"เศรษฐา" ขันนอต รมต.พุ่งเป้าเร่งช่วย ปชช.ประสบภัยน้ำท่วม ห่วงกระทบหนักภาคอุตสาหกรรม โอดนโยบายเรียกนักลงทุนกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม กลัวสะดุดเสียหายมโหฬาร "ธรรมนัส" เผยนายกฯ ทอดสะพานเอกชนร่วมวงแก้ปัญหาน้ำ 2 บริษัทใหญ่ อีสท์วอเตอร์-วงษ์สยามฯ กุมบังเหียนอีอีซีตะวันออก เจ้าถิ่นสุโขทัยออกตัวแรงไม่อยากจุดชนวนเขื่อนปะทุในพื้นที่ แต่พร้อมดันสุดลิ่มแผนป้องกันระยะยาวฝั่งขวาแม่น้ำยม “มท.1” สยบข่าว ผวจ.เกียร์ว่าง ย้ำแผน กทม.หายห่วงทุกอย่างพร้อมสรรพ
เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม เวลา 08.40 น. ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เดินทางไปเป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้นำเหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มพิธีเปิดงานนายกฯ ได้เรียกหารือกับ ครม.บางส่วนที่ห้องรับรอง อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหา และมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่
หลังจากนั้น นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วม ภายหลังได้ไปรับฟังบรรยายสรุปที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีกระแสข่าวว่านายกฯ จะลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยว่า ต้องดูความจำเป็นนิดนึง แต่ในวันที่ 6 ต.ค.นี้จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยจะไปเตรียมการ เพราะมวลน้ำลงไปทางนั้นเยอะมาก จึงต้องลงไปดูในพื้นที่
วันเดียวกัน เวลา 15.30 น. ที่กระทรวงการคลัง นายเศรษฐาเป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำ โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยนายกฯ กล่าวในที่ประชุมว่า ต้องการรับทราบว่ารัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการให้นายกรัฐมนตรีช่วยเหลืออะไรบ้าง และอยากรู้ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่บ้าง
“และให้ชัวร์ว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีปัญหา ตรงนี้ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ ที่จะกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ หากกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มอยู่ดีๆ มีข่าวออกไปว่าประเทศไทยขาดแคลนน้ำ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงผลกระทบจะเจอมโหฬาร ยังไงต้องฝากตรงนี้ไว้ด้วย” นายกฯ ระบุ
ด้าน ร.อ.ธรรมนัสกล่าวยืนยันว่า สถานการณ์ขณะนี้น้ำจากภาคเหนือที่ไหลลงมาเราเอาอยู่ น้ำที่เป็นห่วงถึงเวลานี้ก็ยังเอาอยู่ ส่วนในตัวเมืองจังหวัดสุโขทัยก็ยังมั่นใจว่าเอาอยู่ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังหากมีพายุฝนเข้ามาอีกระลอก
เปิดทางเอกชนร่วมแก้ปัญหา
ร.อ.ธรรมนัสกล่าวด้วยว่า การประชุมในวันนี้เป็นเรื่องของภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ซึ่งกรมชลประทานเป็นแม่งานในการแก้ปัญหา ที่พยายามทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งตนเองมั่นใจว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ โดยที่ผ่านมาไม่ได้มีการคุยกันแบบบูรณาการ
“วันนี้นายกฯ จึงได้เรียกกรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาวางแผนบูรณาการร่วมกัน บริษัท อีสท์วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มาด้วย ซึ่งในเรื่องการบริหารจัดการน้ำไม่ใช่ใครคิดจะส่งก็ส่ง หรือคิดจะหยุดก็หยุด โดยนายกฯ จะเป็นประธานเองในเรื่องนี้ โดยให้กรมชลประทานเป็นแม่งานดูแล เพราะเรื่องนี้ที่ผ่านมาไม่มีเจ้าภาพ จึงต้องมีเจ้าภาพกำกับดูแล และสัปดาห์หน้าวันจันทร์จะประชุมต่อในเรื่องนี้"
ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ปริมาณน้ำที่จะใช้ในภาคตะวันออกโดยเฉพาะในภาคการเกษตร อุปโภคบริโภคต้องทำควบคู่กันไป โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยองจะต้องมีการคุมน้ำสำรองเพื่อไว้ใช้ ที่ผ่านมาเขาไม่คุยกัน ต่างคนต่างทำ และก่อนถึงวันประชุมรอบคราวหน้า ตนก็ต้องไปทำการบ้านและอยากเรียกบริษัท อีสท์วอเตอร์ กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มาคุยกันล่วงหน้าก่อน จากนี้ไปจะต้องไม่มีอีกต่างคนต่างทำ อันนี้นายกฯ มีความเป็นห่วงเป็นใยจึงต้องคุยกัน และวันนี้ที่ภาคเอกชนมาร่วมประชุมด้วย ก็เป็นการสะท้อนปัญหาของภาคเอกชน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้ภาคการลงทุน
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ระบุว่า ผวจ.สุโขทัยก็คงหลับไม่ได้ ต้องเฝ้าสถานการณ์ตลอดเวลา เพราะหากดินสไลด์เพิ่มจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่วนภายหลังสถานการณ์คลี่คลายก็ต้องมีการเร่งสร้างเขื่อนกันดินสไลด์ในจุดนี้เพิ่ม เป็นที่ทราบกันดีว่าแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีเขื่อนรองรับ จึงทำให้เกิดน้ำท่วม เพราะมวลน้ำที่ไหลมามีจำนวนมากถึง 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
“ผมไม่กล้าหวังที่จะให้มีการสร้างเขื่อน แม้ว่าพี่น้องประชาชนจะบอกว่ามีแนวโน้มที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจ แต่หลายครั้งที่เราพูดคุยเรื่องเขื่อนก็จะมีปัญหา ผมจึงไม่อยากพูด แต่เปลี่ยนไปพยายามแก้ปัญหาในวิธีอื่นแทน อย่างในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างตั้งแต่ จ.อุตรดิตถ์ สุโขทัย และภาคเหนือตอนบน จ.แพร่ เราก็พยายามแก้ปัญหาในพื้นที่ ที่ไม่กระทบกับต้นน้ำแม่น้ำยมก่อน เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด”
นายสมศักดิ์กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่พบว่าประชาชนเริ่มเรียกร้องให้ช่วยเหลือแบบยั่งยืน เพราะสุโขทัยเกิดเหตุน้ำท่วมทุกปี เป็นเรื่องความไม่ปลอดภัย ที่ผ่านมาเราพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มที่ โดยฝั่งขวาแม่น้ำยมขณะนี้ก็ได้ดำเนินการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ตนจะนำเรียนท่านเศรษฐาให้รับทราบ และพิจารณาถึงแนวทางการแก้ปัญหานี้ เพราะจะสามารถช่วยการระบายน้ำได้เป็นอย่างดี และนอกจากช่วยน้ำท่วมแล้ว เวลาน้ำแล้งเรายังสามารถปิดประตู เก็บน้ำไว้ใช้ได้อีก เพราะในอีก 3 ปี มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภัยแล้งจากเอลนีโญ ดังนั้นถ้าเราวางแผนแก้ปัญหาแบบเป็นระบบ ก็จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ทั้งหมด
สยบข่าว ผวจ.เกียร์ว่าง
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย พร้อมนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ระบุว่า ข้อสั่งการในการรับน้ำในพื้นที่ กทม. เรื่องอุทกภัยหรือภัยพิบัติ ขอให้มีความมั่นใจเพราะผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยต่างก็ปฏิบัติการในเรื่องนี้อยู่แล้ว มีเกณฑ์ที่จะประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ความช่วยเหลือก็จะลงไปในพื้นที่ กรณีที่บอกว่า ผวจ.ไม่อยู่หรือถุงยังชีพไม่พอ จริงๆ เรื่องความช่วยเหลือต่างๆ อยู่ในพื้นที่แล้ว อำนาจการบริหารจัดการในพื้นที่ ผวจ.มีอำนาจเต็มตามการบริหารจัดการ กระทรวงมหาดไทยพร้อมให้การสนับสนุนทุกทางในส่วนที่เกินอำนาจ ผวจ.
“ในส่วนของ กทม.มีสำนักการระบายน้ำ มีทุกอย่างที่พร้อมสรรพอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีการร้องขอความร่วมมือใดๆ มาที่มหาดไทยก็พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องห่วงเวลาทำงานในหน้าที่ ไม่มีเรื่องพรรคการเมือง มีแต่ภารกิจที่จะต้องทำ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ตรงนี้หาเสียงไม่ได้” นายอนุทินกล่าว
เมื่อเวลา 16.00 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายอนุทินกล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า กรณีที่มีข่าวแพร่กระจายออกไปว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านผู้ว่าฯ ที่เกิดเหตุไม่อยู่ที่ในเกิดเหตุ พอมีการประสานงานไปเพื่อให้ขอประกาศภัยพิบัติ แต่ได้คำตอบจากกระทรวงมหาดไทยบอกให้รอวันจันทร์ ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยให้คำยืนยันว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในกระทรวง ยืนยันเรามีความพร้อมให้การดูแลเหตุภัยพิบัติและประชาชน
นายอนุทินกล่าวด้วยว่า ผวจ.มีอำนาจตามระเบียบอยู่แล้วในกรณีเกิดเหตุฉับพลัน ดังนั้นจึงสามารถประกาศเหตุภัยพิบัติได้ เพื่อบูรณาการบริหารจัดการในพื้นที่ รวมถึงงบประมาณต่างๆ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมให้การสนับสนุนในส่วนที่เกินขอบเขตอำนาจ โดยสามารถขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลางได้
ด้าน ปภ.รายงานจากสถานการณ์ระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2566 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด รวม 95 อำเภอ 322 ตำบล 1,365 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,423 ครัวเรือน ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 2 ต.ค. 66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 10 จังหวัด 58 อำเภอ 232 ตำบล 1,037 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,590 ครัวเรือน อาทิ จ.ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีเพียงที่จังหวัดกาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ