ปชช.ยกนิ้วรัฐบาลแก้น้ำท่วม

ประชาชนพอใจรัฐบาลเยียวยาแก้น้ำท่วม ชี้ "เศรษฐา-อนุทิน"   โดดเด่นช่วยผู้ประสบอุทกภัย

"สมศักดิ์" ตั้งผู้ว่าฯ หัวโต๊ะ กก.ติดตามโครงการน้ำสุโขทัย หวังแก้ถาวรทำข้อสรุปชงนายกฯ 27 พ.ย. พร้อมบี้เร่งสำรวจจุดทำฝาย-ธนาคารน้ำใต้ดิน รองโฆษกรัฐบาลเผยกรมชลฯ มุ่งเพิ่มศักยภาพพื้นที่หน่วงน้ำ “บางระกำโมเดล” ลดท่วม เก็บใช้หน้าแล้ง

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม สำนักวิจัย สยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ประชาชนพอใจใคร แก้ภัยน้ำท่วม กรณีศึกษาประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานตอนบน จำนวน 1,148 ตัวอย่าง   ระหว่างวันที่ 9-14 ต.ค.2566 ว่า เมื่อสอบถามถึงระดับปัญหาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.9 ระบุระดับปัญหาความเดือดร้อนค่อนข้างมากถึงมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 23.5 ระบุปานกลาง และร้อยละ 8.6 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องความพึงพอใจของประชาชนโดยภาพรวมต่อรัฐบาลในการเยียวยาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 ระบุพึงพอใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด, ร้อยละ 11.2 ระบุพึงพอใจปานกลาง และร้อยละ 5.2 ระบุพึงพอใจค่อนข้างน้อยถึงไม่พึงพอใจเลย

สำหรับ 5 อันดับแรกกระทรวงและหน่วยงานรัฐในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.4 ระบุกระทรวงมหาดไทย รองลงมาร้อยละ 65.9 ระบุ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม, ร้อยละ 63.5 ระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,  ร้อยละ 54.2 ระบุกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 50.2 ระบุกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้ 5 อันดับแรกนักการเมืองโดดเด่นช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่า อันดับแรก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ร้อยละ 66.7 อันดับสองที่สูสี จี้ตามติดมาใกล้เคียงกันคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ร้อยละ 66.0, อันดับสาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 62.4, อันดับสี่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 34.8 และอันดับห้า นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้ร้อยละ 33.1 ตามลำดับ

ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามโครงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยมีนายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย, นายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย  สส.สุโขทัย, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาเป็นประธานงานลอยกระทงพระราชทานที่ จ.สุโขทัย ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ จึงอยากให้ทุกภาคส่วนเร่งติดตามโครงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งการประชุมวันนี้ เพื่อติดตามโครงการต่างๆ ว่าเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว โดยเฉพาะการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ประตูระบายน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันเร่งรัด เพราะการของบประมาณมีขั้นตอนจำนวนมาก ต้องใช้เวลา จึงขอให้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามโครงการแก้ปัญหาน้ำใน จ.สุโขทัย โดยมอบหมายให้ผู้ว่าฯ เป็นประธาน, นายก อบจ.สุโขทัยเป็นรองประธาน พร้อมให้ทุกภาคส่วนเป็นกรรมการ เพื่อให้มีความคืบหน้าในแต่ละโครงการ ซึ่งให้รายงานความคืบหน้าทุก 15 วัน และต้องมีความชัดเจนทุกโครงการก่อนที่นายกฯ จะลงพื้นที่ จ.สุโขทัย

รองนายกฯ กล่าวถึงการทำฝายแกนดินซีเมนต์ว่า ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสำรวจว่าจุดใดควรจะสร้างบ้าง โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งขณะนี้มีการตั้งงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่จะทำทั่วประเทศ เช่นเดียวกันธนาคารน้ำใต้ดิน ที่ขณะนี้ให้ จ.ชัยนาทนำร่อง โดยสุโขทัยสามารถทำได้  จึงให้ อบจ.สุโขทัยสำรวจว่าตรงไหนสามารถทำได้ จะได้เสนอทำนำร่อง 2 จังหวัด ชัยนาท-สุโขทัย ขณะเดียวกัน โครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา ที่ดำเนินการออกแบบเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอเข้า กนช. วันที่ 26 ต.ค.นี้ อยากให้ตำบลที่ได้รับผลกระทบ ช่วยชี้แจงกับประชาชนว่า ถ้าดำเนินโครงการแล้ว น้ำจะไม่เข้าท่วมตัวเมือง โดยโครงการนี้มีความคืบหน้าแล้ว 4 ระดับ จาก 6 ระดับ ซึ่งคาดว่าจะได้งบประมาณในปีงบประมาณ 2568

จากนั้น นายสมศักดิ์ได้ลงพื้นที่ประตูระบายน้ำคลองหกบาท ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เพื่อสำรวจความเสียหายหลังจากเปิดใช้ระบายน้ำไม่ให้เข้าท่วมตัวเมืองสุโขทัย เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ปัจจุบันประตูระบายน้ำคลองหกบาทยังไม่แล้วเสร็จ แต่ด้วยสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัย จึงจำเป็นต้องใช้ระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งถ้าแล้วเสร็จ บริเวณนี้จะสามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ช่วยให้น้ำไม่เข้าท่วมตัวเมือง ซึ่งจุดระบายน้ำนี้ ห่างจากต้นน้ำคือโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เพียง 6 กิโลเมตร ทำให้ขณะนี้มีโครงการช่วยระบายน้ำจากบ้านหาดสะพานจันทร์ ที่รองรับน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที มาลงคลองหกบาทอีก 1 เส้น

ทั้งนี้ ได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจจุดตัดเส้นน้ำใหม่ จากบ้านหาดสะพานจันทร์ มาลงคลองหกบาท ระยะทางกว่า 500 เมตร ซึ่งจะช่วยไม่ให้น้ำเข้าท่วมตัวเมืองสุโขทัย ขณะเดียวกันยังได้ลงพื้นที่ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม หลังเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนมีน้ำล้นตลิ่ง แต่วันนี้พบว่าน้ำลดลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลิ่งพังเสียหาย บ้านเรือนประชาชนชำรุด ซึ่งนายกฯ ได้เน้นย้ำให้แก้ปัญหาแบบถาวร นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่คลองละมุง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เพื่อสำรวจดูสภาพการขยายคลองธรรมชาติ ที่ถูกปรับให้มีการระบายน้ำจากคลองหกบาทไหลลงสู่แม่น้ำน่านได้เร็วขึ้น จากเดิมต้องใช้ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร แต่เมื่อมีการขยายคลองนี้ ทำให้จุดนี้ใช้ระยะทางเพียง 1 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านได้แล้ว

ด้านนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากที่คณะนายกฯ ได้ไปตรวจเยี่ยมโรงผลิตน้ำประปาเทศบาลนครพิษณุโลก บึงตะเครง อ.บางระกำ เพื่อติดตามแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก้มลิง ที่สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติในพื้นที่อื่นในอนาคต                    โดยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่ได้ติดตามนายกฯ ลงพื้นที่ด้วย เปิดเผยเพิ่มเติมถึงแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบของ จ.พิษณุโลก  เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งรองรับสถานการณ์เอลนีโญว่า ขณะนี้กรมชลประทานดำเนินงานในโครงการบางระกำโมเดลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันรับน้ำเข้าพื้นที่แล้ว 180,643 ไร่ คิดเป็น 68.16% ปริมาณน้ำ 362.49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90.62% และแผนเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ทุ่งบางระกำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักจากเดิม 400 ล้าน ลบ.ม. เป็น 550 ล้าน ลบ.ม. ขยายพื้นที่ดำเนินการจากเดิม 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในการรับน้ำเข้าทุ่งเก็บไว้ใช้ทำการเกษตรช่วงหน้าแล้ง หรือส่งเสริมอาชีพอื่นในช่วงระหว่างงานได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้เสนอแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบส่งของจังหวัดพิษณุโลก เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาว  มีโครงการสำคัญแบ่งเป็นระยะเร่งด่วนปี 2567 ระยะกลางปี 2568-2569 และระยะยาวปี 2570-2573 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำสาขา เช่น การก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก โครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำยมฝั่งขวา ในการเก็บกักน้ำ ระบายน้ำ และพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทาน โครงการเพิ่มศักยภาพการส่งน้ำในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง