เคาะต่อพรก.ฉุกเฉินใต้ ลด3อำเภอใช้กม.มั่นคง

“สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะ กบฉ. เคาะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จว.ชายแดนใต้ 3 เดือน พร้อมปรับลด 3 อำเภอ “กรงปินัง-ทุ่งยางแดง-ยี่งอ”  เหลือแค่ พ.ร.บ.มั่นคง แต่ปรับ อ.ศรีสาคร กลับมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังเหตุเพิ่มขึ้น จ่อชง ครม.ไฟเขียว 16 ต.ค.นี้   "สุทิน" รับลูก อ้างทางฝ่ายปฏิบัติเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องคงไว้

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) เป็นประธานการประชุม กบฉ. ครั้งที่ 4/2566 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

จากนั้นนายสมศักดิ์แถลงผลการประชุม กบฉ.ว่า หลังจากระยะเวลา 1 เดือนที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดูแลเรื่องการพิจารณาเรื่องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้มีการพิจารณาถี่ถ้วน และได้ให้ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ไปรับฟังความเห็นประชาชน รวมถึงนำข้อมูลและความเห็นจาก สมช. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ สถิติตั้งแต่ปี 50 จนถึงปัจจุบัน พบว่าความรุนแรงของสถานการณ์ลดลง โดยในอดีตมีบางปีมีเหตุการณ์สูงกว่า 100 ครั้ง แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สถิติลดลงเหลือประมาณกว่า 70 ครั้ง ส่วนปี 66 นี้มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำคือประมาณกว่า 100 ครั้ง จึงนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา

ที่ประชุม กบฉ.จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือน ระหว่างวันที่ 20 ต.ค.66-19 ม.ค.67 แต่มีมติให้ปรับลด 3 อำเภอ ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน ได้แก่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส รวมถึงมีมติปรับให้ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส กลับมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกครั้ง เนื่องจากสถิติความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วง 5 ปีหลังมานี้ โดยจะมีการนำมติ กบฉ.เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ต.ค.นี้

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แทนผู้ที่เกษียณไปนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะนายกฯยังไม่ได้มีการมอบหมายว่าจะให้รองนายกฯ คนใดดูแลกำกับของ สมช. และการแต่งตั้งเลขาธิการ สมช. ต้องรอนายกฯ ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติเรียกประชุมก่อน

ด้านนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีความเห็นแตกต่างกันหลากหลาย ทั้งในส่วนประชาชนที่เป็นมุสลิมก็ต้องการให้ยกเลิก แต่คนไทยพุทธก็ต้องการให้คงเอาไว้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ส่วนผู้ตัดสินใจก็จะเป็นรัฐบาล เพราะทางกระทรวงกลาโหมเป็นฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งตามความเห็นของฝ่ายปฏิบัติ รัฐบาลตัดสินอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตามนั้น

 “แต่ทางฝ่ายปฏิบัติเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องคงไว้ ซึ่งขณะนี้ข้อมูลที่กองทัพภาคที่ 4 ได้ทำข้อดี-ข้อเสียของการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ได้มาถึงมือของผมแล้ว ซึ่งมีการฟังประชาชนหลายฝ่ายและวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังอยากให้คงไว้” รมว.กลาโหมกล่าว

ที่รัฐสภา นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส โฆษกพรรคประชาชาติ  แถลงว่า พรรคประชาชาติยืนยันมาตลอดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึกที่ใช้บังคับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเลิกแล้วนำกฎหมายปกติมาบังคับใช้ ส่วนจะยกเลิกในคราวเดียว ยกเลิกบางอำเภอ หรือทีละอำเภอ ก็แล้วแต่ทางประธาน กบฉ.จะพิจารณาเสนอต่อ ครม. ถือว่าเป็นนิมิตหมายในทางบวก เพราะเป็นครั้งแรกที่ประธานกบฉ.มาพบ สส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นครั้งแรกที่ กบฉ.ได้มาหารือกับ สส. เพราะปกติจะเชิญเพียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาพูดคุยเท่านั้น

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ลดจำนวนด่านตรวจให้น้อยลง เพราะเกินความจำเป็น อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี และทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว บรรยากาศก็น่าจะดีขึ้น

เมื่อถามถึงญัตติเพื่อขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาและเสนอแนวทางกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่พรรคประชาชาติเสนอในครั้งนี้ จะมีสัญญาณในแง่บวกมากกว่าในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ นายกมลศักดิ์ตอบว่า ทุกยุคสมัย สภามีการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณามาตลอด แต่พิจารณาในภาพรวม รอบนี้จะมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยจะนำกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เคยดำเนินการมา 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ให้สภาพิจารณาศึกษาเป็นครั้งแรก

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะนำมาศึกษาในสภา เพราะปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาขัดแย้งยืดเยื้อ  ตนมองว่าเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ จึงต้องให้คนทั้งประเทศรับทราบ เพื่อให้เข้าใจปัญหามากกว่าเดิม ส่วนสภาจะเห็นชอบหรือไม่นั้น ตนทราบมาว่าทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านเห็นชอบที่จะมีการตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาพิจารณา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง