อาจจะทันในสมัยตนเอง ถ้าจัดหาภายใน 4 ปี

“ชะลอโครงการไปก่อน แต่ไม่ใช่ระงับ  และให้กองทัพเรือศึกษาเรื่องนี้ต่อไปว่าจะเอาของประเทศใด”

เมื่อถามว่า ทร.เป็นผู้ปฏิบัติรับได้ในเครื่องยนต์จีน ทำไมระดับรัฐบาลถึงรับไม่ได้ นายสุทินย้อนว่า แล้วสังคมรับได้หรือไม่ เราต้องดูสังคมด้วย เมื่อถามต่อว่าต่อไป ทร.จะซื้ออะไรต้องดูกระแสสังคมก่อนใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องไปพิจารณา หากใช้เม็ดเงินไม่คุ้มเสียประโยชน์

เมื่อถามย้ำว่า หากฟังกระแสสังคมมากเกินไปจะกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า เราไม่ได้เอาเรื่องสังคมไปเป็นประเด็นหลัก แต่เรื่องสมรรถนะเครื่องยนต์ทาง ทร.ก็กังวล เพราะเครื่องยนต์จีนเราไม่เคยใช้ ที่อื่นก็ไม่เคยใช้ และยอมรับว่าเป็นเรื่องข้อกฎหมายด้วยที่ปฏิบัติยาก

“ถ้ารับเครื่องยนต์จีนมาใครจะรับประกันหากเรื่องถึงศาล จะมีเรื่องตามมาอีกเยอะ กองทัพหรือรัฐบาลอาจจะโดน ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นแก่ตัว กลัวโดนหลอก แต่จะยุ่งยากทางกฎหมายไทยไม่น้อย จะนำมาซึ่งความแตกแยกหรือเกิดการเมืองอะไรไปอีก กระทบอีกเยอะ” นายสุทินกล่าว และว่า ก็เห็นใจกองทัพเรือ และไม่คิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอาถรรพ์ แต่เป็นเรื่องดำเนินการยาก ไม่ง่ายเหมือนตอนซื้ออย่างอื่น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง