ตร.ไซเบอร์เตือน ขรก.เกษียณอายุ โจรออนไลน์จ้อง

โฆษก บช.สอท.เตือนข้าราชการเกษียณระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ แนะกฎเข้ม 9 ข้อป้องกันตนเอง “ดีอี” แจงข่าวปลอมช่วงเดือน ก.ย. กลุ่มนโยบายรัฐบาลพุ่งมากสุด อึ้ง!  โพลเผยประชาชน 76% เคยถูกหลอกลวงทางออนไลน์

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. พ.ต.อ.กฤษณะ  พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จะมีข้าราชการต่างๆ ครบกำหนดอายุการรับราชการ หรือเกษียณอายุราชการนั้น ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่มีมิจฉาชีพมักนำมาใช้หลอกลวงประชาชน หรือนำมาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย โดยจากการตรวจสอบสถิติผ่านระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ที่ผ่านมานั้น  พบ 3 เรื่องที่มิจฉาชีพนำมากล่าวอ้าง หรือแอบอ้างในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้ 1.หลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยหลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ทองคำ เหรียญดิจิทัล พลังงาน เป็นต้น โดยมีการใช้คำโฆษณาสวยหรู อ้างว่าเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยใกล้เกษียณอายุ 2.หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย ซึ่งเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ หรือกำลังจะเกษียณอายุราชการ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่าจะขอทำการตรวจสอบข้อมูลการรับบำนาญ และ 3.หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน โดยมิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์เป็นชาวต่างชาติ เป็นข้าราชการทหาร หน้าตาดี หลอกลวงผู้เสียหายให้หลงรัก มีความเชื่อใจ อยากมาใช้ชีวิตเกษียณอายุกับผู้เสียหายในประเทศ

“ที่ผ่านมายังพบว่ามีการหลอกลวงลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  มิจฉาชีพมักเปลี่ยนเนื้อเรื่อง เปลี่ยนชื่อหน่วยงานไปตามวันเวลาหรือสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยอาศัยความความโลภ ความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง” พ.ต.อ.กฤษณะระบุ

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกันการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวดัง ต่อไปนี้ 1.ระมัดระวังการชักชวนจากคนที่เพิ่งรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า หรือเป็นคนต่างชาติหน้าตาดีที่เข้ามาตีสนิทแล้วชวนให้ลงทุน 2.มิจฉาชีพมักอ้างว่ารู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยนำบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหรือมีความรู้ด้านการลงทุนแอบอ้าง 3.หลีกเลี่ยงการลงทุนหรือข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้ 4.ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. 5.ระวังการกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาให้ทางสื่อสังคมออนไลน์ 6.ระวังการรับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก โดยมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ 7.การติดตั้งแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store จะปลอดภัยมากกว่า 8.ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวลงบนสื่อสังคมออนไลน์ และ 9.หมั่นติดตามข่าวสารของทางราชการอยู่เสมอ

ขณะเดียวกัน นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 15-21 ก.ย. ว่าพบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,278,318 ข้อความ โดยข้อความที่ต้องตรวจสอบทั้งสิ้น 174 ข้อความ โดยข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.นโยบายรัฐบาล 54 เรื่อง 2.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย 40 เรื่อง 3.ภัยพิบัติ 12 เรื่อง และ 4.เศรษฐกิจ 15 เรื่อง

นายเวทางค์กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล โดย 10 อันดับข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจสูงสุดคือ 1.กรมการจัดหางานรับสมัครผู้ช่วยโปรโมตสินค้าจำนวนมาก 2.ขัดฟันด้วยผงถ่านคาร์บอนช่วยทำให้ฟันขาว 3.เคี้ยวเมล็ดมะละกอสุก วันละ 3 เม็ดแล้วกลืนไม่ต้องกินน้ำตาม รักษามะเร็งระยะสุดท้ายเห็นผลใน 1 เดือน 4.เครื่องดื่มสมุนไพรกระเจี๊ยบ เนื้อพุทรา ใบเตย ช่วยรักษาโรคหลอดเลือดในหัวใจ 5.ออมสินเปิดบริการให้ยืมกู้เพื่อทำธุรกิจต้องการเงินลงทุน ผ่านเพจ Bodhi Fry 6.GLASSY MIX ช่วยอาการตาพร่ามัว ลดอาการปวดตา แพ้แสง มองเห็นไม่ชัด ลดอาการเมื่อยล้าของดวงตา 7.ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโอกาสเป็นเจ้าของกองทุนหุ้นยักษ์ใหญ่ 8.นายกฯ เตรียมแผนอนุมัติบ่อนกาสิโน/เว็บพนันถูกกฎหมาย เสียภาษี 30% เพิ่มรายได้เข้าประเทศ 9.กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดรับคนทำงานฝีมือ มีวิดีโอสอนงาน รายได้ 340-3,860 บาท/วัน และตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเว็บไซต์ใหม่ผ่าน Google Sites

“ดีอีขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์/โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์ โทร.สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง”

วันเดียวกัน สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เสนอผลสำรวจเรื่อง ความกังวลต่อโลกไซเบอร์  กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,021 ราย โดยเมื่อถามถึง ประสบการณ์ของประชาชนถูกหลอกลวงในโลกไซเบอร์ โลกออนไลน์ จากการใช้โซเชียลฯ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 76% เคยถูกหลอกลวง ในขณะที่ 24% ไม่เคย และเมื่อถามถึงระดับความกังวลในภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อความมั่นคงชาติและความปลอดภัยของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 56% กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด, 35.1% กังวลปานกลาง และ 8.9% กังวลค่อนข้างน้อยถึงไม่กังวลเลย ยิ่งไปกว่านั้น เกือบครึ่งหรือ 49.7% กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ,  39.5% กังวลปานกลาง และ 10.8% กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

ที่น่าพิจารณาคือ ความพอใจของประชาชนต่อนโยบายรัฐบาลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อความมั่นคงชาติ ระบบเศรษฐกิจของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 67.5% ระบุยังต้องปรับปรุงแก้ไข และ 20.3% ระบุต้องแก้ไขเร่งด่วน ในขณะที่เพียง 12.2% พอใจมากถึงมากที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป