เร่งดับไฟสงคราม! ผู้นำโลกร่วมหาทางออก/มุสลิมใต้ชุมนุมสถานทูตยิว

ผู้นำโลกเคลื่อนไหวหาทางออกไม่ให้สงครามลุกลามบานปลาย พร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม "ผู้นำอียิปต์" รับปาก "ไบเดน" ยอมเปิดด่านพรมแดนราฟาห์ที่เชื่อมกับฉนวนกาซาให้รถขนเสบียงเข้าช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ "กต." เผยร่างแรงงานไทย 8 รายที่เสียชีวิตในอิสราเอลชุดแรกถึงสนามบินสุวรรณภูมิ 20 ต.ค. "ทอ." เตรียมส่งเครื่องบินเที่ยวที่ 3 รับคนไทย 21 ต.ค. ยอดผู้ขอกลับ ปท.เพิ่มเป็น 8,389 ราย  ชาวมุสลิมภาคใต้นัดเข้ากรุงเทพฯ ชุมนุมหน้าสถานทูตอิสราเอลเสาร์นี้

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม สถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสไม่มีประเด็นให้กังวลมากเท่าสภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยของพลเรือนในฉนวนกาซา ซึ่งล่าสุดยังคงรอคอยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

ปัญหาคาราคาซังบริเวณจุดผ่านแดนราฟาห์ของอียิปต์ที่ติดกับฉนวนกาซาเริ่มมีสัญญาณคลี่คลาย ภายหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐยืนยันว่าได้เจรจาให้อียิปต์ยอมเปิดจุดผ่านแดนดังกล่าวแล้ว เช่นเดียวกับอิสราเอลที่จะเปิดเส้นทางปลอดภัยให้กับการขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ผู้นำสหรัฐให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังจากโทร.คุยกับผู้นำอียิปต์บนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันขณะเดินทางกลับจากการเยือนอิสราเอลว่า ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัลซิซี ของอียิปต์ ตอบตกลงที่จะเปิดจุดผ่านแดนราฟาห์เข้าสู่ฉนวนกาซาเพื่อให้รถบรรทุกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชุดแรกผ่านไปได้ประมาณ 20 คัน จากจำนวนหลักร้อยคันที่จอดรอการอนุมัติบริเวณพื้นที่หน้าด่าน แต่ขบวนรถสินค้าน่าจะยังไม่สามารถข้ามไปในกาซาได้จนกว่าจะถึงวันศุกร์ เนื่องจากถนนที่ใช้สัญจรจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมเสียก่อน ขณะที่สหประชาชาติพร้อมเติมเสบียงและให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในรอบต่อไปตามเงื่อนไขสถานการณ์ของแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า หากกลุ่มฮามาสดักยึดขบวนรถความช่วยเหลือไว้ได้ ทุกอย่างก็จะสิ้นสุดลงอย่างเปล่าประโยชน์ ดังนั้นการคุ้มกันความปลอดภัยจากฝ่ายอิสราเอลจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

ฝ่ายอิสราเอลเองก็ได้ตอบตกลงที่จะอนุญาตให้ความช่วยเหลือเข้าถึงผู้คนในกาซา แม้ว่าจะยังคงปฏิบัติการทางทหารไว้ก็ตาม

"อิสราเอลเห็นพ้องว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเริ่มเคลื่อนย้ายจากอียิปต์ไปยังฉนวนกาซาได้" ไบเดนกล่าว พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมว่าสหรัฐ กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้รถบรรทุกเหล่านั้นเคลื่อนข้ามชายแดนโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ไบเดนยังกล่าวถึงเหตุโจมตีโรงพยาบาลในกาซาว่า เกิดจากการทำงานผิดพลาดของจรวดที่ถูกยิงโดยกลุ่มก่อการร้าย

"จากข้อมูลที่เราได้เห็นจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่าระเบิดทำลายล้างที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในฉนวนกาซาและทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายนั้น เป็นผลจากจรวดที่ผิดพลาดซึ่งยิงโดยกลุ่มก่อการร้ายในฉนวนกาซาเอง" ไบเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในตอนท้าย ซึ่งขัดแย้งกับการกล่าวอ้างของกลุ่มฮามาสที่ว่าอิสราเอลต่างหากที่เป็นต้นเหตุ

หลังจากผู้นำสหรัฐเดินทางออกจากตะวันออกกลาง นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ ก็เป็นผู้นำชาติมหาอำนาจรายต่อไปที่มุ่งหน้าสู่อิสราเอล

ซูนัคมีกำหนดพบปะกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู และประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซ็อก ของอิสราเอล ในฐานะพันธมิตรที่มีจุดยืนร่วมต้านการก่อการร้าย และหวังเจรจาหาทางออกไม่ให้สงครามลุกลามบานปลายจนมีความขัดแย้งจากประเทศอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการประสานความช่วยเหลือที่ยังมีข้อติดขัดในเรื่องปลายทางของผู้อพยพที่อียิปต์ยืนกรานเปิดด่านเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ไม่ให้ข้ามแดนมาเพื่อลี้ภัย

อีกหนึ่งมหาอำนาจอย่างรัสเซียได้แจ้งว่า รัฐบาลใช้เครื่องบินลำเลียงเสบียงอาหารช่วยเหลือชาวกาซากว่า 27 ตันไปยังอียิปต์ เพื่อให้ส่งต่อเข้าไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลน

มหาอำนาจเอเชียอย่างจีนก็ได้เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ใช้โอกาสที่นายกรัฐมนตรีอียิปต์เดินทางมาประชุมสุดยอดที่กรุงปักกิ่ง ร่วมหารือวิกฤตในกาซา และเสนอตัวช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาความขัดแย้ง

การประท้วงจากเหตุโจมตีโรงพยาบาลในกาซายังคงมีให้เห็นทั่วทุกมุมโลก แม้ในประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกา โดยผู้ประท้วงกว่า 100 คน รวมตัวแสดงพลังด้วยการเข้ายึดพื้นที่อาคารในรัฐสภาสหรัฐ เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองของประเทศทำทุกวิถีทางให้เกิดการหยุดยิงในฉนวนกาซาโดยเร็วที่สุด และบอกให้โจ ไบเดน แสดงบทบาทผู้นำที่เล็งเห็นผลด้านมนุษยธรรมมากกว่าผลทางการเมืองจากสงครามในตะวันออกกลาง

ร่างแรงงานชุดแรกถึงไทย

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศไทยแจ้งว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รับประสานเป็นการภายในจากบริษัทจัดการศพของอิสราเอลว่า สถาบันนิติเวชของอิสราเอลอนุญาตให้นำร่างของคนไทยที่เสียชีวิตจำนวน 8 ราย ออกจากสถาบัน ซึ่งสถานทูตจะส่งร่างพี่น้องแรงงานไทยชุดแรกดังกล่าวกลับประเทศไทยด้วยสายการบิน El Al เที่ยวบินที่ LY083 ออกจากอิสราเอลในวันที่ 19 ต.ค.66 เวลา 20.00 น. และถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 20 ต.ค.66 เวลา 08.50 น.

สำหรับรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้ง 8 ราย ประกอบด้วย 1.นายพงษธร ขุนศรี 2.นายพิชิต นาจันทร์ 3.นายชัยรัตน์ สานุสันต์ 4.นายอานันต์ เพชรแก้ว 5.นายพงษ์พัฒน์ สุชาติ 6.นายอนุชา โสภากุล 7.นายพงษ์เทพ กุสะรัมย์ และ 8.นายธนกฤจฒ์ ปรากฎวงษ์

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตเพื่อประสานรายละเอียด และกระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อญาติพี่น้องและครอบครัวของพี่น้องแรงงานไทยทั้ง 8 คน

ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เวลา 14.00 น. เครื่องบิน A340-500 ของกองทัพอากาศเที่ยวบินที่ 2 RTAF220 ที่เดินทางไปอพยพคนไทยในอิสราเอล ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี พล.อ.ท.ชัยนาท ผลกิจ รองเสนาธิการทหารอากาศ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้การต้อนรับ

 โดยคนไทยในอิสราเอลที่เดินทางกลับสู่ประเทศไทยในเที่ยวบินที่ 2 มีจำนวน 136 คน แบ่งเป็นชาย 132 คน และหญิง 4 คน (ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ) โดยก่อนการเดินทางกลับประเทศไทยนั้น ได้มีการตรวจร่างกายเพื่อตรวจสอบความพร้อมบินของผู้โดยสารโดยทีมแพทย์ทหารอากาศ และการตรวจความปลอดภัยก่อนขึ้นเครื่องบินโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนอากาศยาน และมีลูกเรือดูแลอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทางการบิน ซึ่งเมื่อเดินทางถึงสนามบินดอนเมือง ผู้โดยสารจะผ่านกระบวนการตรวจร่างกาย การตรวจคนเข้าเมือง การตรวจสอบสิทธิ ก่อนส่งแรงงานที่บางซื่อและหมอชิตเพื่อกลับภูมิลำเนา

พล.อ.ต.บุญเลิศ อันดารา โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า มี 3 แนวทางการนำกลับแรงงานไทย คือ 1.กลับมาโดยปลอดภัย 2.กลับมาถึงเมืองไทยโดยเร็วที่สุด และ 3.กลับมาถึงเมืองไทยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยกองทัพอากาศได้ดำเนินการไปแล้ว 2 เที่ยวบิน และเที่ยวบินที่ 3 จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 21 ต.ค. และกลับ 22 ต.ค. หวังว่าจะสำเร็จลุล่วงได้เช่นเดียวกัน

"แนวทางการบินจะใช้แผนดำเนินการแบบเดิมที่กองทัพอากาศและการบินไทยปฏิบัติอยู่แล้ว แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง โดยแผน 2 จะมีการดำเนินการแบบแอร์บริดจ์ (air bridge) คือการใช้เครื่องบินต่อระยะจากประเทศที่สามจากอิสราเอลมาจอร์แดน หรือสถานที่อื่นๆ และเราพร้อมในแผน 2 เมื่อได้รับการสั่งการ อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินที่ 3 ยังเป็นเที่ยวบินรูทเดิม ส่วนเที่ยวที่ 4 และ 5 อาจมีการเปลี่ยนแปลง หากมีความเป็นไปได้จะรับคนไทยจากจุดที่จะสั้นลง" โฆษกกองทัพอากาศระบุ

ขอกลับบ้านเพิ่ม 8,389 คน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน รับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอลกลับถึงประเทศไทย 2 เที่ยวบิน เที่ยวแรก LY 083 จำนวน 125 คน และเที่ยวที่สอง LY 081 จำนวน 187 คน รวมจำนวนแรงงานไทยทั้งสิ้น 312 คน

นายไพโรจน์กล่าวว่า รัฐบาลมีการปรับแผนการอพยพคนไทย โดยตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.เป็นต้นไป จะลำเลียงคนไทยที่ต้องการกลับประเทศไปพักคอยที่นครดูไบ   สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก่อน ซึ่งจะมีเครื่องบินขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจะจ้างเหมาลำระหว่างเทลอาวีฟมายังดูไบ โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้านเรียบร้อยแล้ว เพื่อรองรับแรงงานไทยที่จะอพยพเข้าไป

"สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ซึ่งจากรายงานของฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ พบว่าล่าสุดมีแรงงานไทยได้ลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยกับทางสถานทูตแล้ว 8,389 คน ไม่ประสงค์กลับ 116 คน ถูกจับไปเป็นตัวประกันจำนวน 17 ราย เสียชีวิตจำนวน 30 ราย บาดเจ็บ 16 ราย ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ 1 ราย และขณะนี้เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว 1,424 คน" ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

ที่รัฐสภา พรรคประชาชาติ นำโดยนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อ่านแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและประณามการโจมตีโรงพยาบาลอัลอะฮฺลี อาหรับ เมื่อคืนวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน และบาดเจ็บหลายร้อยราย โดยเฉพาะเด็กๆ ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายที่ต้องสูญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL)

"ขอเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในการดูแลสวัสดิภาพ และการป้องกันการทำร้ายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ พรรคประชาชาติขอเรียกร้องให้ความสำคัญต่อการเปิดเส้นทางความปลอดภัยเพื่อส่งผ่านอาหารและยาเพื่อช่วยเหลือพลเรือนที่ถูกกักกันอยู่ในฉนวนกาซา รวมทั้งขอเรียกร้องทุกฝ่ายเร่งให้ความช่วยเหลือคนไทย แรงงานไทย และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ความยุติธรรมและสันติภาพเกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์" แถลงการณ์ระบุ

มุสลิมใต้นัดชุมนุม 21 ต.ค.

วันเดียวกัน นายใบตาด สมานสถิตคุณ ชาวมุสลิมจาก ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ระบุว่า ในวันที่ 21 ต.ค. ชาวไทยมุสลิมจำนวนหนึ่งจากแต่ละจังหวัดทางภาคใต้จะเดินทางไปรวมตัวกันที่กรุงเทพฯ เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เพื่อสนับสนุนสันติสุขสันติภาพระหว่างประเทศอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่กลุ่มฮาสมาสกำลังเปิดการสู้รบกันในขณะนี้ เพื่อให้เกิดสันติสุขสันติภาพ ป้องกันมิให้สงครามขยายตัวยืดเยื้อ ฯลฯ โดยในการไปยื่นหนังสือครั้งนี้ จะมีนายนิติธร ล้ำเหลือ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชนเข้าร่วมด้วย

ที่ จ.ขอนแก่น ชาวบ้านโคกสูง ต.โนนธาตุ อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น ได้ช่วยกันเตรียมจัดงานศพนายพงษ์เทพ กุสะรัมย์ อายุ 26 ปี หนึ่งในแรงงานที่เสียชีวิต ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ผู้เสียชีวิตชุดแรกที่จะนำร่างเดินทางกลับมาประเทศไทย

นอกจากนี้ ชาวบ้านโคกสูงก็จะช่วยกันจัดเตรียมงานศพให้กับนายพิชิต นาจันทร์ อายุ 27 ปี ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งในหมู่บ้านที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศอิสราเอล และร่างถูกส่งกลับมาพร้อมกับนายพงษ์เทพเช่นเดียวกัน

จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง จ.ยะลา พร้อมด้วยนางมุกดา ยังอภัย ณ สงขลา นายกกิ่งกาชาดอำเภอเบตง, นายภูวิวัจน์ สลักคำ ปลัดอำเภอประจำตำบลอัยเยอร์เวง, นายซอลาฮุดดีน ยาญา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง, นายอดิศักดิ์ ยานยา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลอัยเยอร์เวง,   เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อัยเยอร์เวง, ผู้นำศาสนา และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ร่วมลงพื้นที่พบปะให้กำลังใจครอบครัวนายอิมราน สอนฮุง อายุ 23 ปี ซึ่งเป็นนิสิตปี 3 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งได้เดินทางร่วมไปกับเพื่อนนิสิตไปเรียนและฝึกทักษะด้านอาชีพที่เมืองอราวา ทางตอนใต้ของประเทศอิสราเอล เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

นายอิมราน เป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาฝึกงานของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จากจำนวน 30 คน โดยทุกคนเดินทางกลับถึงประเทศไทยอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นได้เดินทางต่อมาจังหวัดนราธิวาส เพื่อเข้าไปวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ก่อนที่จะเดินทางกลับมายังจังหวัดยะลาซึ่งเป็นภูมิลำเนา

นายอิมรานเล่าถึงสถานการณ์โดยรวมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อิสราเอลว่า เหตุการณ์เกิดห่างจากพื้นที่ที่ฝึกงานประมาณ 170 กิโลเมตร โดยจุดที่นักศึกษาทุกคนฝึกงานถือว่าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด ประชาชนหลายพื้นที่ต้องอพยพมาจุดนี้เพื่อความปลอดภัย

จ.พิษณุโลก นายกิจจา ผิวอ่อน ชาวอำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก แรงงานไทยในอิสราเอล ได้เดินทางกลับถึงพิษณุโลกแล้ว และได้เข้ามาติดต่อที่สำนักงานแรงงานจังหวัดพิษณุโลก เรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สิทธิประโยชน์ โดยมี น.ส.วิริยาภรณ์ เปรมโพธิ์ แรงงานจังหวัดพิษณุโลก คอยให้ข้อมูล พร้อมให้ความช่วยเหลือประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานถึงสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล