เศรษฐาตื่นแก้ท่วม! ผวาสุโขทัยน้ำถล่มซ้ำ/สั่งอย่าดูแค่ปัญหาระยะสั้น

นายกฯ รุดมอนิเตอร์สถานการณ์น้ำกรมชลฯ ยอมรับห่วงสุโขทัยที่สุด บอกวันจันทร์ 8 โมงน้ำทะลัก  ขออย่าแก้ปัญหาระยะสั้น สั่งรองนายกฯ-รมต.ลงพื้นที่น้ำท่วม ระดมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กำชับหน่วยเกี่ยวข้องติดตามตลอด 24 ชม. จนกว่าจะคลี่คลาย “สมศักดิ์” เยี่ยมสุโขทัย-แพร่ ก่อนสรุปแนวทางแก้ปัญหาเสนอ ครม. "มท.1" เผยสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ยันผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดดูแลเต็มที่ มีฮอตไลน์ประสานรัฐมนตรีได้ตลอด "วราวุธ" สั่งปลัด พม.เร่งช่วยกลุ่มเปราะบาง สทนช.ประกาศเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง 3-7 ต.ค.นี้ กรมชลฯ จ่อปรับแผนระบายน้ำ

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เวลา 19.00 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ กรมชลประทาน  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางติดตามสถานการณ์น้ำ โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ, นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน, ว่าที่ร้อยตรีธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา, นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน โดยรองอธิบดีกรมชลประทานได้รายงานสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำและเขื่อนต่างๆ ในประเทศ นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ระหว่างลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่ จ.สุโขทัย

ช่วงหนึ่งนายเศรษฐาระบุว่า เรื่องน้ำกินน้ำใช้เราไม่มีปัญหา ปัญหาใหญ่ที่มักมีการพูดถึงคือเรื่องเกษตรกรรม แต่อย่างหนึ่งที่คนมักมองข้ามคือเรื่องอุตสาหกรรม เพราะภาคอุตสาหกรรมเราให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาเยอะมาก ถ้าต้นปีหน้าหรือกลางปีหน้ามีข่าวออกไปว่าเรามีน้ำไม่เพียงพอเราจะเสียหายเยอะมาก ขอฝากตรงนี้ และขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาทำงาน น้ำท่วม 3 วันนี้ตนติดตามใกล้ชิด ประชาชนเดือดร้อนถ้วนหน้า เรามีความเป็นห่วง เป็นที่มาที่ต้องมาดูที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งนี้ เพื่อติดตามสถานการฟังข้อคิดในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญมาเป็นกำลังใจ เพราะไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องมาเป็นกำลังใจให้ เบื้องต้นจากการรับฟังรายงานเป็นห่วงสถานการณ์ที่แพร่ ลำปาง และอุบลราชธานี ที่แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงไปแล้วบ้าง แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และต้องดูแลฟื้นฟูความเสียหายบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.สุโขทัย น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะต้องรองรับมวลน้ำจาก จ.แพร่ และขอว่าอย่ามองระยะสั้น เช่น อุบลราชธานี ที่ระบุน่าเป็นห่วง ปีก่อนโดนเป็นอาทิตย์ ดังนั้นจึงอย่าห่วงแค่เรื่องเฉพาะหน้า

“วันนี้เรื่องสำคัญที่ต้องหารือคือการวางแผนรับมือกับมวลน้ำที่จะเข้ามาอีกระลอก ซึ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปกว่าเดิม การประชุมวันนี้ขอให้ทุกท่านให้ความเห็นอย่างเต็มที่ ติดขัดอะไรขอให้พูดกันตรงๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันสถานการณ์”

จากนั้นนายกฯ ได้สั่งการว่า 1.การจัดการน้ำ ให้กรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดจราจรน้ำในน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำยม-น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2.การจัดการอาคารกั้นน้ำ ให้หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ สะพาน และอาคารชลประทาน ให้มีความมั่นคงและพร้อมใช้งานตลอดช่วงฤดูน้ำหลาก 3.การช่วยเหลือประชาชน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เช่น เร่งซ่อมแซมที่อยู่อาศัย กำจัดขยะที่มากับน้ำ และตามที่ประชาชนร้องขอ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการระดมสรรพกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพ หน่วยงานท้องถิ่น 4.พยากรณ์อากาศ ให้กรมอุตุนิยมวิทยาติดตามสภาพอากาศ และแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งเตือนสภาพอากาศกับประชาชน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด และ 5.แจ้งเตือนให้กรมชลประทานร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในพื้นที่ให้ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

จากนั้นเวลา 19.40 น. นายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเพียงสั้นๆ ว่า เป็นห่วงจังหวัดสุโขทัย โดยวันที่ 2 ต.ค. เวลา 08.00 น. จะมีน้ำไหลเข้าจังหวัดสุโขทัย ซึ่งได้สั่งการไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพัฒนาระบบเตือนภัย เช่น SMS หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ยังไม่ได้ดูทั้งหมดเลยครับ" ก่อนขึ้นรถเดินทางกลับออกไปทันที

ก่อนหน้านี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า (1-7 ต.ค.66) ทุกภาคของประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง พร้อมแนะข้อควรระวังในช่วงวันที่ 3-6 ต.ค.66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

ทั้งนี้ นายเศรษฐามีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซึ่งยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ ได้สั่งการให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีลงพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย เร่งติดตาม กำกับการช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ให้แจ้งเตือนประชาชนทุกระยะ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะผ่านพ้น และภายหลังน้ำลด ให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนรีบช่วยเหลือประชาชน ฟื้นฟูบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด

ในช่วงเช้า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ที่ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม บ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก โดยนายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย รายงานสรุปสถานการณ์น้ำในจังหวัดสุโขทัยว่า เวลานี้อยู่ในจุดที่ต้องเฝ้าระวัง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 42 ตำบล 165 หมู่บ้าน 1,365 ครัวเรือน รวมถึงมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 2,483 ไร่

ตรวจน้ำท่วมสุโขทัย-แพร่

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกฯ ที่สั่งการอย่างเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงมหาดไทยได้เร่งลงพื้นที่แล้ว ทางจังหวัดสุโขทัยพยายามปล่อยน้ำออกทางด้านซ้ายของแม่น้ำยมเป็นหลัก ซึ่งสามารถปล่อยได้ 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนในวันที่ 2 ต.ค. ได้รับรายงานว่าน้ำน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจจะส่งผลกระทบให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในพื้นที่อำเภอเมืองฯ ยังพบดินสไลด์ริมตลิ่ง ความยาวกว่า 100 เมตร โดยผู้ว่าฯ ได้นำเอาบิ๊กแบ็กมากั้นเรียบร้อยแล้ว คาดว่าสามารถหยุดการไหลของน้ำเข้าในพื้นที่ของอำเภอเมืองได้

"หลังจากนี้ผมและคณะจะเดินทางไปจังหวัดแพร่ เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากท่านนายกฯ มีความเป็นห่วงมาก ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ในช่วงเย็นวันนี้ผมจะกลับมาประชุมที่จังหวัดสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปแนวทางทั้งหมดนำไปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะพยายามแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นายสมศักดิ์ระบุ

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายสมศักดิ์ พร้อมคณะได้เดินทางไปสถานีรถไฟบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โดยมีนายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ บรรยายสรุปเหตุการณ์ จากนั้นได้นั่งรถรางช่วยเหลือระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร  จากสถานีรถไฟบ้านปิน เพื่อไปยังบริเวณจุดเกิดเหตุ หลังเกิดน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ทางขาดเป็นระยะทางกว่า 700 เมตร และเกิดเหตุรถไฟตกราง จนทำให้ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ

ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหา โดยคาดว่าน่าจะกลับมาใช้สัญจรได้ปกติในเวลา 18.00 น.

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีการเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 28 จังหวัดว่า ตนและผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยได้ติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ได้ลงพื้นที่บริหารจัดการและรายงานสถานการณ์โดยตลอด หากมีความจำเป็นเร่งด่วน ผู้ว่าฯ สามารถใช้อำนาจประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนเร่งให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกับพี่น้องประชาชน และในแต่ละจังหวัดมี สส.ร่วมกับผู้ว่าฯ และส่วนราชการในพื้นที่ดูแลประชาชน

"ตอนนี้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดอยู่ในพื้นที่  โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้ออกไปดูแลและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ทางขาด เส้นทางสัญจรเกิดความผิดปกติต่างๆ ก็ใช้กลไกจังหวัดแก้ไข หากส่วนไหนหรือเรื่องใดอยู่เหนือความสามารถ เกินอำนาจท่านผู้ว่าฯ หรือทรัพยากรไม่เพียงพอ ก็จะประสานกับจังหวัดใกล้เคียงหรือส่วนกลาง เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังและมีประสิทธิภาพ"  นายอนุทินระบุ

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามการกู้ขบวนรถไฟจากเหตุรถไฟด่วนพิเศษขบวนที่ 13 กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ตกราง ซึ่งจะสามารถกลับมาเปิดบริการได้ในช่วงเย็น

จากนั้นนายเกรียงและคณะเดินทางไปพบปะให้กำลังใจประชาชนที่บ้านอิม หมู่ 5 ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ พร้อมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายกรณีสะพานห้วยแม่สวกถูกน้ำกัดเซาะจนหักไม่สามารถเดินทางสัญจรไปมาได้ โดยสั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นำสะพานแบริ่งมาติดตั้งเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สัญจรชั่วคราว พร้อมกำชับผู้ว่าฯ หลังน้ำลดสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ให้เตรียมงบประมาณซ่อมแซมสะพานให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ หากงบประมาณไม่เพียงพอ ให้ทำเรื่องเสนอมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

สถานการณ์ดีขึ้นเหลือ 12 จ.

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัด สธ. ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-1 ต.ค.2566 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบสะสม 28 จังหวัด ส่วนใหญ่เริ่มกลับสู่ปกติ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี และปราจีนบุรี ส่วนใหญ่ระดับน้ำลดลงแล้ว ยกเว้นเพชรบูรณ์ระดับน้ำยังทรงตัว  กาฬสินธุ์และอุบลราชธานี ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ได้กำชับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อุทกภัยทุกแห่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประสานหน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินหรือมูลนิธิในการเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมทั้งเฝ้าระวังและป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม 3 กลุ่ม ทั้งพื้นที่น้ำท่วมและหลังน้ำลด

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กระทรวง พม.มีส่วนในมิติของการเยียวยา และสิ่งต่างๆ ที่จะตามมาหลังสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลที่อยู่อาศัย ถุงยังชีพ การช่วยเหลือเรื่องของสภาพจิตใจ ความเป็นอยู่ของกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งได้ขอให้นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. เร่งหาข้อมูลและเตรียมตัวรับสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดจะมีน้ำท่วมบ้าง ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ต้องสำรวจประชากรก่อนว่ากลุ่มเปราะบางมีอย่างไรอยู่ที่ใดบ้าง และโอกาสที่จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมตัวช่วยเหลือหลังน้ำลด

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากเกิดน้ำท่วมขังหรือได้รับผลกระทบ ให้เร่งสำรวจความเสียหายและรายงานมายังสำนักงาน​ศึกษาธิการและสำนักงาน​เขต​พื้นที่​การศึกษา​ เพื่อเตรียม​ให้ความช่วยเหลือ​ในเบื้องต้น ขณะเดียวกัน​ขอให้สถานศึกษาในพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบ จัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้การช่วยเหลือ​สถานศึกษาและประชาชน เช่น​ ศูนย์ Fix it Center จิตอาสา (สอศ.)​ ในการขนย้ายสิ่งของ การจัดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาหารกล่อง น้ำดื่ม เพื่อร่วมกันบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน​ที่ได้ผลกระทบจากอุทกภัยครั้ง​นี้อย่างเร่งด่วน

ที่ จ.ชัยนาท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนบริเวณแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง  โดยเวลา 08.00 น. ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณ 1,290 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 235 (ลบ.ม.) ต่อวินาที น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท  มีปริมาณ 1,244 (ลบ.ม.) ต่อวินาที เพิ่มขึ้น106  (ลบ.ม.)ต่อวินาที น้ำระบายท้ายเขื่อน 917 (ลบ.ม.) ต่อวินาที เพิ่มขึ้น 113 (ลบ.ม.) ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา สูงขึ้น 49 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 10.61 เมตร (รทก.) ต่ำกว่าตลิ่ง 5.73 เมตร

ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศฉบับที่ 1/2566 เรื่อง "เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง" ในช่วงวันที่ 3-7 ต.ค. โดยให้เฝ้าระวังพื้นเสี่ยงหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ระวังน้ำหลากดินถล่ม และเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ถึง 1.50 เมตร  บริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง  คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือทันที 

กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงตามประกาศ สทนช. รวมทั้งจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทาน เพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่ไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสายหลักให้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา  รวมถึงการจัดจราจรทางน้ำเพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากลงมายังแม่น้ำยม แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำชี-มูล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอมิ้ง' แจงยังไม่นำรายชื่อ 'ครม.อิ๊งค์ 1' ขึ้นทูลเกล้าฯ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบประวัติ คุณสมบัติ ในลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

สุดสับสน! ปรากฏการณ์การเมืองไทย ยุครัฐบาล 'อิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเฉพาะกลุ่ม สส. แต่หัวหน้าพรรคกลับถูกไล่ออกไม่ให้ร่วมด้วย

'เรืองไกร' ท้า 'นายกฯอิ๊งค์' โชว์ใบลาออก พ้นกรรมการ 20 บริษัท

ายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้แสดงหลักฐานต่อสาธารณะเกี่ยวกับการลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ รวม 20 บริษัท

'นายกฯอิ๊งค์' อยู่ได้เกิน 6 เดือนไหม! ขึ้นอยู่กับ 2 ทางรอด

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อุ๊งอิ๊งจะอยู่เกิน 6 เดือนไหม