ศาลสั่งกรมที่ดินชดใช้ธนาธร

ศาลปกครองสั่ง "กรมที่ดิน"   ชดใช้ "ธนาธร" 4.9 ล้านบาท ปมเพิกถอนที่ดินราชบุรี ชี้ซื้อมาโดยสุจริต พร้อมยกฟ้อง "มท.-อธิบดี-ปลัด"

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2218/2565 คดีหมายเลขแดงที่  1837/2566 ระหว่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ยื่นฟ้อง กับกระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน และปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมที่ดินที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.65 ที่เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 158-159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของตนเอง

โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 158-159 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน และเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากตำแหน่งที่ดิน น.ส.3 ก. พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (หมายเลข 85)” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2512 จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามมิให้ดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวรและเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 โดยผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินของหน่วยงานต่างๆ ตามหลักวิชาการที่ดิน ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดิน มาตราส่วน 1 : 30,000 ระวาง 4836 II 5006 แล้วเห็นว่า ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 158-159 ของผู้ฟ้องคดี อยู่ในแนวเขตที่ดิน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2512 ได้กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” หมายเลข 85 และต่อมาได้มีการประกาศกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ.2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 จึงเป็นการออก น.ส.3 ก. โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย รองอธิบดีซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มอบหมายจึงมีอำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สั่งเพิกถอน น.ส.3 ก.ได้ ดังนั้นคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 ให้เพิกถอน น.ส.3 ก. เลขที่ 158-159 ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี อาศัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจเช่นเดียวกัน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อ น.ส.3 ก. เลขที่ 158 ออกให้แก่นายอุดม กิตติอุดมพานิช และ น.ส.3 ก. เลขที่ 159 ออกให้แก่นายชัยณรงค์ บู่ศรี เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2521 ตามโครงการเดินสำรวจโดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามตามมาตรา 58 และมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมา นายอุดมและนายชัยณรงค์ได้จดทะเบียนขายให้แก่บริษัท   ไร่อ้อยมิตรผลฯ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2528  หลังจากนั้น บริษัท ไร่อ้อยมิตรผลฯ ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่นายสาโรจน์ วสุวานิช เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2534 และนายสาโรจน์ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2543 ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้รับความเสียหาย เมื่อนายอำเภอจอมบึงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการออก น.ส.3 ก. ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญ และความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออก น.ส.3 ก. ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แต่เมื่อนายอำเภอจอมบึงได้ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องไม่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึงในการออก น.ส.3 ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ส่วนในการพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี จะต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ณ วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก. เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2565 และไม่ปรากฏว่ามีราคาซื้อขายที่ดินกันตามปกติในท้องตลาดในวันดังกล่าว จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายโดยเทียบเคียงจากบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รอบบัญชี ปี พ.ศ.2559-พ.ศ.2562 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาจอมบึง ประกาศกำหนด เนื่องจากอัตราดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาที่ดินที่มีความเป็นกลางและใช้บังคับอยู่จนถึงวันที่มีการเพิกถอน น.ส.3 ก. เมื่อ น.ส.3 ก. เลขที่ 158 มีเนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ 160 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,800,000 ล้านบาท และ น.ส.3 ก. เลขที่ 159 มีเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ 190 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,900,730 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 5,700,730 บาท อย่างไรก็ดีผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 4,785,782.98 บาท ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ และผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทำละเมิด คือตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 จนถึงวันที่ฟ้องคดี (10 ต.ค.2565) คิดเป็นดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 126,528.23 บาท ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 4,912,311.21 บาท

ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นรายเดือน เดือนละ 13,666.67 บาท นับแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 เป็นต้นไป จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และค่าเสียหายจากการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน โดยค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินจำนวน 86,555.57 บาทนั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน และไม่เคยมีรายได้จากที่ดินแปลงพิพาท อีกทั้งผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างลอยๆ  ปราศจากพยานหลักฐานการให้เช่าที่ดิน กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี

พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 4,912,311.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ของต้นเงินจำนวน 4,785,782.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลแต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่ผู้ฟ้องคดี ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง