นายกฯมั่นใจปีนีี้น้ำท่วมเอาอยู่

“เศรษฐา” ลงพื้นที่อุบลฯ     ระบุเพิ่งเข้าทำงาน ขอแก้ระยะสั้นก่อน  พร้อมลั่นปีนี้ต้องไม่ท่วม หรือท่วมน้อยที่สุด ดุ จนท.ไม่ตั้งใจฟังบรรยายสรุป    รัฐบาลเตือน 5 จังหวัดติดตามใกล้ชิด   พิษณุโลกน้ำเข้าทุ่งบางระกำแล้ว 74%  ส่วนอ่างทองแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่ง

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 6 ต.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เดินทางลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ในการตรวจราชการที่ จ.อุบลราชธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด  ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. โดยได้เดินทางมายังสำนักงานชลประทานที่ 7 จากนั้นกล่าวในที่ประชุมช่วงหนึ่งว่า จ.อุบลราชธานีและพื้นที่ข้างเคียงมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซึ่งท่วมแล้ว ท่วมอีก ท่วมต่อไป ตนเข้าสู่การเมืองก็ตระหนักดีเสมอถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องหาทางแก้ไขบูรณาการระยะยาวให้ได้ จ.อุบลราชธานีเพิ่งจะเริ่มท่วม ทั้งที่ยังไม่ถึงฤดูที่น้ำจะมามาก และยังไม่ถึงเวลาวิกฤตจริงๆ แต่หากไม่ทำอะไรไว้ก่อนจะอาจเกิดวิกฤตขึ้นได้ วิกฤตน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานีจะเกิดกระทบภาคอุตสาหกรรมมหาศาล เรื่องโรคระบาดที่จะตามมา เป็นเรื่องใหญ่

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลนี้ตระหนักดีว่ามันจะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ  ไม่ได้ เราเพิ่งเข้ามาบริหารจัดการได้ไม่ถึงเดือน ฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน และเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาระยะสั้นยังทำได้อีก และทำได้มากกว่าที่เคยทำ และต้องทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ฤดูนี้น้ำกำลังจะมา หากทำอะไรกันได้อยากให้วางแผนระยะสั้น ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เยอะกว่าปีที่แล้ว และต้องน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย

นายกฯ ระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นระยะหลังเกิดขึ้นในเดือน ต.ค. และเพิ่งเพิ่มช่วงเดือนนี้ ดังนั้นช่วงที่แย่ที่สุดยังไม่มา ถือเป็นช่วงที่ดีเรายังมีทางป้องกันได้อยู่ จะต้องมีวิธีการระบายน้ำที่อาจจะต้องมีวิธีการที่ใช้คำว่าเสี่ยงนิดหนึ่ง และต้องทำให้ดีขึ้นกว่านี้ บางอันไม่พิสูจน์ทราบให้แน่นอน แต่บางทีเราต้องตัดสินใจที่จะทำอะไร เพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยขึ้น แต่ต้องขอขอบคุณทุกท่าน รวมทั้งแม่ทัพภาคที่ 2 ที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขพี่น้องอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าคงไม่ต้องใช้บริการท่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนายกฯ  รับฟังบรรยายสรุปจากนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ปรากฏว่ามีเสียงบางอย่างรบกวน และในห้องประชุมมีการพูดคุยกันจนเสียงรบกวน จึงทำให้นายกฯ ถึงกับพูดออกไมโครโฟนว่า “ขอให้เงียบและฟังรัฐมนตรีบรรยายสรุปด้วย เพราะเป็นข้อมูลที่สำคัญที่พวกคุณจะต้องฟัง”

ต่อมาเวลา 15.15 น. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังบรรยายสรุปว่า ยอมรับว่าเรื่องน่าห่วง เพราะปีที่ผ่านมา จุดที่เรายืนอยู่ตรงนี้น้ำสูง 2 ฟุต และนานเป็นเดือน เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดอีกในปีนี้ไม่ได้ พร้อมกับแสดงความมั่นใจว่าน้ำจะไม่เท่าหนักเท่าปีก่อน โดยจะใช้มาตรการผันน้ำและวิธีการต่างๆ ที่แตกต่างจากปีก่อน

นายเศรษฐายังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางว่า ได้เข้าไปดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เช่นที่ จ.สุโขทัย ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำคลี่คลาย

จากนั้นเวลา 16.00 น. ที่แก่งสะพือ ต.พิบูล อ.พิบูลมังสาหาร นายกฯ เดินทางมาติดตามสถานการณ์อุทกภัยและพบปะประชาชน พร้อมกล่าวกับประชาชนว่า เราให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำท่วม หวังว่าปีนี้การบริหารจัดการน้ำต้องดีขึ้น และเรื่องของการท่วมจะไม่มี หรือมีก็น้อยมาก

วันเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่นโคอินุ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 6-8 ต.ค. และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคกลาง ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคกลาง จึงยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่มอย่างต่อเนื่อง      

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า จากการคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย มีจังหวัดที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คือ 1.กาฬสินธุ์ จากเขื่อนเต็มความจุ 2.อุบลราชธานี จากการรับน้ำมูลและชี และ 3.พิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ ที่รับน้ำจากสุโขทัย ขอให้ทุกจังหวัดที่มีสถานการณ์ติดตามเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มาจากน้ำท่วม ซึ่งจากการตรวจรักษาพบว่า เป็นโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด 2,416 ราย โรคระบบผิวหนัง เช่น ผื่นคัน แพ้ 610 ราย และโรคระบบทางเดินหายใจ 430 ราย เป็นต้น รวมทั้งให้ปรับรูปแบบการจัดบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอย่างสะดวก และให้การดูแลสุขภาพกายและจิตใจประชาชนอย่างต่อเนื่อง

รมว.สาธารณสุขกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ระดับจังหวัด 3 จังหวัด คือ ลำปาง อุบลราชธานี และสุโขทัย ส่วนการดูแลประชาชน ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ SRRT 43 ทีม, หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ/ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (CDCU/JIT) 16 ทีม และทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) 16 ทีม ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา และกาฬสินธุ์

เมื่อวันศุกร์ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมช่วงผ่าน จ.พิษณุโลก ยังคงเพิ่มระดับสูงขึ้นเล็กน้อย แม่น้ำยมสายหลักยังไม่ถึงจุดวิกฤต อันเนื่องมาจากการคอนโทรลระบบระบายน้ำไม่ให้กระทบต่อชุมชนใหญ่ แต่แม่น้ำยมสายเก่าน้ำได้เอ่อล้นตลิ่ง ไหลเข้าสู่ทุ่งบางระกำโมเดลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.จนถึงวันนี้ มีปริมาณน้ำถึง 295.80 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 74% ขณะที่ชลประทาน จ.พิษณุโลก ยังคงเร่งเสริมคันดิน ป้องกันน้ำล้นตลิ่งเพิ่มเติมให้ โดยภาพรวมของทุ่งบางระกำโมเดลยังสามารถรอบรับน้ำได้อีกเป็นจำนวนมาก  

ขณะที่บริเวณประตูระบายน้ำบางแก้ว ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำยมสายเก่า แล้วปล่อยเข้าสู่แม่น้ำยมสายหลัก มีน้ำไหลผ่านเชี่ยวกราก แต่เจ้าหน้าที่พยายามระบายไม่เกินกว่าระดับ +41 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ +40.36 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่มีรายงานว่ายังคงมีฝนตกชุกในภาคเหนือและเหนือตอนล่างมากขึ้น เช่น ที่ จ.แพร่ และพื้นที่ตอนบนของ จ.สุโขทัย ส่งผลทำให้แม่น้ำยม ที่สถานีวัดน้ำ Y.37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง จึงต้องมีการเฝ้าระวังน้ำต่อไปอีก

ส่วนสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน จ.อ่างทอง ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สถานีวัดน้ำ หน้าศาลากลาง จ.อ่างทอง ระดับน้ำสูง 5.88 เมตร จากระดับตลิ่ง 10.00 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,241 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำแม่น้ำน้อย (ม.9 ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ) ระดับน้ำ 4.19 เมตร (ระดับคันกั้นน้ำ 5.00 เมตร)

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในพื้นที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก และชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำน้อย ต.บางจักร อ.วิเศษชัยชาญ ที่อยู่นอกเขตเขื่อนกั้นน้ำจะประสบปัญหาจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งเป็นแห่งแรกของจังหวัด ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง