“กนง.” มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.50% แจงอยู่ในระดับเหมาะสมแล้ว เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ลุยขยับจีดีพีปี 67 โตพรวด 4.4% รับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต มั่นใจไม่กระทบเครดิตประเทศ ยันภาคการคลังแน่นปึ้ก
เมื่อวันที่ 27 กันยายน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยประเมินว่าในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการ กนง.ประเมินว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาจนถึงการประชุมครั้งนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายรัฐ
“ระยะสั้นหากภาพเศรษฐกิจไม่เปลี่ยน ก็คาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมอยู่ และสอดคล้องกับระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับศักยภาพในระยะยาว โดยระยะสั้นต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ 1.ต้องแน่ใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับศักยภาพ 2.เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ 3.ระบบการเงินโดยรวมยังทำงานได้ดีไม่มีปัญหา แต่ความไม่แน่นอนก็ค่อนข้างเยอะ ทั้งเศรษฐกิจต่างประเทศที่ชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามามากหรือน้อยแค่ไหน มาตรการภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ขนาดเท่าไหร่ และรูปแบบเป็นอย่างไร โดยคณะกรรมการ กนง.” นายปิติระบุ
นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2566 ลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิม 3.6% จากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% จากเดิมที่ 3.8% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายรัฐ อาทิ มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และมาตรการดูแลราคาเชื้อเพลิงให้กับผู้บริโภค
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าในปีนี้จะอยู่ที่ 1.6% และในปี 2567 อยู่ที่ 2.6% โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในปีนี้ จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าในปีนี้จะอยู่ที่ 1.4% และในปี 2567 อยู่ที่ 2% โดยยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง โดยเฉพาะในปีหน้าจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ ต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าที่คาด
ทั้งนี้ ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงวิกฤต แต่ประเมินว่าจะฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประกอบกับนักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต
เลขานุการ กนง.กล่าวว่า การประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ที่ 4.4% เป็นการรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการคลัง โดยเฉพาะผลจากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท และหากไม่มีมาตรการดังกล่าว แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าก็ยังฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้ โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจในปีหน้าจะกลับมาฟื้นตัวเต็มสูบจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งต่อเนื่อง และภาคต่างประเทศที่กลับมาขยายตัว รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
สำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น ธปท.อยู่ระหว่างการติดตามรายละเอียด ซึ่งตอนนี้ยังมีความชัดเจนไม่มาก ทั้งในประเด็นการจัดหาแหล่งเงิน รูปแบบมาตรการ และระยะเวลาการดำเนินการ รวมทั้งผลต่อเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร โดยจากข้อมูลที่ผ่านมาคาดว่าจะช่วยส่งผลต่อเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 0.3-0.6 เท่า หรือขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4%
ส่วนผลของมาตรการที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเครดิตประเทศนั้น มั่นใจว่ารัฐบาลจะหาทางออกที่ดีที่สุดในการจัดหาแหล่งเงิน ขณะที่ในระยะยาวก็ยังมั่นใจว่าภาคการคลังมีเสถียรภาพเพียงพอ เมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ โดยมีระดับหนี้สาธารณะไม่สูงมาก และถ้าเศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ การก่อหนี้ การใช้คืนหนี้ ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับ แต่ผลที่เกิดขึ้นในขณะนี้เนื่องจากยังมีความไม่ชัดเจนของมาตรการ และความเป็นห่วงในเรื่องอุปทานเรื่องพันธบัตรที่จะเข้าสู่ตลาดว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน