นายกฯคุมกก.เติมเงินหมื่น

“เศรษฐา” มั่นใจสถานะการเงินการคลังยังแข็งแรง แม้จะแจกเงิน 5.6 แสนล้านบาท ผุดคณะกรรมการเติมเงินหมื่นแล้ว มีทั้งสิ้น 28 คน “นายกฯ” นั่งหัวโต๊ะคุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ “จุลพันธ์” ลั่นไม่มีการเพิ่มเพดานหนี้ แต่รับเป็นหนึ่งทางเลือกที่ต้องให้คณะกรรมการชุดใหญ่เคาะ กัดฟันไม่ซ้ำรอยรถคันแรก!

เมื่อวันอังคารที่ 3 ต.ค.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตในเดือน ก.พ.2567 ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในช่วงดังกล่าวหรือไม่ว่า ได้ประเมิน  โดยเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ได้พูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแผนระยะกลาง ระยะยาว ว่าถ้าเสนอนโยบายออกไปแล้วควรเป็นอย่างไร ทั้งภาพเครดิตเรตติ้ง เอเยนซี ประชาชนและนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งผู้ว่าฯ ธปท.ได้ให้คำแนะนำและไกด์ไลน์มาว่า รัฐบาลควรทำอย่างไร ซึ่งก็น้อมรับ รวมถึง รมช.การคลังและปลัดกระทรวงการคลังก็นำสิ่งที่พูดคุยไปพิจารณา

เมื่อถามว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินในอนาคต เราจะให้ความมั่นใจประชาชนได้หรือไม่ว่าเรายังมีเงินอยู่ นายเศรษฐา กล่าวว่า มั่นใจว่าสถานภาพการเงินการคลังของเรายังแข็งแรง ส่วนแหล่งเงินดิจิทัลนั้น เดี๋ยวรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะแถลง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงรายละเอียดการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่กระทรวงการคลังเสนอว่า คณะกรรมการฯ จะมีนายเศรษฐาเป็นประธาน คาดว่าจะเริ่มประชุมในสัปดาห์นี้ และจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดของโครงการได้ภายในเดือน ต.ค.2566 ส่วนการเริ่มต้นโครงการนั้น ยังตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเริ่มตั้งวันที่ 1 ก.พ.2567 ตามเดิม

สำหรับคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัลฯ จะมีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อพิจารณาแนวนโยบาย กรอบงบประมาณ แหล่งที่มาของงบประมาณ กลไกการดำเนินการต่างๆ รวมถึงติดตามและตรวจสอบปัญหาและอุปสรรคของนโยบาย กลไกป้องกันการทุจริต และการสรุปผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ก่อนรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป

“นายกฯ ได้นัดหมายประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรกภายในสัปดาห์นี้ อาจเป็นวันที่ 5 หรือ 6 ต.ค. โดยการประชุมนัดแรก จะมีการมอบนโยบายจากนายกฯ รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย โดยมีผมเป็นประธาน รวมถึงนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.การคลัง จะร่วมขับเคลื่อนตัวนโยบายต่างๆ โดยมีหน้าที่รวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบรายละเอียดในทุกมิติที่เป็นคำถามของสังคม” 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำนโยบายครั้งนี้จะขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติเงินตราหรือไม่ นายจุลพันธ์ยืนยันว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย หลังหารือกับ ธปท.เบื้องต้นแล้ว ส่วนการนำระบบบล็อกเชนมาใช้หรือไม่นั้น ยืนยันว่ารัฐบาลจะนำมาใช้ในโครงการแน่นอน เพราะเป็นกลไกที่ปลอดภัย สามารถตรวจสอบได้ เป็นกลไกที่เรายืนยันว่าขณะนี้ไม่มีเทคโนโลยีที่โปร่งใสเท่านี้อีกแล้ว 

เมื่อถามถึงข้อกังวลการใช้เงินของโครงการ หลังมีกระแสข่าวว่านายกฯ จะเพิ่มเพดานหนี้ตามมาตรา 28 เป็น 45% นายจุลพันธ์ปฏิเสธว่า ไม่มี ไม่รู้ว่าข่าวนี้มาจากไหน รัฐบาลยืนยันเรายึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลัง เราทำให้ดีที่สุด มาตรการนี้ไม่มีปัญหาด้านแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ แต่ยอมรับว่าแนวทางการเพิ่มเพดานหนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ต้องไปหารือกันในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งจะมีทางเลือกต่างๆ ออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ก่อนสรุปรายละเอียดเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกฯ เป็นประธานพิจารณา 

เมื่อถามถึงข้อกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขโครงการ ซึ่งกำหนดรัศมีใช้เงินภายในพื้นที่ 4 กิโลเมตร นายจุลพันธ์กล่าวว่า เบื้องต้นการขยายกรอบพื้นที่ให้มากกว่า 4 กม.เป็นไปได้สูง แต่สุดท้ายจะเป็นเช่นไร ขอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจอีกครั้ง ส่วนที่กังวลว่าอาจไม่ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเท่าที่ควร และเงินบางส่วนอาจเข้ากระเป๋าเจ้าสัวนั้น มาตรการนี้จะไม่มีการกันใครออกจากระบบ และจะได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด ทั้งที่อยู่ในระบบภาษี และไม่อยู่ในระบบภาษี โดยรัฐบาลก็รับทราบในข้อกังวลนี้ และจะมีกลไกจูงใจให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบชุมชน ทั้งการกำหนดกรอบระยะเวลา 6 เดือน และพื้นที่ใช้เงินดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวถามว่า การดำเนินมาตรการนี้กระทรวงการคลังประเมินความเสี่ยงเอาไว้หรือไม่ โดยที่ผ่านมามีบทเรียนแล้ว เช่น การทำโครงการรถคันแรก แล้วเกิดปัญหาขึ้นตามมาทีหลัง รมช.การคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่ได้ประเมินถึงขนาดนั้น โดยที่ผ่านมาได้ดูอย่างรอบคอบรัดกุมแล้ว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และเดินหน้าสู่การกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมอง ซึ่งตนเองไม่ได้เป็นรัฐมนตรีในช่วงนั้น เรื่องรถยนต์คันแรกก็มีคนได้รับประโยชน์ แต่แน่นอนเกิดปัญหาในบางส่วน ซึ่งทุกนโยบายมีทั้งบวกและลบ เพียงแต่ว่าเราจะจำกัดเรื่องของความเสียหายหรือความผิดพลาดอย่างไร และต้องทำให้ประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด

สำหรับคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ นั้น มีทั้งสิ้น 28 คน โดยมีนายกฯ เป็นประธาน    ส่วนรองประธาน มีทั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและ รมว.การต่างประเทศ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย รวมถึงนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขณะที่กรรมการ มีทั้ง รมช.การคลัง และปลัดกระทรวงต่างๆ รวมถึงผู้ว่าฯ ธปท., เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,  ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ,  เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, อัยการสูงสุด, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ประธานกรรมการสมาคมกรรมการสถาบันการเงินของรัฐ และประธานสมาคมธนาคารไทย ที่สำคัญยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านดิจิทัลวอลเล็ตและบล็อกเชนที่นายกฯ จะแต่งตั้งด้วย

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงรายละเอียดโครงการค่าเช่าบ้านคนละครึ่งว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. ได้มีนโยบายที่พักอาศัยสนับสนุนเงินครึ่งหนึ่งในการเช่าที่พักอาศัย โดยมีเงื่อนไขคือเป็นผู้ที่ไร้บ้าน หรือไม่มีงานทำ โดยให้เช่าบ้านราคาถูกห้องละประมาณ 2,000-3,000 บาท เช่น ผู้ไร้บ้านที่อยู่ย่านหัวลำโพง ถ้ายังไม่มีงานทำ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการก็ได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกค่าที่พักอาศัยให้ครึ่งหนึ่ง แล้วอีกครึ่งหนึ่งผู้ไร้บ้านหรือยังไม่มีงานทำต้องออกเอง ซึ่งนอกจากช่วยค่าที่พักแล้ว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะช่วยหางานช่วยฝึกอาชีพให้   

"โครงการเริ่มมาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว แต่ยังมีคนเข้าร่วมโครงการไม่มากเท่าที่ควร ยังไม่ถึง 100 คนด้วยซ้ำ แต่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการแล้วเราก็พบว่าเขาสามารถตั้งตัวได้" นายวราวุธกล่าว

นายวราวุธกล่าวว่า สถานการณ์คนไร้บ้านในปัจจุบันมีมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ซึ่งในสัปดาห์หน้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จะมาหารือที่ พม. เราก็จะเห็นตัวเลขที่แม่นยำขึ้นว่าคนไร้บ้านที่กรุงเทพฯ มีจำนวนเท่าไหร่   และอยากให้มีคนเข้าร่วมโครงการให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อลดปัญหาคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ซึ่ง พม.ตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายในปี 2579 ประชาชนทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง