“แบงก์ชาติ” ชี้เศรษฐกิจไทยปี 67 ฟื้นต่อเนื่อง คาดจีดีพีโต 4.4% เชื่อมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต หนุนบริโภคโต ห่วงสงครามฮามาส-อิสราเอลดันน้ำมันแรง หวั่นภาระการคลังและกองทุนน้ำมัน แนะปรับมาตรการรับสถานการณ์จริง
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า โจทย์หลักของนโยบายการเงินในปัจจุบันคือ การสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน จึงได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถือว่าเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงจุดสมดุล แต่ไม่ได้สูงกว่าจุดสมดุล ซึ่งการถอนคันเร่งนี้ ไม่ใช่การฉุดให้เศรษฐกิจลดความร้อนแรงลง แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้มีการขยายตัวแบบยั่งยืน
ขณะที่การส่งผ่านนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาใกล้เคียงกับในอดีต โดยราว 60% ของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ถูกส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ปรับขึ้นไปราว 1.4% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับขึ้นราว 1% สะท้อนว่าภาพรวมอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นไปของไทยนั้น ถือว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และตั้งแต่เริ่มกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธปท.ได้มีมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมอัตราหนี้เสียในประเทศไทยจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยได้มีการคำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมองว่าไม่ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบใดออกมาก็ตาม มั่นใจว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีหน้าขยายตัวเกิน 4% อย่างแน่นอน แต่ผลของมาตรการกระตุ้นมีในหลายมิติ ธปท.จึงไม่อยากเจาะจง แต่พิจารณาจากภาพรวมที่อาจจะเป็นไปได้
“มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น ก็ได้มีการคำนึงถึงความไม่แน่นอนของมาตรการอยู่ โดยเรามองว่ามาตรการนี้จะเข้ามาเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงด้านสูงมากขึ้น แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบที่ผ่านมา ทุกคนพยายามดูเรื่องความเสี่ยงต่างๆ สิ่งที่ กนง.พยายามจะทำคือ การพิจารณาในหลากหลายมิติ และกำหนดนโยบายที่คิดว่าพัฒนาการด้านเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามคาด เพื่อดูว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังเพียงพอรองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ให้ต้นทุนของการผิดพลาดน้อยที่สุด เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการปรับนโยบายที่เพียงพอ” นายปิติระบุ
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเศร้าสลดมาก สร้างความกังวลที่ไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะลุกลามหรือยืดเยื้อขนาดไหน เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ง่าย เพราะตะวันออกกลางเป็นถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ สิ่งที่เป็นห่วงคือ หากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นในระยะหนึ่ง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จะทำให้ค่าเงินบาทและค่าเงินประเทศอื่นๆ อ่อนลง ต้นทุนการนำเข้าพลังงานจะสูงขึ้น และในช่วงที่ราคาพลังงานในประเทศไทยยังถูกกำหนดด้วยมาตรการบางอย่าง ต้นทุนในส่วนนี้จะโป่งขึ้นและเป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาคการคลัง ดังนั้นจึงต้องจับตาดูการปรับมาตรการในประเทศไทยเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก โดยอาจต้องทบทวนราคาน้ำมันในประเทศ
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงเหลือ 2.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 ที่ 1.8% ถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ค่อนข้างเยอะ แม้ว่าอุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวได้ดีถึง 7.8% ขณะที่การส่งออกไม่ต่างจากที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ แต่ตัวที่ต่ำกว่าคาดการณ์และทำให้ตัวเลขในไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาดมาก คือหมวดบริการ จากฝั่งการผลิตเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหมวดโรงแรมที่ปรับลดลงค่อนข้างเยอะ ทำให้ตัวเลขการผลิตหมวดบริการปรับลดลงเป็นสำคัญ แต่เชื่อว่าจากจำนวนนักท่องเที่ยว อัตราการพักแรม การจ้างงานที่ยังมีแนวโน้มเป็นบวก เมื่อมองไปข้างหน้า คิดว่ากิจกรรมการบริการน่าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 4.4% เป็นตัวเลขที่รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเรียบร้อยแล้ว โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจจะกลับมาพร้อมกันหลายตัว อย่างมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นในรูปเงินโอน จะมีผลกับเรื่องการบริโภคภาคเอกชน ทำให้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 4.6% การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น ส่วนการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% จากปีนี้ที่ติดลบ 1.7% ซึ่งการฟื้นตัวของส่งออกยังเป็นไปอย่างช้าๆ ในช่วงต้นปี 2567
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในปี 2567 เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยบางไตรมาสอาจจะเกิน 3% และในปี 2568 จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ซึ่งโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง เพราะมีปัจจัยด้านอุปทาน คือผลของเอลนีโญที่มีต่อต้นทุนราคาอาหาร รวมทั้งติดตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ คือเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี ส่วนประมาณการเงินเฟ้อในระยะปานกลางมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยมีความเสี่ยงด้านสูง ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป ยังไว้วางใจไม่ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง
'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น