แม้วอ้างความลับผู้ป่วย กพ.67พักโทษกลับบ้าน

กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา เรียกหน่วยงานควบคุมดูแล “น.ช.ทักษิณ” ชี้แจง แต่ไร้ข้อมูลอาการป่วย เหตุอ้าง “ความลับผู้ป่วย” จ่อเรียกแจงใหม่เดือน ต.ค.  เผยอยู่ รพ.ครบ 6 เดือน ก.พ.67 เข้าเกณฑ์พักโทษ กลับไปอยู่บ้านได้โดยไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็ม "ราชทัณฑ์" แจงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ต้องขังเจ็บป่วยได้หากไม่ได้รับการยินยอม ชี้เป็นไปตามหลักกฎหมาย ​มาตรฐานสากล   

ที่รัฐสภา วันที่ 25 กันยายน มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ​เป็นประธาน กมธ. โดยได้พิจารณาติดตามการดูแลนักโทษของระบบราชทัณฑ์ ทั้งนี้พบว่าตัวแทนของหน่วยงานที่ กมธ.เชิญร่วมประชุม คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, โรงพยาบาลตำรวจ, กระทรวงยุติธรรม, กรมราชทัณฑ์, ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายสมชายกล่าวตอนหนึ่งก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระว่า การเชิญตัวแทนหน่วยงานมาให้ข้อมูลกับ กมธ.นั้น ต้องการทราบถึงการดูแลผู้ป่วยตามมาตรการของกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส รวมถึงติดตามหรือข้อสงสัย ในกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ​ ที่รักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ นั้น จะไม่ล้วงลูกหรือกระทบกระเทือนสิทธิผู้ป่วย ทั้งนี้การประชุมจะเป็นการประชุมลับ และจะเปิดเผยรายละเอียดเฉพาะที่ได้รับอนุญาต

ต่อมาเวลา 16.45 น. นายสมชายแถลงว่า กมธ.ได้รับคำตอบชัดเจนในระดับหนึ่งใน 4 ประเด็น คือ 1.นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ารับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ที่ให้พักรักษาตัวอยู่ใน รพ.ตำรวจ มีทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดเวรเฝ้าดูแลควบคุม ข้อครหาที่ว่านายทักษิณไม่ได้อยู่ที่ รพ.ตำรวจจริง หรือกลับบ้านไปเลี้ยงหลานแล้วนั้น ตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยัน  นายทักษิณยังพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ 2.การรักษาตัวเป็นไปตาม 4 โรคสำคัญ ที่มีผลรับรองทางการแพทย์จากสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

"ขณะที่การผ่าตัดนายทักษิณโดยแพทย์ใหญ่ที่ รพ.ตำรวจนั้น ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเรื่องอาการป่วยและการผ่าตัด เพราะเป็นไปตามกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้ป่วย  และตัวแทนแพทย์ รพ.ตำรวจที่มาชี้แจง กมธ.ในครั้งนี้ไม่ใช่แพทย์ผู้ดูแลรักษานายทักษิณ แต่ กมธ.ให้คำแนะนำว่า ขณะนี้มีการสงสัยอาการป่วยหลายโรค แพทย์ควรชี้แจงว่า มีโรคใดที่ควรกังวล ใช้เวลาพักฟื้นเท่าใด เพื่ออธิบายให้สังคมเข้าใจ คลายความสงสัย แม้ประเด็นดังกล่าวจะเป็นสิทธิของผู้ป่วยและญาติไม่เปิดเผย แต่ควรอธิบายให้สังคมเข้าใจในบางระดับว่าจะต้องรักษาต่อไปอีกนานเท่าใด กมธ.แนะนำสามารถส่งข้อมูลทางลับได้ เพราะ กมธ.จะไม่นำไปเปิดเผย"

นายสมชายกล่าวต่อว่า 3.ถ้านายทักษิณอาการดีขึ้นจะส่งตัวกลับไปรักษาที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระบุว่า ต้องดูอาการนายทักษิณว่าอยู่ในเกณฑ์ใด ขึ้นอยู่กับแพทย์จะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ และเป็นสิทธิของญาติที่จะชี้แจงกับสังคมหรือไม่ โดย กมธ.ไม่ก้าวล่วง 4.กรณีรับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี จะได้รับการลดโทษได้อีกหรือไม่ กรมราชทัณฑ์ระบุว่า เกณฑ์ขอลดโทษตามช่วงเวลาที่ขอพระราชทานอภัยโทษนั้น มีช่วงเวลาตามโอกาสพิเศษ เช่น วันที่ 5 ธ.ค., 28 ก.ค., 12 ส.ค. แต่การขอลดโทษตามเกณฑ์ดังกล่าว นักโทษต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน โดยยึดเกณฑ์เวลาที่มากกว่า

"กรณีนายทักษิณจะครบเกณฑ์รับโทษ 6 เดือนในเดือน ก.พ. 2567 จะได้รับสิทธิการพักโทษ เพราะอยู่ในเงื่อนไขมีอายุเกิน 70 ปี แม้จะรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ก็ถือว่าเข้าข่ายให้นับโทษอยู่ในเรือนจำ ดังนั้นหากนายทักษิณรักษาตัวอยู่ใน รพ.ตำรวจครบ 6 เดือน ในเดือน ก.พ. 2567 ก็จะเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องใส่กำไลอีเอ็ม แต่อาจจำกัดพื้นที่ให้อยู่ที่บ้านในประเทศไทย ไม่สามารถเดินทางไปนอกราชอาณาจักรได้"

ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.ได้รับข้อมูลหรือไม่ว่า นายทักษิณต้องรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจไปอีกนานแค่ไหน นายสมชายกล่าวว่า เป็นประเด็นที่แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจจะพิจารณา กมธ.ไม่ค่อยได้รับคำตอบเรื่องอาการป่วยของนายทักษิณ เราไม่สามารถไปบังคับให้ต้องตอบ ทำได้แค่ให้คำแนะนำว่าถ้าไม่ตอบสังคมจะมีความสงสัย หากไม่ป่วยต้องกลับเข้า รพ.ราชทัณฑ์ แต่หากป่วยต้องชี้แจงถึงระยะเวลารักษา อยากเห็นความตรงไปตรงมา หากนายทักษิณตัดสินใจจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว หากปล่อยให้มีความสงสัยและเกิดเป็นคลื่นใต้น้ำ อาจมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมได้ กมธ.จะให้เวลาอีก 1  เดือน คือในช่วงเดือน ต.ค. ก่อนที่นายทักษิณจะครบสิทธิการรักษาตัวนอกเรือนจำอีก 30 วัน จากนั้นจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้ง

วันเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจง เรื่องการเปิดเผยข้อมูลผู้ต้องขังว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลให้เป็นไปโดยเสมอภาคกันตามกฎหมาย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขัง การสัมภาษณ์ การเปิดเผยใบหน้า โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังรายใดก็ตาม ทั้งที่เป็นประชาชนคนธรรมดา  ดารานักแสดง นักการเมือง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม ฯลฯ ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำโดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถเปิดเผยได้หากผู้ต้องขังไม่ยินยอม และกรณีที่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ ต้องมีการลงนามในแบบฟอร์มเพื่อยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเท่านั้น (Informed Consent) โดยยึดหลักกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

1.พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล 2.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท 3.ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ยังยึดมั่นในหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากล โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกแห่งองค์การสหประชาชาติ มีการวางมาตรฐานข้อกำหนดแมนเดลา  (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยรายละเอียดของผู้ต้องขังในฐานะผู้ป่วย ตามข้อกำหนดที่ 26, 32 ที่กำหนดว่า ข้อมูลด้านเวชระเบียนผู้ต้องขังทุกคนต้องเก็บเป็นความลับ ผู้ต้องขังมีสถานะเป็นผู้ป่วยตามปกติเมื่อเข้าพบแพทย์ ผู้ป่วยต้องให้ความยินยอมบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง (Informed Consent) สำหรับการตรวจหรือรักษาทางการแพทย์ ประวัติการรักษาของผู้ต้องขังต้องถูกเก็บเป็นความลับ การไม่เปิดเผยข้อมูลเรื่องสุขภาพของผู้ต้องขังนั้น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับเท่าเทียมกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ