ยื่นร่างกม.ลูก/สอบสส.เต้

เพื่อไทยยื่นร่าง กม.ลูกประกอบเลือกตั้ง ส.ส.-พรรคการเมืองแล้ว เผยสูตรปัดเศษ ส.ส.ทศนิยม คาดเข้าสภา ม.ค.และประกาศใช้ มี.ค. ด้าน “หมอระวี” เผย 2 ร่างกฎหมายลูกพรรคร่วมรัฐบาลนัดส่งประธานสภาฯ 23 ธ.ค. "เรืองไกร" ร้องสอบ "ส.ส.เต้" เจ้าตัวโต้หน้าตาเฉย สภาล่มเวลา 16.30 น. เท่ากับลางานไปเพียง 2 ชั่วโมงกว่า เพราะหนังเข้าฉายตอน 17.30 น.

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่).. พ.ศ….. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ….. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.ว่าการด้วยเลือกตั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทยเน้นให้มีเขตที่ติดต่อกัน ซึ่งจะแตกต่างจากของเดิม รวมทั้งฐานจำนวนประชากรต้องเขียนให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งวิธีการคำนวณต้องเป็นไปตามมาตรา 91 คือคะแนนรวมของบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองรวมกันทั้งประเทศ แล้วนำมาคำนวณด้วย 100 คน ส่วนกรณีมีเศษ เราจะดูเศษทศนิยมเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น พรรคเพื่อไทยได้ 35.8 พรรคอื่นๆ ได้ 30.2 สมมติรอบแรกได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 90 ที่นั่ง เหลืออีก 10 ที่นั่ง ก็จะมาดูที่เศษทศนิยม สำหรับการจัดเบอร์ผู้สมัครให้ใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ ทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ

ส่วนร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ทราบว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่น่าจะเสนอร่างดังกล่าว แต่พรรคเพื่อไทยเห็นว่ามีความจำเป็นและสำคัญ เพื่อมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.เขต จาก 350 เป็น 400 เขต ซึ่งกฎหมายเดิมเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางในการคัดเลือกผู้สมัครและบังคับให้จัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง ในร่างของพรรคเพื่อไทยเรายังยืนยันเจตนารมณ์เรื่องการส่งเสริมการเลือกตั้งเบื้องต้น หรือไพรมารีโหวต เนื่องจากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 จะไปยกเลิกไม่ได้

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นยังแก้ไขค่าบำรุงพรรคของสมาชิก จากเดิมสมาชิกชั่วคราว 100 บาท และ 2,000 บาท สำหรับสมาชิกถาวร ในร่างของพรรคเพื่อไทยได้เสนอว่าเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากขึ้น จึงกำหนดว่าอัตราค่าสมาชิกพรรคให้ไปเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคของแต่ละพรรคที่จะเป็นผู้กำหนดเอง นอกจากนี้ยังเสนอเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง เพราะกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบพรรคต้องมีความชัดเจน และการจัดทำนโยบายของพรรคการเมือง ต้องสามารถบอกแหล่งเงินว่านำมาจากไหนได้ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือน มีนาคม 65

ด้านนายสุทินกล่าวว่า หลังจากนี้เป็นกระบวนการของสภาที่จะตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะบรรจุระเบียบวาระการประชุม ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ในช่วงเดือน ม.ค.65 เพราะขณะนี้หลายพรรคการเมืองก็เริ่มทยอยยื่นร่างแก้ไขแล้ว และยืนยันว่าไม่มีร่างแก้ไขฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จึงให้เสรีและอิสระกับทุกพรรคการเมือง

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และคณะทำงานเพื่อเตรียมการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับว่า ขณะนี้คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้นำมาสู่การพิจารณาของวิปรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งวิปรัฐบาลเห็นด้วยกับทั้ง 2 ร่าง โดยมีหลักการสำคัญ คือ

1.จะมีการเสนอร่างร่วมกันเป็นฉบับเดียวกัน โดยจะนำเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในวันที่ 23 ธ.ค.

2.ประเด็นหลักที่มีการแก้ไขทั้ง 2 ฉบับ เป็นประเด็นที่อนุวัตให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้มีการแก้ไขมาตรา 83 และ 91 คือเรื่องระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเท่านั้น

3.เรายอมรับร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งอาจมีประเด็นอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กกต. ซึ่งเราไม่ขัดข้องหาก ครม.จะเสนอกรณีเหล่านี้เข้ามา และ 4.มีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกันบ้าง โดยเราจะให้สิทธิ์ ส.ส.สามารถแปรญัตติได้ เช่น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พรรค ปชป.เห็นว่าควรกำหนดให้ใช้หมายเลขเดียวกันระหว่างแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต ซึ่งตรงกับร่างของ กกต. แต่พรรคร่วมอื่นอาจไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร สามารถใช้สิทธิ์แปรญัตติได้

นายชินวรณ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 ธ.ค. เวลา 10.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญคณะทำงานร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเรายินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นร่าง กกต. ที่เสนอผ่านทาง ครม. ส่วนจะมีประเด็นไหนที่จะต้องมีการอภิปรายหรือต้องดำเนินการ โดยจะยึดหลักสำคัญว่าเราต้องการเห็นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปบริสุทธิ์ ยุติธรรม

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ในวันที่ 23 ธ.ค. ทางวิปรัฐบาลจะนำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ แม้ว่าในที่ประชุมคณะทำงานจะยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่หลายประเด็นและถือว่ายังไม่ตกผนึก แต่ที่คณะทำงานรับได้ คือเราได้ตกลงกันว่าจะไปสู้กันในชั้นสงวนคำแปรญัตติในการประชุมร่วมรัฐสภา หลังจากที่ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมแล้ว

ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่จะต้องต่อสู้คือพรรคเล็กเห็นว่า จะต้องคงหลักการคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และหลักการเรื่องส.ส.พึงมีที่จะต้องคงอยู่ โดยไม่ถูกแก้ไข อีกทั้งเรื่องการหารคะแนนจะต้องหารด้วย 500 ไม่ใช่ 100 และใช้แนวทางเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือการนำคะแนนบัตรส.ส.เขตของทุกพรรครวมกัน บวกด้วยคะแนนบัตรเลือกพรรคของทุกพรรครวมกัน แล้วหารด้วย 500 จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน สมมติว่าเป็นคะแนน A จากนั้นนำคะแนนเขตของแต่ละพรรคบวกด้วยคะแนนพรรคของแต่ละพรรคแล้วหารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. (A) จะได้เป็น ส.ส.พึงมีของพรรคนั้นๆ ซึ่งการคิดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้นำจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ลบด้วยจำนวนส.ส.เขตของแต่ละพรรค จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค การคิดส.ส.บัญชีรายชื่อจะไม่มีการบังคับว่าจะต้องได้ ส.ส.ขั้นต่ำ 1% หลังจากคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อเต็มตามคะแนนเต็มแล้ว ถ้ามี ส.ส.บัญชีรายชื่อยังไม่ครบ 100 คน เหลือจำนวนเท่าใด ให้ใช้การปัดเศษคะแนนพรรคการเมือง ตามลำดับมากน้อย จนกว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 100 คน อย่างไรก็ตาม ตนจะประสานกับทางสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อทำความเข้าใจในเหตุผลเหล่านี้ และขอใช้เสียงส.ว.ช่วยสนับสนุนต่อไป

วันเดียวกันนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ได้ส่งคำร้องไปทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ สาเหตุมาจากที่นายมงคลกิตติ์ได้ทำหนังสือขอลาการประชุม โดยระบุว่า “ด้วยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ข้าพเจ้า ขอลาการประชุมเวลา 14.00-19.00 น. เนื่องจาก ภารกิจกับประชาชน (พานักศึกษาไปดูหนัง 4 kings)

นายเรืองไกรกล่าวว่า การลาดังกล่าว อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการลาการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และข้อบังคับ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ.2563

“การลาประชุมเพื่อพานักศึกษาไปดูหนัง 4 kings โดยอ้างว่าเป็นภารกิจกับประชาชน อาจเป็นการขาดประชุมโดยไม่จำเป็น อันอาจนำไปสู่การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 หรือข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ 2563 ในข้อต่างๆ ตามมาได้ จึงมีเหตุต้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่” นายเรืองไกรกล่าว

ด้านนายมงคลกิตติ์กล่าวว่า ตลอดการทำหน้าที่ ส.ส.มา 3 ปีกว่า ไม่เคยขอลางานเลย ในใบลาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ระบุเอาไว้ว่าขอลาช่วงเวลา 14.00-19.00 น. แต่ปรากฏว่าการประชุมสภา ในวันดังกล่าวล่มไปตั้งแต่ตอน 16.30 น. เท่ากับตนลางานไปเพียง 2 ชั่วโมงกว่า หนังเข้าฉายตอน 17.30 น. ซึ่งเป็นช่วงสภาล่ม และปิดสภาไปแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด