‘จุลพันธ์’นั่งปธ. ดัน‘เงินดิจิทัล’ อจ.จี้ทบทวน!

“เศรษฐา” ทุ่ม 4.5 แสนล้านบาท ออกมาตรการทางการเงินเดินหน้าเศรษฐกิจสีเขียว หนุนเอกชนลงทุน 1.6 ล้านล้าน ภายในปี 73 หัวโต๊ะบอร์ดเติมเงินหมื่นดิจิทัล ตั้ง "จุลพันธ์" คุมอนุฯ ขับเคลื่อนโครงการ ย้ำรอบคอบระมัดระวัง ยึดกรอบวินัยการคลัง อาจารย์เศรษฐศาสตร์ร่อนแถลงการณ์จี้ รัฐบาลทบทวนได้ไม่คุ้มเสีย

ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นายเศรษฐา ทวีสิน   นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” และแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ในงาน ESG  Symposium 2023 ภายใต้งาน Sustainability Expo 2023 ว่า ปัญหาโลกเดือด ปัญหาภัยแล้งได้รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือน จนถึงระดับมหภาค โดยเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันตามกลยุทธ์ ESG ที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมาย SDG ของสหประชาชาติ โดยเชื่อว่าหากทุกฝ่ายช่วยกันจะกู้โลกให้กลับมาดีขึ้นได้

สำหรับประเทศไทยได้เดินหน้าสนับสนุนกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะความร่วมมือในการจัดสรรทรัพยากรและแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศรับมือกับความท้าทายและร่วมกันขับเคลื่อน SDG อย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงินกว่า 4.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีจากภาคธุรกิจกว่า 100 บริษัททั่วประเทศไทย พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

โดยตั้งเป้าหมายเพื่อให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDG วงเงินกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต้องมีแนวทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีแนวทาง ได้แก่ มุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยช่วยเหลือกลุ่มรากหญ้า ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชาชนทุกคน และให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ผลักดันความร่วมมือทุกระดับ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือ ภายในปี 2573

 “ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าวันนี้ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้บรรจุในนโยบายและมีแผนที่จะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนดำเนินการอย่างบูรณาการ” นายกฯ ระบุ

นายเศรษฐากล่าวว่า การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ ขอชื่นชมความมุ่งมั่นทั้ง 3 อุตสาหกรรมนำร่อง ทั้งบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ซึ่งรัฐบาลจะขยายผลความสำเร็จนี้ โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายจัดการขยะ และเปิดให้จัดหาสินค้ากรีนเพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Eco-system) ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้เต็มประสิทธิภาพ และศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมทั้งรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ดึงดูดนักลงทุนและบริษัทต่างชาติในอนาคต

 “ผมขอขอบคุณทุกคนที่มุ่งเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะยังมีประชาชนอีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร และชุมชน ที่ยังไม่ตระหนักถึงวิกฤตนี้ หรือยังไม่พบทางออกเพื่อรับมือ เราควรสนับสนุนการเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี และการเข้าถึงเงินทุน ให้ทุกคนสามารถปรับตัวอยู่รอดได้ สำหรับข้อเสนอในวันนี้ ผมจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป” นายกฯ กล่าว

วันเดียวกัน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ร่วมกับรัฐมนตรี คณะกรรมการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวเปิดการประชุมว่า ตามที่ได้แถลงนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภา โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จ ขอให้ทุกคนร่วมกันดำเนินงานอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินและการคลัง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกคนในที่นี้มาจากทุกภาคส่วน เป็นผู้ที่ถูกคัดสรรมาแล้วว่าจะเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นได้ 

"เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้เห็นว่าจำเป็นต้องทำ ทุกคนในที่นี้เป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ จึงอยากให้มีการเสนอข้อเสนอแนะ นำมาถกกันให้ดี ให้ละเอียด เพื่อหาข้อสรุปในที่ประชุมนี้ให้ได้ อะไรที่ไม่ได้ถก ไม่ได้พูดกัน หรือมีข้อตกลงที่ขัดแย้งกัน ขอให้พูดคุยกันในคณะกรรมการ เพื่อจะหาทางออกที่สมบูรณ์ให้ได้ อย่าให้สาธารณชนมีความสับสน เพราะนโยบายนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล นายกฯ ในฐานะประธานกรรมการมีความตั้งใจ โดยเมื่อมีข้อสรุปแล้วขอให้คณะกรรมการพิจารณานำไปปรับใช้ให้เหมาะสม เพราะนโยบายนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาล ส่วนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่อง Position ต่างๆ นายกฯ ยินดีรับฟังความคิดเห็น เพราะอยากทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้นได้จริง" นายเศรษฐาระบุ

ทั้งนี้ นายกฯ ใช้เวลาประชุมเพียง 30 นาที จากนั้นได้เดินออกจากตึกภักดีบดินทร์ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และโบกมือทักทายสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี แต่เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงผลการประชุมดังกล่าว และข้อสั่งการเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถาม เพียงแต่ยิ้มพร้อมกับยกนิ้วโป้งขวาโชว์สื่อมวลชน ก่อนจะเดินเข้าตึกไทยคู่ฟ้า

ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อให้มีการกำหนดกรอบการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตในหลายประเด็น เช่น ขอบเขตโครงการ แหล่งเงินการดำเนินโครงการ ระยะเวลาการดำเนินโครงการ การจัดการข้อมูลภายใต้โครงการ เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เป็นประธานคณะอนุกรรมการดังกล่าว เพื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นต่างๆ และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาเห็นชอบโดยเร็วต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค.  ที่ผ่านมา อาจารย์เศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถล

งการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยมีใจความว่า เป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย พร้อมระบุ 6 เหตุผล อาทิ เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวตามศักยภาพ จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งอาจจะสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก และอาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด รวมทั้งทำให้เกิดค่าเสียโอกาสของงบประมาณ 560,000 ล้านบาท และยังทำให้ตัวทวีคูณทางการคลังมีค่าลดลงมาก นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง และภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

"ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น จึงขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทแก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะผลประโยชน์ที่ได้จะน้อยกว่าตันทุนที่เสียไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว" แถลงการณ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง