กองทัพอิสราเอลรอไฟเขียวจากเนทันยาฮูล้างบางฮามาสให้สิ้นซาก “จีน” เริ่มขยับเตือนยิวเริ่มทำเกินขอบเขตป้องกันตนเอง “เศรษฐา” ประชุมด่วนที่ กต.ยอมรับสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ คนไทยสูญเสียเพิ่มอีก 4 ราย ถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่มอีก 1 รวม 17 คน สั่งเช่าแอร์บัส 380 ขนกลับเพิ่ม ตั้งเป้าสิ้นเดือนกลับมาได้หมด วอนครอบครัวตัวประกันอย่าเพิ่งหมดหวัง “สธ.” เผยมี 3 แรงงานที่กลับมาต้องพบจิตแพทย์
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาว่า กองกำลังอิสราเอลพร้อมบุกภาคพื้นดินอย่างเต็มตัวในฉนวนกาซา เพื่อภารกิจทำลายกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก โดยรอเพียงการสั่งการจากนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งในช่วง 8 วันนับตั้งแต่นักรบกลุ่มฮามาสสังหารผู้คนอิสราเอลไปมากกว่า 1,300 ราย อิสราเอลได้ตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดทำลายล้างที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2,300 ราย ในฉนวนกาซา
ความหวาดกลัวและความสับสนวุ่นวายครอบงำอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ขนาดความยาว 40 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งการปิดล้อมของอิสราเอลยังเร่งเร้าให้ชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นเร่งหนีตายโดยไม่มีจุดหมายที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง
อาคารของเมืองกาซาทั้งหมดเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และโรงพยาบาลก็เต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บหลายพันคนในพื้นที่ที่ความหวาดกลัวเข้าปกคุลมอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่อิสราเอลผู้สูญเสียและโกรธเคืองได้ระดมกำลังจำนวนมากนอกเขตแดนเพื่อเตรียมการโจมตีทางบก, ทางอากาศ และทางทะเล อีกทั้งยังได้ส่งทหารและรถถังประจำการบนชายแดนทางตอนเหนือติดกับเลบานอนที่มีการโจมตีข้ามพรมแดนกันไปมากับกลุ่มฮิซบุลเลาะห์อีกหลายครั้ง
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เดินทางเยือนกองทหารแนวหน้าทางตอนใต้ใกล้ฉนวนกาซาเมื่อวันเสาร์ เพื่อให้กำลังใจทหารและเตรียมบัญชาการด้วยตัวเอง
ก่อนหน้านี้ อิสราเอลส่งกองกำลังพิเศษบุกโจมตีฉนวนกาซาและเก็บศพตัวประกันบางส่วนจากทั้งหมด 120 คนที่ถูกกลุ่มฮามาสจับกุมได้ ขณะที่กลุ่มฮามาสอ้างว่ามีผู้เสียชีวิต 22 รายจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล
การบุกรุกภาคพื้นดินในฉนวนกาซามุ่งเป้าทำลายฐานปฏิบัติการของกลุ่มฮามาสที่ถูกพูดถึงว่าเป็นเครือข่ายอุโมงค์อันกว้างใหญ่
ไม่กี่วันก่อน อิสราเอลได้เตือนชาวปาเลสไตน์ 1.1 ล้านคนให้อพยพออกจากทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ซึ่งประชาชนจำนวนมากก็ได้หลบออกจากพื้นที่ทันทีทั้งทางรถยนต์, รถบรรทุก, เกวียน และการเดินเท้าไปทางใต้นับตั้งแต่นั้นมา และมีการกล่าวหากลุ่มฮามาสที่ขัดขวางชาวเมืองไม่ให้หลบหนีออกจากพื้นที่ว่า ต้องการใช้พลเรือนเหล่านั้นเป็นโล่มนุษย์
ความตื่นตระหนกเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ซึ่งอิสราเอลได้ตัดน้ำ, อาหาร และไฟฟ้า โดยให้คำมั่นว่าจะปิดล้อมอย่างสมบูรณ์จนกว่าตัวประกันทั้งหมดจะถูกปล่อยตัว
จีนเตือนอิสราเอลเริ่มล้ำเส้น
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กล่าวหาว่าการกระทำของอิสราเอลเกินขอบเขตการป้องกันตนเอง และกล่าวว่าจะต้องยุติการลงโทษแบบเหมารวมต่อประชาชนในฉนวนกาซา
ขณะที่พลเมืองอิสราเอลบางส่วนก็เดินหน้าอพยพออกจากเมืองทางตอนใต้ที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของกลุ่มฮามาสเช่นกัน
อียิปต์พยายามเปิดช่องทางให้พลเรือนได้อพยพข้ามฉนวนกาซา แต่ปฏิเสธการอพยพของพลเมืองจากชาติอื่น เว้นแต่จะเดินทางมากับขบวนรถช่วยเหลือเท่านั้น
ความโกรธได้ปะทุขึ้นในโลกมุสลิมในบริเวณต่างๆ ทั่วโลก โดยผู้ประท้วงที่สนับสนุนปาเลสไตน์แสดงสัญลักษณ์ด้วยการเผาธงชาติอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น เมื่อเวลา 15.10 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาเป็นประธานการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล หรือศูนย์ Rapid Response Center : RRC ในเวลา 16.00 น. โดยนายเศรษฐาได้เดินทางมาถึงก่อนเวลา เพื่ออัปเดตสถานการณ์สงครามที่กำลังเข้าสู่วันที่ 9 กับนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัด กต. ก่อนประชุม
จากนั้นเวลา 16.00 น. นายกฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ ผู้แทน และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการประชุมด้วยอย่างพร้อมเพรียง และยังเชื่อมสัญญาณประชุมออนไลน์ไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย, สถานกงสุลใหญ่ไทยในแถบตะวันออกกลาง และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัด กต.รายงานว่า สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 28 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 16 ราย และผู้ที่ถูกลักพาตัว 17 ราย
ต่อมาในเวลา 16.30 น. นายเศรษฐาแถลงหลังประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมสถานการณ์ความไม่สงบที่อิสราเอล หลายท่านทราบอยู่แล้วมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย การประชุมเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ว่าเราให้ความสำคัญสูงสุดกับการลำเลียงคนไทยที่มีความประสงค์เดินทางออกจากอิสราเอลให้ได้เร็วที่สุด และรายงานเที่ยวบินออกจากอิสราเอล ซึ่งมีตารางบินในมือ พร้อมโชว์ให้กับผู้สื่อข่าวดู
นายเศรษฐากล่าวว่า ภายในสิ้นเดือนนี้จะมีสายการบินรับคนไทย ทั้งนกแอร์, แอร์เอเชีย, การบินไทย และสไปซ์เจ็ท ทั้งหมดทั้งสิ้น 32 เที่ยวบิน รวม 5,700 คน ซึ่งยังไม่พอ เพราะตอนนี้มีคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประมาณกว่า 7,000 คน และตัวเลขมากขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลเรื่องการลำเลียงคนออกมายังเป็นปัญหาอยู่ เพราะการต่อสู้ยังไม่จบ ขณะนี้อิสราเอลยังเลื่อนการโจมตีทางบกไปอีกวันถึงสองวัน เป็นที่คาดว่าหากโจมตีทางบก การต่อสู้ก็จะรุนแรงขึ้น ตรงนี้ต้องระมัดระวัง เรื่องการลำเลียงคนทางบกหรือทางเรือเรียกว่าประตูปิดแล้ว เพราะท่าเรือที่อิสราเอลตอนนี้ปิดไปแล้วไม่สามารถออกมาได้ จึงต้องพึ่งทางอากาศอย่างเดียว ตอนนี้ทางสถานทูตไทยประจำอิสราเอลทำงานอย่างเต็มที่ สามารถนำคนมาอยู่ในศูนย์พักพิงได้วันละประมาณ 400 คน ฉะนั้นถือเป็นตัวเลขที่ดี แต่ถึงอย่างไรเรายังมีเครื่องบินไม่พอ เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงอยู่
รับสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ
นายเศรษฐากล่าวอีกว่า เรื่องของเอกสารของแรงงานชาวไทยอาจทำหายหรือมีมาไม่ครบ ทางสถานทูตได้อำนวยความสะดวกให้เข้ามาศูนย์พักพิงและทำเอกสารรับรองให้สามารถบินได้ เป็นการอำนวยความสะดวก ซึ่งทำได้วันละประมาณ 200 ราย ถือว่าเรื่องเอกสารไม่ใช่ปัญหา ส่วนการลำเลียงคนด้วยเครื่องบินขณะนี้มี 2 ช่องทาง คือ บินตรงจากอิสราเอลมากรุงเทพฯ กับการไปพักที่ดูไบ จอร์แดน สาธารณรัฐไซปรัส แล้วนำเครื่องบินไปรับอีกช่วงหนึ่งเพื่อเร่งนำคนออกจากอิสราเอลให้ได้โดยเร็ว สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับมาไทยแล้วทาง รมว.แรงงาน แจ้งแล้วว่าจะดูแลอย่างดีที่สุด มีเงินเยียวยา และพยายามหาแหล่งทำมาหากินแห่งใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ยังถือว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่น่าไว้วางใจ เพราะสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย โดยจำนวนตัวประกันที่ทราบดีว่ามี 17 คน เราใช้ 4 ช่องทางพยายามติดต่อนำตัวประกันกลับมาให้ได้อย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด โดยใช้ช่องทางทางการทูต หน่วยข่าวกรอง ซึ่งคุยกันระหว่างข่าวกรองต่างประเทศและการทหาร นอกจากนี้ยังใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ ภาคประชาคมหรือเอ็นจีโอ ที่มีเครือข่ายอยู่ในประเทศต่างๆ เราพูดคุยมาโดยตลอด โดย กต.พูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งปาเลสไตน์และอิสราเอล เพื่อขอคนของเราให้กลับมาได้ปลอดภัยเร็วที่สุด แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ซึ่งทุกคนที่อยู่ที่นี้และกองทัพไทยพยายามหาช่องทางเพิ่มมากขึ้น ในการเพิ่มเที่ยวบินเอาคนไทยกลับมาให้ทันในสิ้นเดือนนี้ให้หมด
เมื่อถามว่า ตัวประกันที่ถูกจับทั้ง 17 คน จากการประสานช่องทางการทูตกับอิสราเอล ทั้งหมดยังปลอดภัยใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ณ วันนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่
เมื่อถามย้ำว่า ยังไม่ได้รับคำตอบว่าตัวประกันจะได้ปล่อยตัวเมื่อไหร่ใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ใช่ครับ แต่มีการคุยกันโดยตลอด โดยวันนี้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.กต. จะคุยกับบางประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าตัวประกันจะปลอดภัย
เสี่ยนิดปลุกอย่าเพิ่งสิ้นหวัง
“เราเห็นใจ แต่เรายังติดต่อไม่ได้จริงๆ เราใช้ทุกช่องทางอยู่แล้ว การที่ยังติดต่อไม่ได้ และยังไม่มีข่าวร้ายออกมาก็ถือว่าเรายังมีความหวัง เราทำเต็มที่ไม่ได้สิ้นหวัง” นายเศรษฐากล่าวถึงการความมั่นใจที่จะให้กับครอบครัวตัวประกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันอย่างไร
เมื่อถามว่า ถึงขณะนี้มีปัญหาอะไรน่ากังวลใจที่สุด นายเศรษฐากล่าวว่า มี 2-3 ปัญหา ปัญหาแรกคือการนำคนจากจุดเสี่ยงมาสู่ศูนย์พักพิงและเดินทางเข้าสู่สนามบินพร้อมออกเดินทาง และเรื่องเที่ยวบินที่จะนำเข้าไปได้ ในที่ประชุมผู้ใหญ่หลายท่านเสนอเข้าให้เช่าเครื่องบินเพิ่มเติม และหลายคนที่ไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอาจเห็นเครื่องบินแอร์บัส 380 ที่จุคนได้ประมาณกว่า 500 คน ถามว่าทำไมไม่เอาเครื่องดังกล่าวไปรับ ได้สอบถามการบินไทย ซึ่งชี้แจงว่าเครื่องเหล่านั้นจอดมานาน ต้องซ่อมบำรุง อีกทั้งนักบินไม่ได้บินนาน ตามกฎแล้วต้องไปฝึกเพิ่มต้องใช้เวลา จึงได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่าเครื่องบิน 380 มาเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราดูอยู่
เมื่อถามว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตคนไทยที่สูงขึ้น จะทำให้เรามีการปรับท่าทีหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่เปลี่ยนแปลงท่าที เราเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง จะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่เป็นที่น่าเสียใจที่เราเกิดความสูญเสียอันดับต้นๆ เพราะเรามีแรงงานอยู่ในประเทศนั้นเยอะ เขาคงไม่ได้เจาะจงมาทำร้ายคนไทยหรอก คิดเช่นนั้น เราไม่มีส่วนในความขัดแย้ง เราพยายามช่วยเจรจาทั้งสองฝ่าย จุดมุ่งหมายของเราคือนำคนไทยที่เป็นตัวประกันออกมาให้ได้อย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนคนที่ไม่ใช่ตัวประกันและต้องการเดินทางกลับก็ต้องให้กลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด
ถามย้ำว่า ยืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าเราไม่ใช่ประเทศเป้าหมาย นายเศรษฐา กล่าวย้ำว่า ไม่ใช่ครับ เมื่อถามอีกว่า แต่แรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรที่ผลิตเสบียงป้อนกองทัพอิสราเอล จะทำให้เป็นเป้าในการโจมตีหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า แรงงานไทยไม่ได้เป็นชาติเดียวที่อยู่ตรงนั้น เชื่อว่าทางฮามาสไม่ได้เจาะจงที่แรงงานไทยโดยเฉพาะ
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษก กต. ชี้แจงถึงกรณีกองทัพอากาศ (ทอ.) ส่งเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ไปอพยพคนไทย ซึ่งต้องบินผ่านน่านฟ้าของ 10 ประเทศว่าบางประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล จึงทำให้ไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้าของประเทศนั้นเพื่อไปยังอิสราเอลได้โดยตรง ซึ่งเราพยายามเร่งดำเนินการขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆ อย่างเต็มที่ และได้รับการอนุญาตในเวลาที่สั้นมาก
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 05.40 น. ที่สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง พล.ร.อ.สิทธิชัย ต่างใจ ผอ.ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ได้ให้การต้อนรับแรงงานไทยที่หนีการสู้รบจากอิสราเอล โดยเดินทางมาจากโดยสายการบิน Fly Dubai เที่ยวบิน FZ1550 ออกเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล ในวันที่ 14 ต.ค.2566 เวลา 11.00 น. เปลี่ยนเครื่องที่นครดูไบ เพื่อโดยสารต่อโดยเที่ยวบิน FZ1837 ออกจากนครดูไบ เวลา 20.00 น. และถึงสนามบินอู่ตะเภาอย่างปลอดภัย เมื่อเวลา 05.40 น. จำนวน 90 คน เป็นชาย 88 คน เป็นหญิง 2 คน โดยทันทีที่เดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจคัดกรองโรค และตรวจคัดกรองผู้บาดเจ็บ ก่อนที่แรงงานไทยทั้ง 90 คน ซึ่งมี 2 รายได้รับบาดเจ็บจากการถูกสะเก็ดระเบิดที่ขา นั่งรถเข็น 1 ราย และแผลที่ขาอักเสบ 1 ราย เจ้าหน้าที่ได้รักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยแรงงานทั้งหมดได้ทยอยเดินออกมาพร้อมสัมภาระกระเป๋าผ่านประตูผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ประตู 1 โดยมีเจ้าหน้าที่สนามบินได้เตรียมข้าวกล่องเมนูกะเพราไก่ น่องไก่ทอด ขนมชั้น น้ำส้ม 1 ขวด และน้ำดื่ม 1 ขวด ซึ่งเป็นอาหารมื้อแรกบนแผ่นดินไทยไว้ให้ พร้อมมีรถบัส 3 คัน มาจอดรอรับ เพื่อนำแรงงานทั้งหมดเดินทางไปยังโรงแรมเอสซีปาร์ค เพื่อรอให้ญาติพี่น้องมารับกลับภูมิลำเนาไป แต่ก็มีบางรายมีญาติมารับกลับทันทีจากสนามบินอู่ตะเภา
ต้องพบจิตแพทย์ 3 ราย
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงภาพรวมสุขภาพแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอลว่า ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินกระทรวงสาธารณสุข มีแรงงานที่ขนย้ายเข้ามาในวันที่ 15 ต.ค. จำนวน 90 ราย เป็นผู้ชาย 88 ราย ผู้หญิง 2 ราย เราได้ตรวจคัดกรองแรงงานทั้งหมด ไม่พบปัญหาสุขภาพจิตใจ การตรวจกรองที่พบมากที่สุดคือปัญหาสุขภาพกาย โดยมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นสะเก็ดบาดแผล 1 ราย ปวดบวมมือเล็กน้อย 1 ราย ส่วนตัวเลขแรงงานที่อยู่ในการดูแลของ สธ. ตั้งแต่เริ่มมี 161 ราย เป็นผู้ชาย 158 ราย ผู้หญิง 3 ราย ในจำนวนนี้เราได้ดูแลทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย มีการตรวจพบผู้ที่มีบาดแผลเพียง 7 ราย ซึ่งผู้ที่มีบาดแผลได้ส่งตัวไปรักษาต่อทั้งหมด 3 ราย ขณะนี้ผู้บาดเจ็บ 2 ราย สามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้ว เหลือผู้ป่วยเพียง 1 ราย ที่ยังต้องทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลตาก ส่วนผู้ป่วยที่ต้องคัดกรองเรื่องสุขภาพจิต พบว่ามีความเครียด 5 ราย นอนไม่หลับ 7 ราย ตื่นตัวหรือตื่นเต้นมากเกินไป 5 ราย มีความจำเป็นต้องส่งพบจิตแพทย์ 3 ราย
นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลมารอต้อนรับผู้อพยพเป็นครั้งที่ 3 จํานวน 90 คน และรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล ดังนี้ 1.เยียวยาแรงงานไทยที่เดินทางไปทํางานในอิสราเอลในกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากสงคราม เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทํางานในต่างประเทศ 2.นายกฯ ได้มีบัญชาให้รัฐบาลไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของพี่น้องชาวไทยที่ออกเงินค่าบัตรโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทยเอง ตั้งแต่มีการประกาศภาวะสงครามในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. และ 3.มีเอกชนรายแรก คือ โรงแรมเอสซีปาร์ค ติดต่อเข้ามาเพื่อขออาสาบริการสนับสนุนรัฐบาลในรูปแบบของค่ารถรับ-ส่ง ค่าห้องพัก และอาหารสําหรับคนไทยที่อพยพและต้องการมาพักที่กรุงเทพฯ ก่อนกลับภูมิลําเนา นอกจากนั้นเอไอเอสได้บริจาคซิมโทรศัพท์สนับสนุนภารกิจให้เจ้าหน้าที่ และ AIS กับ TRUE/DTAC ได้ช่วยส่งข้อความข่าวสารทาง SMS ให้กับพี่น้องคนไทยในอิสราเอลที่ใช้บริการ roaming นับตั้งแต่เมื่อวาน ซึ่งเป็นการช่วยกระจายข่าวสารให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งเอกชนท่านใดที่ประสงค์จะสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ตามความสะดวกก็สามารถติดต่อมาได้ ทั้งนี้ รัฐบาลขอยืนยันว่าได้ทํางานตลอด 24 ชม. ทุกวิถีทางเพื่อให้คนไทยได้กลับบ้านสู่ครอบครัว
ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวระหว่างรับแรงงานไทย 90 คนว่า แรงงานกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานชุดที่ 3 ที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้กับสถานทูตไทยในอิสราเอล ซึ่งกระทรวงเชื่อมั่นว่าจะสามารถพาแรงงานไทยที่เหลือทั้งหมดกลับมาได้อย่างปลอดภัย แม้มีแรงงานไทยบางส่วนแจ้งความจำนงว่าขออยู่ทำงานที่อิสราเอลต่อแต่หากเกิดภาวะวิกฤตจริงๆ คงต้องพากลับทั้งหมด ส่วนการกลับไปทำงานใหม่อีกครั้ง กระทรวงแรงงานได้แจ้งนายกฯ ไปแล้วว่าในส่วนผู้ที่ยังไม่หมดสัญญา กระทรวงจะพยายามติดต่องานให้ จึงขอให้สบายใจได้ว่ากระทรวงจะทำหน้าที่ประสานงานให้ และเมื่อเหตุการณ์สงบ จะพาทุกคนกลับไปทำงาน
เชื่อต้น พ.ย.แรงงานกลับไทยหมด!
“หากประสงค์ที่จะกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง หรือคนที่ไม่ประสงค์กลับไป สามารถแจ้งความประสงค์ไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อเดินทางไปทำงานยังประเทศอื่นๆ หรือหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทย เราก็พร้อมหางานให้ โดยขอให้แจ้งไปที่กรมการจัดหางาน (กกจ.) และขอให้ทุกคนเก็บตั๋วเดินทางในวันนี้ไว้ เพื่อเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางกับ กต. ซึ่งรัฐบาลจะดูแลรับผิดชอบในการเดินทางกลับประเทศไทย และขอให้ทุกคนช่วยสื่อสารไปยังเพื่อนๆ แรงงานไทยที่อยู่ในอิสราเอลที่ยังไม่ได้เดินทางกลับ ว่าสามารถแจ้งความประสงค์ขอกลับไปยังกระทรวงแรงงานได้” นายพิพัฒน์กล่าว
นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 16 ต.ค. กองทัพอากาศจะพาแรงงานกลับมาอีก 137 คน ซึ่งนายกฯ กำลังหาวิธีระดมเครื่องบินเพิ่มให้ได้มากที่สุด แต่ขณะนี้ติดปัญหาแรงงานพาสปอร์ตหายระหว่างหลบหนี โดยทาง กต.เตรียมพาสปอร์ตสำรอง 8,000 เล่ม หลังจากนี้ไม่เกิน 3-4 วัน จะเดินทางกลับได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 400 คน ขณะเดียวกันได้ส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่มีความชำนาญในอิสราเอลเพิ่ม 4-5 คน จาก กต. 10 คน เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น เชื่อว่าต้นเดือน พ.ย.จะกลับมาได้ทั้งหมด ขอให้เเรงงานไทยดูเเลตัวเองให้ดีที่สุด ฟังประกาศเตือนจากอิสราเอลให้ดี มั่นใจว่าจะกลับมาอย่างปลอดภัยทุกคน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และอยู่ในความคุ้มครอง เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย กระทรวงแรงงานมีการดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ทันที รายละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสงเคราะห์ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างจากเหตุสงคราม หรือกรณีทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์ คนละ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ สงเคราะห์ 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้รับสวัสดิการตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล (ประกันการทำงาน+นายจ้างจ่าย) กรณีบาดเจ็บ/พิการตามการรับรองของแพทย์ แบ่งเป็น บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียว ประมาณ 1,440,000 บาท, บาดเจ็บเกิน 20% ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย กรณีเสียชีวิตภรรยาและบุตร ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ (ภรรยาเป็นเงิน 34,560 บาทต่อเดือน/บุตร เป็นเงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน)
นายไพโรจน์กล่าวถึงความคืบหน้าของสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลว่า จากรายงานของอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ล่าสุดได้รับรายงานว่า มีแรงงานไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน 17 ราย เสียชีวิต 28 ราย บาดเจ็บ 16 ราย กรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์การเดินทางกับทางสถานทูตฯ 7,540 ราย จำแนกเป็นผู้ที่ขอเดินทางกลับไทย 7,446 ราย และแจ้งความประสงค์ไม่ขอกลับ จำนวน 94 ราย และขณะนี้ได้เดินทางกลับถึงไทยแล้ว 187 ราย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา
ขู่แก้รธน.ก่อนโดนสอยยกสภา
"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์