ลุยต้นปี67ทำประชามติ รทสช.หนุนนิรโทษกรรม

ลุ้นประชุมคณะกรรมการประชามตินัดแรก หึ่ง! หวังเคาะประชามติครั้งแรกต้นปี 2567 โฆษก รทสช.บอกเห็นด้วยนิรโทษกรรม แต่ต้องไม่รวม 3 เรื่อง      ผิดอาญาร้ายแรง-โกง-มาตรา 112  

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ต.ค.2566 มีรายงานข่าวจากคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ว่า ในการประชุมนัดแรกวันที่ 10 ต.ค. นายภูมิธรรม  เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ จะมีการประชุมเพื่อวางกรอบต่างๆ ในการทำประชามติ เช่น เรื่องการตั้งคำถามว่าจะถามกันอย่างไร  และกำหนดว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง โดยจะพยายามทำประชามติครั้งแรกช่วงต้นปี  2567

นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) หนึ่งในคณะกรรมการฯ กล่าวถึงการประชุมวันที่ 10 ต.ค.ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด คาดว่าเป็นการกำหนดแนวทางการทำงานตามกรอบของนายกรัฐมนตรี และการแบ่งสัดส่วนงานว่าใครต้องดำเนินการส่วนไหนอย่างไร ส่วนพรรค ภท.จะเสนอประเด็นใดเข้าสู่ที่ประชุมหรือไม่นั้น เนื่องจากพรรคยังไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้ คงเป็นการรับฟังว่าคณะกรรมการฯ ว่ากันอย่างไร แล้วจึงนำมาเสนอในพรรคอีกครั้งก่อน

สำหรับความเคลื่อนไหวในกรณีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม แก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ..… เข้าสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า  การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งหลักการสร้างความปรองดองเป็นจุดยืนของพรรค รทสช.อยู่แล้ว ในการสลายสีเสื้อที่มีความขัดแย้งมาตลอด 20 ปี เราต้องหยุดเพื่อให้ประเทศเดินหน้า แต่หลักความผิดที่เราไม่เห็นด้วยคือเรื่องความผิดอาญาร้ายแรง สองคือการทุจริตคอร์รัปชัน และสามคือการทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วนการนิรโทษกรรมที่จะสร้างความปรองดองเราเห็นด้วย แต่ต้องไม่แตะในสามกลุ่มความผิดนี้

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลเสนอว่าหากพรรคอื่นๆ เห็นสอดคล้อง ก็สามารถยื่นร่างเพื่อประกบเข้ากับร่างของพรรคก้าวไกลได้ รทสช.จะหารือประเด็นนี้หรือไม่ นายอัครเดชกล่าวว่า พรรค รทสช.มีคณะทำงานด้านกฎหมายที่ศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอยู่แล้ว แต่จะเสนอประกบด้วยหรือไม่ ต้องรอเข้าสู่ที่ประชุมพรรคอีกที ซึ่งจะมีการหยิบยกเรื่องนี้มาหารือแน่นอน แต่จะเป็นช่วงใดนั้น ขึ้นอยู่กับวาระที่จะบรรจุในที่ประชุมสภา

ส่วนนายสุระ เตชะทัต เลขาธิการพรรคพลังบูรพา กล่าวว่า ทุกฝ่าย ทั้งพรรคก้าวไกลหรือพรรคการเมืองอื่นต่างมองเห็นตรงกันในจุดใหญ่คือ ควรนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2549, 2552, 2553, 2557 และ 2561 เพียงแต่ในรายละเอียดควรต้องมาพิจารณาร่วมกันจะครอบคลุมไปถึงมูลฐานความผิดใด คดีความประเภทใด ที่ควรได้รับการนิรโทษฯ  หรือไม่ได้รับการนิรโทษฯ

“หลักคิดนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม แสดงออกทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่ดี เพื่อสลายความขัดแย้ง ทำให้คนในชาติสามัคคี หลังจากเราขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาตลอดในยุค 17 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่า นอกจากนักการเมืองใช้เวทีสภาหารือแล้ว ด้านนอกสภาก็ควรมีเวทีสาธารณะมาถกเถียงหาข้อสรุปร่วมกันจนตกผลึก แล้วนำมาซึ่งทางออก โดยที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแสดงออกทางการเมืองก็จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยที่ไม่กระทบไปถึงกระบวนการยุติธรรม ในแง่การบังคับใช้กฎหมายก็ต้องไม่กระทบเช่นกัน” นายสุระระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' จ่อบิน ตรวจบึงบอระเพ็ด แม่น้ำน่าน-เจ้าพระยา จ.สุโขทัย - ชัยนาท 31 ส.ค. นี้

'ภูมิธรรม' เตรียมบิน ตรวจบึงบอระเพ็ด แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมประชุมแนวทางการบริหารจัดการน้ำ จ.สุโขทัย - ชัยนาท 31 ส.ค. นี้

ช่วยนักโทษติดคุกหมด เสรีพิศุทธ์ถอนตัวงัดหลักฐานมัดแก๊งชั้น14/ปชป.มีมติร่วมรบ.

"นายกฯ อิ๊งค์" อารมณ์ดีนัดสื่อให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง 30 ส.ค. "ภูมิธรรม" มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลังดึง

“ภูมิธรรม” เคาะ 68 มาตรการ คุมเข้มนำเข้าสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐานและผิดกฎหมายจากต่างประเทศ

“ภูมิธรรม” เคาะ 68 มาตรการ คุมเข้มนำเข้าสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐานและผิดกฎหมายจากต่างประเทศ พร้อมปรับกฎระเบียบรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก