ฉุน!จี้ถามปมทักษิณ เศรษฐาไล่สื่อแกะเทปฟัง วิษณุชิ่งไม่ร่วมวงแก้รธน.

“เศรษฐา” ฉุนโดนซักปมตั้ง  “ทักษิณ” นั่งกุนซือใหญ่ ยันไม่ได้พูด ไล่ให้แกะเทปฟัง อย่าตีความไกล "อดิศร" ชี้ สว.มีสิทธิสอบมาตรการรักษา "แม้ว" ปรามอย่าโยงการเมือง คปท.บุก รพ.ตำรวจ ไล่ น.ช.กลับคุก "ภูมิธรรม" ย้ำตั้ง  คกก.ศึกษาทำประชามติ ไม่เกิน 30 คนจากทุกภาคส่วน ลั่นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สุดโต่งเกินไป “จุรินทร์” ดักคอรัฐบาลอย่าใช้ รธน. 40 เป็นตัวตั้ง สกัดตรวจสอบนายกฯ ซ้ำรอยปัญหากินรวบในอดีต "วิษณุ" ปัดร่วมวง ชี้ช่องแก้ ม.256 ลดขั้นตอนทำประชามติ

เมื่อวันที่ 24 กันยายน เวลา 07.27 น.  ที่ห้องรับรองพิเศษ VIP ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงความชัดเจนกรณีที่มีการตีความการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ ที่จะมีการตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาหลังพ้นโทษว่า ทุกคนต้องแกะเทปดู ตนไม่ได้บอกว่าจะตั้งใช่ไหม บอกว่าหากมีเรื่องอะไรถ้าจะปรึกษาก็ปรึกษาได้ เหมือนกับปรึกษาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายๆ คนที่อาจจะเกษียณไปแล้ว หรืออดีตนายกฯ ซึ่งตนได้ไปกราบนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ มาแล้ว 

 “ผมเป็นนายกฯ ครั้งแรก และเพิ่งเข้าสู่วงการการเมือง ใครมีความรู้ความสามารถที่ดี ผมก็พร้อมที่จะปรึกษา ก็พูดแค่นั้น ก็แค่นั้น ผมก็พูดแค่นั้น แค่นั้นใช่มั้ยใช่ไหม บลูมเบิร์กก็แปลแค่นั้นใช่ไหม อย่าตีความไปกว้างกว่านั้นเลย เพราะเรื่องนี้จะก่อให้เกิดประเด็นโดยไม่ใช่เหตุ” นายเศรษฐาระบุ

เมื่อถามว่า แต่มีการตีความกันไปแบบนั้น นายกฯ กล่าวอย่างอารมณ์ที่ฉุนเฉียวว่า “คุณตีความ คุณอย่าตีความสิครับ คุณฟังที่ผมพูดสิครับ เรื่องอื่นมีอะไรไหมครับ" ก่อนเดินทางกลับทันที

ด้านนายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนายสมชาย แสวงการ สว. เป็นประธาน กมธ. ตั้งเรื่องตรวจสอบฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษานายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงติดตามดูแลนักโทษในระบบของกรมราชทัณฑ์ว่า เป็นสิทธิของ กมธ.วุฒิสภาที่จะตรวจสอบ แต่หวังว่าสมาชิกรัฐสภาที่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองควรจะคำนึงถึงการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนการรักษาตัวนอกเรือนจำของนักโทษนั้น เชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จะดูแลให้เป็นไปตามความจำเป็นในแต่ละรายหรือแต่ละกรณี ซึ่งการตรวจสอบที่เป็นสิทธิที่ทำได้นั้น ไม่ควรมีประเด็นการเมืองพ่วงไปด้วย

"ผมคิดว่าจะให้ความเป็นธรรม ซึ่งขณะนี้โลกพัฒนาไปสู่การอยู่ร่วมกันต่อไป และนายกฯ ได้ย้ำถึงการดึงศักยภาพเพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้นควรเลยจุดที่จะเอาความหลังค้างเก่า หรือความคิดตกค้างเรื่องที่อยู่ในใจมาพูด เพราะโอกาสเดินหน้าต่อไปจะลำบาก ผมขอย้ำว่าในฐานะสมาชิกรัฐสภาที่เป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน ควรเป็นหลักชัยให้บ้านเมือง และผมคิดถึงท่านทักษิณ ใจแทบขาด ยังไปพบท่านไม่ได้เลย" นายอดิศรระบุ

ซัด 'ทักษิณ' ผ่าตัดปอดแหก

ที่ลานด้านหน้า Central tower ฝั่งตรงข้าม โรงพยาบาลตำรวจ เวลา 15.00 น.  เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. นัดรวมตัวกันประมาณ 20 คน ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ภายใต้ชื่อกิจกรรมว่า “เยี่ยม นักโทษชายทักษิณ” โดยแกนนำได้เปิดเพลง “กูล่ะเว้ย (เฮ้ย)” ประกอบการทำกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีการนำรูปของนายทักษิณมาแปะไว้ที่ผ้าขาวผืนยาวระบุข้อความว่า ทวงคืนเตียงให้คนไข้, อยู่โรงพยาบาลหรืออยู่บ้านทรายทอง เป็นต้น ส่วนผ้าขาวอีกผืน แกนนำจัดเตรียมไว้ให้ผู้ร่วมชุมนุมเขียนอวยพรไปถึงนายทักษิณ นอกจากนี้ยังมีการนำเหล็กเส้น มาประกอบกันจำลองว่านี่คือห้องขัง แต่ด้านข้างห้องขังมีหุ่นรูปร่างหน้าตาคล้ายนายทักษิณวางอยู่ข้างนอก เสมือนกับว่านายทักษิณไม่ได้อยู่ในคุกจริง

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่ม คปท. เปิดเผยว่า เรื่องที่กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่านายทักษิณมีอาการป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ปัจจุบันเวลาผ่านมานานกว่า 30 วัน จึงอยากฝากคำถามไปทางกรมราชทัณฑ์ว่า ทำไมนักโทษคนอื่นไม่เคยได้รับสิทธิแบบนี้ พร้อมกับยกตัวอย่างนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ อาทิ นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ที่เคยป่วยหนัก แต่ยังถูกรักษาในโรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ สังคมตั้งคำถามมากมาย แทนที่จะออกมาพูดความจริงกับประชาชน เพียงแต่ไม่กล้าพูด เพราะกลัวว่าถ้าพูดไปแล้วนายทักษิณจะต้องกลับไปอยู่ในเรือนจำ

นอกจากนี้ กลุ่ม คปท.ยังได้ตั้งคำถามไปถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผอ.โรงพยาบาลตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม ว่า เหตุผลที่ป่วย ป่วยเป็นอะไร ทำไมถึงไม่มีใครออกมาตอบได้ แล้วที่บอกว่าทักษิณผ่าตัด ผ่าตัดอะไร ผ่าตัดปอดหรือไม่ ปอดแหกจนต้องผ่าตัดเลยหรือ อย่างไรก็ตามการที่กลุ่มออกมาทำกิจกรรมดังกล่าว ต้องการให้ระบบความยุติธรรมมีความยุติธรรมสมชื่อ วันนี้สังคมมีคำถามว่า ระบบความยุติธรรมกำลังถูกข้าราชการบางคนเอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล

วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวถึงกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เสนอให้มีกรรมการ ควรต้องมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเพื่อให้มีการรับฟังอย่างรอบด้านว่า เป็นเจตนารมณ์ของเราอยู่แล้วที่พยายามจะดึงทุกภาคส่วน แต่มีข้อจำกัดคือหากดึงทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาจริงๆ ปริมาณจำนวนจะเกินมากๆ  และการมีคณะกรรมการจำนวนมากจะทำให้การทำงานยากลำบาก ฉะนั้น ตนประมาณไว้ไม่เกิน 30 คน เริ่มต้นจะดึงตัวแทนจากทุกพรรคให้มากที่สุด ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมทั้งกลุ่มวิชาชีพต่างๆ  มาร่วม หากได้ตรงนี้ คิดว่าเรามีวิธีการทำให้ประสบความสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมาย โดยที่คณะกรรมการสามารถกำหนดวาระหรือรายละเอียดของการประชุม เพื่อไปคุยกับกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด แม้ไม่เข้ามาเป็นกรรมการก็สามารถไปคุยได้

เมื่อถามว่า จะมีตัวแทนจากไอลอว์ และพรรคไทยภักดีร่วมเป็นกรรมการด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ขอดูรายละเอียดก่อน เนื่องจากพื้นฐานเราพยายามเอาทุกกลุ่มมาให้มากที่สุด แต่ไม่ควรเกิน 30 คน ส่วนบุคคลที่ไม่ได้เข้ากลุ่ม ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะหลังจากนั้นเราจะรับฟังความเห็นว่าภายในทั้ง 30 คน โดยพยายามจะทำให้ความต้องการของประชาชนประสบความสำเร็จ บนพื้นฐานที่เราตั้งใจให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสืบพันธุ์การเลือกตั้งครั้งหน้า พร้อมกฎหมายลูกที่จะทำให้ประชาชนได้เลือกตั้งในวาระที่สามารถใช้กติกาใหม่ๆ ได้ทั้งหมด รวมทั้งเงื่อนไขหลายอย่างที่เคยระบุไว้

"ที่สำคัญการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปแล้ว ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านความพอใจและความเข้าใจของทุกฝ่าย ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่สุดโต่งจนเกินไป และเป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น"  นายภูมิธรรมระบุ

ค้านใช้ รธน. 40 ต้นแบบ

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า หลักการในเรื่องของการไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เป็นเรื่องที่ทั้งตนและพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน แต่ที่ต้องทักท้วงไว้เสียแต่ต้นคือหลักคิดในเรื่องของการที่รัฐบาลจะใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นแบบนั้น ขอให้คิดให้รอบคอบ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป จนบางยุคทำให้การตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลหรือนายกฯ ทำได้ยากมาก จนไม่สามารถตรวจสอบหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ได้เลย

หากนายกฯ ตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกว่า 3 ใน 5 คือเกินกว่า 300 เสียงขึ้นไป เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบุว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ฝ่ายค้านต้องมีเสียงเกินกว่า 200 เสียงหรือ 2 ใน 5 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้บางยุคไม่สามารถตรวจสอบนายกฯ ได้เลยตลอดอายุรัฐบาล นำไปสู่การมีรัฐบาลกินรวบดังที่เคยประสบในบางยุค เพราะนายกฯ อาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญตั้งรัฐบาลเกิน 300 เสียง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบตั้งแต่ต้น อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าไปมีบทบาทในการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ จนนำไปสู่การใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของฝ่ายบริหารเกิดรัฐบาลกินรวบ จนต้องแก้ไขในปี 2550 ในที่สุด        

"ถ้าใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มาสวมในสถานการณ์ปัจจุบัน การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ เศรษฐาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเพราะรัฐบาลมีเสียงเกิน 3 ใน 5 นั่นคือมีถึง 314 เสียง ฝ่ายค้านมีไม่ถึง 200 เสียง ก็จะไม่สามารถยื่นญัตติได้ ซึ่งต้องการทักท้วงไว้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสำคัญของประเทศ และหากแก้แล้วต้องใช้ต่อไปในอนาคต จะได้ไม่พาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาที่เคยเกิดในอดีตที่เราไม่อยากเห็นอีก" นายจุรินทร์ระบุ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลคุยกันชัดเจน คืออยากให้แก้ไขในส่วนความเป็นประชาธิปไตย โดยไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมาตราอะไรที่จะไปโยงกับสถาบันฯ และไม่ไปกระทบกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

หัวหน้าพรรค รทสช.ยังกล่าวถึงกรณีมีการมองกันว่าตอนนี้่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ แล้ว อาจทำให้คนในพรรคอาจย้ายออกไปในการเลือกตั้งรอบหน้าว่า แล้วแต่คนมอง ใครจะวิพากษ์วิจารณ์อะไร เป็นเรื่องของเขา แต่ไม่เคยเอามาเป็นอารมณ์ เราทำของเราให้ดี

 “สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ท่านพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ผมยังไม่มีโอกาสได้พบท่านเลย เพราะท่านก็ต้องการพักผ่อน เราเองก็ภารกิจเยอะ แต่คุยกันก็มี แต่ว่าไปเจอกันยังไม่ได้เจอ ก็อยากให้ท่านได้พักผ่อนเต็มที่” นายพีระพันธุ์ระบุ

นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ  กล่าวถึงกรณีนายภูมิธรรมอยากทาบทามมาร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติว่า ขอบคุณมากที่ยังนึกถึง อย่างไรก็ตาม ตนพ้นออกมาจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ไม่ควรจะกลับไปเป็นบุุคคลสาธารณะอีก ทุกวันนี้ก็สบายอกสบายใจอยู่แล้ว ส่วนหากมาขอคำแนะนำเป็นบางครั้งบางคราวนั้น ด้วยความยินดี

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า การแก้ไขที่ควรทำคือ ถ้าต้องการแก้เกี่ยวกับองค์กรอิสระ และไปกระทบกับเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตรงนี้ต้องทำประชามติ เพราะฉะนั้นเก็บไว้ทำคราวหลังได้หรือไม่ ตอนนี้ถ้าอยากแก้ไปก่อนคือหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการ และ หมวด 4 หน้าที่ของรัฐ, หมวด 5 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย, หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ, หมวด 7 รัฐสภา, หมวด 8 คณะรัฐมนตรี, หมวด 9 ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน, หมวด 10 เรื่องศาล ซึ่งแก้ได้ตามใจชอบไม่ต้องทำประชามติ

"ต้องแก้ไขมาตรา 256 เสียก่อน พอเสร็จวาระ 1-3 ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป จะไม่ได้เจอเรื่องทำประชามติ แต่ถ้าแก้ตามแนวทางของรัฐบาลก็ต้องทำประชามติ 1.คุณก็ต้องทำประชามติแก้ทั้งฉบับว่าเห็นด้วยหรือไม่ 2.ต้องตั้ง ส.ส.ร. และ 3. ถ้า ส.ส.ร.ต้องไปทำประชามติทั้งประเทศอีก ซึ่งการทำประชามติครั้งหนึ่งประมาณ 3 พันล้านบาท ฉะนั้นก็แก้ที่มาตรา 256  ซึ่งอย่างน้อยการทำประชามติควรทำ 2 ครั้งก็ยังดี คือต้องเริ่มแก้ไข และตอนจบที่จะไปประกาศใช้" นายวิษณุระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา! 'นายกฯอิ๊งค์' หัวโต๊ะ ก.ตร. เคาะโผ 'นายพลเล็ก' 140 ตำแหน่ง 'นรต.45' ผงาด

จับตา 'นายกฯอิ๊งค์' นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. ถกโผแต่งตั้งนายพล ระดับ 'รองผบช.-ผบก.' กว่า 140 ตำแหน่ง คาด 'บิ๊กเต่า' โยกจาก บช.ก. นั่งรองผบช.น. 'นรต.45' ผงาดผู้การกองปราบ มือขวาผบช.ไซเบอร์ ขึ้น ผบก.สอท.4