จุดพลุนิรโทษกรรม ยื่นร่างกม.บรรทัดฐาน‘ทักษิณ’/ตั้ง30อรหันต์ประชามต

ไทยโพสต์ ๐ "ก้าวไกล" เตรียมยื่นร่าง กม.นิรโทษกรรมเข้าสภา ทัดเทียม-บรรทัดฐาน "ทักษิณ"  "ภูมิธรรม" เคาะ 30 อรหันต์ถกร่างประชามติแก้ รธน.พร้อมเสนอเข้า ครม. 3 ต.ค. แย้ม "ชูศักดิ์-นิกร" ตอบรับแล้ว ไม่แตะหมวด 1-2 พระราชอำนาจ นักวิชาการมองเป็นการตีฆ้อง แนะต้องคุยรอบด้าน  หวั่นมีปัญหาตามมา

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.66 ที่อาคารไทยซัมมิท นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบการปฏิบัติ 2 มาตรฐาน หลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลและไม่ได้ถูกคุมขังในเรือนจำว่า ยังไม่ได้ตามเรื่อง  แต่เท่าที่ทราบทางพรรคได้มีการพูดคุย เรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เพื่อที่จะทำให้เกิดความทัดเทียมและเป็นบรรทัดฐาน เข้าใจว่าสมาชิกพรรคและผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังเตรียมกฎหมายในเรื่องดังกล่าว เพื่อยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเรื่องการขอคำปรึกษาจากนายทักษิณหลังพ้นโทษนั้น นายพิธากล่าวว่า เข้าใจว่านายเศรษฐาต้องการปรึกษากับอดีตนายกฯ ที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ศีลธรรม และจริยธรรม ซึ่งไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 ก.ย. (ตามเวลาท้องถิ่น) สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ชี้แจงกรณีการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศถูกตีความว่าจะตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาหลังพ้นโทษว่า ไปแกะเทปดูได้ ไม่เคยพูด  ถูกถามมาว่าจะปรึกษาหรือเปล่า ก็บอกว่าถ้าเกิดเป็นเรื่องที่จำเป็นก็จะปรึกษา ก็จะปรึกษาอดีตนายกฯ ทุกท่าน  โดยท่านแรกที่ตนไปปรึกษาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  อดีตนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ตนก็ไปหาที่บ้าน และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ก็ไปปรึกษาเมื่อตอนเยือนจ.เชียงใหม่ อดีตนายกฯ ทักษิณก็เป็นนายกฯ ที่ได้รับการชื่นชมจากพี่น้องประชาชนมาก ถ้าเกิดเป็นเรื่องที่นายทักษิณมีความรู้ คิดว่าประเทศไทยจะเสียหายหรือ ถ้าตนไม่ปรึกษา

“ผมก็เป็นมือใหม่หัดขับในรัฐบาลนี้  หลายๆ ท่านซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นอดีตนายกฯ อดีตรองนายกฯ อดีตผู้แทนการค้าไทย คณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ก็ปรึกษาหมด ไม่ได้กีดกันใครทั้งสิ้น ไม่ได้กีดกันเรื่องสีและเรื่องความเชื่อทางการเมือง อะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ผมยินดีครับ ไม่มีการพิจารณาที่จะไปตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษา และนายกฯ ทักษิณเป็นอดีตนายกฯ มาก่อนตั้งกี่ปี ท่านไม่มาเป็นที่ปรึกษาผมหรอก คิดว่าท่านมีแนวทางในหน้าที่ที่อยากจะทำอยู่แล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวจากอดีตแกนนำกลุ่มความเห็นทางการเมือง และพรรคการเมืองเสนอให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า หลายมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล หวังว่าจะลุล่วงแก้ปัญหาได้จริง ส่วนทางด้านการเมือง นอกจากเรื่องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีรองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ และการแก้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรมให้ผู้สูญเสียจากการใช้กำลังสลายการชุมนุม ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยยื่นต่อประธานรัฐสภาเข้ากระบวนการไปแล้ว และพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะก้าวไกลก็มีท่าทีสนับสนุน ผมขอเสนอประเด็นสำคัญ และควรพิจารณาเร่งด่วนอีกเรื่อง คือการปลดพันธนาการเรื่องคดีความ ให้คนทุกฝ่ายที่เห็นต่าง และเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเยาวชน คนหนุ่มสาวนับพันราย ซึ่งในจำนวนนี้หลายคนมีคดีติดตัวเกินกว่า 20 คดี

“นิรโทษกรรมทุกคน ทุกข้อกล่าวหา ยกเว้นกรณีความผิดถึงแก่ชีวิต ส่วนกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ไม่เกี่ยวข้องและไม่รวมอยู่ในเรื่องนี้ เริ่มต้นใหม่ สร้างสังคมที่คนเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ มีคณะกรรมการพิจารณาการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ร้ายกัน เมื่อรัฐบาลตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองที่ยืนขั้วตรงข้ามกันมาตลอด ก็น่าจะร่วมกันใช้โอกาสและเงื่อนไขทางการเมืองนี้ ทำให้คนทุกขั้วพ้นสถานะผู้ต้องหา กลับมายืนในฐานะประชาชน ตั้งต้นสร้างสังคมประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม ลูกหลานที่ยังติดคุกจะได้ออกมา  ที่อดอาหารอยู่ในคุกจะได้คืนสู่อิสระ ที่ลี้ภัยต่างแดนจะได้กลับบ้าน อย่าปล่อยให้คนหนุ่มสาวรุ่นนี้อยู่กับคดีความและการจำขังต่อเนื่องไป ทั้งที่เราส่งมอบสิ่งที่ดีกว่าให้พวกเขาได้ พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคก็เคยประกาศนโยบายปรองดอง สมานฉันท์ ถึงเวลาต้องทำก็ไม่ควรชักช้า เมื่อบรรดาคณะรัฐประหารทั้งหลาย นิรโทษกรรมตัวเอง และเข้าสู่เวทีการเมือง ก็ควรอย่างยิ่งที่จะนิรโทษกรรมให้คนหนุ่มสาว คืนอิสรภาพให้อนาคตของประเทศ”

ขณะที่นายอานนท์ นำภา ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ตำรวจพยายามจะอ้างเรื่องขบวนเสด็จเพื่อสลายการชุมนุม ซึ่งพอคนมาเป็นแสนมันเกิดความสูญเสียแน่ๆ ภาพความสูญเสียในเหตุการณ์พฤษภา 35 มันลอยขึ้นมาในหัว ผมจึงขึ้นรถเครื่องเสียงไปปราศรัย ปรามและขู่ตำรวจไม่ให้เข้ามาสลายการชุมนุม นี่คือข้อความที่ผมโดน 112 ด้วยความเต็มใจ และภูมิใจที่ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสีย ทำดีที่สุดในฐานะแกนนำที่จะทำได้ตำรวจเริ่มเลิ่กลั่ก เอาไงดี? และด้วยการพูดไปเช่นนั้นในช่วงสายๆ การสลายการชุมนุมจึงไม่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลก็วางแผนสลายต่อโดยจงใจพาขบวนเสด็จพระราชินีฝ่าเข้าไปในการชุมนุม เพื่อสร้างสถานการณ์และอ้างเป็นเหตุสลายการชุมนุมในช่วงหัวรุ่ง

อย่างไรก็ตาม เรารู้ทัน จึงประกาศสลายการชุมนุมก่อนที่ทหารตำรวจจะเข้ามาสลาย ผมยืนส่งพี่น้องผู้ชุมนุมจนถึงตีสี่ โดนจับขึ้นเครื่องไปเชียงใหม่ ผมคิดว่าผมทำดีที่สุดแล้ววันนั้น 26 กันยายนนี้ถ้าต้องติดคุก ก็เป็นรายจ่ายที่คุ้มค่า

ด้านเฟซบุ๊กศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คำพิพากษาที่กำลังจะเกิดขึ้นในคดี ม.112 คดีแรกของอานนท์ นำภา ในวันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ จะมีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ "อานนท์ นำภา" ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563

คดีนี้มี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา ภายหลังจากเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 ซี่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในวันดังกล่าวมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยในเหตุวันชุมนุมดังกล่าวด้วย แต่คดีของพริษฐ์ ปนัสยา และแกนนำ รวม 8 คน ถูกแยกฟ้องไปอีกคดีหนึ่งที่ศาลแขวงดุสิต เนื่องจากมีข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขัดขวางจราจร ซึ่งคดีอยู่ระหว่างสืบพยานในช่วงปลายปี 2566 นี้

ภาพรวมการสืบพยาน : โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง ส่วนจำเลยสู้ว่าเจตนาที่กล่าวปราศรัยเป็นเพียงการปกป้องประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม ไม่ให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม จนอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดอันตรายถึงชีวิต ในคดีนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 6 นัด ซึ่งตลอดการสืบพยานศาลใช้วิธีการพิจารณาคดีแบบบันทึกวิดีโอภาพ โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 22 ปาก ในระหว่างวันที่ 20-23, 27-28 มิ.ย.2566 และจำเลยอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อสู้ด้วยตนเองในนัดสืบพยานวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย แสดงความคิดเห็นกรณีพรรคก้าวไกลเตรียมเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรว่า เรื่องพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีการพูดคุยกันมานานแล้ว  จากที่มีการชุมนุมในหลายลักษณะช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังมีสิ่งที่เป็นข้อคลางแคลงของสังคมว่าตกลงใครผิดบ้าง ใครละเมิดข้อบัญญัติของกฎหมายบ้าง ฉะนั้นหากเอาสิ่งเหล่านี้ลุกขึ้นมาพูดกันซักทีหนึ่ง นำมาหาหรือกันก่อนที่จะออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมตนคิดว่าจะดีกว่า อันนี้เป็นเหมือนลักษณะของการช่วงชิงกัน อย่างที่เพื่อไทยก็เคยเสนอของเพื่อไทย ที่เราเรียกกันว่านิรโทษกรรมสุดซอย เป็นการช่วงชิงโดยยังไม่ได้หารือกับพรรคอื่นๆ ว่าอะไรที่เหมาะสม อะไรที่สมควร หรือที่เรียกกันว่าลักหลับ แต่ที่ก้าวไกลกำลังทำจะเสนอตอนนี้ ณ ขนาดนี้เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการลักหลับ เพราะเขาคงเสนอเปิดเผย และเขาคงไม่สามารถทำเหมือนตอนรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ เพราะก้าวไกลไม่มีเสียงข้างมาก แต่เขาอาจจะตีฆ้องร้องป่าวได้ เรื่องนิรโทษกรรมนั้นพูดคุยกันได้แต่ต้องมาคุยกันในเชิงหลักการก่อนว่าอะไรควรจะนิรโทษฯ และอะไรไม่ควรจะนิรโทษฯ ชนกลุ่มไหนที่ควรจะนิรโทษฯกัน ที่พรรคก้าวไกลทำตอนนี้เป็นความคิดของพรรคก้าวไกลอยู่คนเดียว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหา

เมื่อถามว่า มองว่าเกี่ยวกับประเด็น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นนักโทษ แต่หลายคนมองว่าได้รับการปฏิบัติต่างจากนักโทษอื่นหรือไม่ ดร.เจษฎ์กล่าวว่า วิธีคิดของนิรโทษกรรมมีของมันอยู่แล้ว 1.มันมีอยู่เดิมของมัน 2.พันกับเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร และ 3.เชื่อมโยงกับกรณีนายทักษิณ ถึงแม้กรณีนายทักษิณจะไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายรู้สึกว่าแบบนี้ก็ได้หรือ ถ้าอย่างนี้ก็ได้ฉันก็น่าจะได้ด้วย ถ้าแบบนี้ยังหลุดยังผ่าน ยังได้รับการยกโทษให้แล้วอย่างพวกฉันจะไม่ได้หรือ ตนคิดว่านี่ก็เป็นมูลเหตุประการหนึ่ง แต่น่าจะเป็นในลำดับที่ 3

สำหรับความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานบุคคลที่จะเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ เบื้องต้นวางไว้ไม่เกิน 30 คน โดย 1.จะเป็นบุคคลที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ 2.มีตัวแทนจากพรรคการเมืองให้มากที่สุด ครอบคลุมทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน 3.รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะร่าง รวมทั้งออกกฎหมายลูกให้ทันภายในสี่ปีของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้ทันใช้กติกาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 4.รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีความเป็นประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ เมื่อร่างออกมาแล้วจะต้องเห็นพ้องต้องกัน และต้องมั่นใจว่าจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาด้วย และ 5.เรายืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการแตะต้องหมวด 1 หมวด 2 รวมถึงหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ซึ่งประเด็นนี้สำคัญที่สุด

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รับการตอบรับจากบุคคลในส่วนของพรรคการเมืองมาบ้างแล้ว อาทิ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) นายนิกร จำนง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ซึ่งทั้งคู่มีความเข้าใจกฎหมายและจับงานด้านรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ทั้งนี้ คาดว่ารายชื่อของคณะกรรมการฯ จะเรียบร้อยภายในวันที่ 29 ก.ย. ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 ต.ค. อย่างไรก็ตาม เมื่อได้คณะกรรมการฯ ครบแล้ว จะเรียกประชุมทันที เพื่อหารือถึงไทม์ไลน์ กรอบการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงการจัดทำประชามติว่าจะเป็นอย่างไร ทำได้กี่ครั้ง คำถามจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะให้เกิดความรวดเร็ว อาจจะต้องนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาเป็นตัวตั้ง แต่จะต้องปรับเนื้อหาให้เข้ากับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดจะต้องหารือในคณะกรรมการฯ อีกครั้ง

“ผมยืนยันว่าเราจะจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยยึดแนวคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องจัดทำอย่างไร โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าจะต้องไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างเงื่อนไขหรือเป็นประเด็นในสังคม” นายภูมิธรรมกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช่วยนักโทษติดคุกหมด เสรีพิศุทธ์ถอนตัวงัดหลักฐานมัดแก๊งชั้น14/ปชป.มีมติร่วมรบ.

"นายกฯ อิ๊งค์" อารมณ์ดีนัดสื่อให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง 30 ส.ค. "ภูมิธรรม" มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลังดึง