ปรับแผนอพยพคนไทย พักชั่วคราวประเทศที่สาม 41แรงงานกลับถึงบ้านเกิด

"อิสราเอล" ยังโจมตีทางอากาศและตัดน้ำตัดไฟพื้นที่กาซาอย่างหนัก "สหรัฐ" วอนหลายชาติช่วยกันเกลี้ยกล่อมคู่ขัดแย้ง "เศรษฐา" สั่งปรับแผนอพยพคนไทยเพิ่มเส้นทางรถยนต์ ส่งหน่วยงานรัฐชำนาญเข้าช่วยเหลือเพิ่มเติม "สุทิน" ผุดแผนสองใช้เครื่องบิน ทอ.ลำเลียงจากจุดเสี่ยงมาพักยูเออีก่อนมาไทย 41 แรงงานไทยในอิสราเอลชุดแรกกลับถึงบ้านเกิดแล้ว "บัวแก้ว" แจ้งพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวม 21 ราย บาดเจ็บ 14 ราย ถูกควบคุมตัว 16 ราย ลงทะเบียนกลับไทยแตะ 6 พันคน

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งดำเนินเข้าสู่วันที่ 6 กองกำลังอิสราเอลระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,200 ราย และส่วนใหญ่เป็นพลเรือน นับว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ขณะที่ทางกาซาเองก็รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตในฝั่งของตน 1,354 รายแล้วเช่นกัน

สหประชาชาติรายงานล่าสุดว่า  จำนวนผู้พลัดถิ่นในฉนวนกาซามีมากกว่า 338,000 คนแล้ว ในขณะที่อิสราเอลยังเน้นการโจมตีทางอากาศอย่างหนักในดินแดนปาเลสไตน์ พร้อมยืนยันจะตัดน้ำตัดไฟและเชื้อเพลิงต่อไปจนกว่าจะมีการปล่อยตัวประกัน ส่วนกลุ่มติดอาวุธฮามาสก็ยิงจรวดถล่มกรุงเทลอาวีฟเพื่อตอบโต้การโจมตีพลเรือนในค่ายผู้ลี้ภัย 2 แห่งในฉนวนกาซา

หน่วยงานของสหประชาชาติยังเรียกร้องไม่ให้มีการทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน เพราะจะยิ่งก่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมในหมู่ผู้บริสุทธิ์ โดยรายงานล่าสุดระบุว่า ระบบบำบัดน้ำเสียที่ให้บริการประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางอากาศ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอยสะสมอยู่ตามท้องถนน และอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพ รวมถึงความกังวลด้านสาธารณสุขและการแพทย์

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เดินทางถึงอิสราเอล พร้อมประสานด้านการช่วยเหลือพลเมืองของตนทั้งที่เสียชีวิต, ถูกจับเป็นตัวประกัน และกระบวนการอพยพกลับประเทศ พร้อมวอนประเทศต่างๆ ให้ใช้อิทธิพลต่อกลุ่มฮามาสและผู้สนับสนุนในอิหร่าน เพื่อให้กลุ่มติดอาวุธยุติการโจมตีอิสราเอลและปล่อยตัวประกัน

สหรัฐคาดหวังให้พันธมิตรทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการหยุดยั้งกลุ่มฮามาส, ฮิซบุลเลาะห์ หรืออิหร่าน ด้วยการใช้อิทธิพลหรือความสัมพันธ์ใดๆ ที่มี เพื่อให้กลุ่มฮามาสลดละจากการโจมตีอิสราเอล, เพื่อปล่อยตัวประกัน, เพื่อกีดกันกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ออกไป และเพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านเข้าร่วมต่อสู้ในความขัดแย้ง

ขณะที่ประธานาบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้ผู้นำอิสราเอลลดความบ้าคลั่งในการโจมตีเอาคืนต่อกลุ่มฮามาสและปฏิบัติตามกฎหมายสงคราม จากการที่เบนจามิน เนทันยาฮู เคยปฏิญาณไว้ว่าจะทำลายล้างกลุ่มติดอาวุธนี้ให้พินาศหมดทุกชีวิต

ไบเดนยังได้กล่าวเตือนอิหร่านให้ระมัดระวังท่าที จากการที่ออกตัวสนับสนุนกลุ่มฮามาสและกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ของเลบานอน โดยอิหร่านเองถือเป็นศัตรูยาวนานของทั้งอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา

บราซิลซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกประชุมคณะกรรมาธิการเมื่อวันศุกร์เพื่อหารือเกี่ยวกับความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างอิสราเอลและฮามาส รวมทั้งหามาตรการปกป้องพลเรือนชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล โดยเฉพาะเด็กๆ

เบื้องต้นคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกำลังติดต่อกับกลุ่มฮามาสและอิสราเอลเพื่อพยายามเจรจาปล่อยตัวตัวประกันที่ถูกลักพาเข้าไปในฉนวนกาซา ซึ่งมีทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติอย่างน้อย 150 คน รวมถึงทหาร, พลเรือน, เด็ก และผู้หญิง พร้อมแจ้งเตือนว่าการจับตัวประกันเป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ล่าสุด อิสราเอลวางแผนโจมตีขั้นต่อไปด้วยการเตรียมกองกำลังภาคพื้นดินหลายหมื่นนายบุกจู่โจมฉนวนกาซา แต่ยังไม่กำหนดวัน โดยหวังจะโค่นล้มผู้นำระดับสูงของกลุ่มฮามาส รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลปาเลสไตน์ด้วย

นายกฯ สั่งปรับแผนอพยพ

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวระหว่างเดินทางจากประเทศมาเลเซียไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ถึงสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลว่า ได้รับรายงานเพิ่มเติมจากความคืบหน้าเมื่อคืนวันที่ 11 ต.ค. เรื่องการอพยพของคนไทย เป็นที่น่าเสียใจว่ามีรายงานเพิ่มเติมคนไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็น 21 ราย ส่วนการนำเครื่องบินเข้าไปรับคนไทยมีความคืบหน้า กระทรวงการต่างประเทศรายงานมาว่าเรามีความพยายามหาช่องทางอื่นในการอพยพ ซึ่งน่าจะเป็นทางเรือน่าจะดีที่สุด แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าท่าเรือที่จะสามารถขนได้ต้องผ่านกาซา ฉะนั้นก็เป็นส่วนอันตราย ซึ่งทางเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอลกังวลว่าน่าจะลำบาก ก็มีทางเดียวคือทางรถยนต์ออกทางจอร์แดน ก็พยายามดูแลอยู่

"วันนี้ไม่ใช่แค่ส่งบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศเพียงอย่างเดียว มีหน่วยงานรัฐอื่นแต่ขอไม่เปิดเผย  ที่มีความชำนาญในเรื่องของการอพยพได้มีการติดต่อเข้าไป และจะมีการส่งบุคลากรเข้าไปอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือคนไทยให้เคลื่อนย้ายออกมาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยอย่างที่สุด" นายเศรษฐากล่าว

ถามว่าจำนวนคนไทย 4 คนที่เดินทางมาถึงที่ปลอดภัย ซึ่งที่จริงแล้วมี 15 คน ตอนนี้มีเดินทางเข้ามาเพิ่มเติมแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่ทราบ แต่น่าจะออกมาแล้ว ทั้ง 15 คน หากมีอะไรเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรับคนไทยจากอิสราเอลกลับประเทศว่า

ล่าสุดสายการบินแอร์เอเชียรับปากมาแล้ว 2 ลำ สายการบินนกแอร์ 2 ลำ ส่วนสายการบินไทยนั้นวันนี้จะทราบว่ามีทั้งหมดกี่ลำ แต่คิดว่าในส่วนของสายการบินไทยน่าจะมีมากกว่า ส่วนเครื่องบินของกองทัพอากาศจะมีมากกว่า 1 ลําแน่นอน

"เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น การเดินทางจากแคมป์นายจ้าง ซึ่งทางรัฐบาลไม่ให้รถทั่วไปมารับเลย ต้องเป็นรถทางการเท่านั้น ดังนั้นการเคลื่อนย้ายมาขึ้นเครื่องบินจึงไม่สะดวก นายกฯ จึงบอกว่าไม่ต้องคอยแล้ว ให้ไปหาเครื่องบินมาแล้วไปให้เร็วที่สุด เป้าหมายตอนนี้คืออพยพคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด" นายชัยกล่าว

ถามว่า จะมีการนำเครื่องบินไปจอดที่บริเวณชายแดนที่เกิดการสู้รบได้หรือไม่ นายชัยกล่าวว่า เป็นกลยุทธ์แทนที่จะบินไปรับคนไทยแล้วกลับมากรุงเทพฯ  ซึ่งมีระยะทางไปกลับถึง 6,983 กิโลเมตร ใช้เวลาบินถึง 9 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเพื่อให้รับคนไทยได้มาก นายกฯจึงให้สัมภาษณ์ที่ประเทศมาเลเซียว่าเราอาจจะต้องมีการวางกลยุทธ์ใหม่โดยไม่ต้องบินยาว แต่ให้รับคนไทยมาที่มิตรประเทศใกล้ๆ ที่มีความปลอดภัยก่อน แล้วไปรับกลุ่มใหม่มาอีก

"นายกฯ เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่าถ้าการเดินทางทางเครื่องบินลำบากก็ให้ลองพิจารณาที่จะเอาเรือไปรับด้วย เรียกว่าเราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะรักษาความปลอดภัยให้กับคนไทย" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 12.30 น. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.การต่างประเทศ พร้อมด้วยนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ร่วมให้การต้อนรับแรงงานไทยในอิสราเอลที่เดินทางมาถึงประเทศไทย

นายปานปรีย์กล่าวว่า นายกฯ ได้แสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่ง พร้อมมอบหมายให้ตน นายสุทิน นายพิพัฒน์ นายสันติ มาต้อนรับผู้ที่เดินทางกลับมาในวันนี้รวมทั้งสิ้น 35 คน เรารู้สึกยินดีที่ทั้งหมดได้กลับมายังประเทศไทยอย่างปลอดภัย เวลานี้รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในการพยายามให้พี่น้องประชาชนที่ยังคงเหลืออยู่ในอิสราเอล และประชาชนที่ได้ลงทะเบียนแสดงความจำนงต้องการกลับได้กลับประเทศไทยโดยเร็วที่สุด แต่เนื่องจากการเดินทางภายในอิสราเอลเวลานี้ลำบากมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยก็ได้ทำงานกันอย่างแข็งขันตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยก็ได้ประสานงานกับหลายประเทศ เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนไทยที่อยู่ในอิสราเอลได้รับความปลอดภัยและได้กลับบ้านเร็วที่สุด ขณะนี้ตนได้รับแจ้งว่ามีคนลงทะเบียนแล้วประมาณเกือบ 6,000 คน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือ แต่ยังมีความยากลำบากอยู่บ้าง เนื่องจากคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ล่าสุดได้รับทราบจากแรงงานไทยว่าสถานการณ์ภายในอิสราเอลขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ของอิสราเอลสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะสงบ เพราะในมุมของประชาชนก็จะได้รับความปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้นด้วย

41 แรงงานไทยถึงบ้านเกิด

"รัฐบาลเองกำลังเร่งดำเนินการที่จะนำประชาชน โดยเฉพาะแรงงานไทยกลับสู่ประเทศไทยเร็วที่สุด และเราได้มีการประสานงานกับหลายสายการบินพาณิชย์ ซึ่งทุกสายของประเทศไทยก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง คิดว่าถ้าเราติดต่อทางอิสราเอลและประเทศข้างเคียงได้ก็จะสามารถนำคนไทยกลับมาเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก" รมว.การต่างประเทศกล่าว

ส่วนนายสันติกล่าวว่า ผู้ที่ไปทำงานในอิสราเอล รัฐบาลไทยถือว่าเป็นผู้ที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ซึ่งนายกฯ ได้กำชับให้ สธ.ดูแลทั้งด้านสุขภาพจิตและด้านร่างกาย และหากผู้ใดได้เจ็บป่วย เราได้เตรียมทั้งโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือของ สธ.และบําราศนราดูรไว้ดูแล พร้อมรับเป็นคนไข้ของกระทรวง เรามีความตั้งใจจะดูแลผู้ที่กลับมาอย่างเต็มที่เสมือนเป็นบุคคลพิเศษ

ด้านนายสุทินกล่าวว่า กห.ได้หารือกับรองนายกฯ และ รมว.กต.แล้ว ซึ่งเรามีข้อกังวลว่าจำนวนผู้ประสงค์จะกลับประเทศมากขึ้น ทำให้เครื่องบินของกองทัพอากาศอาจจะไม่สามารถบินได้ทันตามความต้องการ จึงได้ข้อสรุปว่าเราควรมีแผนสอง คือใช้เครื่องบินกองทัพอากาศลำเลียงคนไทยออกจากจุดที่เสี่ยงมาไว้ที่ประเทศข้างเคียงก่อน โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากการทำวิธีนี้น่าจะเร็วกว่า เมื่อพ้นอันตรายแล้ว ค่อยลำเลียงกลับบ้าน นี่คือแนวทางปฏิบัติใหม่ที่เราสามารถเริ่มดำเนินการได้เลย

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ให้การดูแลผู้ที่มาถึง 15,000 บาท สำหรับผู้ที่เสียชีวิตดูแล 40,000 บาท และค่าทำศพ 40,000 บาทในส่วนที่ทางการอิสราเอลจะดูแลสำหรับผู้บาดเจ็บ 10-19% จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลอิสราเอล 1,440,000 บาทโดยประมาณ สำหรับผู้ที่บาดเจ็บเกินกว่า 20% ก็จะต้องดูเป็นรายกรณี ซึ่งจะดูแลเป็นรายเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต แต่จะได้รับเดือนละเท่าไหร่ทางกระทรวงจะเป็นผู้เจรจาให้ สำหรับผู้ที่เสียชีวิตภรรยาจะได้รับ 35,000 บาทต่อเดือน จนกระทั่งมีสามีใหม่ หรือมีการสมรสใหม่แล้ว ในกรณีของบุตรธิดาก็จะดูแลเยียวยาต่อคนต่อเดือน ประมาณเดือนละ 12,000 บาท จนกระทั่งอายุครบ 18 ปี จึงหยุดการดูแล หากเป็นบุคคลที่ไม่มีบุตรและไม่ได้แต่งงาน สิทธิตรงนี้จะถูกนำไปให้พ่อแม่ ซึ่งดูแลพ่อแม่ของผู้เสียชีวิตไปจนกระทั่งพ่อแม่เสียชีวิต

"ในข้อกังวลกรณีที่หากกลับประเทศไทยแล้วจะมีโอกาสกลับไปทำงานในอิสราเอลได้หรือไม่ ถ้าคนที่กลับมาก่อนหมดสัญญา 5 ปี เราจะพยายามประสานกับทางนายจ้างผ่านทางเอเจนซี และเราได้ดูแลค่าใช้จ่ายที่จะไปทำงานต่อให้แล้วในครั้งแรก จึงคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องให้ แต่ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป เราจะมีการหารือว่าเราจะหาเงินกองทุนจากตรงไหน แต่ถ้าสุดท้ายเราไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ทั้งหมด ก็คงจะต้องหันหน้าไปพึ่งนายกฯ ในการขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยา" รมว.แรงงานกล่าว

ถามถึงขั้นตอนการนำศพผู้เสียชีวิตกลับประเทศ นายปานปรีย์กล่าวว่า ทูตไทยประจำอิสราเอลกำลังติดตามเรื่องนี้อยู่ ซึ่งรัฐบาลต้องนำศพกลับมาให้ญาติพี่น้องได้ทำพิธี ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงขลุกขลักภายใน เชื่อว่าหากมีเครื่องบินโดยเฉพาะจากกองทัพอากาศจะนำศพผู้เสียชีวิตกลับมาได้เร็วมากขึ้น รวมถึงทางการของอิสราเอลยังคงมีการปิดถนน และไม่ประสงค์ให้ประชาชนออกจากพื้นที่ แต่ตนเองจะกำชับกับทูตอีกครั้ง ขณะนี้การรวบรวมศพเป็นเรื่องของรัฐบาลอิสราเอล ซึ่งศักยภาพของสถานทูตเราทำไม่ได้ และเชื่อว่าน่าจะนำกลับมาได้ภายในเร็ววัน

เมื่อถามถึงแนวทางการนำแรงงานไทยไปอยู่ที่ประเทศจอร์แดนก่อนอพยพกลับมาประเทศไทย นายปานปรีย์ กล่าวว่า ก็เป็นแนวทางที่นายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ โดยจะไปอยู่ 1-2 วัน และเมื่อมีความปลอดภัย ก็จะนำตัวกลับมาที่ประเทศไทย

ซักว่าขณะนี้มีรายงานว่าตัวประกันมีจำนวนเพิ่มขึ้น นายปานปรีย์กล่าวว่า จากรายงานล่าสุดเมื่อช่วงเช้ามีจำนวน 16 คน ซึ่งเรากำลังประสานกับประเทศข้างเคียงและอิสราเอลว่าให้คำนึงถึงความปลอดภัยมากที่สุด ตนเชื่อว่าประเทศเราไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง แรงงานไทยจึงน่าจะปลอดภัยอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะกระจัดกระจายกันอยู่หลายจุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จำนวนแรงงานที่เดินทางกลับมาจากประเทศอิสราเอลในวันนี้ แบ่งเป็นผู้ที่ได้ติดต่อแสดงความประสงค์กลับประเทศไทยกับทางกระทรวงต่างประเทศจำนวน 15 คน และอีก 26 คนได้ซื้อตั๋วโดยสารกลับมาเอง รวมแรงงานทั้งหมดที่เดินทางมาถึงประเทศไทยในวันนี้มีจำนวน 41 คน

ดับเพิ่มอีก 1 ขอกลับแตะ 6 พัน

ต่อมาเวลา 14.30 น. กลุ่มแรงงานไทยจากอิสราเอลได้เดินทางมาที่สถาบันบําราศนราดูร มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ., นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน, ตัวแทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวแทนประกันสังคม มารอรับ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า แรงงานไทยชุดแรก 15 คนที่เดินทางมาถึงประเทศไทย เราใช้สถาบันเป็นจุดตรวจทั้งสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ รวมถึงประเมินสิทธิต่างๆ จากจำนวนผู้บาดเจ็บทั้ง 4 คน มี 2 คนที่เราอาจจะต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี เนื่องจากบาดเจ็บที่เข่าและบาดเจ็บจากอาวุธปืน ส่วนอีก 2 คนที่บาดเจ็บนั้น ไม่ถึงขั้นที่จะต้องส่งตัวต่อ

"จากการประเมินทั้ง 15 คน ในด้านร่างกาย จิตใจ ความเครียด รวมถึงผลกระทบทางด้านจิตใจต่างๆ จะมีการแยกประเภทของแต่ละคน หากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าสู่การรักษาเยียวยาทางด้านจิตใจก็จะดำเนินการ ซึ่งที่นี่เรามีที่พักให้หากแรงงานมีความประสงค์เราจะจัดที่พักให้พร้อมกับญาติ หลังจากการตรวจประเมินแล้วแม้จะไม่มีอาการอะไร สำหรับผู้ที่มีอาการ เราจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการการเยียวยา ให้คำปรึกษา แนะนำ โดยจะให้พักที่สถาบัน ส่วนสุดท้ายคือการส่งกลับบ้านหากมีความและต้องการกลับ เราจะส่งกลับโดยกระทรวง พม. จะเป็นผู้ดูแลต่อในส่วนนี้" นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่าจากการประเมินสภาพจิตใจทั้ง 15 คนเป็นอย่างไรบ้าง นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องการดำเนินการในกระบวนการ เรามีทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) หากประเมินออกมาแล้วมีความเครียดก็จะนำเข้าสู่กระบวนการ

รมว.สธ.กล่าวว่า สำหรับการเดินทางกลับของชุดต่อไป อาจมีมาตรการการคัดกรองไม่เหมือนกับ 15 คนนี้ เนื่องจากแรงงานชุดนี้เป็นกรณีพิเศษที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายที่เห็นชัด เราจำเป็นต้องนำมาตรวจที่สถาบันทั้งหมดก่อน ส่วนการดูแลของแรงงานชุดถัดไปเราจะมีด่านกักกัน ตรวจค้น ดูแลตั้งแต่ที่สนามบินเพื่อคัดกรอง และแยกประเภทได้ทันที

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาว่า เฉพาะผู้เป็นสมาชิกกองทุน แต่จะมีเงินสมทบอื่นอีกหรือไม่คงต้องเป็นเงินที่ได้รับจากการสนับสนุน เนื่องจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานก็พยายามเยียวยาสภาพจิตใจให้ดีขึ้นแล้ว

ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เวลา 17.00 น. นายเศรษฐา เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล ครั้งที่ 5/2566 โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า ในส่วนศูนย์ประสานงานวันนี้สถานการณ์เข้าสู่วันที่ 6 การประชุมมีเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง 1.อัปเดตข้อมูลสถานการณ์ทั้งหมดในอิสราเอล ซึ่งจะมีตัวเลขของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ที่ถูกจับกุม 2.เป็นเรื่องการอพยพคนไทย จนถึงวันนี้เป็นครั้งแรกที่มีการอพยพและเดินทางกลับถึงไทย และ 3.เรื่องการดูแลและการดำเนินการที่เกี่ยวกับผู้ถูกจับกุม

น.ส.พรรณภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานล่าสุดข้อมูลคนไทยในอิสราเอลตามที่ได้รับจากสถานเอกอัครราชทูต ณ เทลอาวีฟ สถานะ ณ วันที่ 11 ต.ค. มีผู้เสียชีวิต 21 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย ผู้ถูกควบคุมตัว 16 ราย และคนลงทะเบียนแสดงความจำนงกลับไทย 5,990 คน

ต่อมาเวลา 17.50 น. นายเศรษฐา แถลงว่า ทางกองทัพบกและกองทัพอากาศจะเอา C130 และแอร์บัส A340 เริ่มบินเข้าไป โดยวันแรกจะออกจากที่นี่ในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งจะมีคนไทยเดินทางกลับเข้ามาประมาณ 140 คน และมีการขนเสบียงไปให้ด้วย ได้สั่งการให้เครื่องบินพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยที่นกแอร์จะมีให้ 2 ลำ และแอร์เอเชียมีให้ 2 ลำ ส่วนการบินไทย 13 ตุลาคม จะให้คำตอบว่าจะมีให้ได้หรือไม่ ทูตไทยประจำอิสราเอลได้แจ้งมาว่ามีความพร้อมที่จะนำคนไทยออกมาจากจุดเสี่ยงทั้งหลายได้ประมาณวันละ 200 คน หากคิดง่ายๆ ถ้าวันละลำ ก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณเกือบเดือนกว่าจะลำเลียงออกมาหมด ดังนั้นจะต้องคิดวิธีในการที่จะทำให้รวดเร็วขึ้น นายปานปรีย์ได้ให้ข้อคิดว่าหากเราไม่ต้องบินจากอิสราเอล บินออกไปที่ไคโร หรือประเทศที่ 3 ที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อนำคนไทยออกไปก่อน และเตรียมความพร้อมที่จะขนถ่ายกลับมาอีกที ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถทำให้เร็วขึ้นได้

 เมื่อถามถึงความพยายามในการเจรจาขอปล่อยตัวประกันแรงงานคนไทย นายกฯ กล่าวว่า มีความพยายามในการเจรจาทุกช่องทางที่ทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคง ขออนุญาตไม่เผยแพร่ แต่ขอให้มั่นใจว่าเราเจรจาทุกช่องทาง เรามีความหวัง ต้องพยายาม ต้องกดดัน เพราะเราเป็นประเทศที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 ต.ค. เวลา 08.45 น. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการหารือกับ น.ส.ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พิธา’อ้อนให้รอ9ปี พร้อมเป็นนายกฯดีกว่าเดิม/‘พท.’มั่นใจ‘ทักษิณ’ยังขายได้

"แกนนำพรรคส้ม" เดินสายหาเสียงนายก อบจ.อุดรฯ ต่อเนื่อง "ชัยธวัช" ลั่นนโยบายที่ท้องถิ่นในอดีตไม่พร้อมทำ "ปชน." พร้อมทำให้ดู