เรียกผู้ว่าฯธปท.ถกนโยบาย

“เศรษฐา” ออกตัวปัดขัดแย้งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยแค่หารือธรรมดาต่อไปจะพบกันมากขึ้น รับเห็นต่างเรื่องธรรมดาแต่คุยด้วยเหตุผล นายกฯ ร่ายยาวการจัดทำงบประมาณปี 2567 ยกนโยบาย รบ.ที่แถลงรัฐสภาและผลงาน ครม.นัดแรกฉายซ้ำ โอ่เร่งปรับค่าแรง 400 บาท มั่นใจปี 2570 ค่าแรงขยับถึง 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาทมาแน่ ย้ำ ก.พ.ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นได้ใช้ วางเกณฑ์ 5 ข้อจัดทำงบปี 67

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เพื่อหารือเป็นการส่วนตัว  โดยใช้เวลา 45 นาทีและไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

ขณะที่นายเศรษฐากล่าวภายหลังว่า เป็นการหารือกันธรรมดาในฐานะผู้บริหารองค์กรสูงสุด เป็นการรับฟังความคิดเห็นกันธรรมดา พูดคุยถึงเรื่องเศรษฐกิจโดยรวมในทุกเรื่อง นโยบายอะไรที่รัฐบาลกำลังจะทำก็มารับฟังความเห็น พร้อมรับฟังข้อมูลข้อเสนอของ ธปท.

 “การหารือเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ 2 คนคุยกัน คุยกันด้วยดีและจะพบกันอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งกัน ไม่มีเลย และไม่มีแน่นอน กับผู้ว่าฯ ธปท.ก็อาจนัดคุยกันอีก 2-3 อาทิตย์ หรืออาจเร็วกว่านั้นหากมีความต้องการ แต่ว่าโทรศัพท์คุยกันก็คงบ่อยขึ้น” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า การพูดคุยในวันนี้จะนำไปสู่การทบทวนนโยบาย ทั้งในส่วนของรัฐบาลและ ธปท. ต่างคนต่างทบทวน ไม่อย่างนั้นจะเรียกมาทำไม ไม่ได้เรียกมาจัดฉาก แต่เป็นการเรียกมาเพื่อคุย เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติซึ่งกันและกัน ในฐานะที่ ธปท.เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ในเมื่อเชิญท่านมาก็ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นแน่นอน

 “ผมกังวลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน ไม่ต้องห่วง ข้อเสนอแนะของ ธปท.ผมรับฟัง ซึ่งก็มีทั้งเรื่องที่ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเราต่างเป็นผู้ใหญ่ซึ่งกันและกัน จะเห็นตรงกันทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็พูดคุยกันด้วยเหตุและผล ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้ยังไม่มีประเด็นนำไปสู่การปรับนโยบายที่รัฐบาลเคยพูดไว้แล้ว ก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกันและพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในวันนี้จะโทรศัพท์ถึงผู้ว่าฯ ธปท.อีกครั้ง” นายเศรษฐากล่าวและว่า ธปท.ได้ฝากนโยบายในหลายๆ เรื่อง ซึ่งบางเรื่องก็ไม่ได้คิดไว้เลย ธปท.ก็เสนอว่าควรต้องทำอะไรบ้าง นโยบายในอนาคตหลายๆ เรื่องก็ได้เรียนถาม ธปท.ไปว่ากำลังคิดเรื่องใดบ้าง ธปท.คิดว่าอย่างไร สรุปก็คือว่าต่อไปนี้หากรัฐบาลจะทำอะไรก็ต้องคุยกับ ธปท.บ่อยขึ้น

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า ที่ห้องรอยัล จูบิลี บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายเศรษฐาไปเป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้นำเหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ย้ำ ก.พ.แจกหมื่นแน่

โดยนายกฯ มอบนโยบายว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ และเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ในระยะสั้น รัฐบาลให้ความสำคัญ 3 ประการเร่งด่วนด้วยกัน คือการฟื้นฟูรายได้ ดูแลค่าใช้จ่ายของประชาชน และเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ  และ รมว.พาณิชย์เป็นประธานคณะกรรมการ

นายเศรษฐากล่าวว่า การฟื้นฟูรายได้จะเริ่มต้นด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในต้นปี 2567 จะมีเงินอัดฉีดเข้าไปในเศรษฐกิจด้วยกรอบประมาณ 560,000 ล้านบาท นโยบายนี้จะแตกต่างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากระตุ้นอุปสงค์ความต้องการเป็นหลัก แต่ครั้งนี้จะเข้าไปกระตุ้นอุปทานให้โตขึ้น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่ได้รับคืนมาคือภาษีที่กลับคืนสู่ภาครัฐ ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเศรษฐกิจนี้  ระยะเวลา 6 เดือนเพื่อกำหนดให้เงินนี้ต้องหมุน มีการจับจ่ายใช้สอย

“ตอนนี้ ครม.ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชัน การจัดหาแหล่งเงิน การกำหนดกฎระเบียบทั้งหมด และตอบคำถามจากทุกๆ คน ไม่ต้องห่วงครับ ได้ใช้แน่นอนในเดือน ก.พ.นี้  แต่นี่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ด้านการท่องเที่ยวเราจะฟื้นการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งการประชุม ครม.วาระแรกได้ดำเนินการทันที คือการยกเว้นวีซ่าชั่วคราวให้นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน และจะวางแผนมาตรการอื่นๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย อำนวยความสะดวก หรือมาตรการอื่นๆ ที่เหมาะสม ในระยะยาวเองก็ต้องพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หรือการโรดโชว์ในต่างประเทศ โดยมีนโยบายที่จะทำให้โลว์ซีซันหมดไปจากประเทศไทย

เศรษฐาฟุ้งลดก๊าซ-เบนซิน

“ด้วยทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผมมั่นใจว่าเราจะทำให้การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวันได้โดยเร็วที่สุด ส่วนการลดค่าพลังงานทำไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำให้น้ำมันดีเซลราคาไม่เกิน 30 บาท หรือทำให้ค่าไฟเหลือเพียง 3.99 บาท ซึ่งในอนาคตก็ต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงอีก อาทิ ค่าก๊าซหุงต้ม, น้ำมันเบนซิน เป็นต้น เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน”

นายเศรษฐากล่าวว่า หนี้ครัวเรือน หนี้เกษตรกร ครม.ก็ได้อนุมัติไปแล้ว พักหนี้ให้เกษตรกรเกือบๆ 2,700,000 ราย และจะวางแผนดูแลหนี้สินกลุ่มที่มีความจำเป็นอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ต่อลมหายใจให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากหนี้สิน ทั้งนี้การพักหนี้ในช่วง 9 ปีก่อนหน้าที่เกิดมา 13 ครั้งนั้น และยังมีการแทรกแซงตลาดราคาสินค้าอีกนับแสนๆ ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เป้าหมายของรัฐบาลนี้คือ การทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายสุทธิเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า นอกจากภาคการเกษตรแล้ว ภาคการผลิต อุตสาหกรรมเองก็จะได้รับประโยชน์ต่อเนื่อง หลังจากการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลนี้จะสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ๆ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีขั้นสูง หรืออุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมความมั่นคงประเทศ และผลักดันให้สตาร์ทอัปไทยเติบโตได้ ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมทั้งถนน น้ำ  ราง อากาศ จะต้องมีการวางแผนลงทุนอย่างเป็นระบบ และต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์ ดูทั้งอุปสงค์และอุปทานให้สอดคล้องกัน

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า เรื่องการต่างประเทศที่สำคัญอีกเรื่อง คือการเปลี่ยนการทูตของเราให้ Pro-active  มากยิ่งขึ้น เราจะไม่รอคำเชิญจากนานาประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เราจะรุกออกไปพบไปคุยไปจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อบอกชาวโลกว่า Thailand is open หรือประเทศไทยเปิดแล้ว การลงทุนทั้งในภาคการเกษตร การทำเขตเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และการเดินหน้าเจรจาต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานหลากหลายนโยบายจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำตามเศรษฐกิจได้ เป็น 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี  25,000 ภายในปี 2570

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้จะต้องช่วยทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน ให้เขาได้มีโฉนด มีเอกสารสิทธิครบถ้วน และรวมถึงพิจารณากำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่เหมาะสมด้วย กองทัพก็แสดงความพร้อมช่วยเหลือประชาชน นำที่ดินมาจัดสรรเพื่อนำไปใช้สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้ ส่วนเรื่องความมั่นคงและคุณภาพชีวิต ต้องมีการบริหารจัดการกำลังพล ทรัพยากรให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่นมีกำลังพลประจำการน้อยลง แต่มีคุณภาพและทันสมัยมากขึ้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจ ทำให้กองทัพของเรามีความเป็นสากล มีความเป็นมืออาชีพ ในขณะเดียวกันก็เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนในเวลาต่างๆ รวมถึงการนำสินทรัพย์ของกองทัพออกมาสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันไปบ้างแล้ว

“รัฐบาลนี้จะจัดการยาเสพติดให้หมดสิ้น บำบัดและส่งคืนลูกหลานที่ติดยาสู่ครอบครัว จัดการกับผู้มีอิทธิพลต่างๆ ป้องกันการแทรกแซงการบริหารราชการ โดยวางแผนใช้มาตรการต่างๆ เช่น ตั้งรางวัลผู้ให้เบาะแส ปกป้องคุ้มครองพยาน และอื่นๆ ที่เหมาะสม เป็นต้น” นายเศรษฐากล่าว

วางหลัก 5 ข้อทำงบปี 2567

นายกฯ กล่าวว่า อีกเป้าหมายหนึ่งคือ การวางแผนที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2593 หรือ ค.ศ. 2050 และปีนี้รัฐบาลจะออก Sustainability Linked Bond ตั้งเป้าออกไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท จุดประสงค์ของพันธบัตรตัวนี้ จะทำให้องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน ส่วนเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างราชการกับประชาชน จะต้องทำให้ไม่มีคนมาต่อคิวรอตั้งแต่เช้า ต้องมีแผนปรับปรุงการให้บริการ กำจัดเจ้าหน้าที่ที่ทำตัวเป็นนายประชาชน เรียกรับสินบน ซึ่งรับไม่ได้ และต้องปรับปรุงขั้นตอนการบริหารภายในราชการด้วยกันเอง เพื่อทำให้งานทำได้เร็วยิ่งขึ้น

  นายกฯ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ  2567 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญ ในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และให้แผนต่างๆ บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รัฐบาลจะมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นวงเงิน 3.48  ล้านล้านบาท ทั้งนี้ในการวางแผนใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 ขอวางกรอบความสำคัญ 5 ข้อต่อไปนี้ ข้อแรก ขอให้จัดทำงบและเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาไป ข้อสอง ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างบูรณาการ วางแผนงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน ข้อสาม ขอให้วางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ข้อที่สี่ โครงการ แผนงานต่างๆ จะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมาย ข้อที่ห้า ขอให้จัดทำแผนการใช้จ่ายโดยพิจารณาให้ครบทุกแหล่งเงินทุน        

 “แม้งบประมาณปี 2567 จะล่าช้า แต่ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีความระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด ฉะนั้นในการทำงบประมาณปีนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาประเด็นทั้งกรอบความสำคัญทั้ง 5 ข้อ ได้แก่ 1.ทำงบประมาณตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน 2.ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน 3.ทำอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาวินัยการเงินการคลัง 4.ทำอย่างมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย 5.ทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน และยึดวินัยการเงินการคลัง และขอให้จัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ขอให้ทุกท่านวางแผนงบประมาณให้มีสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้ภาษีของประชาชนทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช่วยนักโทษติดคุกหมด เสรีพิศุทธ์ถอนตัวงัดหลักฐานมัดแก๊งชั้น14/ปชป.มีมติร่วมรบ.

"นายกฯ อิ๊งค์" อารมณ์ดีนัดสื่อให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง 30 ส.ค. "ภูมิธรรม" มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลังดึง