พวกมีกินอย่าขวาง พท.ถล่มเสียงต้านแจกเงินดิจิทัล‘เศรษฐา’ยันจบในต.ค.

ร้อยเอ็ด ๐ "เศรษฐา" โต้นักวิชาการ  เป็นแค่หนึ่งเสียง ขณะที่ประชาชนมีอีกหลายสิบล้านเสียงที่ต้องการเงินดิจิทัล ยอมรับนโยบายยังไม่ตกผลึก รอปลายตุลา.คลอดแน่ ตรรกะวิบัติ! เพื่อไทยรุมถล่มคนค้าน เป็นพวกอยู่ดีมีกิน อยู่สบายแล้วจึงไม่คิดถึงประชาชนที่กำลังลำบาก

     เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรหัวโทน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีประชาชนหลายพื้นที่เรียกร้องโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า มีประชาชนหลายพื้นที่แสดงเจตจำนงว่าอยากได้มาก ตนก็ดีใจ เพราะตลอด 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีนักวิชาการหลายท่านไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการ

     "ผมยืนยันตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯ  รัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำทั้งหลายจากทุกหน่วยงาน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย เราน้อมรับไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแต่งเติมให้ทุกอย่างดูดีขึ้น แต่ไม่มีการยกเลิก ยืนยันว่าโครงการเงินดิจิทัลฯ ไม่ใช่โครงการหาเสียง ไม่ใช่โครงการที่มาโปรยเงินให้ประชาชนเลือกตั้งให้เรากลับมาใหม่ แต่เป็นโครงการที่เราตระหนักดีถึงความจำเป็นและความต้องการของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม"

     นายเศรษฐากล่าวว่า การที่ประชาชนมีรายจ่ายเยอะ มีภาระเยอะ จะไม่มีขวัญกำลังใจทำมาหากิน การลดค่าใช้จ่ายของเราก็เพื่อให้ประชาชนมีขวัญกำลังใจทำมาหากิน แต่ก็มีปัญหาอีก เมื่อมีขวัญกำลังใจแล้วเอาเงินทุนจากที่ไหน คนต่างจังหวัดไม่ได้มีเงินเยอะเหมือนคนที่อยู่บนฐานบนของสังคม ความเหลื่อมล้ำมีเยอะมากในสังคมไทย เขาไม่มีเงิน งบประมาณของโครงการนี้ประมาณ 5 แสนกว่าล้าน ไม่ใช่งบประมาณที่ทำทุกปี ขอทำความเข้าใจว่าทำแค่ครั้งเดียว ไม่ใช่ตั้งใจเอามาเพื่อซื้อเสียง เราทำออกมาเพื่อให้โดนใจประชาชน และมีเงินทุนในการประกอบอาชีพอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

     “นักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ผมน้อมรับ แต่ท่านก็เป็นแค่หนึ่งเสียง พี่น้องประชาชนมีอีกหลายสิบล้านเสียงที่ต้องการเงินดิจิทัล เราน้อมรับฟังและนำไปปรับปรุงเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เสียภาษี ฝ่ายประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างมากที่หมักหมมมานาน ผมขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะไม่ลุด้วยอำนาจ และจะฟังความคิดเห็น แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความลำบากของประชาชน การที่ประชาชนขาดเงินทุนที่จะไปดำรงชีพเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญที่สุด ยืนยันจะไม่มียกเลิกเงินดิจิทัล”

     เมื่อถามว่า นักวิชาการควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ใช่ ขอวิงวอนว่านักวิชาการแสดงความคิดเห็นมาเยอะ ขอให้แสดงความคิดเห็นออกมาอีก และนักวิชาการที่เห็นด้วยก็มี ก็ช่วยแสดงความคิดเห็นมาด้วย ตนในฐานะคนกลางตัวแทนประชาชน ก็จะนำไปพิจารณาและปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ให้โดนใจทุกคน  

     ซักว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีโอกาสได้พูดคุยกับนักวิชาการที่เห็นต่าง เพื่อให้ไม่ให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดี นายเศรษฐายืนยันว่า คุยตลอด สัปดาห์ที่ผ่านมาก็คุยกับผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย และทีมงานก็คุยกับนักวิชาการหลายท่าน ได้ไปพูดคุยและรับฟังตลอด

นโยบายยังไม่ตกผลึก

     ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่มีเสียงคัดค้าน  เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะยังไม่เห็นรายละเอียด นายกฯ ตอบว่า ก็เป็นไปได้ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาจยังไม่เข้าใจ ขอให้ตกผลึกทั้งหมดก่อนในแง่นโยบายว่ารายละเอียดมีอะไรบ้าง เช่นบางคนบอก 4 ตารางกิโลเมตรอาจไม่พอ เพราะบางที่มองไปมีแต่ทุ่งไม่มีร้านค้าจะทำอย่างไร รัฐบาลรับฟัง เดี๋ยวจะไปพิจารณาใหม่ เพราะน่าจะปลายเดือนต.ค. น่าจะออกมาได้ทุกอย่าง ขอให้อดทนนิดหนึ่ง

     เมื่อถามย้ำว่า เหมือนมีข้อมูลทั้งหมดในมือหมดแล้วใช่หรือไม่ นายเศรษฐายืนยันว่า มีข้อมูลแล้ว และย้ำว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ใช้ครั้งเดียวไม่ได้ทำทุกปี ถ้าทำแล้วไม่ใช่แค่ประชาชน ภาคอุตสาหกรรมก็จะได้ สื่อลองคิดดู วันที่ดิจิทัลวอลเล็ตไปสู่กระเป๋าเงินประชาชนทุกคนประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท ถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมจะผลิตสินค้ามารองรับหรือไม่ ก็จะมีการซื้อวัตถุดิบ มีการจ้างงาน ห้างร้านก็จะมีกำไร มีการจ่ายภาษีเกิดขึ้น รัฐบาลไม่ใช่จ่ายอย่างเดียว เราก็มีรายรับกลับมา เราคิดแล้วและน้อมรับฟังข้อคิดเห็นของทุกฝ่าย ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาได้ ประชาชนต้องมีเงินทุนก่อน ถ้ามีเงินทุนแล้วนโยบายการเกษตรที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา การที่เราจะไปเปิดตลาดให้ราคาพืชผลดีขึ้น หลายอย่างจะทยอยเข้ามา ขอความเห็นใจว่าเราพยายามทำดีที่สุด เรารับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย

     ถามว่า ไม่ได้กังวลใช่หรือไม่กับนโยบายดีๆ ที่มีคนออกมากระตุกแขนกระตุกขา นายกฯ ตอบว่า สื่อถามถึงความกังวล ก็กังวลทุกเรื่อง เพราะอยู่ตำแหน่งตรงนี้ เราต้องให้ความสำคัญกับข้อคิดเห็นของทุกฝ่าย ถ้าท่านทักท้วงมาเราก็กังวล เพราะเราเชื่อว่าทุกคนก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิให้ความคิดเห็นเรามา ตนมีความกังวล แต่พยายามทำดีที่สุด

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางตรวจน้ำท่วมของนายเศรษฐาที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดนี้ มีประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ และถือป้ายเรียกร้องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต  โดยป้ายข้อความระบุว่า "เราต้องการเงินดิจิทัล 10,000 บาท", ชาวร้อยเอ็ดอยากได้ 10,000 บาท, เศรษฐกิจร้อยเอ็ดแย่ เอาเงิน 10,000 บาท มาเยียวยาก่อนได้ไหม”

     โดยทันทีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงประชาชนที่มารอต้อนรับได้นำผ้าขาวม้ามาผูกเอว ก่อนที่นายกฯ จะเดินไปยังป้ายข้อความที่เรียกร้องโครงการเงินดิจิทัลฯ พร้อมถ่ายรูปกับประชาชนที่ถือป้ายดังกล่าวอย่างเป็นกันเอง​ และกล่าวกระเซ้านายกิตติ​ สมทรัพย์​ สส.ร้อยเอ็ดพรรคเพื่อไทย​ ที่เดินมาและร่วมถ่ายรูปด้วยว่า​ "คุณจะมาถ่ายรูปกับผมทำไมเล่า เฮ้อ!" ก่อนจะใช้มือดันนายกิตติออกนอกเฟรมถ่ายภาพ พร้อมชูนิ้วโป้งเพื่อถ่ายรูปร่วมกับประชาชน และกล่าวว่า​ "เงินหมื่น"

เดินหน้าแน่นอน

     ด้านนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า ในฐานะตัวแทนรัฐบาลน้อมรับฟัง และเก็บทุกความคิดเห็นมาเป็นข้อพิจารณา ซึ่งตัวนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ตอนนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต โดยการรวบรวมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ในเชิงนโยบาย เราได้รับปากกับประชาชนไว้ที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ดังนั้นเราเดินหน้าแน่นอน และมั่นใจว่านอกเหนือจากคนที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วย ก็มีคนจำนวนมากที่เห็นด้วย และประชาชนที่เลือกเรามาก็อยากให้เราดำเนินการนโยบายดังกล่าว

     เมื่อถามถึงกรณีที่มีข้อเสนอว่าให้ทำประชามติก่อน นายชนินทร์กล่าวว่า คิดว่านโยบายของพรรคทุกพรรคที่มีการหาเสียงก็เป็นเหมือนกึ่งๆ การทำประชามติ หรือการรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนมาก่อนแล้ว ถ้าทุกนโยบายที่รัฐบาลจะทำต้องวนไปทำประชามติ ตนคิดว่าการเคลื่อนตัวของประเทศคงช้าและไม่ทันการณ์ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะหลับหูหลับตาทำโดยไม่สนใจพี่น้องประชาชน ซึ่งเรามีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับฟังและศึกษาอย่างละเอียด

     “การจะอนุมานไปเองว่าตอนนี้เศรษฐกิจดีแล้วไม่จำเป็นต้องกระตุ้น  ผมคิดว่าไม่ถูกต้องซะทีเดียว แต่เราก็รับฟังที่เขาตั้งคำถามถึงความเหมาะสมหรือความคุ้มค่าของการลงทุน วิพากษ์วิจารณ์ได้ เราจะพยายามนำข้อมูลทั้งหมดมาพูดคุยกันในคณะกรรมการ แล้วสรุปอีกครั้ง และยืนยันในฐานะพรรคเพื่อไทยว่าเราจะผลักดันนโยบายนี้จนถึงที่สุด และให้ความเชื่อมั่นว่าน่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน” นายชนินทร์กล่าว

     ส่วนนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า เงิน 10,000 บาท จะสามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรพี่น้องทุกหมู่เหล่า เรื่องนี้พี่น้องประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดการจ่ายเงินในโครงการ Digital Wallet โดยเร็ว ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเกิดผลดีกับประเทศมากเท่านั้น  เพราะปัจจุบันกำลังซื้อในมือของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศนั้นลำบากมาก เงินที่จ่ายผ่าน Digital Wallet จะเกิดประโยชน์มหาศาลกับพี่น้องประชาชนสามารถนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้

พวกกินดีไม่เห็นความลำบาก

     “เม็ดเงินจำนวนกว่า 560,000 ล้านบาท จะถูกอัดฉีดเข้าระบบในต้นปี 2567 มั่นใจว่าจะสร้างประโยชน์มหาศาลประชาชน นอกจากนี้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ภาคอุตสาหกรรมก็ได้ประโยชน์ โรงงานผลิตสินค้าจะผลิต สินค้ามากขึ้น แรงงานก็มีงานทำมากขึ้นตามไปด้วย ตามมาคือรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วนนักวิชาการที่ออกมาโจมตีนโยบาย Digital Wallet เพราะคนเหล่านี้อยู่ดีมีกินแล้ว ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้เพราะคนเหล่านี้อยู่สบายแล้ว  จึงไม่คิดถึงประชาชนที่กำลังลำบาก ดังนั้นรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ประชาชนมีความสุข นโยบายที่ออกมาจึงเป็นนโยบายที่ยึดประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นที่ตั้ง นโยบายดังกล่าวจะส่งผลต่อประเทศและประชาชนอย่างแน่นอน” นายสมคิดกล่าว  

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนักวิชาการ 99 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เรียกร้องรัฐบาลยกเลิกเหตุได้ไม่คุ้มเสียว่า นายเศรษฐาในฐานะหัวหน้ารัฐบาลยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ อยู่แล้ว นักวิชาการออกมาคัดค้านถือเป็นสิทธิ รัฐบาลต้องรับฟัง เช่นเดียวกับโพลมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและอีกหลายโพล ที่ชี้ชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ต้องการให้นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทเกิดขึ้นโดยเร็ว ก็ต้องรับฟังด้วยเช่นกัน รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้สำเร็จ ทุกภาคส่วนทำงานกันอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ยึดตามกรอบวินัยการเงินการคลังและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทุกคนที่เป็นคณะกรรมการล้วนมาจากทุกภาคส่วนที่หลากหลาย ครอบคลุม เพื่อเข้ามาขับเคลื่อนและมีส่วนร่วมในนโยบายนี้ สิ่งใดที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงโครงการของประชาชน ตนเชื่อว่ารัฐบาลพร้อมรับฟัง

     “นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาล หากมีข้อเสนอในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใด เพื่อให้นโยบายเดินหน้า ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด รัฐบาลยินดีรับฟัง” นายอนุสรณ์กล่าว

     ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย แสดงความคิดว่า นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้อยู่ส่วนบนของยอดพีระมิดทางเศรษฐกิจ อาจมองจากมุมเดิมๆ หรือมองจากแค่มิติเดียว อยากให้ผู้สื่อข่าวลองไปสอบถามกรณีเงินดิจิทัลจากมุมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดกับวิกฤตเศรษฐกิจ 9 ปีที่ผ่านมากันดูบ้าง ว่าคิดเห็นอย่างไรกับเงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะแจก ซึ่งจะมองจากมุมนี้หรือดาวไหน  ก็เห็นว่าประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง  ยากจนเป็นหนี้กันทั่วหน้า เอสเอ็มอีล้มหายตายจาก ถูกฟ้องดำเนินคดีกันมากมาย จะผิดอะไรถ้ารัฐบาลจะช่วยประชาชนให้ฟื้นตัว มันก็ต้องกระตุ้นที่หัวใจ รดน้ำที่ราก เติมเงินให้ประชาชน กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการผลิตครั้งใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน คนมีเงินก็จะกล้าเอาเงินมาลงทุน เพราะจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

เพื่อไทยคิดใหญ่ทำเป็น

     นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า การทำโครงการขนาดใหญ่ วันนี้ตนเชื่อว่าน่าจะยังไม่ทันกับงบประมาณปี 67 เพราะตั้งรัฐบาลช้า การจัดทำงบประมาณล่าช้าเกือบครึ่งปี ถ้าคิดแบบเดิมๆ เหมือนที่อดีตผู้ว่าฯ ธปท.และนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้แนะนำ ก็จะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม  ตนไม่อยากให้ขวางโลกหรือย่ำอยู่กับที่ เหมือนตอนที่ท่านเป็นผู้ว่าฯ ธปท.ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ที่เศรษฐกิจไม่ฟื้น ซึมยาวเหมือนคนป่วยหนักมาถึงทุกวันนี้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งภาระที่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะต้องแก้ไข

     “ผมเชื่อว่าเพื่อไทยคิดใหญ่ทำเป็น  เคยทำสำเร็จมาแล้วหลายครั้งหลายหน  ในอดีตการคิดนอกกรอบ การมีนโยบายใหม่ วิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนก็เคยเห็นกันมาแล้ว โครงการใหม่ๆ ในขณะนั้น เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน 76,000 ล้านบาท ตอนนั้นก็ถูกคัดค้านติติง บ้างก็ล้อเลียนว่าตายทุกโรค อ้างทำไม่ได้เอาเงินมาจากไหน แล้วสุดท้ายเป็นยังไง สำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้" นายพร้อมพงศ์กล่าว

     นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เคยท้วงติงตั้งคำถามตั้งแต่ช่วงแรกนับแต่วันที่มีการแถลงนโยบายว่า รัฐบาลยังแจงรายละเอียดต่อประชาชนไม่ได้ว่าจะมีหลักการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร งบประมาณจะใช้จากส่วนไหน วิธีการดำเนินการยังกลับไปกลับมา และขณะนี้มีแถลงการณ์ของอาจารย์เศรษฐศาสตร์ได้ออกมาให้ความเห็นด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งรัฐบาลต้องรับฟังความเห็นด้วยความจริงใจ แต่ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความสนใจ ทั้งๆที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะงบประมาณที่จะต้องนำไปใช้กับโครงการดังกล่าวมีจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท

     คำท้วงติงที่บอกว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย นายกรัฐมนตรีต้องละเอียดในการตรึกตรอง การใช้จำนวนเงินมากมายมหาศาล หากนำมาสร้างงานเพื่อให้ประชาชนได้เกิดรายได้ที่ยั่งยืนได้ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องคิดให้ดี เพราะหากจะเดินหน้าโดยไม่สนใจไยดี ท้ายที่สุดประชาชนก็ต้องรับผลกระทบ ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ราคาสินค้าจะแพงขึ้นหรือไม่ จะมีผลต่อหนี้สาธารณะหรือไม่ รัฐบาลต้องคิด และอย่าเอาชีวิตประชาชนและประเทศมาเป็นตัวประกัน เพราะหากเกิดความเสียหายรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร

     นายราเมศกล่าวต่อว่า นายเศรษฐา ต้องไม่ลืมคำพูดของตนเองที่พูดว่า “บางทีเสียงที่เราไม่อยากได้ยินกลับเป็นเสียงสวรรค์” ดังนั้นก็ควรระลึกถึงคำพูดและปฏิบัติให้เห็นด้วย เพราะคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีได้ ควรรักษาคำพูด รับฟังความเห็นอย่างจริงใจสำคัญที่สุด อย่าลืมว่านายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ประธานบริษัท จะกระทำสิ่งใดต้องยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศ มีคำเตือนอยู่ว่าข้างหน้านายกรัฐมนตรีกำลังจะพาประชาชนพาประเทศไปลงเหว ก็ควรหยุดคิดพิจารณาคำท้วงติง คำเตือน เพื่อไปปรับปรุงแก้ไข การบริหารประเทศไม่อยากให้ทำการเมืองด้วยนโยบายที่ไม่รับผิดชอบ แล้วทิ้งภาระไว้ให้ประชาชนในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง