เตรียมอพยพคนไทย ขอกลับ1.4พันคนเสียชีวิต12รายถูกจับ11/สหรัฐส่งเรือรบหนุนยิว

สงครามอิสราเอล-ฮามาสยังระอุ วันที่ 3 ทัพยิวถล่มกาซาหนัก สหรัฐอเมริกาเตรียมส่งเรือรบสนับสนุน กต.ยืนยันคนไทยเสียชีวิต 12 ราย เจ็บ 9 ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 เตรียมอพยพกลับไทยล็อตแรก 15 คน ถึงสุวรรณภูมิ 12 ต.ค.นี้ เผยมีผู้ประสงค์ขอกลับอีก 1,437 ราย “จักรพงษ์” ลั่นกลางเวทีสภาสูง รัฐบาลพร้อมพาคนไทยกลับทั้ง 3 หมื่นหากต้องการ พลังงานประเมินไม่กระทบค่าน้ำมัน

เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม ซึ่งเข้าวันที่ 3 ที่กลุ่มฮามาสยิงจรวดหลายพันลูก รวมทั้งส่งนักรบจำนวนมากเข้าทำร้ายพลเรือน และจับตัวประกันอย่างน้อย 100 คน ในการลอบโจมตีครั้งใหญ่ที่ประเทศอิสราเอลไม่ทันตั้งตัว โดยล่าสุดกองทัพอิสราเอลได้ทำสงครามตอบโต้กลุ่มฮามาสต่อเนื่อง โดยได้บุกถล่มฉนวนกาซาและโจมตีเป้าหมายมากกว่า 500 จุดในการปะทะข้ามคืน ขณะที่การต่อสู้กับกลุ่มฮามาสที่บุกเข้ามาในประเทศก็ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ 7-8 แห่งของอิสราเอล

ทั้งนี้ มีชาวอิสราเอลมากกว่า 700 รายถูกสังหารนับตั้งแต่กลุ่มฮามาสเปิดการโจมตี และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 1,200 คน ตามรายงานของกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (ไอดีเอฟ) ในขณะที่ฝั่งปาเลสไตน์ก็มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 413 ราย

 “เครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ และปืนใหญ่ของไอดีเอฟโจมตีเป้าหมายกลุ่มฮามาส และญิฮาดอิสลามมากกว่า 500 คนในฉนวนกาซาชั่วข้ามคืน”

นอกจากนั้น ในดินแดนปาเลสไตน์ยังคงมีควันหนาทึบและเปลวไฟลุกโชนตลอดเวลา ขณะที่การโจมตียังคงดำเนินต่อไปตลอดเวลา ขณะที่อิสราเอลได้ส่งกองกำลังสำรองราว 100,000 นายไปยังพื้นที่ทางใต้ เพื่อเร่งขับไล่นักรบฮามาสออกจากดินแดน และหาทางช่วยเหลือพลเรือนและทหารอิสราเอลจำนวนมากที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในฉนวนกาซา

ขณะที่ปฏิกิริยาพันธมิตรของอิสราเอลต่างให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนทางทหาร โดยโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุว่าเป็น “การโจมตีของผู้ก่อการร้ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” และรัฐบาลวอชิงตันเตรียมส่งเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด และกลุ่มเรือรบไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ก็ให้คำมั่นว่าจะส่งอุปกรณ์และทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น

ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยหลายประเทศรายงานว่ามีพลเมืองถูกสังหาร ลักพาตัว  หรือสูญหาย โดยล่าสุดพลเมืองสหรัฐฯ อย่างน้อย 4 รายถูกสังหารในการโจมตีครั้งนี้ ขณะที่ไทยระบุว่ามีพลเมืองเสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย และเนปาล 10 ราย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นแรงงานที่ทำงานในอิสราเอล

สำหรับความเคลื่อนไหวในไทยนั้น นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงสถานการณ์ในอิสราเอลว่ายังคงมีความรุนแรง โดยขณะนี้มีการยืนยันยอดผู้ที่ถูกจับตัวทั้งคนอิสราเอลและชาติต่างๆ อย่างน้อย 100 คน ขณะที่ยอดแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บยังคงอยู่ที่ 8 ราย และถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตที่สถานทูตได้รับการยืนยันจากนายจ้างคือ 12 ราย แต่อิสราเอลยังไม่ได้ยืนยัน ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลได้เริ่มอพยพคนไทยในพื้นที่เสี่ยงภัยไปในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว

 นางกาญจนากล่าวถึงการเดินทางกลับประเทศของแรงงานไทยว่า ได้เตรียมเครื่องบินของกองทัพอากาศ (ทอ.) ไว้เรียบร้อยแล้ว หากสถานการณ์พร้อมลำเลียงจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว แม้อิสราเอลบอกว่าไม่จำเป็นต้องอพยพ แต่หากไทยต้องการอพยพก็พร้อมอำนวยความสะดวก ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 8 ต.ค. กระทรวงได้เริ่มเวียนหนังสือให้แรงงานไทยขอกลับประเทศแล้ว โดยมีแรงงานที่ต้องการกลับ 1,099 คน และไม่ขอกลับ 22 คน

 “จากการประเมินสถานการณ์ของนักวิเคราะห์ฝ่ายต่างๆ พบว่าปฏิบัติการอาจยืดเยื้อได้ ซึ่งสถานทูตประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทางการและท้องถิ่นอิสราเอล โดยนอกจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์จะประสานกับผู้แทนปาเลสไตน์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์แล้ว ยังได้สั่งการสถานทูตอื่นด้วย”

กลับไทยล็อตแรก 15 ราย

ต่อมาในช่วงบ่าย นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มีพลเรือนอิสราเอลเสียชีวิตอย่างน้อย 700 คน บาดเจ็บอีกประมาณ 2,150 คน และทางการอิสราเอลยืนยันแล้วว่ามีผู้ถูกจับตัวไปอย่างน้อย 100 คน ซึ่งรวมถึงคนชาติต่างๆ สำหรับผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่มีการยืนยันตัวเลขผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก 1 คน รวมเป็น 9 คน

นายจักรพงษ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิน (RRC) ได้ประชุมกันเมื่อเวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา หารือถึงแนวทางการเตรียมอพยพ โดยขณะนี้มีคนไทยในอิสราเอลแสดงความประสงค์ขออพยพกลับไทยแล้ว 1,437 คน และไม่กลับ 23 คน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

“กองทัพอากาศและการบินไทยได้จัดเตรียมเครื่องบินและเจ้าหน้าที่ดำเนินภารกิจแล้ว โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ กำลังจัดหาเที่ยวบินพาณิชย์เพื่อนำคนไทยออกจากประเทศก่อน เช่น ผู้บาดเจ็บที่เดินทางได้ หรือผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะจัดให้คนไทยกลุ่มแรก 15 คนออกจากอิสราเอลได้วันที่ 11 ต.ค. มีกำหนดเดินทางถึงไทยวันที่ 12 ต.ค.” นายจักรพงษ์กล่าว

นายจักรพงษ์กล่าวต่อว่า  สำหรับตัวประกันนั้น ทูตปาเลสไตน์รับปากจะช่วยประสานให้ต่อไป สำหรับนักศึกษาไทย 80 คนไม่ได้อยู่ในพื้นที่อันตรายและได้รับแจ้งว่าปลอดภัยดี ทั้งนี้เมื่อคนไทยเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การช่วยเหลือเยียวยาทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานทั้งสองได้เดินทางไปเยี่ยมญาติของผู้ได้รับผลกระทบในภูมิลำเนาแล้ว

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้ไปตรวจความพร้อมของ ทอ.ในการเตรียมเครื่องบินไปรับคนไทย โดย ทอ.ได้เตรียมเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 จำนวน 5 เครื่อง และแอร์บัส A340 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมกำลังพลชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ MERT  จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ ซึ่งเคยไปปฏิบัติภารกิจในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี และอพยพคนไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในซูดานมาแล้ว รวมถึงชุดปฏิบัติการพิเศษคอมมานโดจากหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

“ขณะนี้เหลือเพียงขั้นตอนการประสานอพยพคนไทย โดยทางปฏิบัติต้องได้รับอนุญาตจากอิสราเอล สบายใจและมั่นใจได้ว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่จะเป็นห่วงเพียงว่า สถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมจะรุนแรงขึ้นหรือจะลดลง ถ้ารุนแรงขึ้นสิ่งที่กลัวคือการอพยพคนไทย 30,000 คนอาจจะไม่ทัน จึงต้องขอความร่วมมือจากการบินไทยอีกทางหนึ่งในแบบเครื่องบินเช่าเหมาลำ" นายสุทินกล่าวและว่า เส้นทางการบินไปรับคนไทยก็ได้วางแผนไว้แล้ว แต่เท่าที่ทราบน่านฟ้าอิสราเอลยังไม่ปิด แต่ถ้าปิดก็มีประเทศรอบๆ ที่จะใช้เป็นทางผ่าน เช่น จอร์แดน  ซาอุดีอาระเบีย และไซปรัส

ส่วนกรณีที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า การช่วยเหลืออพยพคนไทยมีความล่าช้านั้น นายสุทินย้ำว่า แม้วันนี้เราพร้อมบินไปรับคนไทย แต่ก็ต้องรอขั้นตอนจากทางอิสราเอล เท่าที่ตรวจสอบตอนนี้ยังไม่มีประเทศไหนที่อพยพพลเมืองออกมา มีเพียงบางต่างประเทศที่เดินทางเข้าไปถึงแล้วแต่ยังบินกลับไม่ได้ เพราะฉะนั้นยืนยันว่าประเทศไทยไม่ล่าช้า และเตรียมพร้อมที่สุด

เชื่อไม่ได้จับเรียกค่าไถ่

นายสุทินระบุว่า จากการประเมินกรณีคนไทยโดนจับตัวไป ไม่ได้จับไปเรียกค่าไถ่และไม่ได้เจาะจงว่าเป็นประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นการจับแบบกวาดต้อนทุกๆ ประเทศ ส่วนถ้าหากในอนาคตจะมีการเรียกค่าไถ่นั้น กต.ก็วางแผนรองรับอยู่

เมื่อถามว่า เป้าหมายการจับตัวเพื่อนำไปเป็นโล่มนุษย์ใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ก็ทำนองนั้น

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึงการลำเลียงศพผู้เสียชีวิตกลับประเทศว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าไหร่และอยู่ในจุดไหนของอิสราเอลบ้าง คงต้องรอข้อมูลจาก กต.ก่อน ซึ่งในส่วนของเครื่องบินแอร์บัส ทอ.สามารถลำเลียงศพได้ แต่ขึ้นอยู่กับขั้นตอนในเรื่องของการอนุญาต การพิสูจน์ทราบ หรืออาจใช้บริการของบริษัทเอกชนเคมาร์ ซึ่งต้องรอการพิจารณาสั่งการต่อไป

ช่วงค่ำ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง โพสต์ทวิตเตอร์มีข้อความว่า "ผมขอย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้ความช่วยเหลือและความปลอดภัยของพี่น้องคนไทยที่อยู่ในอิสราเอล โดยผมได้รับทราบว่า ขณะนี้มีแรงงานชาวไทยในอิสราเอลจำนวนพันกว่าคนที่แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับมายังประเทศไทย ซึ่งผมได้สั่งการให้ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพอากาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็ว"

"ในการนี้การอพยพจะเริ่มดำเนินการในทันที โดยทางสถานทูตไทยได้รายงานว่าจะจัดส่งคนไทยชุดแรก 15 คน  ซึ่งบางรายเป็นผู้บาดเจ็บ โดยสายการบินพาณิชย์กลับถึงประเทศไทยในวันที่ 12 ต.ค.นี้ และจะทยอยส่งกลับเป็นชุด ๆ โดยมีคนไทยจำนวน 76 รายที่ทางการอิสราเอลช่วยนำออกมาจากพื้นที่สู้รบ ตลอดจนจำนวนที่เหลือทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายได้ประสานความพร้อมในการส่งเครื่องบินกองทัพอากาศไปรับ หรือโดยเที่ยวบินพาณิชย์ รวมทั้งการเช่าเหมาลำตามความเหมาะสมของสถานการณ์ นอกจากนี้ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยที่เกี่ยวข้อง ให้ติดต่อกับมิตรประเทศเพื่อช่วยประสานในการปล่อยตัวคนไทยที่จับกุมอีกทางด้วยแล้ว ทั้งหมดนี้ทางการไทยให้ความสำคัญยิ่งกับความปลอดภัยของคนไทย ทั้งนี้ไทยเป็นมิตรและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย และปรารถนาที่จะเห็นการยุติความรุนแรงรวมทั้งสถานการณ์กลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว"

ด้าน พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการกำชับมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ สถานที่พำนัก และสถานที่ต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ระหว่างกันกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยให้คุมเข้มมาตรการเข้าประเทศ การรักษาความปลอดภัย กำหนดมาตรการแสดงกำลัง เพิ่มวงรอบความถี่ในการตรวจตรา การตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ให้ตำรวจท้องที่ประสานกับรถสายตรวจ 191 ตำรวจกองปราบปราม ตำรวจสันติบาล ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อร่วมบูรณาการปฏิบัติ รวมทั้งให้มีการสำรวจจุดล่อแหลม จุดเสี่ยงต่างๆ มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุ แผนฉุกเฉิน และซักซ้อมการปฏิบัติร่วมกัน เตรียมความพร้อมปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานและทุกภาคส่วน

ส่วนนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัด และหน่วยงานในกำกับกระทรวงแรงงาน ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารสร้างขวัญกำลังใจ พร้อมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายให้ญาติแรงงานได้รับทราบ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์สู้รบในอิสราเอลขึ้น เพื่อรับข้อมูลและประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อเร่งช่วยเหลือคุ้มครองดูแลพี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลทุกคนอย่างรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลรวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยบริเวณเมือง Netivot, Sderot, Ashkelo และพื้นที่ใกล้เคียงประมาณ 5,000 คน

"รัฐบาลมีความห่วงใยแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล ขอให้ญาติพี่น้องแรงงานไทยมั่นใจว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลแรงงานไทยให้ดีที่สุด และจะเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบ ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด ส่วนครอบครัวของพี่น้องแรงงานชาวไทยที่ยังไม่สามารถติดต่อญาติ พี่น้อง ณ ประเทศอิสราเอลได้ในเวลานี้ สามารถติดต่อประสานงานขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 และ 0-2245-6710-11 โดยจะมีเจ้าหน้าที่รับประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับแรงงานในอิสราเอลติดต่อได้ที่เบอร์ (+972) 5 4636 8150 กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ หมายเลข 0-2575-1047-51  ฝ่ายแรงงานไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โทร. (+972) 544 693 476 WhatsApp ID 0544693476 Line ID 0544693476 ตลอด 24 ชม.” นายคารมกล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ได้ให้นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม.ซึ่งร่วมอยู่ในวอร์รูมที่รัฐบาลตั้งขึ้นคอยติดตามเหตุการณ์อยู่ตลอด เพื่อติดตามว่ามีใครที่ได้รับผลกระทบ เพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร อยู่ที่จังหวัดใดบ้าง แล้วขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ พม.จังหวัด นักจิตวิทยาและสหวิชาชีพ รีบเข้าไปพูดคุยกับครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว จะต้องเข้าไปเยียวยาทางจิตใจ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว

พร้อมอพยพคนไทยทั้งหมด

วันเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภา นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ สว.และอดีตรองปลัด กต. ตั้งกระทู้ถามสดกรณีการดำเนินนโยบายการต่างประเทศต่อสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส โดยนายจักรพงษ์ชี้แจงว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างเจรจาอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลยืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางพาคนไทยทุกคนกลับมา แม้ว่าตัวเลข 30,000 คนจะมีจำนวนมากก็ตาม อย่างไรก็ดีได้คุยกับกองทัพ ภาคเอกชน ให้มีช่องทางพาคนไทยทุกคนกลับมา

นายจักรพงษ์ชี้แจงอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศ และวางตัวเป็นกลางในปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มาโดยตลอด และได้สนับสนุนแนวทาง 2 รัฐ คือแนวทางรัฐอิสราเอล และปาเลสไตน์อยู่เคียงคู่กัน โดยเป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศและยูเอ็นเอสซี รวมถึงข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เห็นว่าทั้ง 2 รัฐควรเร่งเจรจาตกลงในปัญหา เพื่อความมั่นคงและสันติภาพที่ยั่งยืน ทั้งนี้รัฐบาลขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาที่สันติ ที่จะบรรลุได้จากการเจรจาที่สันติเท่านั้น ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อคนไทยและทรัพย์สิน รัฐบาลขอประณาม รัฐบาลไทยขอให้รัฐบาลอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องดูแลสันติภาพ ความปลอดภัย และอำนวยความสะดวก ปล่อยตัวคนไทยให้ออกมาอย่างปลอดภัย

ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่ได้นำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ แต่กระทรวงก็ได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องเพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยได้เตรียมความพร้อมด้านการสำรองปริมาณพลังงาน โดยปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,180 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน

“หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจะเป็นเรื่องของราคาพลังงานโลก เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก”

 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ไม่น่าส่งผลต่อปริมาณน้ำมันในโลก เพราะไม่ได้เป็นแหล่งผลิตน้ำมันหลัก แต่อาจจะส่งผลทางด้านจิตวิทยาบ้าง ทำให้ราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นประมาณ 3-4 ดอลลาร์/บาร์เรล แม้ล่าสุดสถานการณ์ราคาจะเริ่มอ่อนตัวลงมาบ้างแล้ว แต่ก็อาจสูงกว่าราคาช่วงก่อนเกิดสงครามประมาณ 2 ดอลลาร์/บาร์เรล

“คนไทยไม่ต้องกังวลเรื่องของการมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำมันสิ้นปีนี้ไม่น่าเกิน 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 84 ดอลลาร์/บาร์เรล” นายอรรถพลกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง