เตือน11จังหวัดรับมือฝนถล่ม

รัฐมนตรีพาเหรดลงพื้นที่น้ำท่วม มอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย “สมศักดิ์” ขนทีม สส.เพื่อไทยลงร้อยเอ็ด ส่วน “อนุทิน” หอบข้าราชการ มท.ไปกาฬสินธุ์    “ไชยา” โวหลังน้ำลดรัฐบาลเศรษฐาเตรียมเยียวยาทุกรูปแบบ ปภ.เตือน 10 จังหวัดรวมถึง กทม. ระวังฝนถล่มหนัก 8-11 ต.ค.

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ต.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สส.พรรคเพื่อไทย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม โดยได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณตลิ่งลำน้ำชี บ้านคุ้งสะอาด ต.นาเลิง อ.เสลภูมิ เพื่อมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดรายงานว่า ร้อยเอ็ดได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว 12 อำเภอ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 23,758 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย พื้นที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 91,858 ไร่ ส่วนด้านปศุสัตว์ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,057 ราย

ต่อมาคณะนายสมศักดิ์ยังได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอีก 2 จุด คือ ตรวจพื้นที่ฝายดินซีเมนต์ลำน้ำยัง บ้านบาก ต.วังหลวง และตรวจเยี่ยมประตูระบายน้ำลำน้ำชีตอนกลาง ที่พังทุกปี ซึ่งนายสมศักดิ์ได้ประสานให้ผู้ว่าฯ จัดทำงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาแบบระยะยาวด้วย

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย จะนำคณะข้าราชการ มท.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยใน จ.กาฬสินธุ์ และมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยใน 2 จุด ได้แก่ ต.คำสร้างเที่ยง อ.สามชัย และ ต.โนนศิลา อ.สหัสขันธ์

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายอนุทินยังมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยตามข้อสั่งการนายกฯ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเร่งด่วน และขอให้มีการดูแลสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลาย ให้เร่งสำรวจความเสียหาย โดยให้ความช่วยเหลือตามระเบียบโดยเร่งด่วน โดยคำนึงถึงการได้รับการเยียวยาของประชาชนให้เร็วที่สุด

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย   พร้อมด้วย น.ส.มนัญญา​ ไทย​เศรษฐ์ ​ ประธานคณะที่ปรึกษา​ รมช.มหาดไทย ​ และคณะ ตรวจเยี่ยม​สถานการณ์​น้ำและภัยแล้ง​ 3 จังหวัดภาคกลาง ทั้งอุทัยธานี นครสวรรค์ และชัยนาท

ส่วนนายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เข้ารับฟังการรายงานปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาว และสถานการณ์น้ำท่วม จ.กาฬสินธุ์ โดยหลังรับฟังรายงานสถานการณ์ที่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้น นายไชยาได้เดินทางไปยังอาคารผันน้ำเขื่อนลำปาว พร้อมกดปุ่มลดบานประตูชะลอการระบายน้ำลงในพื้นที่ราบลุ่ม พร้อมกำชับเตรียมการให้ส่วนราชการ และประชาชน ประกาศเตือนภัยเพื่อรับมือกับมวลน้ำในลำน้ำชีที่จะไหลเข้ามาสมทบในพื้นที่กาฬสินธุ์

 “ภายหลังน้ำลด การช่วยเหลือจะเกิดขึ้นทุกรูปแบบ โดยการนำของรัฐบาล เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ได้กำชับให้ทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ทำการเยียวยาพี่น้องประชาชนให้ดำรงชีวิตได้ และในขณะนี้ได้ทำการสำรวจในเรื่องความเสียหายเอาไว้แล้ว” นายไชยากล่าว และเดินทางไปมอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภคให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านท่าเรือ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด และบ้านท่าสินธุ์ บ้านสีดา ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 8 ต.ค.  ไทยทุกภาคยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และจากสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งยังคงมีอยู่ในหลายจังหวัด กรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เฝ้าระวัง ป้องกันความเสี่ยงสุขภาพที่มากับน้ำท่วมต่างๆ

 “รัฐบาลห่วงใย จึงขอให้ประชาชนได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงสุขภาพจากน้ำท่วมของทุกคน”นายชัยกล่าว

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ในช่วงวันที่ 8-11 ต.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, กลาง, ตะวันออก และใต้ ทั้งนี้ สทนช.ได้วิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ โดยมีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 9-15 ต.ค.ต่างๆ รวมทั้งเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ

“จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.อุบลราชธานีและยโสธรของนายเศรษฐา ได้กำชับให้ทุกส่วนราชการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำอย่างเต็มที่ ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในส่วนของน้ำท่วม และการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร โดยนายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากไปเรื่อยๆ ทุกหน่วยงานจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด ทำให้ไม่เกิดน้ำท่วม หรือเกิดให้น้อยที่สุด” นายคารมกล่าว

ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.)  ได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่าอิทธิพลของร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นในช่วงวันที่ 8-11 ต.ค.2566 กอปภ.ก.จึงได้ประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, ปทุมธานี, นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชน ขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ ทางไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784 โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT ทุกที่ทุกเวลา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง