ปปช.ตั้งทีมเกาะติด‘เงินดิจิทัล’

กลุ่มหนุนดิจิทัลวอลเล็ตโผล่ทำเนียบฯ ขีดเส้นรัฐบาลเดินตามนโยบายหาเสียง ชูลดความเหลื่อมล้ำ ต่อชีวิต ปชช. ด้าน ป.ป.ช.แรงไม่แผ่ว ประกาศตั้ง คกก.เกาะติด ฮึ่ม! เตือนแล้วไม่ฟังต้องรับผิดชอบ ขณะศาลรธน.ขีดเส้น 15 วัน สั่งผู้เกี่ยวข้องยื่นหลักฐานเพิ่มปม "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี-ก.ก.แก้ ม.112 ล้มล้าง ปค. “ก้าวไกล”  รับมีมูลปม สส.คุกคามทางเพศ รอสรุปผลสอบก่อน

เมื่อวันพุธ ประชาชนในนามกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล  เพื่อยื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์และสนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ของรัฐบาล ภายหลังจากมีนักวิชาการและสมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางส่วนออกมาคัดค้าน โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง มารับเรื่อง

โดยนายจุติพงษ์ พุ่มมูล แกนนำกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ระบุช่วงหนึ่งว่า ตามที่กลุ่มนักวิชาการและผู้เห็นต่างทางการเมืองออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าวนั้น แต่ทางกลุ่มเห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในการสร้างโอกาสและต่อลมหายใจในการดำรงชีวิตของประชาชน ตลอดจนสร้างอาชีพ และทำให้คนไทยมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ลืมตาอ้าปากได้ จึงขอให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงและแถลงต่อรัฐสภา

 “ส่วนการคัดค้านของฝ่ายนักวิชาการที่ออกมานั้น มีอคติต่อรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย โดยไม่เห็นหัวประชาชนคนยากจน จึงพยายามชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวขัดต่อนโยบายการเงินการคลัง หรือจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้ โดยไม่มีความเข้าใจถึงเรื่องพายุหมุนทางเศรษฐกิจ หรือดิจิทัลอีโคโนมิกส์  พร้อมมองว่าการคัดค้านดังกล่าวทำให้เห็นว่าคนรวยบางกลุ่มมองไม่เห็นหัวคนจนรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ” นายจุติพงษ์ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลฯ ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการถือสากกะเบือ พร้อมเปรียบเทียบนักวิชาการที่ค้านโครงการว่าเป็นนักวิชาการสากกะเบือ

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ว่า ในการประชุม ป.ป.ช.วันที่ 11 ต.ค. ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้สำนักงานป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000บาท โดยให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่ามีข้อน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาว ตามที่มีนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท้วงติงมาหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้สำนักงานป.ป.ช.ไปพิจารณาจะเชิญบุคคลใดบ้าง มาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อสรุปความเห็นโครงการดังกล่าว และให้ข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล แต่ยังไม่ได้ระบุกรอบเวลาชัดเจนจะใช้เวลาศึกษานานเท่าใด

ป.ป.ช.เตือนต้องรับผิดชอบ

ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล  เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สำนักงานป.ป.ช.อยู่ระหว่างการพิจารณาจะเชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านใดบ้างมาร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่มีระบุตัวบุคคลชัดเจนจะเชิญใครมาบ้าง คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่วิเคราะห์ และเฝ้าระวังโครงการดังกล่าวว่ามีความน่าห่วงใยหรือความสุ่มเสี่ยงในด้านใดบ้าง เพราะตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้อำนาจ ป.ป.ช.ให้คำแนะนำหน่วยงานรัฐและรัฐบาล เพื่อให้วางมาตรการป้องกันการทุจริตหรือข้อน่าห่วงใยที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยงได้ เบื้องต้นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช.จะรวบรวมประเด็นที่มีข้อถกเถียง และเชิญผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาศึกษาร่วมกัน ว่าโครงการมีความสุ่มเสี่ยง หรือข้อควรระวังในการดำเนินการหรือไม่ จากนั้นถ้ามีข้อห่วงใยจะเสนอความเห็นไปยัง ครม.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ

 “เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงแจ้งไปยัง ครม.แล้ว หาก ครม.ไม่ปฏิบัติตาม แล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบ   เพราะถือว่าเตือนแล้วแต่ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ” เลขาธิการ ป.ป.ช.ระบุ

ที่ จ.ขอนแก่น รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เปิดเผยว่า ได้สำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน และมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายเงินหมื่นดิจิทัล ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-8 ต.ค.2566 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,097 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด จากการสำรวจนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ควรแจกให้ทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป หรือแจกให้เฉพาะกลุ่มรายได้น้อย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.2 ต้องการให้แจกทุกคน รองลงมาร้อยละ 22.2 ต้องการให้แจกเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ตามมาด้วยร้อยละ 9.4 ระบุว่าควรนำงบไปทำอย่างอื่น

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ท่านคิดว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ควรมีเงื่อนไขการใช้เงินอย่างไร พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 57.7 ระบุว่าให้ใช้ที่ไหนก็ได้ รองลงมาร้อยละ 32.2 ระบุว่าให้ใช้ได้ภายในจังหวัด ตามมาด้วยร้อยละ 7.4 ระบุว่าให้ใช้ได้ภายในอำเภอ และมีเพียงร้อยละ 2.7 ระบุว่าให้ใช้ได้ภายในรัศมี 4  กิโลเมตร ตามทะเบียนบ้านและอาจขยายรัศมีให้

รศ.ดร.สุทินระบุด้วยว่า เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนที่อยู่ในสภาพลำบากทางเศรษฐกิจและมีปัญหาหนี้สิน ประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องการให้รัฐบาลแจกเงินช่วยเหลือในช่วงนี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรรับฟังข้อคิดเห็นอย่างรอบด้านและนำมาปรับปรุง การทำนโยบายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอเสนอ ทำการปรับนโยบายเป็นแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็น 5,000 บาทแรกให้ฟรี ส่วน 5,000 บาทที่เหลือเป็นวงเงินหมุนหรือวงเงิน OD ดอกเบี้ยต่ำ ปลอดดอกเบี้ย 1-2 ปีแรก ซึ่งจะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณลงได้ แต่ยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงระดับเดิม และไม่สร้างผลกระทบด้านความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเงินและการคลังมากเกินไป ขณะที่ประชาชนยังมีวงเงินใช้ 10,000 บาท แต่จะใช้เงินเพื่อสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น หรือเลือกใช้เพื่อการลงทุนทำธุรกิจหารายได้ และหากมีกำลังใช้หนี้คืนได้ จะยังมีวงเงินหมุนเวียนต่อไปในอนาคตในช่วงที่ยากลำบาก

15 วันส่งเอกสารคดีพิธา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6)ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวีจำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดอยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ

  และคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ..... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่  และต่อมาผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมบัญชีระบุพยานฉบับลงวันที่ 26 ก.ย 66 นั้น

ทั้งสองคดีศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจะส่งเอกสารหลักฐานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ

นอกจากนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวเผยแพร่ผลการประชุมกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของ น.ส.รัชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 683/2565 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา  212 ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐาน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาให้ทราบว่า นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ และนายชัยเกษม นิติสิริ มีหนังสือขอลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เมื่อ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ความเป็น สส.ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ และมีประกาศให้เลื่อน 2 สส.บัญชีรายชื่อขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ได้แก่ ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ และ น.ส.เพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ชัย เป็น สส.บัญชีรายชื่อ และให้ 2 สส.ใหม่ได้กล่าวปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ จำนวน สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ปัจจุบัน มี 499 คน

ก้าวไกลรับมีมูล 'สส.หื่น'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีที่เพจ “วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร”  ออกมาเปิดเผยข้อมูลกรณี สส.ปราจีนบุรี พรรคก้าวไกล คุกคามทางเพศทีมงานสาว โดยตลอดทั้งวันไม่สามารถติดต่อนายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.เขต 2 ปราจีนบุรี ที่ถูกกล่าวหาได้ เนื่องจากนายวุฒิพงศ์ไม่รับสาย แต่มีรายงานว่านายวุฒิพงศ์เข้าร่วมประชุมกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในช่วงเย็นพรรคก้าวไกลนัดประชุมคณะกรรมการวินัยชุดเฉพาะกิจสำหรับพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะมีการแถลงข่าวภายในวันที่ 12 ต.ค. ขณะที่ผู้เสียหายยังไม่พร้อมให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน

ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการวินัยและจรรยาบรรณสมาชิกพรรค ก.ก. กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า พรรคได้รับร้องเรียนมาระยะหนึ่งแล้ว มีกระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเฉพาะกิจเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งคณะกรรมการสอบวินัยได้สอบหาข้อเท็จจริงทั้งฝั่งผู้กล่าวหาที่อ้างว่าเป็นผู้เสียหาย และฝั่งผู้ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ในการสอบหาข้อเท็จจริงที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างกล่าวอ้างตัวบุคคลและเอกสารจำนวนมาก จึงถือว่ากระบวนการยังไม่สิ้นสุด ส่วนจะสิ้นสุดเมื่อไหร่นั้น คิดว่าไม่สามารถระบุเป็นวันเวลาได้ และในท้ายที่สุดเรื่องจะถูกเสนอให้คณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พิจารณา ขึ้นอยู่กับว่า กก.บห.จะพิจารณาอย่างไร หากเรื่องนี้มีความคืบหน้า พรรค ก.ก.จะแถลงให้ทราบพร้อมกับอีก 2 กรณีก่อนหน้านี้ ซึ่งเราได้มีการตัดสินความผิดไปนานแล้ว

เมื่อถามว่า เรื่องนี้มีมูลหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ต้องมองว่าผู้เสียหายกล้าตัดสินใจที่จะร้องเรียนต่อพรรค ต้องถือว่าเรื่องเหล่านี้มีมูล แต่จะตัดสินว่ามีความความผิดหรือไม่ ต้องเรียนว่ามีระเบียบที่แตกต่างกัน เช่น กรณีกระทบชื่อเสียงพรรค จะเป็นแบบหนึ่ง คุกคามทางเพศก็จะเป็นแบบหนึ่ง ถ้าตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศถือว่าเป็นวินัยร้ายแรง โทษมีแค่ 2 สถานเท่านั้นคือ 1.ตัดสิทธิ์ที่พึงมี ไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง และ 2.ให้พ้นสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกของพรรค

ขณะที่ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดยนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส. และนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ต่อตัวแทนของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยนายอานนท์กล่าวว่า การที่เรายื่นหนังสือคัดค้านในวันนี้ เนื่องจากเราเห็นว่าคนที่ยื่นแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว ต่างเป็นผู้ที่กระทำการผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนั้น นี่ไม่ใช่แค่ความคิดต่างทางการเมือง แต่เป็นกฎหมายความมั่นคง เราจึงออกมาคัดค้านเพื่อไม่ให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านไปได้ ซึ่งไม่ว่าจะต้องทำด้วยวิธีใดเราก็จะทำ

ที่​สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ตรวจสอบกรณีการขับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล เข้าข่ายขัดข้อบังคับพรรคก้าวไกล และพระราช​บัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถเสนอความเห็นให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งวินิจฉัยยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 (3).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง