ขู่สังหารตัวประกัน! ฮามาสตอบโต้อิสราเอล/คนไทยดับพุ่ง18รายขอกลับ4พัน

การสู้รบในอิสราเอลวันที่ 4 ยังคงตึงเครียด กลุ่มฮามาสขู่! จะสังหารตัวประกันจาก 150 คนทีละคน ตอบโต้อิสราเอลหากยังคงปูพรมโจมตีใส่ชาวกาซาโดยไม่แจ้งเตือน สหรัฐแจงไม่แทรกแซงความขัดแย้ง "เศรษฐา" รับกังวลตัวเลขผู้เสียชีวิต ล่าสุดขยับเป็น 18 ราย พร้อมทำทุกทางช่วยผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน "บัวแก้ว" แย้มยอดขอกลับไทยเพิ่ม 3,862 ราย แจงล็อตแรกคัดคนบาดเจ็บมาก่อน "พท." จ่อตั้งกระทู้สดถามความช่วยเหลือคนไทย "จุฬาราชมนตรี" ออกแถลงการณ์ขอรัฐบาลเป็นกลางต่อความขัดแย้งครั้งนี้

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. เอเอฟพีรายงานว่า การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสเข้าสู่วันที่ 4 ทางกลุ่มฮามาสขู่ว่าจะสังหารตัวประกันหากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลยังคงปูพรมใส่ชาวกาซาโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า โดยตัวประกันประมาณ 150 คน ซึ่งถูกจับไปจากดินแดนอิสราเอลในการโจมตีตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ มีพลเรือนที่เป็นเด็ก, คนชรา และคนหนุ่มสาวที่ถูกจับกุมจากงานเทศกาลดนตรีแห่งหนึ่ง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 270 ราย

ทั้งนี้ อิสราเอลสามารถปิดล้อมฉนวนกาซาได้เกือบทั้งหมดในวันจันทร์ พร้อมตัดช่องทางเสบียงอาหาร, น้ำ และไฟฟ้า ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมจะเลวร้ายยิ่งขึ้นในพื้นที่ปิดล้อม ซึ่งมีประชากร 2.3 ล้านคน โดยสหประชาชาติแสดงความกังวลกับประเด็นปิดล้อมดังกล่าว และเตือนว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายอยู่แล้วจะเลวร้ายลงไปอีก พร้อมเตือนว่าการปิดล้อมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของพลเรือนโดยการลิดรอนสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดของคนเหล่านั้น ถือเป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดในอิสราเอลคือ 900 ราย จากการตอบโต้ด้วยการโจมตีฉนวนกาซาอย่างดุเดือด ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในกาซาเพิ่มเป็น 687 ราย

ขณะที่กลุ่มฮามาส ซึ่งกองทัพอิสราเอลประเมินว่าได้ส่งนักรบประมาณ 1,000 คน บุกข้ามชายแดนมาคร่าชีวิตพลเรือน ในแถลงการณ์ระบุว่า การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลได้คร่าชีวิตตัวประกันไปแล้ว 4 ราย พร้อมย้ำเตือนเชิงข่มขู่ว่า "การกำหนดเป้าหมายโจมตีต่อประชาชนของเราโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า อิสราเอลต้องเผชิญกับการสูญเสียชีวิตตัวประกันพลเรือน 1 คนเป็นการตอบโต้"

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เปรียบพฤติการณ์ป่าเถื่อนของกลุ่มฮามาสเทียบเท่ากับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอซิส) และกล่าวว่า อิสราเอลวางแผนโจมตีกลุ่มฮามาสครั้งใหญ่ ด้วยสรรพกำลังทั้งหมดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังให้คำมั่นที่จะเสริมกำลังแนวรบอื่นๆ ทางตอนเหนือเพื่อต่อสู้กับกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอนเช่นเดียวกัน

อิสราเอลเสริมทหารกองหนุนจำนวน 300,000 นาย เข้าร่วมปฏิบัติการขับไล่นักรบฮามาสออกจากพื้นที่ชายแดนให้ได้ และล่าสุดสามารถสังหารนักรบฮามาสได้แล้ว 1,500 ราย ในเมืองทางตอนใต้และชายแดนรอบฉนวนกาซา ซึ่งกองทัพยึดคืนได้จากการสู้รบอันทรหดใกล้ดินแดนปาเลสไตน์

ชาวปาเลสไตน์เตรียมพร้อมสำหรับการถูกโจมตีภาคพื้นดินครั้งใหญ่ของอิสราเอลที่มีเป้าหมายเพื่อเอาชนะกลุ่มฮามาสและปลดปล่อยตัวประกัน ซึ่งฮามาสยังคงยืนหยัดจะสู้รบต่อไป และปฏิเสธการเจรจาแลกเปลี่ยนตัวประกัน

อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดในตะวันออกกลางเพิ่มสูงขึ้น เมื่ออิหร่านศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอลชื่นชมการโจมตีของกลุ่มฮามาส แม้ว่าอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และรัฐบาลเตหะรานจะปฏิเสธบทบาทโดยตรงใดๆ ในปฏิบัติการทางทหารก็ตาม

ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันซึ่งเคลื่อนย้ายเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดและเรือรบอื่นๆ ของตนเข้าใกล้อิสราเอลมากขึ้นเพื่อแสดงการสนับสนุน ระบุว่า สหรัฐอเมริกาไม่มีแผนที่จะร่วมแทรกแซงในความขัดแย้งนี้ แต่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายฝ่ายในความพยายามช่วยเหลือตัวประกัน

สหรัฐยังรายงานอีกว่า พลเมืองของตนเสียชีวิต 11 ราย และสูญหายอีกจำนวนหนึ่ง และเน้นย้ำว่าจะสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี นอกจากมหาอำนาจตะวันตกทั้ง 5 ประเทศอื่นๆ ก็รายงานว่ามีพลเมืองถูกสังหาร, ลักพาตัว หรือสูญหาย ทั้งบราซิล, กัมพูชา, แคนาดา, ไอร์แลนด์, เม็กซิโก, เนปาล, ปานามา, ปารากวัย, รัสเซีย, ไทย และยูเครน

รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งจะจัดการเจรจาฉุกเฉินในวันอังคาร ได้ขอให้รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลและปาเลสไตน์เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อหาทางออกของวิกฤตการสู้รบที่มีแนวโน้มบานปลาย

รบ.เร่งช่วยเหลือตัวประกัน

ที่ประเทศบรูไน เวลา 16.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศบรูไน ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ โรงแรม Empire Brunei นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงการเข้าเฝ้าฯ  หารือกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามว่า สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ทรงแสดงความห่วงกังวลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นขณะนี้ และแสดงความเสียใจที่มีการสูญเสียของคนไทย รวมถึงมีผู้บาดเจ็บและถูกลักพาตัว เรื่องของความไม่สงบเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ดังนั้นการดูแลผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทั้ง 2 ประเทศไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง โดยอยากให้เรื่องนี้ยุติด้วยสันติวิธีโดยเร็วที่สุด เพื่อลดการสูญเสียและบาดเจ็บ

"เรื่องคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ผมยืนยันว่ารัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายการทูต ที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลกับหลายๆ รัฐบาล ได้ต่อสายตรงพูดคุยกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของความมั่นคง จึงขอไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่ขอให้มั่นใจว่าทุกทางที่ดำเนินการอยู่พยายามทำทุกอย่างแล้ว และยังพยายามอย่างสูงสุด พร้อมคำนึงถึงอิสรภาพและความปลอดภัยของผู้ที่ถูกจับกุมตัวเป็นสำคัญ" นายเศรษฐากล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของคนไทยในต่างแดนสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของชีวิตและความปลอดภัย

ถามว่าตัวเลขคนไทยผู้เสียชีวิตที่ดูเหมือนว่าจะมีจำนวนมากที่สุด นายกฯ กล่าวว่า เราเป็นประเทศที่สูญเสียมาก ณ เวลานี้จำนวน 18 คน จึงถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวลใจว่าจะหยุดแค่นี้หรือไม่ ก็ต้องคอยติดตามสถานการณ์ เป็นเรื่องที่น่ากังวลและละเอียดอ่อนมาก ได้กำชับทางการทูตและการช่วยเหลือในทุกช่องทางและทุกวิถีทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวประกัน ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต หรือแรงงานไทย ส่วนการดูแลหลังจากนี้จะต้องดูแลให้ดีตามกฎหมาย แต่ละคนมีความเสียหายอย่างไรให้ยึดระเบียบที่วางไว้

นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับการอพยพคนไทยจากประเทศอิสราเอลขณะนี้มี 2 ทาง คือ สายการบินพาณิชย์ ที่จะเดินทางออกมาในวันที่ 11 ต.ค. ถึงไทยวันที่ 12 ต.ค. จำนวน 11 คน ซึ่งเป็นผู้บาดเจ็บที่ต้องเร่งนำกลับมารักษา และจากกองทัพอากาศ โดยเครื่องบินแอร์บัส A340 จะนำคนไทยเดินทางกลับมาอีก 150 คน ในวันที่ 14 ต.ค. ถึงไทยในวันที่ 15 ต.ค.

"รัฐบาลไทยมีความพร้อม เพราะไม่ได้เตรียมเฉพาะเครื่องบิน A340 เพียงลำเดียว แต่ยังมีเครื่องบิน C130 ของกองทัพอากาศที่พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมเครื่องบินรวมทั้งหมด 5 ลำ สำหรับอพยพคนไทย ส่วนการดูแลหลังจากนี้จะต้องดูแลให้ดีตามกฎหมาย แต่ละคนมีความเสียหายอย่างไรให้ยึดระเบียบที่วางไว้" นายกฯ กล่าว

ในประเทศไทย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กรณีออกมาประณามการกระทำของกลุ่มฮามาส จากเหตุการณ์ครั้งนี้เร็วเกินไปว่า จุดยืนของเราคือการที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง เมื่อไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งก็อยากให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว เพราะเราต้องดูแลประชาชนของเรา

ถามว่าการพูดของนายกฯ เช่นนี้จะไม่ทำให้ประเทศอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจเราผิดใช่หรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ถ้าไปดูข้อความภาษาอังกฤษที่ใช้จะชัดเจน แต่เวลาไปพูดเป็นภาษาไทยอาจตีความแตกต่างกันไป

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้รัฐมนตรีทุกคนจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะท่านเป็นห่วงคนไทยที่อยู่ที่นั่น ซึ่งในวันที่ 12 ต.ค. จะมีบางส่วนที่จะเดินทางกลับมา 15 คน

ล็อตแรกผู้บาดเจ็บมาก่อน

ด้านนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ (กต.) กล่าวว่า ทางเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอลได้พยายามติดต่อแรงงานไทยทุกคนเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากระบบภายในขรุขระมาก อย่างไรก็ตาม ได้รับทราบแล้วว่าเวลานี้มีคนแจ้งความประสงค์จะกลับประเทศไทย 3,226 คน แต่ในจำนวนนี้กระจายอยู่ในอิสราเอลไม่ได้อยู่ที่ฉนวนกาซา การเดินทางไปจึงลำบาก ตนจึงถามไปทางรัฐบาลอิสราเอลจะสามารถพาทุกคนกลับประเทศไทยได้พร้อมกันทั้งหมดได้หรือไม่ ต้องดูให้เกิดความปลอดภัยทุกคน และหากใครที่สามารถเดินทางกลับช่วงนี้ได้ทางรัฐบาลพร้อมสนับสนุน

ถามว่า การกลับมาแบบล็อตใหญ่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า ชุดแรกจะมาเร็วสุดในวันที่ 12 ต.ค. ประมาณ 15 คน แม้จะดูน้อย แต่เป็นเพราะเครื่องบินมีพื้นที่จำกัด และพยายามจะพาผู้ที่บาดเจ็บกลับมา ทางเอกอัครราชทูตต้องคัดสรรว่าจะให้ใครเดินทางมาก่อน หลังจากนั้นวันที่ 18 ต.ค. จะเดินทางกลับมาอีก 80 คน และจะทยอยกลับมาอีกเรื่อยๆ ในส่วนของกองทัพอากาศและเครื่องบินพาณิชย์ของไทยพร้อมที่จะบินไป แต่การบินไปจะต้องมีความปลอดภัย ไม่ใช่อยากไปก็ไปได้เลย

"เกณฑ์การคัดสรรเอกอัครราชทูต

จะดูว่าใครที่บาดเจ็บ จะรีบนำกลับมารักษาที่ประเทศไทย เพราะที่โรงพยาบาลที่อิสราเอลคงเต็มไปหมดแล้ว ซึ่งนายกฯ มีความเป็นห่วง ผมได้รายงานให้ทราบเป็นระยะๆ" นายปานปรีย์กล่าว

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการเจรจาให้ปล่อยตัวประกันคนไทย รมว.กต.กล่าวว่า มีโอกาสได้คุยกับ รมว.การต่างประเทศอิสราเอล แต่ไม่ได้เล่าให้ใครฟัง เพราะเป็นเรื่องภายใน แต่สามารถบอกได้ว่าทางรัฐบาลอิสราเอลมีความเป็นห่วงและแสดงความเสียใจมายังชาวไทยที่มีคนไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับตัว 

"กรณีการถูกจับตัว ผมได้บอก รมว.การต่างประเทศอิสราเอลขอให้ท่านใช้ความพยายามสูงสุดที่จะให้มีการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับตัวอยู่ให้เร็วที่สุด อีกทั้งยังได้ถามเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และผู้ถูกจับตัวว่าเมื่อไหร่จะยืนยันจำนวนที่แน่นอนได้ ท่านยอมรับว่ายาก เพราะเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ ส่วนตัวเลขที่เราได้เป็นข้อมูลที่รับมาจากสถานทูต" รมว.กต.กล่าว

ซักถึงเงื่อนไขของฮามาสที่ได้ยื่นให้รัฐบาลอิสราเอล จะส่งผลต่อคนไทยที่ถูกจับตัวหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า ไม่น่ากระทบ เพราะเราไม่ได้มีความขัดแย้งกับทั้งสองฝ่าย เราเป็นคนทำงานไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะมาทำร้ายคนไทย เพียงแต่ตอนที่ชุลมุนคงไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นใคร จึงจับไปหมด แต่เชื่อว่าเขาน่าจะปล่อยตัวมาทั้งหมด และขอยืนยันรัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ยิ่งกว่าเต็มที่ แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน 

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และ น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ แถลงความคืบหน้าช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลว่า กลุ่มแรกที่จะเดินทางกลับไปมีจำนวน 15 คน โดยวันที่ 11 ต.ค. เวลา 21.45 น. จะเดินทางออกจากอิสราเอล และจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 12 ต.ค. เวลา 10.35 น. โดยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม ทางสถานทูตพยายามจัดเที่ยวบินกลับไทยเพิ่มเติม คาดว่าเที่ยวต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 18 ต.ค. จำนวน 80 ที่นั่ง

  ถามว่าทางสถานทูตทราบถึงพิกัดตัวประกันไทยที่ถูกจับไปหรือไม่ น.ส.พรรณนภากล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล และพยายามสอบถามกับทางการอิสราเอลแล้ว

จุฬาราชมนตรีแถลงการณ์

ถามถึงแรงงานที่ยังถูกบังคับให้ทำงานหรือขายแรงงานต่อให้นายจ้างอื่น น.ส.พรรณนภาชี้แจงว่า เราได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลในเรื่องนี้เป็นการนำแรงงานออกมาจากพื้นที่ที่เสี่ยงภัย แล้วนำไปฝากกับนายจ้างในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งทางอิสราเอลถือว่าเป็นการย้ายงาน และทำให้แรงงานเหล่านั้นมีรายได้สำหรับดำรงชีพในอิสราเอลต่อไป แต่เราก็เข้าใจว่าแรงงานต้องการพักภายหลังจากที่เพิ่งเสี่ยงภัยมา

ซักถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยผู้เสียชีวิตอย่างไร น.ส.พรรณนภากล่าวว่า ทางการอิสราเอลขอให้ความสำคัญกับผู้ที่มีชีวิตอยู่และติดอยู่ในที่ที่อันตรายก่อน ดังนั้นผู้เสียชีวิตยังไม่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ได้อย่างรวดเร็ว คิดว่าไม่สามารถนำร่างของผู้เสียชีวิตกลับได้โดยเร็ว

ต่อมานางกาญจนาแถลงเพิ่มเติมว่า ล่าสุดมีคนไทยในอิสราเอลลงทะเบียนขอกลับไทย 3,862 คน และไม่ประสงค์กลับ 52 คน อย่างไรก็ตาม สถานทูตไทยในประเทศต่างๆ ก็ได้พูดคุยกับมิตรประเทศ รวมถึงที่ประเทศไทยก็ได้เชิญทูตประเทศต่างๆ หารือด้วย รวมถึงประสานกับสหประชาชาติ เพื่อขอความสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนคนไทยในอิสราเอล

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ  และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ตอนนี้เราทราบว่ามีประมาณ 2 หมื่นคนที่ไปใช้แรงงานที่นั่น ซึ่งได้สั่งการผ่านไลน์ให้แต่ละจังหวัดไปสำรวจและดูว่าครอบครัวของแรงงานไทยที่อิสราเอลได้รับผลกระทบอะไรบ้าง หากมีความต้องการให้ช่วยเหลือ เช่น หากสูญเสียรายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศ เราก็จะช่วยเหลือตามสมควร

เช่นเดียวกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ได้ให้นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. ประสานงานกับ พมจ.ของทุกจังหวัดที่มีผู้ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือแม้แต่ผู้ที่ยังได้รับการยืนยันรายชื่อ โดยจะมีสหวิชาชีพ พร้อมกับทีมงานนักจิตวิทยาที่จะเข้าไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

"พม.เตรียมเปิดศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพของประชาชน (ศรส.) ในวันที่ 1 พ.ย.66 จะเริ่มดำเนินการโดยภายในศูนย์ ศรส.ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญเด็กและเยาวชน ครอบครัว สตรี และทุกมติที่ทางกระทรวง พม.ดูแลอยู่ ทำงานร่วมกับศูนย์ฮอตไลน์ 1300 และจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วรองรับข้อร้องเรียนของประชาชน ทั้งทางออนไลน์ ออฟไลน์ หรือวอล์กอินเข้ามาแจ้ง ศรส.จะเป็นส่วนสำคัญที่เข้าไปช่วยเยียวยาจิตใจ ครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง" นายวราวุธกล่าว

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) สส.อีสานพรรค พท. อาทิ นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ ฐานะประธานวิปรัฐบาล, นายเอกธนัช อินทร์รอด น.ส.ชนก จันทาทอง สส.หนองคาย, น.ส.ชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด, น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพท., นายวัชรพล ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรค พท. ร่วมแถลงข่าวเตรียมเสนอกระทู้สดเรื่องแรงงานไทยในอิสราเอล

น.ส.ขัตติยากล่าวว่า จากการตรวจสอบพบมีแรงงานไทยทำงานในประเทศอิสราเอลเป็นหมื่นราย และส่วนใหญ่เป็นชาวอีสาน เบื้องต้น สส.อีสานได้ลงพื้นที่ไปพบกับครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ต.ค.พรรค พท.จะยื่นกระทู้ถามสดต่อ รมว.การต่างประเทศ เพื่อสอบถามถึงมาตรการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยในอิสราเอล

นายวัชรพลกล่าวว่า ชาวไทยทำงานอยู่ที่ประเทศอิสราเอลเกือบ 3 หมื่นคน โดยเฉพาะชาวอีสานเกือบ 2 หมื่นคน โดยเป็นชาวอุดรฯ มากถึงกว่า 4 พันคน และจากการลงพื้นที่พบกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ได้พบกับคราบน้ำตาและแววตาของครอบครัวผู้สูญเสีย ดังนั้น สส.ต้องตั้งกระทู้ถามสดเพื่อสอบถามถึงมาตรการช่วยเหลือต่อไป

ที่กระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงผลกระทบด้านพลังงานจากเหตุการณ์สู้รบในตะวันออกกลางว่า เท่าที่ได้รับการรายงานจากปลัดกระทรวงพลังงานแจ้งว่า เชื่อว่าจะกระทบระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่กระทบเฉพาะประเทศไทย แต่กระทบทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เราได้มีการซื้อน้ำมันเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการขนถ่ายมาที่ประเทศไทย ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงเชื่อว่าระยะสั้นไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร แต่ถ้าระยะยาวเป็นเดือนๆ ก็ยังไม่แน่ ต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป

วันเดียวกัน สำนักจุฬาราชมนตรีออกแถลงการณ์เรื่อง เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรักษาความเป็นกลางทางการเมืองร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ ต่อกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพราะความขัดแย้งนี้มีความซับซ้อน มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนชาวยิว คริสต์ และมุสลิมทั่วภูมิภาค

"สำนักจุฬาราชมนตรีสนับสนุนการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อความจำเป็นในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่ได้รับผลกระทบ ให้มีความปลอดภัยและให้ได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในสถานการณ์เฉพาะหน้าในครั้งนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด" แถลงการณ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล