อัตราโทษสูงสั่งขังยกก๊วน! ประเมินสุขภาพจิต‘เด็ก14’

กรุงเทพฯ ๐ คอตกยกแก๊ง ศาลอาญาใต้ไม่ให้ประกันกลุ่มผู้ต้องหาขายปืน-กระสุนให้เด็ก 14 กราดยิงพารากอน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ส่วนมือปืนยังคงอยู่ระหว่างการประเมินสุขภาพจิตจากจิตแพทย์ ด้านผู้ปกครองโผล่ให้ความร่วมมือ

     เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง  พนักงานสอบสวน สน.วัดพระยาไกร ยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังครั้งแรก นายปิยะบุตร เพียรพิทักษ์ อายุ 30 ปี ผู้ต้องหา ตามคำร้องฝากขังหมายเลขดำ  ฝ.622/2566 คดีมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ และพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490

     ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องได้เป็นเวลา 12 วัน ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง และพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราว เชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนี จึงให้ยกคำร้อง

     และกรณีพนักงานสอบสวน สน. ยานนาวา ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งแรก นายปิยะบุตร เพียรพิทักษ์ ผู้ต้องหาที่ 1, นายสุวรรณหงษ์ พราหมณ์คณาจารย์ อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาที่ 2, นายอัครวิชญ์ ใจทอง อายุ 22 ปี ผู้ต้องหาที่ 3 ตามคำร้องฝากขังหมายเลขดำ ฝ.624/2566 คดีร่วมกันจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490

     ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องได้เป็นเวลา 12 วัน ผู้ต้องหาทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสาม เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง และพนักงานสอบสวนคัดค้าน จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ต้องหาชุดดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้ขายปืน เครื่องกระสุนปืน กรณีเด็ก 14 ปีนำไปใช้ก่อเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน

     มีรายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีส่งตัวเด็ก 14  ก่อเหตุบุกยิงในห้างดังเข้ารับการประเมินสุขภาพจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้เด็กยังอยู่ระหว่างการประเมินสุขภาพจิตจากจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และทางกรมพินิจฯ ยังไม่ได้รับรายงานความเห็นของแพทย์ว่าจะมีผลพิจารณาสรุปอาการทางจิตของเด็กอย่างไร เพราะจะต้องใช้ระยะเวลาสำหรับการประเมินตามขั้นตอนอย่างรอบด้าน หรือหากแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาหลังจากนี้

     พบว่าเคสของเด็กที่สถานพินิจฯ ส่งตัวไปรับการประเมินนั้น ส่วนใหญ่มี 2 แนวทาง คือ 1.อาจจะต้องเข้ารับการนอนพักรักษาตัว (Admit) ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จนกว่าแพทย์จะประเมินเห็นว่าไม่มีสัญญาณเสี่ยงในเรื่องสุขภาพจิตแล้ว และพิจารณาส่งกลับสถานพินิจฯ

     และ 2.อาจได้รับการกำหนดใช้ยาในการรักษาแทน ซึ่งอาจจะเป็นยาเพื่อปรับสารเคมีในสมอง แต่ทั้งหมดไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กชายรายดังกล่าวจะได้รับการรักษาด้วยวิธีการใด เพราะที่ผ่านมาเด็กแต่ละคนมีสุขภาพจิตแตกต่างกันออกไป แพทย์จึงต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคล แนวทางการรักษาจึงแตกต่างกัน ทั้งนี้ ในกรณีนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ก่อเหตุมีอายุน้อย และเป็นคดีที่มีความน่าตกใจ จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ

     นอกจากนี้ สถานพินิจฯ ได้ปฏิบัติตามความเห็นของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา คือนำส่งตัวเด็กเข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ ได้มีการแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบทุกกระบวนการ และทางพ่อแม่ของเด็กรู้สึกค่อนข้างสบายใจหลังจากทราบกระบวนการต่างๆ และประสงค์ให้ลูกชายได้รับการรักษา ซึ่งทางสถานพินิจฯ ก็ได้แจ้งว่าเรื่องการรักษาจะขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นหลัก เบื้องต้นเด็กจะต้องนอนพักรักษาตัว (Admit) ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จำนวน 5 วัน เพื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่นจะได้ดำเนินการตรวจประเมินอย่างละเอียด

     ส่วนในเรื่องของผู้ปกครองเด็กชาย ได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่คุมประพฤติของกรมพินิจฯ ได้มีการสอบปากคำผู้ปกครอง เพื่อสอบถามถึงการเลี้ยงดูบุตรที่ผ่านมา และสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูเป็นอย่างไร จากนั้นทางเจ้าหน้าที่คุมประพฤติของกรมพินิจฯ จึงจะออกสืบเสาะรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางสำหรับการพิจารณา ซึ่งผู้ปกครองให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเป็นอย่างดี.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง