ปัดลักไก่อภัยโทษทักษิณ ผุด2อนุเร่งสรุปแก้รธน.

“ภูมิธรรม” นั่งหัวโต๊ะประชุมประชามติรัฐธรรมนูญนัดแรก   เล็งผุด 2 อนุกรรมการทำงาน วางไทม์ไลน์ต้องได้ข้อสรุปทั้งหมดสิ้นปีนี้  ประชามติครั้งแรกไตรมาส 1 ปี 2567  และคลอด รธน.ใหม่พร้อมกฎหมายลูกใน 4 ปี ย้ำไม่แตะหมวด 1 และ 2 รวมถึงพระราชอำนาจในมาตราอื่นๆ สหายอ้วนปัดทันควันลักไก่อภัยโทษ “ทักษิณ”  “ปดิพัทธ์” เข้าคอกเป็นธรรมตามคาด “ศรีสุวรรณ” เตรียมยื่น กกต.ใช้สิทธิ์ไม่สุจริต

เมื่อวันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566   นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่สำนักงานกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ สส.เป็นคณะกรรมการฯ ว่า เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากกฎหมายตีความได้หลายแบบ จึงหลีกเลี่ยงไม่ให้ สส.มาร่วมคณะกรรมการฯ ดังกล่าว จึงตัดออกเพื่อไม่ให้กระบวนการช้า

 “เขาพูดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และเพื่อไม่ให้ติดขัดในความเห็นที่แตกต่าง จึงตัดชื่อออก ยอมรับว่าไม่มีปัญหา  แต่ทําเพื่อให้กระบวนการเร็วขึ้นและปราศจากข้อสงสัย” นายภูมิธรรมย้ำ

เมื่อถามว่า สาเหตุดังกล่าวเพราะรัฐบาลไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาดูเรื่องนี้ให้หรือไม่ เพราะเริ่มต้นก็ผิดพลาดแล้ว นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ใช่ข้อผิดพลาด เพราะรองเลขาธิการกฤษฎีกาก็อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ แต่เรื่องเป็นความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งทางกฎหมายเห็นต่างกันได้อยู่เสมอ

ถามอีกว่า มีข้อสังเกตว่าคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคเพื่อไทย (พท.) ทําให้สามารถคุมได้และจะส่งผลให้รัฐธรรมนูญออกมาไม่ชอบธรรม นายภูมิธรรมกล่าวว่า มองในแง่ร้ายเกินไป ต้องให้เกียรติคณะกรรมการฯ ที่มาด้วย เพราะที่เชิญมาก็เป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตรองอัยการสูงสุด นักวิชาการก็มีชื่อเสียง ที่บอกว่าพรรค พท.คุมได้ก็ไม่จริง เพราะทุกคนได้รับการยอมรับจากสังคม และเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนทุกคน ทุกคนมีเกียรติยศมากเพียงพอที่จะไม่เอาสิ่งเหล่านี้ไปสร้างปัญหาเพื่อเสื่อมเสียเกียรติยศและชื่อเสียงของตัวเอง

ก่อนการประชุมคณะกรรมการฯ ดังกล่าว นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกรณีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไม่ได้เป็นคณะกรรมการฯ จะกระทบความน่าเชื่อถือหรือไม่ว่า พรรค ก.ก.ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีหลักประกันความน่าเชื่อถือ วันนี้เราพยายามเชิญทุกฝ่ายมากที่สุดอยู่แล้ว ในคณะกรรมการฯ ก็มีตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วม จากทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ยืนยันว่าความน่าเชื่อถือไม่ได้อยู่ที่พรรคไหนเข้าหรือไม่เข้า  แต่ความน่าเชื่อถือคือบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดที่เราได้เชิญมา

และในเวลา 13.17 น. นายภูมิธรรมได้กล่าวเปิดประชุมนัดแรกว่า เราจะเริ่มต้นการทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยการขอประชามติตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยมา โดยจะยึดถือเป็นหลัก เพราะสิ่งที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ข้อแรกคือจะไม่ไปแตะพระราชอำนาจหมวด 1 และหมวด 2 และพระราชอำนาจที่อยู่ในมาตราต่างๆ  ซึ่งถือเป็นเรื่องหลัก และตั้งใจจะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จบภายใน 4 ปีที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลอยู่ หมายความว่าเราตั้งใจจะให้เสร็จสิ้นพร้อมมีกฎหมายลูกประกอบ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้เลย และตั้งมั่นที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านเพื่อนำมาใช้ให้ได้ ซึ่งก็ต้องพยายามรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ตามคำที่ว่าเราจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยให้ได้มากที่สุด และไม่ให้มีข้อถกเถียงที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ และคิดว่าการทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จำเป็นต้องมีวิวัฒนาการและเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกตั้งที่ดี ถือเป็นกรอบใหญ่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พูดคุยกัน

ผุดอนุกรรมการอีก 2 ชุด

 “ขอบคุณทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วม เพราะทุกคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกสาขาวิชาชีพ มั่นใจในเกียรติยศของทุกคนที่เข้ามา และหวังว่าจะเห็นแก่ประเทศชาติ เดินหน้าไปได้ และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สามารถที่จะลดความขัดแย้ง ไม่อยากให้การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการสร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้น” นายภูมิธรรมกล่าว

จากนั้นเวลา 14.40 น. นายนิกร จำนง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า   คณะกรรมการฯ จะฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้ประชามติเป็นที่ยอมรับ โดยประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปคือ การทำประชามติจะทำกี่ครั้ง ระหว่างสองครั้งหรือสามครั้ง ซึ่งมีความเห็นเป็นสองทางอยู่ ตรงนี้ต้องไปศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีก่อนหน้านี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เราคิดเองไม่ได้ รวมถึงต้องไปศึกษาร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่ค้างอยู่ในรัฐสภา และศึกษารัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา ทั้ง 2540 และ 2550 ศึกษาที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ถือเป็นสองมิติที่ต้องดำเนินการไปด้วยกัน

นายนิกรยังกล่าวถึงผลสรุปการประชุมว่า คณะกรรมการชุดใหญ่จะประชุมเดือนละครั้ง และจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 คณะเพื่อทำงาน โดยคณะแรกทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง โดยใช้เวลาจำกัด ไม่ใช่ดึงเวลา คณะที่สองศึกษาแนวทางการทำประชามติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และกำหนดว่าจะทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 ในการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมา และให้คณะกรรมการชุดใหญ่แต่ละคนเข้าโดยความสมัครใจ

เมื่อถามว่า ต้องสอบถามหน่วยงานอะไรเพื่อทำประชามติให้ไม่ขัดกับศาลรัฐธรรมนูญ นายนิกรกล่าวว่า มี 2 อย่างที่ต้องทำ เพราะน่าจะมีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแน่ แต่ยืนยันว่าครั้งนี้ต้องผ่าน เพราะเรามีประสบการณ์ รวมถึงต้องทำความเข้าใจให้รัฐสภา โดยเฉพาะ สว.ว่าเห็นอย่างไร เราไม่ได้คำนึงเรื่องศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ดังนั้นเราจึงตั้งคณะอนุฯ ขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยละเอียดเพื่อให้รอบคอบที่สุด

ขณะที่นายภูมิธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า   เราจะทำอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จำเป็นในการจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงคนสนับสนุนอยากเห็นอะไร คนไม่สนับสนุนกังวลอะไร ซึ่งคาดว่าประมาณวันที่ 10 พ.ย. จะประชุมคณะกรรมการฯ แล้วให้คณะอนุฯ ทั้ง 2 รายงานความคืบหน้าว่ามีอะไรติดขัดหรือไม่ แล้วคณะกรรมการชุดใหญ่จะมีหน้าที่เชิญภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมารับฟังให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เพราะไม่อยากให้เกิดความเห็นต่างแล้วไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งเป้าว่าคณะกรรมการชุดนี้จะได้ข้อสรุปทั้งหมดในสิ้นเดือน ธ.ค. และจะมีประชามติเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยมีเป้าหมายชัดต้องร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เสร็จใน 4 ปี เพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และหลังจากนี้ทุกฝ่ายจะเริ่มทำงาน

เมื่อถามว่า หากประชามติครั้งแรกผ่านในขั้นตอนแก้ไขในรัฐสภาต้องรอ สว.ชุดใหม่มาทำหน้าที่ก่อนหรือไม่ นายภูมิธรรมตอบว่า แล้วแต่ สว.เขาจะจัดการกันอย่างไร เราทำหน้าที่ของเราไปไม่ต้องรอ เมื่อถึง สว.ชุดไหนก็ชุดนั้นที่จะดำเนินการ

ปัดข่าว พรฎ.อภัยโทษทักษิณ

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ครม. นายภูมิธรรมยังกล่าวถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ออกมาระบุว่าที่ประชุม ครม.จะลักไก่ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษทั่วไปเพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พ้นโทษว่า ไม่มี สื่อไปเอาข่าวมาจากไหน และเมื่อสื่อมวลชนตอบกลับว่านายจตุพรเป็นผู้ออกมาพูด นายภูมิธรรมยืนยันอีกครั้งว่า “ไม่มี เดี๋ยวดูวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีได้”

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุขกล่าวหลังประชุม ครม.เรื่องนี้ว่า ไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับนายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ ก็ปฏิเสธเช่นกัน

ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุม ครม.ว่า  มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกฯ เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง 2 ราย คือ 1.นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร  ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ และ 2.นายสยาม บางกุลธรรม ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่งานพระราชทานเพลิงศพมารดาของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ว่าได้กราบสวัสดี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์อารมณ์ดีเหมือนเดิม

เมื่อถามว่า ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำอะไรอยู่ เพราะหน้าตาสดใส นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ได้ถาม เพราะอยู่ในงานพิธี โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าถ้าว่างๆ หาเวลากินข้าวกัน ทั้งนี้ ไม่ได้คุยกันเยอะ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์นั่งอยู่แถวหน้า ส่วนตนเองอยู่แถวหลัง

วันเดียวกัน นายปดิพัทธ์ สันติภาดา  สส.พิษณุโลก และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 พร้อมด้วยนายปิติพงศ์  เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม (ปธ.) นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ปธ. แถลงการรับนายปดิพัทธ์เข้าร่วมพรรคหลังถูกพรรค ก.ก.ขับออกจากสมาชิก เมื่อ 28 ก.ย.2566

โดยนายปดิพัทธ์กล่าวว่า ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรค ปธ. เนื่องจากอุดมการณ์และแนวทางใกล้เคียงกันมากที่สุด และต้องขอขอบคุณหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคที่มีน้ำใจ เพราะรู้ดีว่าการทำงานต้องเผชิญความเสียดทานแค่ไหน ซึ่งได้หารือกับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ปธ.แล้ว ก็ยินดีที่จะสนับสนุนแนวทางนี้ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 “วันนี้ในทางกฎหมายยังไม่มีการสมัครเป็นสมาชิกพรรค เพราะต้องรอหนังสือยืนยันการพ้นจากสมาชิกพรรค ก.ก.จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน ซึ่งคาดว่าจะมาในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะสมัครเข้าพรรคเป็นธรรมต่อไป”นายปดิพัทธ์กล่าว

ปดิพัทธ์กั๊กตอบกลับรังเก่า

ถามอีกว่า การที่นายปดิพัทธ์เข้าพรรค ปธ. ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังอยู่กับพรรค ปธ.ต่อไป ไม่มีการย้ายกลับไปพรรค ก.ก.เหมือนเดิม เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ปธ.เป็นแค่พรรคกาฝาก นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ยังไม่มีการตัดสินใจอะไรในระยะยาว ตอนนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นก่อน เพราะต้องสังกัดพรรคให้ได้ภายใน 30 วัน และพรรค ปธ.จริงใจที่สุด เปิดรับที่สุด และมีแนวทางที่ใกล้เคียงที่สุด ส่วนเรื่องการเลือกตั้งเป็นเรื่องของอีกหลายปี ก็ค่อยๆ พิจารณาไปก่อน ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของทั้งพรรค ปธ.และของตนเอง

ขณะที่นายปิติพงศ์กล่าวว่า การทำงานของพรรคเป็นธรรมจะสนับสนุนนายปดิพัทธ์ในฐานะรองประธานสภาฯ ที่ทำงานโปร่งใส และตรวจสอบ โดยได้ตอบรับเป็นทีมที่ปรึกษาของนายปดิพัทธ์แล้ว ซึ่งสนับสนุนการทำงานประชาธิปไตยทางการเมืองไม่มีระบบกล้วย แต่เป็นอุดมการณ์ และพรรคไม่ได้ตกปลาในบ่อเพื่อน ยืนยันไม่ได้เป็นสาขาของพรรคใด แต่เป็นพรรคประชาธิปไตยด้วยกัน มีบ้านคนละหลัง กินข้าวคนละชาม แม้ข้าวชามของตนเองไม่อร่อยเท่าของพรรค ก.ก. แต่ไม่ถึงขนาดเป็นข้าวคลุกน้ำปลา

ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีนายปดิพัทธ์ที่สมัครพรรค ปธ.ว่า ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ โดยจะไปร้องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบและให้ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มีโทษถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองกันระนาว โดยจะไปยื่นคำร้องในวันพุธที่ 11 ต.ค.2566 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน กกต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง