เศรษฐาเลื่อนครม.ถก‘กก.ดิจิทัล’

นายกฯ หัวโต๊ะ กก.เงินดิจิทัลนัดสอง 24 ต.ค. ขยับประชุม ครม.ไป 25 ต.ค. กมธ.สภาฯ เผยหลังหารือ "รมช.คลัง" แนะควรทบทวนรัศมีใช้เงิน-ความคุ้มค่า ยันใช้ “แอปเป๋าตัง” ได้ ไม่ต้องสร้างใหม่ ด้าน "หมอวรงค์" ยื่นผู้ตรวจการฯ ส่งศาลปกครอง ล้มแจกเงินหมื่น หวั่นทำระบบเศรษฐกิจชาติเสียหาย เปิดช่องรายใหญ่ฟอกเงินสีเทา “พิสิฐ” เสียดาย 5.6 แสนล้าน ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังรัฐบาลยังคงประกาศเดินหน้าโครงการเงิน 1 หมื่นบาท ดิจิทัลวอตเล็ต โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยืนยันเป็นนโยบายที่ดี พร้อมนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยจะทำทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม ขณะที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน DigitalWallet ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ล่าสุดได้กำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน DigitalWallet ครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 ต.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยจะเลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. เวลา 09.00 น. ที่ห้อง 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 แทน

ที่รัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากคณะ กมธ.หารือกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซึ่งนายจุลพันธ์ระบุว่าอยู่ในกระบวนการหาข้อสรุปในคณะอนุ กมธ.ที่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แต่งตั้ง หากได้ข้อสรุปนายจุลพันธ์จะรีบชี้แจง ขณะเดียวกัน กมธ.ได้สะท้อนความเห็นว่า ช่วงนี้อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถทบทวนได้ โดยเฉพาะประเด็นเงื่อนไขกำหนดรัศมีการใช้ระยะ 4 กม. ตนสะท้อนความเห็นว่า ประชาชนจำนวนมากไม่ได้พักอาศัยอยู่ในเขตทะเบียนบ้านตัวเอง ซึ่งนายจุลพันธ์ให้คำตอบว่า เงื่อนไข 4 กม. ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขแล้ว แต่จะใช้อย่างไรยังไม่ได้ข้อสรุป ตนจึงยังมีความกังวลเรื่องนี้ เพราะประชาชนนอกเขตทะเบียนบ้านมีจำนวนมาก ซึ่งนายจุลพันธ์รับปากจะนำไปพิจารณา ส่วนอีกเรื่องคือมี กมธ.สอบถามว่ากระทรวงการคลังได้ทำข้อสรุปถึงความคุ้มค่าของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็นอย่างไรหรือไม่ ซึ่งนายจุลพันธ์จะรับเรื่องความคุ้มค่าไปพิจารณาด้วย

เมื่อถามถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำแอปพลิเคชันใหม่ เพื่อใช้แจกดิจิทัลวอลเล็ต นายวรภพกล่าวว่า ในการหารือกันไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่ตนและพรรคก้าวไกลยืนยันว่า แอปเป๋าตังใช้ในโครงการนี้ได้เลย เพื่อความรวดเร็วไม่จำเป็นต้องสร้างแอปใหม่ให้ซ้ำซ้อน

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ตนพยายามละเว้นจะวิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองคู่แข่ง แต่ในเมื่อรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า รู้สึกเสียดายเงิน 5.6 แสนล้านบาท เงินจำนวนดังกล่าวหากนำมาแจกคนยากจน ประมาณ 10 ล้านคน เป็นจำนวน 1 แสนล้านบาท ยังพอรับได้ แต่หากนำมาแจกให้พวกเศรษฐี ชนชั้นกลางด้วย ซึ่งใช้เงินไม่กี่วันก็หมด ตนมองว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำโดยใช่เหตุ

 “เรานำเงินจำนวนนี้ไปทำประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสามารถสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ด้วยเงินเพียง 4 แสนกว่าล้านบาท จะสามารถอยู่ได้เป็นสิบๆ ร้อยๆ ปี เทียบกับที่เราเอามาใช้หมดเปลืองในเวลาเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลว่าได้หาเสียงไว้แล้ว” นายพิสิฐกล่าว

นายพิสิฐกล่าวต่ออีกว่า ตนเห็นด้วยกับนักวิชาการที่ออกมาคัดค้าน อีกทั้งเงินดิจิทัลยังไม่มีรัฐบาลอื่นใดในโลกทำ จึงถูกจับตามองอย่างเป็นข้อกังขาว่าเหตุใดรัฐบาลมาแตะต้องเรื่องนี้ รวมถึงกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ระบุไว้ชัดว่า การพิมพ์ธนบัตรและออกเงินตราเป็นหน้าที่ของ ธปท. จริงอยู่ที่กฎหมายอนุญาตว่า เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เชื่อว่า ตำแหน่งดังกล่าวก็ใช่ว่ามีความรู้ก็มาเซ็นอนุมัติ แต่ต้องมีเหตุผล เพราะหากมีการพิมพ์ธนบัตรดิจิทัลปลอมขึ้นมา ใครจะติดตามรับผิดชอบ เพราะยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำไมจึงใช้ช่องว่างของกฎหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดำเนินการได้

นายพิสิฐกล่าวด้วยว่า สำหรับการชดเชยการขาดดุลก็ยังไม่ชัดเจน แต่เท่าที่ฟังจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังชี้แจง เห็นว่าจะนำมาจากงบประมาณที่รัฐเก็บได้สูงเกินเป้าหมาย แต่ความจริงเงินจำนวนดังกล่าวถือเป็นเงินคงคลัง ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นการเบียดบังเงินคงคลังโดยใช่เหตุ หากจะนำเงินของธนาคารออมสินมาใช้ เงินดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นของนักเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กออมเงิน แปลว่ารัฐบาลนี้ทำตัวอย่างที่ไม่ดี คือนำเงินมาแจกให้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้งกัน

นายพิสิฐกล่าวอีกว่า ไม่เชื่อว่างบประมาณของนโยบายดังกล่าวจะมาจากงบประมาณปี 2567 เพราะต้องใช้เป็นรายจ่าย หากเอาเงินนอกงบประมาณมาใช้ผลาญเล่นก็จะเกิดผลกระทบกับระบบการเงิน จึงไม่อยากเชื่อว่าจะนำอนาคตมาเสี่ยงอย่างที่หลายคนเตือน ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตั้งแท่นศึกษาแล้วว่า จะเป็นการทุจริตครั้งใหญ่หรือไม่ ส่วนกรณีหุ้นตกนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกของนักลงทุน ว่าไม่มั่นใจกับโครงการนี้

ด้าน นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ชี้แจงการจัดทำแอปพลิเคชันรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ใช้เงินเล็กน้อย ไม่ถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ตามที่มีการเป็นห่วงว่า ขอให้ไปดูหลักฐานการทำแอปเป๋าตังของธนาคารกรุงไทยที่ธนาคารต้องใช้งบประมาณพัฒนาแพลตฟอร์มถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ต่อประชาชน 40 ล้านคน แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีผู้ใช้ 56 ล้านคน มากกว่าแอปเป๋าตัง อย่างน้อยก็ต้องใช้งบประมาณเท่ากันหรือมากกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้งบประมาณเล็กน้อยอย่างที่นายกรัฐมนตรีชี้แจง ขอให้ดูตัวอย่างระบบแอปที่ธนาคารกรุงไทยจ่าย

 “ทางออกเรื่องนี้นายกฯ ควรใช้แอปเป๋าตังของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่แล้ว ไม่ควรไปสร้างแอปใหม่ เพราะต้องเสียเงินถึง 2 ต่อ ทั้งค่าสร้างระบบใหม่ และค่าบริหารดำเนินการรายปี การใช้แอปเป๋าตังไม่ต้องอาย หรือถือว่าเสียหน้า อะไรดีควรต่อยอดใช้ต่อ ตอนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยไปล้มเลิกโครงการรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหมู่บ้าน” นายสมชายกล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ภาคเอกชนเห็นด้วย ในด้านของเศรษฐกิจโดยทั่วไปตอนนี้เราจะต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่จะต้องมีเม็ดเงินใส่เข้าไปเพื่อทำให้เศรษฐกิจมีการกระตุ้น เช่น การส่งออกของเราที่ผ่านมามีการชะลอตัวลง อุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้แต่ภาคเกษตร คิดว่ายังมีความสามารถเหลือถ้าเราสามารถทำให้ประชาชนมีอำนาจการซื้อหรือกำลังการซื้อก็จะทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถเพิ่มกำลังการผลิต ประกอบกับการจ้างงานก็จะเพิ่มขึ้นถือเป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันเอกชนเห็นว่าอยากจะให้ใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว เช่น เป๋าตังของกรุงไทย นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มของเอกชนต่างๆ ใช้ของที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถใช้ได้ทันที ไม่ต้องไปลงทุนทำใหม่ก็จะดี และเมื่อมีการสร้างงานแล้วก็จะทำให้เงินเข้าระบบการหมุนเวียนหลายรอบด้วยกัน ก็จะเป็นสิ่งที่ดี

วันเดียวกัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมมวลชนจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาไต่สวนและมีความเห็นส่งศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล โดย นพ.วรงค์กล่าวว่า การมายื่นผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ตั้งเป้า 2 ประเด็นคือ ต้องการขอให้ระงับยับยั้งโครงการนี้ เพราะหากยังเดินหน้าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปให้ศาลปกครองพิจารณา และยื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งให้ระงับโครงการดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

นพ.วรงค์กล่าวอีกว่า ข้อกังขาคือทำไมแจกเป็นเงินดิจิทัล หรือโทเคน ซึ่งมีความซับซ้อน เพราะต้องมีการแลกเปลี่ยนจากเงินสดเป็นโทเคน และโทเคนเป็นเงินสด โดยเฉพาะเงื่อนไขของการจ่ายเงินโทเคนที่ระบุว่าต้อง 6 เดือนขึ้นไปถึงจะแลกเป็นเงินสดได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับคนยากจน เพราะผู้ค้ารายย่อยเขาต้องหมุนเงินทุกวัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรค ทำให้โทเคนไปกองอยู่ที่นักธุรกิจรายใหญ่ อีกทั้งคนยากจนต้องการเงินสด ไม่ได้ต้องการเงินโทเคน ซึ่งจะนำไปสู่การฟอกเงินสีเทาครั้งใหญ่ในการรับซื้อโทเคนจากคนยากจนที่เขาต้องการเงินสด อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าจะนำเงินจากไหนมาทำโครงการนี้ จึงกังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การทุจริตกระจายไปทั้งแผ่นดิน

 “กังวลว่าโครงการนี้ไม่ได้ช่วยคนจน แต่ช่วยคนรวย โดยเอาคนจนมาบังหน้า และสิ่งที่กระทำทั้งหมดจะนำไปสู่การขัดต่อกฎหมายหลายมาตรา ทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 162, 164 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 เพราะโครงการนี้เป็นการใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลเพื่อหวังคะแนนนิยมทางการเมือง และการนำโทเคนมาใช้จ่ายแทนธนบัตรเสี่ยงขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา 2501 มาตรา 6 มาตรา 9 จึงต้องการบอกประชาชนว่าอย่าให้เขาหลอก เขาไม่ได้ต้องการช่วยคนจน แต่ต้องการช่วยคนรวยโดยเอาคนจนมาบังหน้า” นพ.วรงค์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อิ๊งค์' แค่พยักหน้า ปม รพ.ตร. ไม่ยอมส่งเวชระเบียน 'พ่อนายกฯ' ให้ ป.ป.ช.

'นายกฯอิ๊งค์' ปฏิเสธตอบคำถาม ปม รพ.ตำรวจ ไม่ส่งเวชระเบียนรักษาตัว 'ทักษิณ' หลัง ‘ป.ป.ช.’ ทวงแล้ว 3 ครั้ง ทำแค่พยักหน้ารับทราบ