เศรษฐาลั่นไม่ทบทวนแจกหมื่น

เสียงต้านแจกหมื่นกระหึ่ม! อดีตบิ๊กแบงก์ชาติพร้อมด้วยนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ออกแถลงการณ์เรียกร้องยุติ ยก 7 เหตุผลตอกย้ำ ชี้นโยบายไม่เข้าสถานการณ์ เลื่อนลอย ดันจีดีพีกระฉูด  เตือนทำหนี้-เงินเฟ้อพุ่ง ส่งผลเครดิตประเทศ “เศรษฐา” รับฟัง แต่ยันไม่มีทบทวน เพราะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ต.ค.2566 นายวิรไท  สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การบริหารบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้มีอำนาจรัฐ และด้วยพลังของตลาดที่รู้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แค่ผู้มีอำนาจรัฐเริ่มคิดจะทำนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่รับผิดชอบ ก็ส่งผลเสียต่อชีวิตคนได้ทั้งประเทศแล้ว ผ่านกลไกของตลาดเงินและตลาดทุน เรามีตัวอย่างนโยบายภาครัฐจากอดีตหลายอันที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ แต่สร้างความบิดเบือนให้กับกลไกตลาด และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ สร้างภาระทางการคลังแบบได้ไม่คุ้มเสีย และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพยาวนานไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด หรือโครงการรถคันแรก

 “ถ้าเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการทำนโยบายที่หวังผลต่อจีดีพีแค่ช่วงสั้นๆ  ผลที่จะเกิดขึ้นกับฐานเสียงในการเลือกตั้ง 4 ปีข้างหน้าอาจจะกลับทิศได้อีกด้วย ถึงเวลาใกล้เลือกตั้งรอบหน้าเศรษฐกิจที่โดนกระตุ้นด้วยยาโด๊ปเงินดิจิทัลก็คงหมดพลังลงพอดี นอกจากนี้โครงการภาครัฐดีๆ อีกนับสิบนับร้อยโครงการที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในวันนี้และวันหน้าอาจโดนถูกตัดงบประมาณลง” นายวิรไทโพสต์ และว่า ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดว่าประชาชนจำนวนมากต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปมากกว่านโยบายประชานิยม เชื่อว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า กระแสเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปจะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก ในขณะที่ทรัพยากรด้านการคลังจะยิ่งจำกัดมากขึ้นนายวิรไทโพสต์อีกว่า ถ้าผู้มีอำนาจรัฐเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ไม่รับผิดชอบแล้ว ความน่าเชื่อถือจะไหลลงเร็ว ทั้งจากในและต่างประเทศ จะทำอะไรต่อไปก็จะยากไปหมด มีแต่ความไม่เชื่อมั่น ความแคลงใจกัน นโยบายที่จะสนับสนุนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคตของประเทศจะยิ่งเกิดได้ยากมาก โจทย์ในวันนี้น่าจะเป็นว่าจะช่วยกันหาทางลงให้กับนโยบายที่หาเสียงไว้แล้ว แต่ไม่ควรทำได้อย่างไร มากกว่าที่จะเดินหน้าต่อ ทั้งที่รู้ว่าจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย

ต่อมานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จำนวน 99 คน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย โดยแถลงการณ์ให้เหตุผลว่า 1.เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว 2.8% ในปีนี้และ 3.5% ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า รวมทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจาก 6.1% มาอยู่ที่ประมาณ 2.9% ในปีนี้

2.เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital

infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น 3.การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (จีพีดี) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบันข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลังที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย

 “ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้ออันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน”

4.เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งหนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือ 61.6% ของจีดีพี จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี 5.ในช่วงโลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศจำเป็นต้องขาดดุลการคลัง และสร้างหนี้จำนวนมากเพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังวิกฤตหลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง เพื่อสร้างที่ว่างทางการคลังไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงการทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ  ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย

6.การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี  ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น และ 7.ประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

“ด้วยเหตุผลต่างๆ บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลแก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก แม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทำลายความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทยและความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น”

สำหรับรายชื่อของนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์นั้น อาทิ ดร.วิรไท, ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าฯ  ธปท., รศ.ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าฯ ธปท., ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าฯ ธปท., ดร.ธัญญา ศิริเวทิน อดีตรองผู้ว่าฯ ธปท., ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ โรงพยาบาลเทพประทาน, นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีต รมว.พาณิชย์, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ., ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ., 9 รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นต้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวิรไทออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า ถือเป็นความคิดเห็น ซึ่งเราก็ต้องฟัง แต่เรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของเรา ทั้งนี้เรารับฟังความคิดเห็นจากทุกท่าน แต่ก็มีเสียงจากประชาชนที่ถามว่าเมื่อไหร่จะมาเสียที ซึ่งเราก็ต้องรับฟัง

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทบทวนไม่แจกทั้งหมด นายกฯ กล่าวทันทีว่า “ไม่ครับ เป็นไปไม่ได้ครับ”

เมื่อถามย้ำว่า แต่ก็มีเสียงของอดีตที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย รวมถึงผู้มีเครดิตทางเศรษฐกิจออกมาคัดค้านเรื่องดังกล่าว นายกฯ กล่าวว่า คนที่มีเครดิตทางเศรษฐกิจเห็นด้วยก็มีเยอะ เราให้เกียรติทุกคน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 1,280 ตัวอย่างทั่วประเทศ ถึงทัศนะต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พบว่า 76.4% คาดว่าจะใช้เงินดิจิทัล ส่วนผู้ที่มีรายได้เดือนละ 40,001 บาทขึ้นไป จำนวน 15.6% ระบุว่าจะไม่ใช้ โดยในส่วนของผู้ที่จะใช้เงินดิจิทัล อยากใช้ซื้อสินค้าในครัวเรือนมากที่สุด 24.5% รองลงมาคือใช้ซื้ออาหาร 21.0%.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อุ๊งอิ๊ง’ แจ้นตรวจนํ้าท่วม ชาวบ้านลำบากแต่ยิ้มได้

นายกฯ อิ๊งค์ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมภาคเหนือ เสียงสั่นเครือเห็นใจชาวบ้านยังคงลำบากไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ชาวบ้านยังยิ้มแย้ม ดีใจและโบกมือให้