“พีระพันธุ์” จ่อยกร่าง พ.ร.บ.น้ำมันราคาถูกช่วยเกษตรกร ลั่นใช้ทันสิ้นปีนี้แน่ พร้อมคลอดเกณฑ์อุ้มเบนซินใน 2 สัปดาห์ นำร่อง "แก๊สโซฮอล์ 91" ลด 2.50 บาท ปชป.ฉะรัฐบาลแก้ปัญหาฉาบฉวย เอื้อกลุ่มทุนผลักภาระให้ ปชช. ชงปรับเกณฑ์นโยบายพลังงาน ลดน้ำมันได้ทันที 1.20 บาท/ลิตร ค่าไฟ 60 สตางค์/หน่วย
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเกษตรกรและชาวประมง เพื่อจัดหาน้ำมันราคาถูกให้กลุ่มเกษตรกรใช้ ในลักษณะคล้ายน้ำมันเขียวของชาวประมง คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา โดยยืนยันว่าจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำมันราคาถูกภายในปีนี้แน่นอน
“ปัจจุบันได้ตั้งคณะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายอธึก อัศวานันท์ เป็นประธาน และมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งกำหนดให้มีรายงานความคืบหน้าทุก 30 วัน โดยราคาน้ำมันเพื่อเกษตรกรจะมีราคาถูกกว่าราคาขายปลีกในตลาดแน่นอน แต่จะถูกกว่าราคาตลาดเท่ากับน้ำมันเขียวของกลุ่มประมงต่างจากราคาในปั๊ม 6 บาทต่อลิตรหรือไม่ รวมถึงจะใช้สีอะไร ยังอยู่ระหว่างพิจารณา” นายพีระพันธุ์ระบุ
ส่วนความคืบหน้าการปรับลดราคาขายปลีกเบนซินในประเทศลง 2.50 บาทต่อลิตร คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการปรับลดเฉพาะในส่วนของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เนื่องจากเป็นน้ำมันที่มีต้นทุนเนื้อน้ำมันราคาถูกที่สุด โดยปัจจุบันอยู่ที่ 37.58 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นน้ำมันที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ใช้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้หลังผ่าน ครม.แล้ว คาดว่าจะกำหนดเวลาใช้ราคาที่ลดลงแล้วเป็นเวลา 3 เดือน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่น ต้องรอการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถปรับราคาน้ำมันชนิดอื่นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมากที่สุดในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 วันที่ 1 ม.ค. 2567 ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เนื่องจากยอมรับว่าจะส่งผลให้ต้นทุนราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 15 สตางค์ต่อลิตร อีกทั้งต้องเทียบเคียงมาตรฐานกับอีกหลายประเทศ
ที่รัฐสภา นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ แถลงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาพลังงานทั้งราคาน้ำมันและไฟฟ้าว่า ถือเป็นการกระทำที่ฉาบฉวย เอาเงินหลวงไปใช้ เป็นการเบียดบังทางการคลังมากกว่าปรับลดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงาน ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของฐานะการคลัง และสร้างหนี้สาธารณะเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน ทั้งนี้ พรรคขอเสนอปรับเกณฑ์นโยบายพลังงานที่ไม่กระทบฐานะการคลัง ซึ่งจะไม่ทำให้คนรุ่นหลังต้องรับภาระแทน โดยจะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดลดลงได้ทันทีอย่างน้อย 1.20 บาทต่อลิตร และลดค่าไฟลงได้ 60 สตางค์ต่อหน่วย คือราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขอให้ยกเลิกแนวคิด import parity ที่ผูกสูตรคำนวณราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นที่ใช้มาประมาณ 50 ปี และพึ่งพาประเทศสิงคโปร์ในการนำเข้าสำเร็จรูป หากมีการควบคุมการตลาดอย่างจริงจังให้ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรได้ จะลดราคาน้ำมัน โดยเฉพาะเบนซินได้อีกไม่ต่ำกว่า 2 บาท
ส่วนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า พรรคขอให้ทบทวนโครงสร้างต้นทุนของการนำแก๊สธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า เนื่องจากแก๊สในอ่าวไทยมีราคาที่ถูกกว่าแห่งอื่น ดังนั้น รัฐจะต้องกันเป็นแหล่งพลังงานเพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าได้ถูกลง แต่ที่ผ่านมารัฐกลับใช้ราคาตลาดโลกมาคำนวณแก๊สผลิตไฟฟ้าแบบเฉลี่ยเหมารวมแก๊สจากอ่าวไทย ดังนั้น หากดำเนินการได้จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงอีกไม่ต่ำว่า 1.0 บาทต่อหน่วย นอกจากนั้นยังอยากให้รัฐใช้โซลาร์รูฟอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟเหลือไม่ถึง 2.0 บาทต่อหน่วย และขอให้ยกเลิกใช้ข้อมูลการพยากรณ์ล่วงหน้า เพื่อกำหนดค่าเอฟทีมาเป็นการใช้ตัวเลขจริง เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน