สั่งรมต.สส.ใส่ใจ ลงพื้นที่น้ำท่วม 5จังหวัดยังอ่วม

นายกฯ สั่ง รมต.-สส.ใส่ใจลงพื้นที่ดูแลน้ำท่วม ไม่ทำงานแบบวัวหายล้อมคอก “สมศักดิ์” สั่ง ผวจ.สุโขทัย-แพร่ ป้องกันทะลักเพิ่ม ย้ำแม่น้ำยมสายเดียวไม่มีเขื่อน “วันนอร์” หนุนญัตติด่วนช่วย ปชช. ด้าน ปภ.สรุปสถานการณ์ดีขึ้น เหลือท่วม 5 จังหวัด

วันที่ 3 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมว่า ตอนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแล โดยที่ประชุม ครม.ได้หยิบยกเรื่องสถานการณ์น้ำ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนมาพิจารณาเป็นเรื่องแรก และได้มีการสั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนใส่ใจเป็นพิเศษ และกำชับ สส.ที่อยู่ในการควบคุมดูแลลงพื้นที่ให้มาก ซึ่งเราต้องดูแลคนที่เดือดร้อนทันที รวมถึงการเยียวยาพื้นที่เพาะปลูกที่จะมีการสูญเสีย จะต้องมีการชดใช้ ส่วนเรื่องการผันน้ำ วันนี้จะมีการคุยต่อเพื่อดูถึงการระบายน้ำของแต่ละพื้นที่

 “เราทำงานลักษณะไม่อยากให้เป็นลักษณะวัวหายล้อมคอก ฉะนั้นในวันศุกร์ที่ 6 ต.ค.นี้ ผมจะเดินทางลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเห็นจากพื้นที่เรียลไทม์ของกรมชลประทานแล้ว ตรงนี้มีความกังวล เพราะมีพื้นที่น้ำล้นเอ่อเกินจุดที่สบายใจ โดยผมจะลงไปสั่งการและบอกเจ้าหน้าที่ไปแล้วให้เตรียมแผนงานไว้ด้วย เพราะปีที่ผ่านมา จ.อุบลราชธานีรู้สึกว่าน้ำท่วมมากและนานมากด้วย  หากท่วมแป๊บเดียวพืชผลอาจจะไม่เสียหายมาก แต่ท่วมนานจะเสียหายมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีทุกท่านให้ความกังวล ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ได้มีการรายงานและคงจะมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง” นายกฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแผนระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า มีเป็นแผนการบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งต้องขอเวลาเตรียมงาน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย หลังจากได้ลงพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำและเขื่อนมีการกักเก็บน้ำเกินกว่าร้อยละ 50 ทางภาคกลางยังมีปัญหาอยู่ เป็นพื้นที่ที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง เพราะแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีเขื่อนรองรับ

จึงทำให้น้ำเกิดน้ำท่วม เพราะมวลน้ำที่ไหลมามีจำนวนมากถึง 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เวลาฝนตกลงแม่น้ำยมไม่ว่าจะผ่านจังหวัดใดจะมีปัญหา จ.สุโขทัยถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเป็นท้องกระทะ เมื่อน้ำจาก จ.กำแพงเพชร พะเยา และแพร่ล้นจะไหลเข้าสู่ จ.สุโขทัย ซึ่งผ่านไป 2 วันความเสียหายใน จ.สุโขทัยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายกว่า 1 แสนไร่ และประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 4 พันครอบครัว

 ทั้งนี้ ได้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่และสุโขทัยดำเนินการป้องกัน แต่หากยังมีน้ำเติมเข้ามาในพื้นที่ จะทำให้มีผลกระทบ โดยน้ำไหลผ่านแนวกั้นมาแล้ว 4 แห่ง ทำให้เกิดผลกระทบที่ จ.สุโขทัย แต่ขณะนี้ได้ระบายน้ำไปอีกทางหนึ่ง คือระบายไปทาง จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งโครงการการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย ยังไม่เรียบร้อยดี แต่สามารถดำเนินการได้ โดยพยายามปล่อยให้เต็มที่ 

รองนายกฯ กล่าวว่า แต่ละจังหวัดที่อยู่รอบจังหวัดสุโขทัยไม่มีปัญหาเรื่องการปล่อยน้ำ ครั้งนี้ปริมาณน้ำไม่หนักเท่าปี 2554 ที่มีความเสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท แต่เนื่องจากแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกั้น ทำให้เกิดความเสียหายทุกปี ทุกรัฐบาลมีความเข้าใจในการแก้ไขที่จะทำให้เกิดอย่างถาวร แต่ขณะนี้ฝั่งขวาแม่น้ำยมกำลังดำเนินการเรื่องฝายกั้น เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวแล้ว

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วิปรัฐบาลเตรียมเสนอญัตติด่วนแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาชนเดือดร้อนอยู่ เชื่อว่าจะเป็นการเสนอด้วยวาจาเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยสภาจะได้นำปัญหาของแต่ละพื้นที่มาอภิปราย และจะได้นำเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะหากเสนอญัตติธรรมดาก็จะไม่ทันสถานการณ์ เพราะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาอีก ต้องใช้เวลานาน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา  ทำให้ระหว่างวันที่ 26 กันยายน-3 ตุลาคม 2566 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด 95 อำเภอ 323 ตำบล 1,365 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 25,217 ครัวเรือน ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 3 ต.ค.66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด 25 อำเภอ 103 ตำบล 492 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,963 ครัวเรือน ได้แก่ 1.ตาก 2.กาฬสินธุ์ 3.ยโสธร 4.อุบลราชธานี และ 5.ปราจีนบุรี

 ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่จังหวัดกาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น  สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำหลากจาก จ.สุโขทัย เข้าสู่พื้นที่ จ.พิษณุโลก ท่วมแม่น้ำยมสายเก่า ในพื้นที่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และ อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจาก จ.สุโขทัย โดยน้ำได้หลากลงทุ่งบางระกำโมเดล 224 ล.ลบ.ม. หรือจำนวน 56% แล้ว บางจุดได้ล้นตลิ่งคันดิน ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำข้ามถนนลงสู่พื้นที่การเกษตร   โดยเฉพาะที่บ้านท่าช้างหมู่ 12 ตำบลช้าง อ.พรหมพิราม เป็นหมู่บ้านที่ติดกับแม่น้ำยมสายเก่า วันนี้น้ำเข้ามาท่วมบ้านเรือนหมดแล้ว และได้บ่าข้ามถนนไปยังทุ่งบางระกำโมเดลแล้วเหมือนเช่นทุกๆ ปี โดยมีรายงานล่าสุดจากโครงการชลประทานพิษณุโลกว่า น้ำในแม่น้ำยมได้ไหลเข้าทุ่งบางระกำโมเดลแล้ว 56% หรือประมาณ 224 ล้านลูกบากศ์เมตร ซึ่งพื้นที่รองรับน้ำสามารถรับได้มากถึง 400 ล้านลูกบากศ์เมตร ชาวบ้านใช้เรือพลาสติกส่วนตัวขนข้าวของ ผ้าห่ม เสื่อ ที่นอน พัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้า ใส่เรือมาตรงจุดที่ อบต.ท่าช้าง จัดเตรียมเป็นที่พักชั่วคราวรอน้ำลด และจะเพิ่มอีกหลายจุดในวันนี้

นอกจากนี้ ยังมีการนำเต็นท์มากาง  ทุกจุดมีการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ ทั้งนี้ ก็จะมีชาวบ้านจากด้านในริมตลิ่งแม่น้ำยมอพยพออกมาอีกหลายหลังคาเรือน น้ำปีนี้ท่วมล่าช้ากว่าปกติ แต่ก็มาเต็มที่เหมือนปีที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้แต่ที่ทำการของผู้ใหญ่บ้าน ส่วนบ้านที่ยังพออยู่ได้และมีที่สูงบ้าง ก็นำสัตว์เลี้ยง สิ่งของหนีน้ำขึ้นที่สูง ต่างบอกว่าเป็นอย่างนี้ทุกๆ ปี แต่ปีนี้อยากให้ทางการนำส้วมลอยน้ำมาให้ประชาชนใช้ให้มากขึ้น เพราะเดือดร้อนเรื่องนี้มาก และจะอดทนอยู่กับภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ต่อไปให้ได้ ท่ามกลางการช่วยเหลือของทางการอย่างใกล้ชิด

 ที่บริเวณหมู่บ้าน อ.เขาสมิง จ.ตราด  ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวของจังหวัดตราด ในขณะนี้ที่ยังมีน้ำท่วมขัง หลังจากในเดือนกันยายน 2566 จากปัญหานี้ ทำให้นายตรวจ สนเถ็ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลสะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด ตัดสินใจอัดคลิประบายความในใจและระบายความรู้สึก พร้อมสะท้อนปัญหาทั้งหมดผ่านสื่อมวลชน เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง