ไทยถูกจับเพิ่มอีก2! ยอดขอกลับพุ่ง8,345คน อิสราเอลถล่มกาซาหนัก

อิสราเอลโจมตีครั้งใหม่ฝั่งเวสต์แบงก์และโบสถ์ในกาซา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย "อียิปต์"  เร่งรื้อบล็อกคอนกรีตใกล้ชายแดน เปิดทางรถขนเสบียงเข้าช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ "เศรษฐา" ขอผู้นำเวที ASEAN-GCC ร่วมเรียกร้องสงครามยิว-ฮามาสยุติความรุนแรง แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี "8 ร่างแรงงานไทย" กลับถึงบ้าน "บัวแก้ว" แจ้งคนไทยถูกจับตัวประกันเพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 19 ราย ยอดขอกลับประเทศ 8,345 คน

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กองทัพอิสราเอลโจมตีครั้งใหม่ในแนวรบด้านเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตล่าสุด 13 ราย ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์

"กองกำลังของอิสราเอลก่อเหตุสังหารหมู่ในนูร์ชามส์ระหว่างการโจมตีเมื่อวานนี้  โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 5 ราย" กระทรวงระบุในถ้อยแถลง

อิสราเอลอ้างอิงไปในทิศทางเดียวกันว่า กองทัพได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศซึ่งสังหาร "ผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่ง" ในเมืองนูร์ชามส์ และมีการยิงตอบโต้กับกลุ่มติดอาวุธที่ใช้ระเบิดขว้างใส่กองกำลังความมั่นคงของตน

อีกหนึ่งการโจมตีที่ยังคงถกเถียง คือการที่อิสราเอลโจมตีโบสถ์กรีกออร์โธดอกซ์เซนต์พอร์ฟีเรียสในย่านประวัติศาสตร์ของฉนวนกาซาเมื่อวันพฤหัสบดี  ทำให้มีผู้พลัดถิ่นที่พักพิงในบริเวณดังกล่าวเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ซึ่งกองกำลังป้องกันอิสราเอลยอมรับว่าส่งเครื่องบินรบของตนเข้าไปโจมตีศูนย์บัญชาการของฮามาส และผลจากการโจมตีทำให้กำแพงโบสถ์แห่งหนึ่งในพื้นที่ได้รับความเสียหายโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยโบสถ์แห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลอาห์ลี อาหรับ ซึ่งถูกโจมตีทางอากาศเมื่อวันอังคาร

นอกจากนี้ กองทัพอิสราเอลยังสั่งอพยพประชาชนออกจากเมืองเคอร์ยัตชโมนาทางตอนเหนือ หลังเกิดเหตุปะทะกับนักรบฮิซบุลเลาะห์ตามแนวชายแดนติดกับเลบานอนต่อเนื่องหลายวัน พร้อมเคลื่อนย้ายรถถังและอาวุธหนักเข้าพื้นที่เพื่อโจมตีโครงสร้างพื้นฐานและจุดสังเกตการณ์ของกลุ่มติดอาวุธในเลบานอน

ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม กลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกเข้าไปในอิสราเอลจากฉนวนกาซาและสังหารผู้คนอย่างน้อย 1,400 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนที่ถูกยิง, ทำลายหรือเผาจนตาย นอกจากนี้ยังจับตัวประกันไปอีกเกือบ 200 คน รวมถึงชาวต่างชาติจาก 24 ประเทศ

ในขณะที่การตอบโต้ไปยังฉนวนกาซา ชาวปาเลสไตน์ราว 3,785 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน ถูกสังหารในการทิ้งระเบิดอย่างไม่หยุดยั้งของกองกำลังอิสราเอล

ล่าสุด เส้นทางความช่วยเหลือในฉนวนกาซาเริ่มมีความชัดเจนขึ้น แม้จุดผ่านแดนราฟาห์จะยังไม่เปิดตามกำหนดในวันศุกร์ก็ตาม โดยอียิปต์เริ่มรื้อบล็อกคอนกรีตใกล้ชายแดน และส่งพาหนะพร้อมอุปกรณ์เข้าไปซ่อมแซมถนนในฝั่งปาเลสไตน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้รถบรรทุกของสหประชาชาติ เป็นสัญญาณแห่งความหวังว่าความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างยิ่งจะเริ่มไหลไปยังชาวปาเลสไตน์ที่ติดอยู่ข้างในในไม่ช้า

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ เพิ่งบรรลุข้อตกลงกับอียิปต์และอิสราเอลที่อนุญาตให้รถบรรทุกเสบียงความช่วยเหลือข้ามแดนได้ 20 คัน แม้องค์การอนามัยโลกชี้ว่าต้องส่งเข้าไปให้ได้ถึง 2,000 คันเป็นอย่างน้อย

แต่ข้อตกลงดังกล่าวมาพร้อมกับเงื่อนไขที่เข้มงวดจากอิสราเอลที่ว่าความช่วยเหลือจะต้องส่งไปทางใต้ของฉนวนกาซา ซึ่งอิสราเอลสั่งให้พลเรือนอพยพเท่านั้น และต้องไม่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มติดอาวุธฮามาส

ขณะที่หัวหน้าผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเรียกร้องอิสราเอลว่า การขยายการดำเนินการใดๆ ทางทหารของอิสราเอลอาจเป็นยิ่งกว่าหายนะสำหรับประชาชนในฉนวนกาซา พร้อมขอให้ทบทวนและยับยั้ง

ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถ้อยแถลงภายใต้แนวคิด Innovative Partnership for Sustainable Future หรือความเป็นหุ้นส่วนสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN- Gulf Cooperation Council Riyadh Summit : GCC) ร่วมกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ คูเวต และโอมาน ตอนหนึ่งระบุว่า ขอเรียกร้องให้ ASEAN-GCC สร้างขึ้นบนความปรารถนาร่วมกันเพื่อสันติภาพ  เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง         "ประเทศไทยเสียใจกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความสูญเสียและมีผู้เสียชีวิต รวมถึงคนไทยถึง 30 คน ซึ่งขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันยุติความรุนแรง แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีโดยใช้การเจรจาต่อรอง การทูต ภายใต้พื้นฐานของการแก้ปัญหาระหว่างสองประเทศ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงในตะวันออกกลาง และปล่อยตัวประกันทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข" นายเศรษฐากล่าว

ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ เวลา 15.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) มีการจัดพิธีวางพวงหรีดและยืนสงบนิ่งไว้อาลัย 8 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงภายในประเทศอิสราเอล ประกอบด้วย 1.นายพงษธร ขุนศรี 2.นายพิชิต นาจันทร์ 3.นายชัยรัตน์ สานุสันต์  4.นายอานันต์ เพชรแก้ว 5.นายพงษ์พัฒน์ สุชาติ 6.นายอนุชา โสภากุล 7.นายพงษ์เทพ กุสะรัมย์ 8.นายธนกฤจฒ์ ปรากฎวงษ์ ภายหลังสถาบันนิติเวชของอิสราเอลอนุญาตให้นำร่างของคนไทยทั้งหมดส่งกลับประเทศ โดย น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตฯ, นายนฤชัย นินนาท รองอธิบดีกรมการกงสุล, นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม และนายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) เป็นผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมพิธี

แรงงานไทยถูกจับเพิ่ม 2 ราย

ส่วนฝ่ายอิสราเอล มีผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมพิธี ประกอบด้วย นายไมเคิล โรเนน อธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิก, นาง อินบัล มาชาช หัวหน้าสำนักแรงงานต่างชาติ และนางเชอร์ลี ไรซิน แซสสัน ผู้อำนวยการฝ่ายความตกลงทวิภาคีสำนักงานประชากรและตรวจคนเข้าเมืองอิสราเอล, นางชิรี เลฟแรน หัวหน้าคณะทำงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานต่างชาติในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่จากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล

นายไมเคิล โรเนน กล่าวว่า ตนได้เป็นผู้แทนในการกล่าวในพิธีการต่างๆ มากมาย แต่การเป็นผู้แทนของอิสราเอลในวันนี้เป็นการกล่าวด้วยความเศร้าสลด ขอแสดงความเสียใจในนามของทางการอิสราเอลต่อการสูญเสียชีวิตของแรงงานไทยในครั้งนี้

น.ส.พรรณนภากล่าวว่า สงครามครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ไทยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้ ทั้งนี้ หวังว่าสงครามจะจบโดยเร็วเพื่อมิให้เกิดความสูญเสียไปมากกว่านี้

ต่อมาเวลา 08.50 น. สายการบิน El Al เที่ยวบินที่ LY083 ซึ่งนำร่างแรงงานไทยทั้ง 8 รายออกจากอิสราเอลในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 20.00 น. ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีญาติพี่น้องบางส่วนของผู้เสียชีวิตมารอรับร่างของแรงงานทั้ง 8 ราย พร้อมกับนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ, นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน, นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย, นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายร่างแรงงานทั้งหมดกลับภูมิลำเนา

นายไพโรจน์กล่าวว่า หลังจากร่างแรงงานถึงภูมิลำเนาแล้วจะให้  5 เสือแรงงานลงพื้นที่ไปหาทางครอบครัวแรงงาน เพื่อชี้แจงสิทธิ์ที่ควรได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ และของอิสราเอลด้วย โดยกรณีเป็นภรรยา จะได้เงินช่วยเหลือเดือนละ 40,000 บาท จนกว่าจะแต่งงานใหม่ ส่วนลูกก็จะได้เงินช่วยเหลือเดือนละ 6,000-12,000 บาท จนกว่าจะอายุครบ 18 ปี ส่วนเรื่องการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิต ก็น่าจะไม่เป็นปัญหา เนื่องจากได้มีการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตผ่านทางสถานทูตไทยอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการช่วยเหลือคนไทยออกจากประเทศอิสราเอล เครื่องบินของสายการบินสไปซ์เจ็ท จะนำคนไทยจำนวน 320 คน ออกเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 21 ต.ค. เวลา 13.10 น. อีกทั้งยังมีเที่ยวบินของสายการบิน Arkia จะนำคนไทย 214 คน เดินทางจากกรุงเทลอาวีฟ ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 14.05 น.

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอล ณ วันที่ 20 ต.ค. ผู้เสียชีวิตยังมียอดรวม 30 ราย ผู้บาดเจ็บยังอยู่ที่จำนวน 16 ราย และผู้ที่ถูกจับไปเพิ่มอีก 2 ราย ทำให้มียอดรวมเป็น 19 ราย ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศไทย ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลนั้น ยอดล่าสุดมี 8,345 คน และผู้ที่ยังไม่ขอกลับประเทศ มีจำนวน 116 คน

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก “Royal Thai Consulate-General, Sydney” ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โพสต์ประกาศเตือนคนไทยในนครซิดนีย์ว่า กลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ในนครซิดนีย์มีแผนที่จะจัดการชุมนุมในนครซิดนีย์อีกครั้งในวันที่ 21 ต.ค. โดยจะเดินขบวนจากบริเวณย่านทาวน์ฮอลล์ ไปยังเบลมอร์พาร์ค โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงขอแจ้งเตือนชุมชนไทยให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางไปใกล้สถานที่ชุมนุม

ที่รัฐสภา นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ กล่าวว่า ในการประชุม กมธ. มีการพิจารณาสถานการณ์ในอิสราเอลและกาซา โดยเชิญ 3 หน่วยงาน ได้แก่ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนกระทรวงแรงงาน และผู้บัญชาการทหารอากาศ โดย กมธ.มีข้อเสนอ 6 เรื่อง คือ 1.เร่งช่วยเหลือตัวประกันคนไทยจำนวน 17 คน โดยใช้ช่องทางทั้งด้านการทูตและความมั่นคง 2.เร่งรัดอพยพคนไทย 8,237 คนกลับประเทศโดยเร็วที่สุด 3.ควรเจรจาสิทธิการบินเพื่อบินตรงข้ามหลายประเทศ 4.ขอให้ดูแลแรงงานไทยราว 20,000 คนที่ทำงานต่อในอิสราเอลให้ปลอดภัย และติดตามสิทธิประโยชน์ 5.เรียกร้องเปิดช่องทางมนุษยธรรมให้ความช่วยเหลือกับพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยเร็ว และ 6.พิจารณาทางเลือกในการไปทำงานที่ประเทศอื่นๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แรงงานไทย เฮ "พิพัฒน์" บินด่วนอิสราเอล หารือรัฐมนตรีอิสราเอล โควต้าแรงงานเกษตร ปศุสัตว์ เพิ่ม นับ 13,000 คน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต นายศักดินาถ