ผวาขัดแย้งรอบใหม่ เพื่อไทยเตือนกม.นิรโทษ ชัยธวัชฝันผ่านวาระแรก

“ชูศักดิ์” ผวากฎหมายนิรโทษกรรมสร้างความขัดแย้งรอบใหม่    “เพื่อไทย” ยังไม่ตกผลึกส่งร่างประกบ เพราะเคยมีเรื่องเหมาเข่ง “ชัยธวัช-พิธา” โหน 6 ตุลา หวังพาร่าง พ.ร.บ.ผ่านวาระแรก “หมอระวี” เชื่อฉบับก้าวไกลไม่รอดถูกตีตก “เชาว์” ฟันธงเป้าเพื่อช่วย สส.ในสังกัดที่ใกล้เข้าคุก “เศรษฐา” เปลี่ยนชื่อกรรมการแก้รัฐธรรมนูญ อ้างกฤษฎีกาติง “ทิม” ยกเหตุพรรคไม่สังฆกรรมเพราะต้องการตั้ง ส.ส.ร.แก้ได้ทุกหมวด

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ต.ค.2566 ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจากการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112  โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ต้องดูประโยชน์ส่วนรวม ถ้านิรโทษกรรมแล้วความสงบสุข ความสามัคคีเกิดขึ้นมากขึ้นก็ถือว่าดี แต่ถ้าหนักกว่าเดิม เราคงมีท่าทีที่จะต้องทำให้มั่นใจ ว่าสิ่งนั้นต้องเกิดความสงบในบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียด

ส่วนนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค พท. กล่าวในเรื่องนี้ว่า อย่าให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นตัวการสร้างความขัดแย้งในสังคม เพราะปัญหาการตีความคดีการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองยังไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องชัดเจนก่อน รวมถึงความครอบคลุมการนิรโทษกรรม เช่น คดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ที่ควรให้ตกผลึกร่วมกันก่อน

เมื่อถามถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของพรรค พท. นายชูศักดิ์ระบุว่า สมควรจะยื่นร่างกฎหมายคู่ขนานไปกับพรรค ก.ก.หรือไม่นั้น พรรคยังไม่มีการประชุม เนื่องจากความคิดเห็นภายในพรรคยังไม่ตรงกัน เพราะพรรคเคยตกเป็นจำเลยของสังคมในอดีต จึงต้องหารือกันในพรรคก่อนว่าควรดำเนินการอย่างไร

ส่วนกรณีที่พรรค ก.ก.เห็นว่าจะเป็นก้าวแรกของการหยุดนิติสงคราม นายชูศักดิ์กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว ความขัดแย้งหากยุติลงได้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาที่ต้องตอบคือ สามารถยุติลงจริงได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องคิดให้รอบคอบ

ที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ซึ่งจัดงานรำลึกครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพรรค ก.ก. ได้ให้สัมภาษณ์ในระหว่างมาร่วมงานว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นบทเรียนที่เราไม่ควรลืม ว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้ว เป็นความรุนแรงที่ไปไกลเกินกว่าที่ใครควรจะรับได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมพรรคก้าวไกลจึงพยายามทำงานเพื่อทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้วไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย ด้วยการยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้เกิดความแตกแยกที่ไม่จบสิ้น ให้เกิดการสืบหาข้อเท็จจริง เกิดความยุติธรรม และให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้

‘ชัยธวัช’ หวังผ่านวาระแรก

“พรรคเชื่อว่ากระบวนการนิติบัญญัติในสภาจะเป็นพื้นที่ให้เราเอาความเห็นที่ไม่ตรงกัน มาออกแบบร่วมกันด้วยความรอบคอบ รอบด้าน มีวุฒิภาวะ และมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ที่พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้ง สว.มีความเห็นที่เป็นจุดร่วมกันได้ ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในฉบับของตัวเองขึ้นมาด้วยก็ได้ ผ่านวาระหนึ่ง แล้วค่อยไปว่ากันในรายละเอียดที่เห็นต่างกันในวาระที่ 2 และ 3 ได้” นายชัยธวัชกล่าว

ขณะเดียวกัน ภายในงานดังกล่าว  คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) ได้ออกแถลงการณ์ครบรอบ 47 ปีเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ล้างมรดกบาป 6 ตุลา ยกเลิกมาตรา 112 ปล่อยนักโทษการเมือง โดยเรียกร้องใน 3 ข้อระบุว่า 1.นักโทษการเมืองในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดต้องได้รับสิทธิการประกันตัวตามรัฐธรรมนูญ 2560 2.รัฐบาลต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองในทุกกรณี และ 3.ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า หากเป็นการนิรโทษกรรมทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรไปยุ่งกับโทษที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 และบางครั้งการใช้คำว่านิติสงครามจะเป็นเงื่อนไขของความไม่สำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมามีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหลายครั้ง ก็มีปัญหาไม่เสร็จสิ้นสักครั้ง เพราะเราไม่มีเงื่อนไขในเรื่องอย่างนี้ เราไปแก้เรื่องโทษมาตรา 112 หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต่างๆ ก็จะไม่สำเร็จ

นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่เคยยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภา กล่าวว่า เป็นการกดดันทางการเมืองกับพรรคฝ่ายรัฐบาลว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ประกบเข้าสภาหรือไม่ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลคงต้องคุยกันว่าจะเอาอย่างไร แต่ตามหลักฝ่ายรัฐบาลคงไม่เอาด้วยกับการให้นิรโทษกรรมไปถึงคดี 112 และควรเสนอให้เป็นร่างของรัฐบาลดีกว่าที่จะเสนอโดยพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล

“เมื่อพรรคก้าวไกลเปิดเกมด้วยการไม่นิรโทษกรรมคดี 113 ก็คาดว่าพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ไม่ให้ครอบคลุมถึงคดี 112 ส่วนความผิดมาตรา 113 ก็ให้นิรโทษกรรมตามปกติ สรุปก็คือ จะมีความแตกต่างกันในเรื่อง 112 กับ 113 คือของก้าวไกล ให้นิรโทษกรรม 112 แต่ไม่นิรโทษกรรม 113 แต่ร่างของฝ่ายปีกรัฐบาล คาดว่าจะไม่ให้นิรโทษกรรม 112 แต่คนที่โดนคดี 113 จะได้นิรโทษกรรมด้วย” นพ.ระวีกล่าว

เชื่อสภาเมินร่างก้าวไกล

หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่กล่าวอีกว่า หากสุดท้ายถ้ามีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภาแค่ 2 ร่างคือร่างของ ก.ก.กับร่างของฝ่ายรัฐบาล โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่นๆ เสนอมาด้วย ก็จะทำให้สภาพิจารณากันแค่ 2 ร่าง ทำให้ 2 ร่างดังกล่าวก็ต้องสู้กันตอนพิจารณาของสภาวาระแรก ต้องรอดูว่า สภาจะโหวตรับหลักการวาระแรกแค่ร่างใดร่างหนึ่งหรือจะให้ผ่านทั้ง 2 ฉบับ แต่หากให้ประเมินก็คิดว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของ ก.ก.จะโดนตีตกในวาระแรก โดยสภาจะรับหลักการแค่ร่างของฝ่ายรัฐบาล

นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา   อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ลับลวงพราง  พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่แท้ลบล้าง ม.112 ช่วยคนกำลังติดคุก มีเนื้อหาระบุว่า จับตาก้าวเดินของพรรค ก.ก.เรื่องนี้มาตลอด เชื่อว่ามีวาระซ่อนเร้นอยู่เรื่องเดียว คือการนิรโทษกรรมให้จำเลยคดี 112 ซึ่งคดีเข้มงวดขึ้นทุกขณะ หลายคนถูกศาลพิพากษาติดคุกไม่ได้ประกันตัวเช่นทนายอานนท์ หลายคนที่เป็น สส.กำลังจะติดคุกหลุดจากสถานะ สส.เร็วๆ นี้

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ไม่ควรรวมความผิดตามมาตรา 112 ไว้ในคดีที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรมด้วย เพราะการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อสถาบันจำนวนมากตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นอย่างย่ามใจด้วยการจงใจปลุกปั่นของคนบางกลุ่มทั้งในและนอกประเทศ

“ส่วนตัวไม่สนใจที่จะได้รับการนิรโทษกรรม แม้เป็นหนึ่งในบุคคลที่เข้าข่ายการได้รับสิทธิในครั้งนี้หากร่างกฎหมายผ่าน และไม่คิดขัดขวางหากจะมีกระบวนการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นค่ะ  สังคมไทยเป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนการประนีประนอมอยู่แล้ว เพียงแต่เราควรมั่นใจได้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นจะนำสู่การคลี่คลายปัญหาจากความขัดแย้งได้จริง ไม่ใช่ให้การปัดเป่าคดีนั้นเป็นเพียงจุดตั้งต้นของการให้ท้ายการละเมิดต่อไป”

ขณะเดียวกัน ยังมีความต่อเนื่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามยกเลิกคำสั่งนายกฯ ที่ 256/2566 เรื่องคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ลงวันที่ 3 ต.ค. และลงนามคำสั่งนายกฯ ที่ 264/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวใหม่ จำนวน 34 คน โดยได้ปรับเปลี่ยนตัวบุคคลบางส่วนที่จะเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ภายหลังจากที่พรรค ก.ก.ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม โดยบุคคลใหม่ที่จะเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย นายวุฒิสาร ตันไชย จะเข้ามาเป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ, นายชวลิต วิชยสุทธิ์, นายเจือ ราชสีห์ และนายกฤช เอื้อวงศ์ เป็นกรรมการ ส่วนบุคคลที่ถูกปรับเปลี่ยน ประกอบด้วย นายชูศักดิ์, นายนภดล ปัทมะ, น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์, นายเดชอิศม์ ขาวทอง, นายธนกร วังบุญคงชนะ และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์

เศรษฐากราบขอโทษ ‘เหลิม’

นายเศรษฐากล่าวในเรื่องนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาท้วงติงมา ก็ต้องฟัง ไม่เกี่ยวกับเรื่องบุคคล แต่เป็นเรื่อง สส.ร่วมเป็นคณะกรรมการไม่ได้

ขณะที่นายชัยธวัชกล่าวถึงกรณีพรรคไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาการจัดการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าพรรคพร้อมสนับสนุนให้จัดการออกเสียงประชามติ ใช้อำนาจประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรง แม้พรรคไม่ได้เป็นกรรมการ แต่พร้อมให้ความเห็น

นายพิธากล่าวว่า การตัดสินใจไม่ร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาฯ เนื่องจากพรรคกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งพรรคต้องการให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวด แต่กังวลว่าคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ จะย้อนหลักการสิ่งที่เคยพูดคุยกันมาจนกลายเป็นความพยายามประวิงเวลา

วันเดียวกัน นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความไม่พอใจที่เข้ามาให้ความเห็นกรณีประกาศตัดขาดกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ก็กราบขอโทษท่านแล้วกัน ถ้าทำให้ท่านระคายเคือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องของตน จึงขอไม่พูดต่อ แค่นั้นแหละ ต้องกราบขอโทษท่านด้วย ถ้าทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

ที่โรงแรมโมเดนา บาย เฟรเซอร์ จ.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทยจัดสัมมนา สส.พูดแล้วทำ โดยนายอนุทินกล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดงานสัมมนาว่า ก่อนหน้านี้เคยพูดไว้ว่า วันหนึ่งจะมี สส.นั่งเต็มห้องประชุม แล้ววันนี้ก็ทำได้แล้ว ถือเป็นการสร้างผลงานของทุกคน ส่วนคนที่ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในสมัยนี้ได้ ขอขอบคุณในความทุ่มเทเสียสละ ที่ทุกคนทำงานอย่างหนัก และใช้ความสามารถทุกอย่างที่มีอยู่ เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน แต่ต้องเชื่อว่าการที่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ความล้มเหลว เพียงแต่ยังทำงานไม่เข้าตาประชาชนมากพอ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนอย่าท้อถอย และทุ่มเทให้กับประชาชนต่อไป เชื่อว่าหากตั้งใจทำงานให้ประชาชนอีกครั้ง แม้ไม่มีตำแหน่ง ก็จะสามารถกลับมาเป็น สส.ได้อีกครั้งหนึ่ง

“กราบขอโทษบางคนที่ไม่สามารถพากลับเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรได้  แต่ขอย้ำว่าในภาพรวม พรรคภูมิใจไทยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถวางบทบาทให้ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้ และสามารถกำกับดูแลได้ถึง 4 กระทรวง ซึ่งถือเป็นกระทรวงหลักๆ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' แจงรูปคู่ 'ทนายตั้ม' บังเอิญเจอกันที่ฮ่องกง อย่าโยงมั่วเอี่ยวเว็บพนัน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ชี้แจงกรณีปรากฏภาพถ่ายกับทนายษิทรา เบี้ยบังเกิดที่ฮ่องกง ว่าเป็นภาพเก่าตั้งแต่ปีที่แล้วช่วงหลังเลือกตั้ง ซึ่งตั้งตนเดินทางไปกับครอบครัวและนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ